ดัชนี PMI ไทยรองบ๊วยอาเซียน ปรับตัวลงแรงสุดรอบ 3 ปีครึ่ง

ดัชนี PMI ไทยรองบ๊วยอาเซียน ปรับตัวลงแรงสุดรอบ 3 ปีครึ่ง

เอสแอนด์พีเผยดัชนี PMI ในภาคการผลิตของกลุ่มประเทศอาเซียน พบทั้งภูมิภาคหดตัวลงต่ำกว่า 50 ยอดคำสั่งซื้อใหม่ร่วงเร็วสุดในรอบ 28 เดือน ขณะที่ไทยรั้งท้ายดีกว่าแค่เมียนมาประเทศเดียว

Key Points

  • ดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือน ธ.ค. ของกลุ่มอาเซียน 7 ประเทศหดตัวลง
  • ยอดคำสั่งซื้อใหม่หดตัวแรงสุดในรอบ 28 เดือน ฉุดการผลิตและภาพรวมให้แย่ลง
  • ดัชขีของ 'ไทย' ต่ำสุดในกลุ่มเป็นรองแค่เมียนมา และลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5
  • 'สิงคโปร์' และ 'อินโดนีเซีย' มี PMI ขยายตัวดีที่สุดในรอบ 6 เดือน และ 3 เดือน 


เอสแอนด์พี โกลบอล เปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เดือน ธ.ค. ของ 7 ประเทศในกลุ่มอาเซียน พบว่า ดัชนีรวมของทั้งภูมิภาคปรับตัวลดลงอยู่ที่ 49.7 จากระดับ 50.0 ในเดือน พ.ย. ซึ่งถือเป็นการลดลงครั้งที่ 3 ภายในรอบ 4 เดือน 
 

รายงานระบุว่าตัวเลขที่น่ากังวลที่สุดในดัชนี PMI รอบนี้ก็คือ ยอดคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ที่ร่วงลงเร็วที่สุดในรอบ 28 เดือน หรือนับตั้งแต่เดือน ส.ค. 2021 และลดลงเป็นเดือนที่ 4 แล้ว จนกดดันให้ยอดการส่งออกใหม่ลดลง และการการเติบโตของผลผลิตที่เพิ่งฟื้นตัวในเดือนที่แล้ว กลับมาอ่อนแรงลงโดยเติบโตช้าที่สุดในรอบ 27 เดือน  

ในขณะที่การจ้างงานในภาคการผลิตขยายตัวขึ้นได้เล็กน้อย โดยบวกครั้งแรกในรอบ 4 เดือน และชัดเจนที่สุดในรอบ 14 เดือน 

ดัชนี PMI ไทยรองบ๊วยอาเซียน ปรับตัวลงแรงสุดรอบ 3 ปีครึ่ง
 

ในการสำรวจทั้ง 7 ประเทศกลุ่มอาเซียนพบว่ามี 4 ประเทศที่ดัชนี PMI ปรับตัวลดลง โดยมี "ประเทศไทย" อยู่ในกลุ่มรั้งท้ายเป็นรองเพียงแค่เมียนมาประเทศเดียว 

ดัชนี PMI ในภาคการผลิตของไทยเดือน ธ.ค. ปรับตัวลดลงอยู่ที่ 45.1 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาค โดยเป็นการร่วงลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 และยังเป็นการร่วงลงแรงที่สุดในรอบ 3 ปีครึ่ง 

ด้านตัวเลขของ "มาเลเซีย" อยู่ที่ 47.9 แม้จะไม่เปลี่ยนแปลงจากในเดือนก่อนหน้า แต่ก็ถือว่าอยู่ในระดับที่หดตัวลง (ต่ำกว่า 50.0) และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาค โดยดัชนีของมาเลเซียปรับตัวลดลงมา 16 เดือนแล้ว 

ในขณะที่ "เวียดนาม" อยู่ที่ระดับ 48.9 ดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย และ "เมียนมา" อยู่ที่ระดับ 42.9 หรือต่ำสุดในรอบ 1 ปี

ดัชนี PMI ไทยรองบ๊วยอาเซียน ปรับตัวลงแรงสุดรอบ 3 ปีครึ่ง  

สำหรับกลุ่มประเทศที่ดัชนี PMI ขยายตัวคือ "ฟิลิปปินส์" ซึ่งอยู่ที่ระดับ 51.5 แม้ว่าจะเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือนก็ตาม โดยมีปัจจัยประกอบอื่นๆ ขยายตัวได้ดีปานกลาง

ทางด้าน "สิงคโปร์" ขยายตัวที่ 52.0 และ "อินโดนีเซีย" 52.2 ซึ่งถือเป็นการเติบโตดีที่สุดในรอบ 6 เดือน และ 3 เดือนตามลำดับ โดยมีปัจจัยประกอบอื่นๆ ขยายตัวได้ดีใกล้เคียงกัน 

มาเรียม บาลุช นักเศรษฐศาสตร์ของเอสแอนด์พี โกลบอล มาร์เก็ต อินเทลลิเจนซ์ กล่าวว่า ภาคการผลิตของอาเซียนอ่อนตัวลงในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โดย PMI ทั่วไปกลับเข้าสู่ระดับของการหดตัวในเดือน ธ.ค. ปัจจัยหลักที่ฉุดการปรับตัวคือการที่คำสั่งซื้อใหม่ชะลอตัวลง ซึ่งบ่งชี้ถึงสภาวะอุปสงค์โดยรวมที่อ่อนแรงลง ในขณะที่อัตราการหดตัวของงานใหม่อยู่ในระดับปานกลางแต่กลับเห็นได้ชัดเจนที่สุดในรอบเกือบสองปีครึ่ง

การลดลงอย่างต่อเนื่องของธุรกิจใหม่ส่งผลให้ผลผลิตเติบโตช้าลง โดยการผลิตเพิ่มขึ้นเพียงบางส่วนและเป็นอัตราที่อ่อนแอที่สุดในรอบ 27 เดือน อย่างไรก็ตามยังมีข่าวดีในบางเรื่อง เมื่อบริษัทต่างๆ ต้องการเพิ่มจำนวนพนักงานและกิจกรรมการซื้อ แม้ว่าจะเพียงเล็กน้อยในแต่ละกรณีก็ตาม

"แม้ว่าการชะลอตัวของภาคการผลิตในอาเซียนโดยรวมจะถือว่าไม่รุนแรงนัก แต่สัญญาณของอุปสงค์อ่อนแรงที่ชัดเจนขึ้น อาจส่งผลให้มีการลดการผลิตลงใหม่เมื่อก้าวเข้าสู่ปี 2567 ผู้ผลิตทั่วทั้งภูมิภาคคาดหวังว่าจะมีการขยายคำสั่งซื้อใหม่เพื่อช่วยสนับสนุนการเติบโตในช่วงปี 2567 ปีที่กำลังมาถึง" บาลุชกล่าว