เพราะ ‘ความจน’ ต้องพิสูจน์ ? ก่อนเข้าถึงเงินสวัสดิการจากรัฐ

เพราะ ‘ความจน’ ต้องพิสูจน์ ? ก่อนเข้าถึงเงินสวัสดิการจากรัฐ

นโยบาย “แจกเงินดิจิทัล” ยังมีปัญหาต่อเนื่อง ล่าสุดรัฐบาลเล็งตัดคนที่มีรายได้ต่อเดือนมากกว่า 25,000 บาท ออกจากผู้มีสิทธิ์รับเงิน เพราะเข้าข่ายเป็นผู้มีรายได้สูง จึงเกิดคำถามตามมาว่า ต้องมีเงินเดือนเท่าไรจึงเรียกว่า “รายได้น้อย” และทำไมต้อง “พิสูจน์ความจน”

Key Points:

  • จากความไม่ชัดเจนของการ  “แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท” ว่า ควรให้ประชาชนได้รับเงินอย่างถ้วนหน้าตามที่หาเสียงไว้ หรือแก้ไขให้รับเงินได้เฉพาะ “คนจน” ทำให้รัฐบาลเศรษฐาถูกวิจารณ์อย่างหนัก
  • หนึ่งในประเด็นที่ถูกพูดถึงก็คือ การตัดสิทธิ์ผู้มีเงินเดือนเกิน 25,000 บาท ออกจากกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับ “เงินดิจิทัล” จึงเกิดคำถามว่าต้องมีรายได้เท่าไรถึงจะเรียกว่า “ผู้มีรายได้น้อย” จริงๆ
  • อีกหนึ่งข้อสงสัยที่เกิดขึ้นคือ ทำไมคนไทยต้อง “พิสูจน์ความจน” เพราะโครงการเงินสวัสดิการที่ผ่านมาของรัฐบาลชุดก่อน ผู้มีรายได้น้อยที่จะได้รับสิทธิ์นั้น จำเป็นต้องลงทะเบียนเพื่อตรวจสอบว่าเป็น “คนจน” จริงๆ   

แม้ว่าการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ของรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน จะยังไม่มีข้อสรุปว่านำเงินงบประมาณส่วนใดมาจ่ายในโครงการ หรือมีเกณฑ์การคัดเลือกประชาชนผู้มีสิทธิ์รับเงินอย่างไร เนื่องจากเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักตั้งแต่เปิดตัวนโยบายดังกล่าวว่าอาจเป็นการกระจายรายได้ไม่ทั่วถึง ไม่เป็นธรรม ทำให้รัฐบาลต้องปรับหาแนวทางการแจกเงินให้ละเอียดรอบคอบมากขึ้น

ล่าสุดรัฐบาลได้ทดลองปรับเงื่อนไขการแจก “เงินดิจิทัล” แบบใหม่ เพื่อให้เข้าถึงผู้มีรายได้น้อยอย่างแท้จริง โดยใช้วิธีพิสูจน์รายได้ของประชาชนว่าเป็น “คนจน” จริงหรือไม่ โดยเฉพาะแนวคิดที่ว่าหากใครมีเงินเดือนมากกว่า 25,000 บาท ถือว่ามีรายได้สูง แต่กลับถูกกระแสตีกลับว่าไม่เป็นไปตามนโยบายที่เคยหาเสียงไว้ จนเกิดการถกเถียงกันในสังคมว่า ใช้อะไรเป็นเกณฑ์วัดความรวยและความจน ไปจนถึงการตั้งคำถามว่าทำไมผู้มีรายได้น้อยถึงจำเป็นต้อง “พิสูจน์ความจน” ?

