‘เบี้ยผู้สูงอายุ’ จุดกระแสถกเถียงเดือด ‘ให้ทุกคน’ หรือ ‘เฉพาะคนจน’ ดีกว่า?

‘เบี้ยผู้สูงอายุ’ จุดกระแสถกเถียงเดือด ‘ให้ทุกคน’ หรือ ‘เฉพาะคนจน’ ดีกว่า?

กรณีรัฐบาลรักษาการปรับเกณฑ์ใหม่ “เบี้ยผู้สูงอายุ” จากเดิมที่ให้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปแบบ “ถ้วนหน้า” มาเป็น “เฉพาะคนจนหรือไม่มีรายได้” ทำให้เกิดกระแสถกเถียงเดือดในสังคม ซึ่งมีทั้งกลุ่มเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับเกณฑ์จ่ายเบี้ยยังชีพใหม่

กลายเป็นประเด็นร้อนแรงขึ้นมา เมื่อรัฐบาลรักษาการปรับหลักเกณฑ์ใหม่ในการรับเบี้ยผู้สูงอายุ จากแต่เดิมที่ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จะได้รับแบบ “ถ้วนหน้า” เปลี่ยนเป็น “ต้องพิสูจน์ความจนก่อน” ความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ก่อให้เกิดความเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยขึ้นมา

สำหรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ หรือ เบี้ยคนแก่ เป็นเงินบำนาญผู้สูงอายุที่อายุครบ 60 ปีขึ้นไป มีผลบังคับใช้ในประเทศไทยตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อปี 2552 ด้วยการใช้ระบบขึ้นทะเบียนก่อนเปลี่ยนแปลงเป็นการยืนยันสิทธิ โดยไม่มีเงื่อนไขหรือคุณสมบัติด้านรายได้ มีเพียงการระบุว่า จะต้องไม่เป็นผู้รับสวัสดิการอื่นอยู่ก่อนแล้ว

  • หลักเกณฑ์เบี้ยผู้สูงอายุเปลี่ยนไปอย่างไร

เดิมนั้นเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ให้สำหรับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปแบบ “ถ้วนหน้า” โดยที่ผู้นั้นต้องไม่ได้รับสวัสดิการจากหน่วยงานของรัฐ อย่างเงินบำนาญ เบี้ยหวัด และบำนาญพิเศษ โดยกรมกิจการผู้สูงอายุจัดสรรเงินรายเดือนให้ตามขั้นบันไดดังนี้

– ผู้สูงอายุ อายุ 60-69 ปี จะได้รับ 600 บาท

– ผู้สูงอายุ อายุ 70-79 ปี จะได้รับ 700 บาท

– ผู้สูงอายุ อายุ 80-89 ปี จะได้รับ 800 บาท

– ผู้สูงอายุ อายุ 90 ปีขึ้นไป จะได้รับ 1,000 บาท

‘เบี้ยผู้สูงอายุ’ จุดกระแสถกเถียงเดือด ‘ให้ทุกคน’ หรือ ‘เฉพาะคนจน’ ดีกว่า? - ตารางการจ่ายเบี้ยตามช่วงวัยผู้สูงอายุ (เครดิต: กลุ่มงานพัฒนาระบบงาน 4  ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมบัญชีกลาง) - 

แต่หลักเกณฑ์จ่ายเบี้ยผู้สูงอายุใหม่ 2566 ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ 12 ส.ค. 2566 จะเปลี่ยนจากแทนที่จะได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอย่างถ้วนหน้าทุกคน ก็เปลี่ยนเป็นผู้ที่มีอายุใกล้จะถึง 60 ปีตั้งแต่ 12 ส.ค. 2566 เป็นต้นไป ต้องผ่านการพิสูจน์ความจนก่อนว่า “ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ”

ส่วนรายละเอียดของหลักเกณฑ์ว่า รายได้ไม่เพียงพอนั้นควรอยู่ในช่วงรายได้เท่าไร ประกอบอาชีพอะไร ฯลฯ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้ลงนามหลักเกณฑ์จ่ายเบี้ยผู้สูงอายุใหม่นี้กล่าวว่า ต้องรอรายละเอียดจากคณะกรรมการผู้สูงอายุในการชี้ขาดอีกทีและสำหรับผู้ที่ได้รับเงินผู้สูงอายุอยู่แต่เดิมแล้ว ก็ยังคงได้รับเหมือนเดิม

