จีนใช้ 'หุ่นยนต์' แทนมนุษย์มากขึ้น 'ทางรอด' ก่อน 'สังคมสูงวัย' ฉุดเศรษฐกิจ?
ขณะที่หลายประเทศทั่วโลกเผชิญแนวโน้มสูงขึ้นในการเข้าสู่ “สังคมสูงวัย” ที่หยุดยั้งได้ยาก “จีน” หันมาใช้ “หุ่นยนต์” แทนมนุษย์มากขึ้นในหลายอุตสาหกรรมเพื่อเป็นทางรอดในอนาคต ก่อนคนส่วนใหญ่ในประเทศจะกลายผู้สูงวัย จนอาจฉุดรั้งเศรษฐกิจ
Key Points
- ประชากรวัยทำงานของจีนซึ่งอยู่ในช่วง 16-59 ปี “มีจำนวนลดลง” มาอยู่ที่ 875.6 ล้านคนในปี 2565 จากจำนวน 896.4 ล้านคนในปี 2562
- จีนผลิตหุ่นยนต์สำหรับอุตสาหกรรม 281,515 ตัวในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้น 2.3% จากปีที่แล้ว
- สำหรับความหนาแน่นของหุ่นยนต์ (Robot Density) จีนอยู่ที่ระดับ 392 ตัวต่อแรงงาน 10,000 คน เพิ่มขึ้นจาก 140 ตัวในปี 2561 และ 68 ตัวในปี 2559
ดูเหมือนว่า แนวโน้มสังคมในอนาคตจะมี “ผู้สูงวัย” เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ และ “วัยแรงงาน” อาจขาดแคลน แนวโน้มดังกล่าวเกิดขึ้นทั่วโลก ตั้งแต่จีน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ เยอรมนี หรือแม้แต่ไทย มีวิธีใดบ้างที่จะรับมือแนวโน้มนี้ ก่อนที่จะฉุดเศรษฐกิจให้ถดถอยลง
เมื่อหันมาดู “จีน” ประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก พบว่า ประชากรวัยทำงานของจีนซึ่งอยู่ในช่วง 16-59 ปี “มีจำนวนลดลง” มาอยู่ที่ 875.6 ล้านคนในปี 2565 จากจำนวน 896.4 ล้านคนในปี 2562
ขณะที่ประชากรผู้สูงวัยจีนซึ่งมีอายุ 65 ปีขึ้นไป “มีจำนวนเพิ่มขึ้น” เป็น 209.78 ล้านคนในปี 2565 จากจำนวน 176 ล้านคนในปี 2562
ปรากฏการณ์นี้สะท้อนว่า วัยแรงงานกำลังขาดแคลน ผลผลิตทางเศรษฐกิจลดลง และอาจนำมาสู่การถดถอยทางเศรษฐกิจตามมา
- จีนเพิ่มการใช้ “หุ่นยนต์” ขนานใหญ่ แก้ปัญหาสังคมสูงวัย
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักข่าว South China Morning Post รายงานว่า หลายบริษัทในจีนแก้ปัญหาดังกล่าว ด้วยการขยายการใช้ “หุ่นยนต์” ในการผลิตสินค้า จากแต่เดิม โรงงานทอผ้าในบริเวณปากแม่น้ำแยงซี นครเซี่ยงไฮ้ และมณฑลเจียงซูกับมณฑลเจ้อเจียงเผชิญผลกระทบจากสังคมผู้สูงวัย แต่ปัจจุบัน การนำเครื่องจักรอัตโนมัติมาช่วยบรรเทาปัญหานี้ลงได้บ้าง
เสวี่ย ผิง (Xue Ping) ผู้ผลิตและส่งออกเฟอร์นิเจอร์แบบผ้าในมณฑลเจ้อเจียง กล่าวว่า “ระบบอัตโนมัติของสายการผลิตต่างๆ ได้ช่วยให้โรงงานหลายแห่งยังสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ และช่วยเติมเต็มห่วงโซ่การผลิตด้านอุตสาหกรรมให้สมบูรณ์”
ยิ่งไปกว่านั้น โรงงานที่ให้ผลผลิตมูลค่า 300 ล้านหยวนต่อปี แต่เดิมต้องอาศัยแรงงานประมาณ 100 คน เมื่อหันมาใช้หุ่นยนต์แล้ว ทำให้โรงงานอาศัยกำลังแรงงานลดลงเหลือ 4-5 คนในการผลิตสินค้าแทน