  • รัฐบาลโยนหินถามทาง ไม่แจกเงินดิจิทัล “คนรวย” ฐานเงินเดือนเกิน 25,000 บาท

จากปัญหาความไม่ชัดเจนของนโยบายแจกเงินดิจิทัล ทำให้ล่าสุด (25 ต.ค. 2566) รัฐบาลเสนอแนวทางการรับเงินที่เปิดโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงเงิน 10,000 บาทได้อย่างทั่วถึงไม่ตกหล่น เบื้องต้นมี 2 แนวทางหลัก ดังนี้

1. จำกัดเฉพาะผู้ถือบัตรคนจนที่มีอยู่ประมาณ 15-16 ล้านคน

2. ตัดกลุ่มผู้ที่มีรายได้สูงออกไป แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
2.1) กลุ่มที่มีเงินเดือนมากกว่า 25,000 บาท และ/หรือ เป็นผู้มีเงินฝาก 100,000 บาทขึ้นไป ดังนั้นจะเหลือคนที่ได้รับแจกเงินดิจิทัล 43 ล้านคน

2.2) กลุ่มที่มีเงินเดือนมากกว่า 50,000 บาท และ/หรือ เป็นผู้มีเงินฝากมากกว่า 5000,000 บาท ก็จะเหลือคนที่ได้รับแจก 49 ล้านคน
(ข้อ 2 และข้อ 3 อยู่ระหว่างการพิจารณา)

อ่านข่าว : 

ถอยแล้ว!! รัฐบาลเล็งยกเลิกแจกเงินดิจิทัลคนรวย

แต่กลับกลายเป็นว่ายิ่งสร้างความสับสนให้กับประชาชน โดยเฉพาะ “ผู้ที่มีรายได้มากกว่า 25,000 บาท” ว่าจะเรียกว่ามีรายได้สูงได้อย่างไรในเมื่อเงินจำนวนดังกล่าวแทบจะเรียกได้ว่าเป็น “รายได้ขั้นต่ำ” ของแรงงานไทยในยุคปัจจุบันที่ต้องประสบกับปัญหาเงินเฟ้อ และค่าครองชีพสูงขึ้น (แม้จะได้เงินเดือน 25,001 บาทก็ถือว่าเกินเกณฑ์ดังกล่าว)

อีกทั้งหากย้อนไปช่วงก่อนการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2565 พรรคเพื่อไทยเคยแถลงว่า ต้องการปรับค่าแรงขั้นต่ำให้เป็นวันละ 600 บาทต่อวัน และ 25,000 บาทต่อเดือน สำหรับผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ภายในปี 2570 หมายความว่าพรรคเพื่อไทยเองก็มองว่าเงินเดือน 25,000 บาท ถือว่าเป็นรายได้ในระดับพื้นฐาน ไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้สูงตามที่นำมาอ้างเป็นหลักเกณฑ์แจกเงินดิจิทัลในปัจจุบัน

อ่านข่าว : 

ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท เงินเดือน ป.ตรี 25,000 โซเชียลแห่โพสต์ตั้งตารอ

ไม่ใช่แค่นั้นแต่สังคมยังมองไปถึงประเด็นของการ “พิสูจน์ตัวตน” หรือการ “พิสูจน์ความจน” เพราะที่ผ่านมา..กว่าจะเข้าถึงเงินสวัสดิการต่างๆ ของรัฐบาลได้ ต้องผ่านการพิสูจน์ก่อนว่าบุคคลเหล่านั้นจนจริงหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และแม้ว่าจะมีการพิสูจน์แล้วแต่ก็ยังมีข่าวว่ามีคนพยายามหาช่องโหว่ของกฎเกณฑ์ที่ตั้งไว้เพื่อสวมสิทธิ์เข้าไปรับเงินดังกล่าว ทั้งที่ตัวเองไม่ได้มีรายได้น้อยออกมาให้เห็นเป็นระยะ

  • โครงการเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล ที่ต้องผ่านการ “พิสูจน์ความจน”

ที่ผ่านมาแม้ว่าภาครัฐจะมีนโยบายช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่หลายโครงการ แต่กว่าประชาชนจะเข้าถึงสิทธิ์นั้นได้ก็จำเป็นต้อง “พิสูจน์ความจน” เสียก่อน ซึ่งแท้จริงแล้วก็ไม่ใช่เรื่องผิด เนื่องจากรัฐบาลเองก็ต้องการคัดกรองผู้มีรายได้น้อยที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ

