รู้จักแนวคิด ‘Helicopter Money’ แจกเงินประชาชน ‘ดาบสองคม’ กระตุ้นเศรษฐกิจ
รู้จักแนวคิด “Helicopter Money” จาก มิลตัน ฟรีดแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ซึ่งคือการแจกเงินสู่มือประชาชนโดยตรง คล้ายโปรยเงินจากเฮลิคอปเตอร์ แนวคิดนี้ถือเป็นท่าไม้ตายกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็มาพร้อมความเสี่ยงด้วย
Key Points
- “Helicopter Money” หรือการแจกเงินถึงมือประชาชนโดยตรง ไม่ต้องผ่านตัวกลางให้ซับซ้อนและล่าช้า เสมือนกับการฉีดยาเข้าสู่กระแสเลือดโดยตรง วิธีนี้ถือเป็น “ท่าไม้ตาย” ในการฟื้นเศรษฐกิจซบเซาให้กลับมา
- ปัจจุบัน ไทยมีหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ 62% และมีกรอบเพดานหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ 70%
- หลายคนอาจคิดว่าเศรษฐกิจแย่ สถาบันควรปล่อยกู้ง่ายขึ้น แต่ในความจริงแล้ว ยิ่งเศรษฐกิจแย่ ประชาชนยิ่งมีโอกาสผิดนัดชำระสูง ธนาคารจะยิ่งปล่อยกู้ยากขึ้น
หลายคนกำลังตั้งคำถามว่า “เงินดิจิทัล 10,000 บาท” ของรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” จะหางบประมาณมาจากไหน และจำเป็นหรือไม่ กับการใช้งบฯที่สูงถึง 5.6 แสนล้านบาท ซึ่งแนวคิดการแจกเงินทั่วประเทศเช่นนี้ก็อาจดูคล้ายคลึงกับแนวคิดหนึ่งที่ชื่อว่า “Helicopter Money” ของ มิลตัน ฟรีดแมน (Milton Friedman) นักเศรษฐศาสตร์ดีกรีรางวัลโนเบลของสหรัฐ เจ้าของวลีเด็ด “โลกนี้ไม่มีอะไรได้มาฟรี” (There is No Such Thing as a Free Lunch.)
- มิลตัน ฟรีดแมน (เครดิต: RobertHannah89) -
ฟรีดแมนกล่าวว่า วิธีทั่วไปในการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็น การลดดอกเบี้ยนโยบาย การลดภาษี การอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านการเข้าซื้อตราสารหนี้ (QE) วิธีเหล่านี้อาจไม่เพียงพอ โดยเฉพาะเมื่อเศรษฐกิจซบเซาอย่างหนัก เขาจึงเสนอแนวคิดสำคัญหนึ่ง คือ “Helicopter Money” หรือการแจกเงินถึงมือประชาชนโดยตรง ไม่ต้องผ่านตัวกลางให้ซับซ้อนและล่าช้า ซึ่งเปรียบเสมือนการฉีดยาเข้าสู่กระแสเลือดโดยตรง ที่ไม่ต้องผ่านระบบการย่อยต่าง ๆ
ดังนั้น ในมุมมองของรัฐ Helicopter Money จึงเป็น “ท่าไม้ตาย” ในการฟื้นเศรษฐกิจซบเซาให้กลับมา
- Helicopter Money ควรใช้เมื่อไร
การแจกเงินให้ประชาชน หรือ Helicopter Money ควรใช้ในกรณีเศรษฐกิจซบเซาอย่างหนัก ซึ่งหลายรัฐบาลเคยใช้วิธีนี้ในช่วงการระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา เช่น สหรัฐ แจกเงินให้ประชาชนทั้งประเทศ เพราะช่วงนั้น ผู้คนอยู่แต่ในบ้าน ธุรกิจซบเซา ไม่มีเงินสดเพียงพอในการอยู่รอด
หลายคนอาจคิดว่าเศรษฐกิจแย่ สถาบันควรปล่อยกู้ง่ายขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยิ่งเศรษฐกิจแย่ ประชาชนที่กู้สินเชื่อก็ยิ่งมีโอกาสผิดนัดชำระสูง ธนาคารจะยิ่งปล่อยกู้ยากขึ้น และตั้งสำรองหนี้เสียให้สูงกว่าเดิม
ด้วยเหตุนี้ “การแจกเงิน” ในระยะเวลาชั่วคราว จึงอาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่รัฐบาลจะช่วยเพิ่มเงินสดในกระเป๋าของประชาชนในสภาวะที่ทุกอย่างฝืดเคืองไปหมด
- ไทยควรใช้ Helicopter Money หรือไม่