สังคมไทยเสียงแตกเรื่อง “เบี้ยผู้สูงอายุ”

  • ฝ่ายสนับสนุน

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นว่า ในปัจจุบันไทยกำลังแบกงบประมาณการคลังที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ จากที่เคยตั้งไว้ 50,000 ล้านบาทต่อปี เพิ่มเป็น 80,000 ล้านบาทต่อปี และแตะ 90,000 ล้านบาทแล้วในปีงบประมาณ 2567 อีกทั้งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกตามจำนวนผู้สูงอายุในไทยที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ การใช้งบประมาณเบี้ยผู้สูงอายุในกลุ่มคนที่จำเป็นและเดือดร้อนกว่า จะสร้างความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว

นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า “ตามนี้ครับ อย่าพยายามบิดเบือนครับ ยกตัวอย่างเช่น เจ้าสัวสุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ เจ้าของห้างเซ็นทรัลได้เบี้ยสูงอายุด้วยมันยุติธรรมมั้ย? หรือคุณหญิงสุดารัตน์ได้ด้วย ยุติธรรมมั้ย? ช่วยตอบหน่อยครับ” พร้อมโพสต์ภาพประกาศหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ ด้วยข้อความว่า “เบี้ยสูงอายุ คนเก่าได้เหมือนเดิม เกณฑ์ใหม่คนรวยไม่ได้”

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า มีวิธีคิดเบี้ยผู้สูงอายุได้หลายแบบ และย้อนถามว่า “ถ้าคนอย่างผมได้ด้วยเนี่ย คุณว่ายุติธรรมหรือไม่” “ผมเป็นข้าราชการเกษียณแล้วมีบำนาญ มีบำนาญ 60,000 กว่าบาท คุณคิดว่าควรได้ไหม นั่นแหละเป็นสิ่งที่เขาจะพิจารณาว่า คนแบบใดไม่ควรได้ คนแบบใดควรได้”  และนายอนุพงษ์ย้ำว่า อย่ามองด้านเดียวว่าไปตัดสิทธิ์ สรุปแล้วจะตัดไม่ตัดอย่างไร อยู่ที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติจะกำหนดเกณฑ์มา แต่ตนคิดว่าต้องตัด คนอย่างตนไม่ควรจะได้

นายชินภัสร์ กิจเลิศสิริวัฒนา รองโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ ชี้แจงกรณีหลักเกณฑ์ใหม่เบี้ยผู้สูงอายุผ่านเฟซบุ๊กว่า

1. เบี้ยผู้สูงอายุคนเดิมยังได้ครบอยู่

2. เกณฑ์ใหม่ใช้สําหรับผู้สูงอายุที่พึ่งครบ 60 ปีที่ไม่มีรายได้เพียงพอ (การวัดความจนถึงจะได้เบี้ยคนชราต้องดูกันอีกทีจากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ)

3. ตั้งแต่ปี 62- 65 โดยเฉลี่ยทุกปีจะมีผู้สูงอายุเพิ่ม 500,000 คน

ปี 62 มีผู้สูงอายุ 11.13 ล้านคน

ปี 63 11.63 ล้านคน

ปี 64 12.13 ล้านคน

ปี 65 12.57 ล้านคน

“เนื่องด้วยประเทศไทยกําลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ผมเชื่อว่ากฎหมายใหม่นี้ จะทำให้เรามีวินัยการคลังมากขึ้น ใช้เงินให้ตรงจุด ถูกคน ถูกเป้าหมาย” นายชินภัสร์ระบุ

‘เบี้ยผู้สูงอายุ’ จุดกระแสถกเถียงเดือด ‘ให้ทุกคน’ หรือ ‘เฉพาะคนจน’ ดีกว่า?

- ชินภัสร์ กิจเลิศสิริวัฒนา (เครดิต: เฟซบุ๊ก เก็ต ชินภัสร์ กิจเลิศสิริวัฒนา) - 

  • ฝ่ายคัดค้าน

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.พรรคก้าวไกลมองว่า หลักเกณฑ์ใหม่ที่ออกมาเป็นการกระทบสิทธิของประชาชนอย่างร้ายแรง โดยในปัจจุบัน ไทยมีผู้สูงอายุอยู่ 11 ล้านคน และหากใช้ฐานข้อมูลบัตรคนจนในการพิจารณาจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ จะไม่ครอบคลุม และจะทำให้มีผู้สูงอายุได้รับเบี้ยยังชีพเพียงแค่ 5 ล้านคนเท่านั้น อีก 6 ล้านคน จะถูกรัฐลอยแพ

