‘วิกฤติตลาดเกมจีน’ ฉุดมูลค่าตลาด ‘Tencent’ หายวับในพริบตา 1.4 ล้านล้านบาท
ส่องที่มาที่ไปของระเบียบควบคุมธุรกิจเกมออนไลน์จีนฉบับใหม่ ที่สั่นสะเทือนยักษ์ใหญ่ “Tencent” จนมีมูลค่าตลาดหายวับ 1.4 ล้านล้านบาทในพริบตา และยังกระทบบริษัทเกมอื่น ๆ ด้วยต่อการหารายได้
Key Points
- “ตลาดเกมจีน” ในปี 2566 ถูกคาดการณ์โดย CNG องค์การวิจัยด้านเกมของจีนว่า จะเติบโตเกือบ 14% จนมีมูลค่า 302,900 ล้านหยวนหรือราว 1.5 ล้านล้านบาท
- นับตั้งแต่ปี 2564 จีนเริ่มต้นออกมาตรการควบคุมเวลาเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปีให้สามารถเล่นเกมออนไลน์ได้เพียง 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เท่านั้น
- รัฐบาลจีนเปรียบ “เกมออนไลน์” เหมือนกับ “ฝิ่น” ที่จะปล่อยเสรีไม่ได้ จำเป็นต้องมีการควบคุมอย่างเข้มงวด
ถึงแม้ CNG องค์การวิจัยด้านเกมของจีนคาดการณ์ว่า “ตลาดเกมจีน” ในปีนี้จะเติบโตเกือบ 14% จนมีมูลค่า 302,900 ล้านหยวนหรือราว 1.5 ล้านล้านบาท
แต่ดูเหมือนว่าหนึ่งในตลาดเกมขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอาจไปไม่ถึงตัวเลขเติบโตนี้ เมื่อรัฐบาลจีนเตรียมออกกฎควบคุมเกมฉบับใหม่ จนทำให้ “Tencent” บริษัทเทคโนโลยีและผู้ผลิตเกมออนไลน์ใหญ่ที่สุดของจีน มูลค่าตลาดหายไป 43,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1.4 ล้านล้านบาทภายในวันเดียวเมื่อวันศุกร์ (22 ธ.ค.) ที่ผ่านมา หลังราคาหุ้นร่วงราว 12.4% แตะระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่กลางเดือน พ.ย. 2565
นอกจากนี้ บริษัทเกมอื่น ๆ อย่าง “NetEase” ที่มีมูลค่าใหญ่ที่สุดรองลงมาก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน หลังราคาหุ้นร่วงถึง 24.6% ทำมูลค่าตลาดลดฮวบราว 14,700 ล้านดอลลาร์
สำหรับธุรกิจเกมออนไลน์จีน เหล่าบริษัทเกมจะมีการให้ “รางวัล” สำหรับผู้ที่ล็อกอินเข้าเล่นเกม ทุกวัน หรือหากเข้ามาเล่นอย่างเดียว แต่ยังไม่เคยลองซื้อไอเทม อาวุธเสมือน และตัวละครต่าง ๆ ในเกม บริษัทก็จะมีรางวัลให้สำหรับผู้ซื้อครั้งแรก รวมถึงผู้ที่ซื้อติดต่อกันต่อเนื่องด้วย
อย่างไรก็ตาม ระเบียบใหม่จีนได้ห้ามบริษัทเกมไม่ให้ออกรางวัลที่จะจูงใจเหล่านี้ และบริษัทเกมจำเป็นต้องขึ้นหน้าต่างแจ้งเตือนผู้เล่นว่า “เล่นเกมในระยะเวลานานเกินไป” หรือ “ใช้จ่ายเงินในเกมมากเกินขอบเขต”
ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทเกมต้องควบคุมการซื้อขายไอเทมต่าง ๆ ในเกม ไม่ให้มีมูลค่าสูงมากหรือเป็นการเก็งกำไรมากเกินไป ฯลฯ