แต่ก็ยังมีคำถามตามมาว่าอะไรคือหลักเกณฑ์กำหนดว่า ใครรวย? และใครจน? เพราะที่ผ่านมาก็ยังพบเห็นกลุ่มคนรายได้ปานกลางเข้าถึงเงินสวัสดิการเหล่านั้น รวมถึงข้อสงสัยว่าทำไมหน่วยงานภาครัฐจึงไม่นำฐานข้อมูลรายได้ของประชากรในประเทศมาใช้ในการ “แจกเงิน” แต่กลับให้ประชาชนไปลงทะเบียนเอง ทำให้บางคนอ้างว่าตนลงทะเบียนไม่ทัน ทำให้พลาดโอกาสที่จะได้รับเงินช่วยเหลือ

อ่านข่าว : 

8 ล้านคนไม่ผ่านคุณสมบัติ ‘บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2566’ ควรทำอย่างไร เช็กเลย !

กรุงเทพธุรกิจจะพาย้อนกลับไปดูว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คนไทยเคยต้อง “พิสูจน์ความจน” เพื่อรับสิทธิ์ในโครงการมอบเงินสวัสดิการจากภาครัฐโครงการใดบ้าง?

เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

เมื่อวันที่ 12 ส.ค. 2566 ที่ผ่านมารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (รักษาการณ์) ได้ประกาศให้ใช้หลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุใหม่ โดยเปลี่ยนจากผู้ที่กำลังจะมีอายุ 60 ปีขึ้นไปทุกคนจะได้รับเงินสวัสดิการดังกล่าว ให้เป็นเฉพาะผู้มีรายได้น้อย หรือ “คนจน” เท่านั้น (ยกเว้นข้าราชการบำนาญที่มีรายได้ต่อเดือนอยู่แล้ว)

แน่นอนว่าเมื่อมีการปรับเงื่อนไขการแจกเงิน ย่อมมีเสียงวิจารณ์จากสังคมตามมา เพราะเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นสวัสดิการที่มีมาตั้งแต่รัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อปี 2552 ที่แจกให้ผู้สูงอายุทุกคนถ้วนหน้าโดยไม่มีเงื่อนไขหรือคุณสมบัติด้านรายได้ ยกเว้นผู้ที่ได้รับสวัสดิการอยู่ก่อนแล้ว บางส่วนจึงมองว่าเงื่อนไขใหม่อาจไม่เป็นธรรมเท่าที่ควร เพราะเงินสวัสดิการในส่วนนี้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้สูงอายุควรได้รับ 

บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ “บัตรคนจน” เป็นอีกหนึ่งนโยบายช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยให้เหตุผลว่าเป็นการช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี โดยวงเงินในบัตรสามารถใช้ซื้อสิ่งของที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ ผ่านร้านค้าที่มีสัญลักษณ์ธงฟ้า

โดยผู้ที่จะได้ชื่อว่าเป็น “คนจน” และมีสิทธิ์รับเงินดังกล่าวได้ เบื้องต้นจะต้องมีรายได้ต่อปีของบุคคลและรายได้เฉลี่ยของครอบครัวไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี มีทรัพย์สินทางการเงินไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี หรือไม่มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ หรือมีกรรมสิทธิ์แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข เป็นต้น แต่ที่ผ่านมาก็ยังพบว่ามีผู้สวมสิทธิ์รับเงินดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นผู้ที่มีรายได้เกิน 100,000 บาทขึ้นไป หลายคนจึงมองว่าเกณฑ์การคัดกรองอาจใช้ไม่ได้ผล