นายวิโรจน์ยังเสริมอีกว่า ข้อมูลบัตรคนจนที่ผ่านมามีข้อมูลตกหล่นอยู่มากมาย ไม่ควรนำมาใช้เป็นหลักเกณฑ์จ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ อีกทั้งการบังคับให้ผู้สูงอายุต้องพิสูจน์ความจน อาจเป็นการกีดกันประชาชนไม่ให้ได้รับสวัสดิการจากรัฐ ซึ่งขัดกับ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ ก็เป็นได้

‘เบี้ยผู้สูงอายุ’ จุดกระแสถกเถียงเดือด ‘ให้ทุกคน’ หรือ ‘เฉพาะคนจน’ ดีกว่า? - วิโรจน์ ลักขณาอดิศร (เครดิต: เฟซบุ๊ก วิโรจน์ ลักขณาอดิศร) - 

นายนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ตัวแทนเครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) มองว่า เบี้ยผู้สูงอายุควรยกระดับเป็นระบบบำนาญประชาชนถ้วนหน้า การที่รัฐจะมากำหนดกลุ่มเป้าหมายเฉพาะกลุ่มคนยากจน เท่ากับขัดต่อหลักการสิทธิสวัสดิการแบบถ้วนหน้า และขาดการคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อีกทั้งกระบวนการพิสูจน์ความยากจนยังมีการตกหล่นจำนวนมาก

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย โพสต์เฟซบุ๊กคัดค้านระเบียบใหม่ดังกล่าว โดยระบุว่า เป็นการทำลายหลักการรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้า เป็นระบบที่รัฐบาลเลือกปฏิบัติ และสร้างบุญคุณในฐานะการช่วยเหลือ หรือแบ่งคนรวยคนจน ทั้งที่จริงคือ สวัสดิการที่รัฐพึงจัดหาให้แก่ประชาชนผู้เสียภาษีทุกคนอยู่แล้ว

“แนวคิดเช่นนี้นอกจากจะสะท้อนปัญหาว่ารัฐบาลหาเงินไม่ได้ ใช้เงินไม่เป็นแล้ว ยังลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของพลเมืองไทย”

คุณหญิงสุดารัตน์ย้ำเพิ่มเติมว่า รัฐบาลต้องเลิกทำให้คนไทยกลายเป็นคนอนาถา หยุดรัฐสงเคราะห์ แต่ต้องเริ่มวางรากฐานรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า เพิ่มศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ทนายเกิดผล แก้วเกิด โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวต่อกรณีดังกล่าวว่า “การตัดงบเบี้ยคนชรา และเพิ่มหลักเกณฑ์มากขึ้น เพราะงบประมาณมีไม่พอ น่าจะแก้ปัญหาไม่ถูกจุดนะครับ คุณต้องไปตัดงบ ในส่วนที่ไม่จำเป็นหรือ เกินความจำเป็น เช่น การซื้อเรือดำน้ำ งบเงินตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิต่าง ๆ เช่น เงินเดือน สว. เป็นต้นถึงจะถูก..ไม่ใช่มาตัดงบเบี้ยยังชีพคนแก่‼”

จากกรณีความเห็นต่างในเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุดังกล่าว ฝ่ายที่สนับสนุนการจำกัดกลุ่มคนที่ได้รับ มองว่าเพื่อลดภาระคงคลังที่หนักขึ้นตามจำนวนผู้สูงอายุที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ควรจัดสรรงบประมาณให้ตรงกับผู้เดือดร้อนและยากไร้มากกว่า

ขณะที่ฝ่ายคัดค้านมองว่า เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ถือเป็นสิทธิ์ที่ผู้สูงอายุควรได้รับทุกคน ในเมื่อข้าราชการได้รับเงินบำนาญแล้ว ทำไมผู้สูงอายุที่จ่ายภาษีเหมือนกันถึงไม่ได้รับสวัสดิการนี้เช่นเดียวกัน

ความเห็นเหล่านี้ก็เป็นมุมมองทั้งสองฝ่ายที่กำลังถกเถียงและยังหาข้อสรุปในสังคมไม่ได้ในขณะนี้

อ้างอิง: bangkokbiznewsbangkokbiznews(2)thaipostparliament