‘เศรษฐา’ ไปนอก รอผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม
การเจรจาระหว่างประเทศรับรู้กันอยู่แล้วว่าเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา รวมถึงการเจรจากับบริษัทข้ามชาติ ดังนั้นนายกรัฐมนตรีจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำการบ้านต่อ สั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การเดินทางไปเจรจาความเมืองสัมฤทธิ์ผลในท้ายที่สุด
นโยบายการทูตเชิงรุกเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่จะผลักดันให้การต่างประเทศของไทยมีบทบาทในภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งเพิ่มบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้ช่วงที่ผ่านมารัฐบาลมีการเจรจากับรัฐบาลต่างประเทศ รวมถึงบริษัทข้ามชาติจำนวนมากเพื่อเพิ่มโอกาสการทำธุรกิจกับประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ อากาศยาน อาหาร
ล่าสุดนายกรัฐมนตรีอยู่ระหว่างการเดินทางเยือนประเทศฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ ซึ่งจะมีการจัดกิจกรรมคู่ขนานที่กรุงปารีส และเมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส รวมถึงจะมีการเดินทางเยือนเยอรมนี อย่างเป็นทางการ และจัดกิจกรรมคู่ขนานที่กรุงเบอร์ลิน รวมแล้วเป็นการเดินทางไปทวีปยุโรปยาวตั้งแต่วันที่ 7-13 มี.ค.2567 และเป็นการเดินทางหลังจากนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ ในวันที่ 4-6 มี.ค.2567 ที่นครเมลเบิร์น ออสเตรเลีย
การเดินทางเยือนทวีปยุโรปมีหลายประเทศที่นายกรัฐมนตรีจะไปดำเนินการเจรจาไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) รวมถึงการเจรจาเพื่อให้ประเทศไทยได้รับการยกเว้นวีซ่าเชงเก้น ซึ่งถือเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างยากทั้ง 2 ประเด็น โดยเฉพาะการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีที่ต้องทำการบ้านเจรจาต่ออีกหลายครั้ง ในขณะที่การขอยกเว้นวีซ่าเชงเก้นที่ต้องใช้พลังต่อรองสูง เพื่อให้สหภาพยุโรปยอมรับไทย ซึ่งต้องดูว่ารัฐบาลไทยจะยื่นอะไรเป็นข้อแลกเปลี่ยน
มีบริษัทข้ามชาติหลายรายที่นายกรัฐมนตรีออกมาเปิดเผยว่าได้หารือและมีความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะบริษัทเทสลา ที่นายกรัฐมนตรีเดินทางเยือนสหรัฐ 2 ครั้ง ได้พบกับผู้บริหารของบริษัทเทสลาทั้ง 2 ครั้ง ถึงแม้ว่าครั้งแรกจะเป็นการหารือผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ แต่ในการเดินทางเยือนครั้งที่ 2 ได้เดินทางไปเยือนโรงงานของบริษัทเทสลา ที่เมืองเฟรมอนต์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งหลังจากนี้ต้องรอดูว่าการไปลงพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในไทย 3 แห่ง และข้อเสนออื่นจากรัฐบาลไทยจะทำให้บริษัทเทสลาตัดสินใจอย่างไร
นายกรัฐมนตรีเข้าทำงานมาครบ 6 เดือน แล้ว ในช่วงที่ผ่านมาจึงมีการกล่าวถึงผลงานรัฐบาล และนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ทุกกระทรวงสรุปผลงานในรอบ 6 เดือน โดยการเจรจาระหว่างประเทศรับรู้กันอยู่แล้วว่าเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ไม่ว่าจะเป็นการเจรจาทวิภาคีหรือพหุพาคี รวมถึงการเจรจากับบริษัทข้ามชาติ ดังนั้นนายกรัฐมนตรีจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำการบ้านต่อ สั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การเดินทางไปเจรจาความเมืองสัมฤทธิ์ผลในท้ายที่สุด