อีกทั้งในเมืองตงกว่าน บริเวณโซนศูนย์กลางการผลิตทางตอนใต้ของมณฑลกวางตุ้ง เริ่มเปลี่ยนวิธีการผลิตระดับล่างไปสู่การผลิตในระดับขั้นสูง ไม่ว่าจะเป็นการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV), แผงโซลาร์เซลล์, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และแบตเตอรี่ลิเทียม ช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ
- ใช้หุ่นยนต์เพิ่มเป็นเกือบ 3 แสนตัวใน 8 เดือนแรก
จากข้อมูลของกระทรวงอุตสาหกรรม และเทคโนโลยีสารสนเทศของจีน ระบุว่า จีนผลิตหุ่นยนต์สำหรับอุตสาหกรรม 281,515 ตัวในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้น 2.3% จากปีที่แล้ว และได้ตั้งโรงงานผลิตอัจฉริยะ และโรงงานดิจิทัลเกือบ 8,000 แห่งในเดือนก.ค.ที่ผ่านมา
- หุ่นยนต์อุตสาหกรรม (เครดิต: Freepik) -
ส่วนความหนาแน่นของหุ่นยนต์ (Robot Density) ซึ่งเป็นการวัดจำนวนของหุ่นยนต์ต่อคนงาน 10,000 คนในอุตสาหกรรม เพื่อสะท้อนระดับความแพร่หลายของการใช้หุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรม พบว่า จีนอยู่ที่ระดับ 392 ตัวต่อแรงงาน 10,000 คนในปัจจุบัน เพิ่มขึ้นจาก 140 ตัวในปี 2561 และ 68 ตัวในปี 2559
ขณะที่เกาหลีใต้ ขึ้นแท่นอันดับ 1 มีการใช้หุ่นยนต์มากที่สุดที่ 1,000 ตัวต่อแรงงาน 10,000 คน และตามด้วยสิงคโปร์ที่ 670 ตัว
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลจีนได้ตั้งเป้าหมายว่า จะเพิ่มความหนาแน่นของหุ่นยนต์เป็น 2 เท่าภายในปี 2568 ซึ่ง หลัว จวิน (Luo Jun) ที่ปรึกษาของรัฐบาลจีนด้านการผลิตอัจฉริยะ แสดงความเห็นว่า กระบวนการผลิตที่ก้าวหน้าของจีน ช่วยยกระดับสถานะจีนในเวทีการผลิตระดับโลก และจีนไม่ควรหวังเพียงการเป็น “โรงงานของโลก” แต่ควรมุ่งเป็นมหาอำนาจด้านการผลิตระดับขั้นสูงเฉกเช่น เยอรมนี และญี่ปุ่น
แม้ว่าอุตสาหกรรมผลิตโดยรวมของจีนตอนนี้ ยังคงอยู่ระดับกลาง แต่ในอนาคต จีนจะไปสู่สังคมหลังอุตสาหกรรมได้ เป็นการผลิตสินค้าล้ำสมัย จนกลายเป็นคู่แข่งโดยตรงกับยุโรป และสหรัฐ
สำหรับผลกระทบจากหุ่นยนต์นั้น จากรายงานของบริษัททำบัญชี PwC ในปี 2560 ระบุว่า ปัญญาประดิษฐ์ (AI), หุ่นยนต์, โดรน และรถยนต์ไร้คนขับ สามารถเข้ามาแทนที่ 26% ของงานในจีนภายในอีก 20 ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม รายงานนี้คาดการณ์ว่า ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวกลับช่วยเพิ่มผลผลิตทางเศรษฐกิจ รายได้ที่แท้จริง และการใช้จ่ายของประชาชน จนกลายเป็นสร้างงานใหม่เพิ่มขึ้น 90 ล้านตำแหน่งภายในปี 2580
อ้างอิง: scmp, scmp(2)
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์