แม้ว่าระเบียบเหล่านี้จะยังไม่ประกาศบังคับใช้ และยังไม่แน่ชัดว่าจะบังคับใช้กับเด็กหรือผู้ใหญ่หรือทุกช่วงวัย เพราะกำลังอยู่ในระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะจนถึงวันที่ 22 ม.ค. 2567 แต่ก็ทำให้ผู้ถือหุ้นบริษัทเกมตื่นตระหนกและเทขายหุ้นครั้งใหญ่ออกมา
หากระเบียบนี้บังคับใช้จริง จะกระทบต่อรายได้ของบริษัทเกมอย่างยิ่ง เพราะ “เครื่องมือ” จูงใจให้คนใช้เวลาในเกมให้นานขึ้นอย่าง “เงินรางวัล” ไม่สามารถใช้ได้อีก
อีกทั้งตลาดการซื้อขายไอเทมในเกมที่เคยคึกคัก ต้นทุนไอเทมเหล่านี้มีราคาเพียงไม่กี่บาท แต่สามารถซื้อขายและเก็งกำไรจนมีมูลค่าสูงมาก นำมาซึ่งรายได้มหาศาลแก่บริษัทเกม ก็อาจถูกจำกัดวงเงินซื้อขายและไม่ให้เป็นการเก็งกำไรที่มากเกินไป
- เกม PUBG ของ Tencent (เครดิต: Tencent) -
ถ้าถามว่า ทำไมรัฐบาลจีนถึงเข้ามาควบคุมอุตสาหกรรมเกมอย่างเข้มงวดเช่นนี้ นั่นก็เพราะว่านับตั้งแต่ปี 2564 รัฐบาลจีนเปรียบ “เกมออนไลน์” เหมือนกับ “ฝิ่น” ที่จะปล่อยเสรีไม่ได้ จำเป็นต้องมีการควบคุมอย่างเข้มงวด แม้แต่ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนเคยแสดงความเห็นในการประชุมสภาจีนเมื่อปี 2564 ว่า เกมออนไลน์มีส่วนทำให้เยาวชนจีนประสบปัญหาสายตาสั้นสูงขึ้น และกระทบต่อสุขภาพจิตของพวกเขา
ด้วยเหตุนี้ ในช่วงนั้น จีนจึงเริ่มต้นออกมาตรการควบคุมเวลาเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี สามารถเล่นเกมออนไลน์ได้เพียง 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เท่านั้น หรือก็คือเหลือ 1 ชั่วโมงในวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ในช่วง 20.00-21.00 น. จนถึงปัจจุบัน
“มาตรการควบคุมเกมของรัฐบาล จะกระทบต่อกำไรของเหล่าบริษัทเกม แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่า คือ จะมีมาตรการใหม่ที่เข้มข้นมากกว่านี้หรือไม่ต่อธุรกิจเกม เหมือนกับครั้งที่รัฐบาลออกระเบียบให้ธุรกิจกวดวิชาเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรแทน” หยาง จุ้นเซวียน (Yang Junxuan) ผู้จัดการกองทุนของบริษัทจัดการกองทุน Shanghai Junniu กล่าว
เหตุการณ์เหล่านี้ อาจจะเป็น “ความเสี่ยงทางนโยบายจีน” ที่ผู้ลงทุนควรระมัดระวังในการลงทุนธุรกิจเหล่านี้ เพราะสำหรับตลาดหุ้นจีน การมองเพียงธุรกิจเป็นหลักอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เพราะต่อให้บริษัทนั้นจะแข็งแกร่ง ยิ่งใหญ่หรือราคาถูกมากเพียงใด แต่หากมีโมเดลธุรกิจที่สวนทางกับนโยบายหลักของรัฐบาลจีน ก็จะกระทบต่อการเติบโตและความอยู่รอดของธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อ้างอิง: cnbc, reuters, reuters(2), bloomberg, bloomberg(2)