‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ จะได้ผล ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจควบคู่
ในเมื่อรัฐบาลยืนยันจะเดินหน้าโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต แม้ว่าจะมีเสียงค้านจากหลายฝ่าย ทั้งเรื่องที่มาของเม็ดเงิน และคำถามว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่ ก็จำเป็นต้องชี้แจงรายละเอียดให้ได้โดยเร็ว เพราะอีกไม่นานก็จะถึงวันลงทะเบียนรับเงินแล้ว
ถึงนาทีรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” ยังคงยืนยันเดินหน้า โครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต แจกให้กับประชาชนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ซึ่งมีจำนวน 54 ล้านคนจะใช้งบ 5.4 แสนล้านบาท ผ่าน Super App โดยจะให้ธนาคารในกำกับของรัฐเป็นผู้ดำเนินการ นำมาใช้ในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมปีหน้า โดยจะใช้วิธียืมเงินจากรัฐวิสาหกิจ 2.6 แสนล้านบาท มาใช้ในโครงการก่อน เชื่อว่า “ดิจิทัลวอลเล็ต” จะทำให้มีรายได้ที่เพิ่มจากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่มประมาณ 1 แสน และสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นในปีงบประมาณ 2567 ประมาณ 2.6 แสนล้านบาท จากการเติบโตของเศรษฐกิจที่เติบโตเพิ่มขึ้นในระดับ 5 % แล้วรัฐบาลจะทยอยตั้งงบประมาณชดเชยคืนให้ในภายหลัง ปีละประมาณ 1 แสนล้านบาท
ก่อนหน้านี้ อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ นักวิชาการนักเศรษฐศาสตร์หลายสำนัก ต่างแสดงความเป็นห่วงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต อาจเป็นนโยบายที่ได้ไม่คุ้มเสีย หากการใช้จ่ายไม่เป็นไปตามแผน เงินไม่สามารถหมุนเวียนได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ อาจเกิดความเสี่ยงทำให้หนี้สาธารณะสูงขึ้นในอนาคตจะกระทบต่ออันดับความน่าเชื่อถือ หรือ เครดิตเรตติ้งของประเทศ พร้อมทั้งเสนอว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาว ควรเน้นให้เกิดการใช้จ่ายหมุนเวียนในธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กให้มากที่สุด รวมทั้งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เสนอให้รัฐบาลใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์และความคุ้มค่าต่อเศรษฐกิจสูงสุดเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในมิติต่างๆ ไปพร้อมกันเพื่อสนับสนุนให้เกิดการใช้จ่ายและลงทุนในทุกระดับและหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วได้หลายรอบ
ขณะที่รัฐบาลพยายามสื่อสารถึงความพยายามในการผลักดันโครงการว่ามีการเตรียมพัฒนา Super App ที่จะนำมาใช้ในโครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ต”จะรวมการสมัคร ยืนยันตัวตน เช็กสิทธิ รับเงิน และอื่นๆ ไว้ในแอปพลิเคชันเดียว เพื่อความสะดวกในการใช้งาน ผู้ที่เคยยืนยันตัวตนผ่านระบบต่างๆ ที่เป็นนโยบายของรัฐบาลในอดีตประมาณ 40 ล้านคน ไม่จำเป็นต้องมายืนยันตัวตนใหม่ ส่วนผู้ที่ยังไม่เคยลงทะเบียนจำเป็นจะต้องลงทะเบียนตามระเบียบข้อบังคับของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยจะเปิดให้ดาวน์โหลด สมัคร และลงทะเบียนใน Super App ช่วงเดือน พฤศจิกายน 2566 และจะเปิดให้รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท ช่วงกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม 2567 และจากวันนี้เป็นต้นไปจะมีการชี้แจงรายละเอียด “ดิจิทัลวอลเล็ต”ทุกแง่มุมให้ประชาชนรับรู้โดยทั่วกัน
มีคำถามว่ารัฐบาลได้พิจารณานโยบาย “ดิจิทัลวอลเล็ต” อย่างรอบคอบแล้วหรือไม่ เพราะเท่าที่ทราบขณะนี้ยังไม่มีรัฐบาลประเทศไหนใช้เงินดิจิทัล ที่สำคัญการออกเงินตรา เป็นอำนาจหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งนายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” ก็ต้องมีคำอธิบายถึงเหตุผลในการอนุญาตออกรูปแบบเงินตรา “เงินดิจิทัล” ในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกหนึ่งตำแหน่ง รวมทั้งมาตรการป้องกันการโกง การทำ “เงินดิจิทัล” ปลอมหากเกิดขึ้นในอนาคต ที่สำคัญดูเหมือนนโยบายนี้จะไม่มีเสียงตอบรับจากพรรคร่วมรัฐบาลเท่าที่ควร หากจะเดินหน้าตามที่หาเสียงไว้ก็คงต้องอาศัยหลายศาสตร์ในการบริหารจัดการที่ไม่ใช่แค่เพียงแรงฮึดที่ต้องการรักษาฐานคะแนนเสียงเท่านั้น