ธปท. เผยเศรษฐกิจไทยปลายปี 2566 ฟื้นตัว! โดยเฉพาะภาคบริการ - ภาคส่งออก

ธปท. เผยเศรษฐกิจไทยปลายปี 2566 ฟื้นตัว! โดยเฉพาะภาคบริการ - ภาคส่งออก

เปิดรายงาน ธปท. เศรษฐกิจ และการเงินไทยล่าสุดในไตรมาส 3/2566 มีทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคบริการ - ภาคการส่งออกฟื้นตัวพุ่งแรง

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเดือนกันยายน 2566 และไตรมาสที่ 3 ปี 2566 ระบุว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในทิศทางฟื้นตัว โดยกิจกรรมใน “ภาคบริการฟื้นตัว” ต่อเนื่องตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ประกอบกับมูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำปรับเพิ่มขึ้นในหลายหมวดสินค้า

ขณะที่ด้านการผลิต “ภาคอุตสาหกรรมทรงตัว” ส่วนอุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภค และการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวลง หลังจากเร่งไปในช่วงก่อนหน้า สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากทั้งรายจ่ายของรัฐบาลกลาง และการลงทุนรัฐวิสาหกิจ

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ “อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง” จากทุกหมวดหลัก โดยหมวดอาหารสดลดลงจากราคาผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น ขณะที่หมวดพลังงานลดลงจากมาตรการ “ลดค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันดีเซล” ของภาครัฐ

ส่วน “อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลง” เล็กน้อยจากราคาอาหารสำเร็จรูปเป็นสำคัญ ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้นต่อเนื่อง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากดุลการค้าเป็นสำคัญ และเมื่อเจาะลึกลงไปในรายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทย มีข้อควรรู้ดังนี้

1. จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ (ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว) เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามจำนวนนักท่องเที่ยวในเกือบทุกสัญชาติ โดยเฉพาะ “เกาหลีใต้และอินเดีย” ที่มีวันหยุดต่อเนื่องหลายวัน ส่วนนักท่องเที่ยวจาก “ตะวันออกกลางและยุโรป” กลับมาขยายตัวหลังจากที่ชะลอไปในช่วงก่อนหน้า ในขณะที่ “จีน” ก็เริ่มเข้ามามากขึ้น โดยส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากมาตรการยกเว้นการยื่นวีซ่าในช่วงปลายเดือน

2. มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น
มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำ (ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว) เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยปรับดีขึ้นในหลายหมวด อาทิ 1) การส่งออกเครื่องประดับไปฮ่องกงที่ได้รับผลดีในช่วงที่มีงานจัดแสดงสินค้า 2) สินค้าเกษตร ตามการส่งออกข้าวขาวไปแอฟริกาใต้ และเบนินเป็นสำคัญ และ 3) สินค้าเกษตรแปรรูป ตามการส่งออกน้ำมันปาล์มไปอินเดีย และแป้งมันสำปะหลังไปจีน อย่างไรก็ตาม การส่งออกบางสินค้าปรับลดลง อาทิ ยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า

3. มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น
มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำ (ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว) เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในทุกหมวดสินค้าหลัก โดยเฉพาะการนำเข้า 1) วัตถุดิบ และสินค้าขั้นกลาง จากเชื้อเพลิง และชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และวัสดุโลหะ 2) สินค้าทุน ตามการนำเข้าคอมพิวเตอร์ เพื่อรองรับอุปสงค์ในอุตสาหกรรมดิจิทัล และ 3) สินค้าอุปโภคบริโภค ตามการนำเข้าโทรศัพท์มือถือ และรถยนต์ไฟฟ้า หลังเปิดตัวสินค้ารุ่นใหม่

4. ภาคอุตสาหกรรมทรงตัว
ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม (ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว) ทรงตัวจากเดือนก่อน โดยการผลิตหมวดอาหารและเครื่องดื่มปรับดีขึ้นตามการผลิตน้ำตาลจากราคาน้ำตาลที่ปรับสูงขึ้น ด้านหมวดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์เพิ่มขึ้นตามรอบการผลิต รวมถึงหมวดยาง และพลาสติกที่เพิ่มตามการผลิตยางแท่ง และยางรัดของ

5. การผลิตยานยนต์ลดลง
การผลิตหมวดยานยนต์ลดลง จากการผลิตรถกระบะที่ได้เร่งผลิตไปในช่วงก่อนหน้า ประกอบกับสถาบันการเงินยังคงเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ รวมถึงหมวดปิโตรเลียมลดลงจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นชั่วคราว

6. อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากทุกหมวดหลัก โดยหมวดอาหารสดลดลงจากราคาผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ เนื่องจากมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น ขณะที่หมวดพลังงานลดลงจากมาตรการลดค่าไฟฟ้า และราคาน้ำมันดีเซลของภาครัฐ ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงเล็กน้อยจากราคาอาหารสำเร็จรูปเป็นสำคัญ

7. ตลาดแรงงานยังฟื้นตัวต่อเนื่อง
ด้านตลาดแรงงานยังฟื้นตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้นจากทั้งภาคบริการ และภาคการผลิต สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัด “เกินดุล” ตามดุลการค้า ประกอบกับดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลลดลงตามรายจ่ายค่าทรัพย์สินทางปัญญา

ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. เฉลี่ยอ่อนค่าลง เนื่องจากตลาดปรับเพิ่มการคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงเป็นเวลานาน รวมไปถึงค่าเงินหยวนอ่อนค่าจากเศรษฐกิจจีนที่ยังคงเปราะบาง อีกทั้งนักลงทุนรอความชัดเจนของนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

--------------------------------------------------

อ้างอิง: ธนาคารแห่งประเทศไทย (ณ 31 ต.ค. 66) 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์.