ในช่วงที่ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 ระบาด รัฐบาลก็ออกมาตรการช่วยเหลือผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” มากมาย เช่น โครงการเราชนะ โครงการเรารักกัน และโครงการคนละครึ่ง เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้จ่ายได้สะดวกขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนที่สูญเสียรายได้จากปัญหาโรคระบาด โดยทั้ง 3 โครงการนี้ ก็ต้องลงทะเบียนและยืนยันตัวตนผ่านระบบออนไลน์ก่อนจึงจะได้รับสิทธิ์ แต่ก็มีปัญหาระบบล่ม และบางคนตกหล่นเพราะไม่มีสมาร์ตโฟนหรือใช้เทคโนโลยีไม่เก่ง

  • รายได้น้อยแค่ไหนถึงเรียกได้ว่าเป็น “คนจน”

จากปัญหาหลายประเด็นที่เกิดขึ้นมาตลอดระยะเวลาที่มีมาตรการ “แจกเงิน” ที่เน้นไปที่ “คนจน” ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า รายได้แค่ไหนที่เรียกว่าจนหรือรวย ?

เบื้องต้นสามารถวัดได้จาก “เส้นแบ่งความยากจน” หรือ Poverty Line ที่มีความแตกต่างกันออกไปในแต่ละภูมิภาค เช่น รัฐบาลจีน กำหนดเส้นแบ่งความยากจนไว้ที่ 2.3 ดอลลาร์ หรือประมาณ 80 บาท (อ้างอิงข้อมูลจาก BBC จีนเริ่มใช้เกณฑ์นี้ในปี 2533) ส่วนสหรัฐอเมริกากำหนดไว้ที่ 35 ดอลลาร์ต่อคนต่อวัน หรือประมาณ 1,200 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 20 ก.ย. 2563) ขณะที่ธนาคารโลกหรือ World Bank กำหนดไว้ที่ 2.15 ดอลลาร์ต่อคนต่อวัน หรือประมาณ 75 บาทต่อวัน (ข้อมูลอัปเดตล่าสุดจาก World Bank เมื่อ ก.ย. 2565)

สำหรับประเทศไทยหากกำหนดตามสำนักงานสถิติแห่งชาติตั้งแต่ปี 2564 มาจนถึงปัจจุบัน พบว่ารายได้ของคนจนจะอยู่ที่ 2,802 บาทต่อเดือน แต่หากดูจากเกณฑ์ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ตั้งแต่ปี 2563 มาจนถึงปัจจุบัน รายได้คนจนคือประมาณ 2,762 บาทต่อเดือน

แต่จากข้อมูลของระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า หรือ TPMAP ปรากฏว่าประเทศไทยมี “คนจน” มากถึง 1,025,782 คน คิดเป็นร้อยละ 2.84 จากประชากรที่ถูกสำรวจ 36,103,806 คน ซึ่งจังหวัดที่พบว่ามีคนจนมากที่สุดคือเชียงใหม่ มีจำนวนคนจน 52,928 คน (จากการรวบรวมข้อมูลในปี 2565 ของ TPMAP)

อ่านข่าว : 

คนจนมีสิทธิ์ไหมคะ? ‘คนจน’ ในประเทศไทย อยู่ที่ไหนบ้าง

ท้ายที่สุดแล้วแม้ว่าบทสรุปของการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จะยังไม่สามารถระบุได้ว่าควรแจกแบบ “ถ้วนหน้า” ตามที่หาเสียงไว้ในตอนแรก หรือแจกเฉพาะ “คนจน” ตามที่มีการออกมาอัปเดตล่าสุด แต่ก็เป็นการจุดกระแสให้เกิดการถกเถียงกันมากขึ้นในสังคมว่า สรุปแล้วความหมายของคำว่า “คนจน” สำหรับประเทศไทยคืออะไร และจำเป็นต้องพิสูจน์ความจนเพื่อรับสิทธิ์ไปเรื่อยๆ แบบนี้จริงหรือ? รัฐบาลคงต้องหาทางออกของเรื่องนี้และประชาชนคงต้องรอติดตามต่อไป

อ้างอิงข้อมูล : TPMAPWorld BankBBC, ราชกิจจานุเบกษา และ พรรคเพื่อไทย