‘เศรษฐกิจไทย’ กำลังเดินเข้าสู่ ‘ภาวะถดถอย’ ?
การสาดวาทกรรมใส่กันไปมาไม่มีประโยชน์ เพราะถ้าเมื่อไหร่เศรษฐกิจไทยเดินเข้าสู่ภาวะถดถอยจริงๆ เมื่อนั้นการพลิกฟื้นคงจะยากลำบากกว่านี้หลายเท่านัก
สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานตัวเลขเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ไตรมาส 4 ปี 66 ขยายตัวได้ 1.7% ส่วนทั้งปี 66 เศรษฐกิจไทยโตได้แค่ 1.9% เท่านั้น ชะลอตัวลงจากการขยายตัว 2.5% ในปี 2565
ตัวเลขที่ออกมาดูสั่นสะเทือนเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยมากทีเดียว เมื่อไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า การบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 7.4% การอุปโภคภาครัฐหดตัว 3% การลงทุนรวมหดตัว 0.4% ส่วนภาคการเกษตร ติดลบ 0.8% สาขาการก่อสร้างลบ 8.8% สาขาภาคอุตสาหกรรมลบ 2.4% การลงทุนรวมลบ 0.4% และการอุปโภคภาครัฐหดตัว 3%
ขณะที่ การส่งออกสินค้ามีมูลค่ารวม 6.8 หมื่นล้านดอลลาร์ ขยายตัว 4.6% เป็นการขยายตัวในรอบ 5 ไตรมาส
ส่วนปริมาณการส่งออกขยายตัว 3.2% ขณะที่การส่งออกภาคบริการขยายตัว 14.7% โดยสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ขยายตัว 10% ต่อเนื่องจากการขยายตัว 15% ในไตรมาสก่อนหน้า
ส่วนดัชนีการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ก็ลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 ลดลง 2.4% เทียบกับการลดลง 4.4% ในไตรมาสก่อนหน้า
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 คาดว่า จะขยายตัวช่วง 2.2-3.2% (ค่ากลางการประมาณการที่ 2.7%)
จากเดิมที่คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ประมาณ 3.2% ...ตัวเลขเหล่านี้ สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทย “มีปัญหาหนัก” โดยเฉพาะปัญหา “หนี้ที่สูงขึ้น” ทั้งในภาคครัวเรือนและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ช่วงที่ผ่านมามีสินเชื่อที่ต้องกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) เริ่มเป็นหนี้ด้อยคุณภาพ หรือ หนี้เสีย (NPL) เพิ่มจำนวนขึ้น
คำแนะนำจาก สศช. เราเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่น่าขบคิดต่อ โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นด้านการเงิน มาตรการดอกเบี้ยต่างๆ ทั้งอัตราดอกเบี้ย หรือส่วนต่างดอกเบี้ยที่แคบลง เน้นลงไปที่ภาคครัวเรือน และเอสเอ็มอี และอาจต้องมีมาตรการเฉพาะเจาะจงลงไปไม่ให้ดอกเบี้ยที่ลดลง เป็นตัวการก่อหนี้มากขึ้น
ทั้งอาจต้องดูมาตรการชำระหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำยังควรมีมาตรการผ่อนคลายต่อไปอีกระยะ เพื่อให้ภาคเอสเอ็มอีที่ใช้สินเชื่อบัตรเครดิตมีกำลังการใช้จ่ายมากขึ้น
และแม้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. จะออกมาบอกว่า “จีดีพีที่สภาพัฒน์ฯ ประกาศออกมานั้น ยังถือว่าเป็นไปตามที่ สศค.คาดการณ์ไว้ และไม่ได้มองว่าเศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะถดถอย
แม้ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4 ปี 2566 จะขยายตัวติดลบราว 0.6% จากไตรมาส 3 ปี 2566 ซึ่งยังต้องรอดูไตรมาส 1 ปี 2567 ว่าจะขยายตัวติดลบต่อเนื่องหรือไม่” ...แต่เรามองว่า เรื่องนี้ไม่ควรประมาท เศรษฐกิจประเทศกำลังเข้าสู่ภาวะชะงักงัน เป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือแก้ปัญหา
การสาดวาทกรรมใส่กันไปมาไม่มีประโยชน์ เพราะถ้าเมื่อไหร่เศรษฐกิจไทยเดินเข้าสู่ภาวะถดถอยจริงๆ เมื่อนั้นการพลิกฟื้นคงจะยากลำบากกว่านี้หลายเท่านัก