เนื่องจาก Helicopter Money ใช้เงินจำนวนมากแจกให้ประชาชน คล้ายกับการโปรยเงินลงจากเฮลิคอปเตอร์ หากประเทศไม่มีเงินเพียงพอในการแจกก็จำเป็นต้องกู้เงินเพิ่ม ซึ่งไทยมีหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) อยู่ที่ 62% โดยมีกรอบเพดานหนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทยอยู่ที่ 70% สะท้อนว่ามีพื้นที่สำหรับกู้อีกไม่มาก
หากไทยไม่กู้ และใช้วิธีพิมพ์เงินออกมาคล้ายธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่พิมพ์เงินออกมาจำนวนมากในช่วงโควิด-19 ข้อจำกัดของไทยคือ ไทยไม่ได้เป็นมหาอำนาจ ไม่ได้มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลก และเงินบาทไทยไม่ได้ถูกใช้อย่างแพร่หลายเหมือนดอลลาร์ จึงเป็นความเสี่ยงที่เงินบาทจะเผชิญปัญหาการอ่อนค่าลง
นอกจากนี้ ผลกระทบจากการใส่เงินจำนวนมากลงสู่ระบบ คือ “เงินเฟ้อ” เพราะแม้แต่สหรัฐก็ยังเผชิญผลพวงนี้จากการพิมพ์เงินจำนวนมากในช่วงโควิด-19 จนเฟดต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องไปแล้วหลายรอบ แม้ว่าเงินเฟ้อไทยในเดือน ส.ค. จะอยู่ที่ระดับต่ำ 0.9% แต่จากการอัดฉีดเงิน 5.6 แสนล้านเข้าสู่เศรษฐกิจในครั้งเดียว ประกอบกับราคาพลังงานที่ไทยนำเข้า กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นด้วย เงินเฟ้อไทยจึงไม่อาจประมาทได้
สิ่งสำคัญ คือ มีหลายประเทศเคยใช้นโยบาย Helicopter Money แจกเงินโดยไม่จำเป็น จนประเทศเกิดหายนะขึ้น เช่น ซิมบับเวในปี 2540 โดยปี 2543 เงินเฟ้อพุ่งแตะ 1,200% และแตะ 66,000% ในปี 2550 ส่วนอาร์เจนตินา ใช้ในปี 2550-2558 เพื่อหวังคะแนนนิยม จนสถานะการคลังของประเทศพังทลาย อีกทั้งค่าเงินยังเสื่อมค่าลง
ปัจจุบัน หลายฝ่ายกำลังตั้งคำถามว่า เงินดิจิทัล 10,000 บาท จำเป็นต้องแจกในขณะนี้หรือไม่ ท่ามกลางดอกเบี้ยขาขึ้นทั่วโลก รวมถึงเศรษฐกิจไทยย่ำแย่มากจริงไหม ในระดับที่อาจต้องก่อหนี้สูงถึง 5.6 แสนล้านบาทเพื่อแจกเงินนี้ โดยข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยล่าสุดรายงานว่า ตัวเลขการบริโภคภาคเอกชนของไทยในไตรมาส 2 ปีนี้ ขยายตัวดีอยู่ที่ 7.8% ซึ่งสูงสุดในรอบ 20 ปี (เมื่อไม่รวมช่วงวิกฤติเศรษฐกิจโลก อุทกภัยใหญ่ และโควิด-19)
อีกทั้งรายได้ตลาดแรงงานนอกภาคการเกษตรในไตรมาส 2 ปีนี้ก็เติบโต 2.4% ซึ่งเป็นการฟื้นตัว 109% ของช่วงระดับก่อนโควิด
- ประเมินสุขภาพเศรษฐกิจไทย โดยธนาคารแห่งประเทศไทย -
ขณะที่นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงนโยบายแจกเงินดิจิทัลว่า “ควรทำเฉพาะกลุ่ม” เพื่อประหยัดงบภาครัฐ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่ต้องการเงิน
- เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ -
ดังนั้น หากในท้ายที่สุดแล้ว รัฐบาลจำเป็นต้องแจกเงินเพื่อรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน แต่จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะออกหลักเกณฑ์เพิ่มเติม เพื่อรับประกันว่าเงิน 10,000 บาทจากมาตรการนี้จะถึงมือผู้เดือดร้อนจริงและหมุนเวียนในหมู่คนตัวเล็กตัวน้อย แทนที่จะไปหมุนในมือกลุ่มทุนใหญ่หรือออกนอกประเทศเข้าสู่บริษัทต่างชาติแทน?
อ้างอิง: bangkokbiznews, bangkokbiznews(2), corporatefinanceinstitute, investopedia, Youtube