‘Toyota’ เคาะขึ้นค่าจ้างพนักงาน สูงสุด 7,000 บาท/เดือน มากสุดรอบ 25 ปี!
“Toyota” ค่ายรถยักษ์ใหญ่ระดับโลก ประกาศตกลงปรับขึ้นค่าแรงพนักงานสูงสุด “ในรอบ 25 ปี” จนอาจเป็น “ใบเบิกทาง” ให้อุตสาหกรรมอื่น ๆ ขึ้นค่าจ้างตาม และทำให้แบงก์ชาติญี่ปุ่นยกเลิกดอกเบี้ยนโยบายติดลบก็เป็นได้
สำนักข่าว CNBC รายงานในวันนี้ (13 มี.ค. 2567) ว่า “Toyota Motor” (โตโยต้า มอเตอร์) บริษัทผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในโลก สัญชาติญี่ปุ่น ตกลงเพิ่มค่าแรงพนักงานจากที่เป็นอยู่ “สูงสุดในรอบ 25 ปี” ตามข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงาน จนอาจกลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจใช้พิจารณาปรับดอกเบี้ยนโยบาย
ไม่เพียง Toyota บริษัทด้านรถและแบตเตอรี่อย่าง Panasonic (พานาโซนิค) และ Nissan (นิสสัน) ก็ตกลงตามข้อเรียกร้องขึ้นค่าจ้างของสหภาพแรงงาน โดยการเจรจาระหว่างบริษัทค่ายรถกับกลุ่มแรงงานได้ถูกจับตามองจากสาธารณะว่า อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายของธนาคารกลางญี่ปุ่น ที่อาจยุติดอกเบี้ยนโยบายติดลบอย่างเร็วที่สุดในช่วงสัปดาห์หน้า
สำหรับจำนวนค่าจ้างที่ Toyota ปรับเพิ่มขึ้นจะสูงมากถึง 28,440 เยนหรือราว 7,000 บาท/เดือน และรวมเงินโบนัสด้วย
โยชิมาสะ ฮายาชิ (Yoshimasa Hayashi) หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ให้ความเห็นกับผู้สื่อข่าวว่า “พวกเรากำลังเห็นโมเมนตัมที่แข็งแกร่งจากการขึ้นค่าแรง และเป็นเรื่องสำคัญที่การเพิ่มค่าจ้างจะกระจายไปสู่บริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางด้วย”
นอกจากบรรดาบริษัทค่ายรถแล้ว บริษัทผลิตเหล็กอย่าง “Nippon Steel” (นิปปอน สตีล) ก็ตอบตกลงตามคำขอสหภาพแรงงานทุกอย่าง
เหล่านักเศรษฐศาสตร์มองว่า ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นเป็นสิ่งที่ต้องมีก่อนที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะปรับนโยบายการเงิน โดยค่าแรงที่เพิ่มขึ้นนี้อาจสื่อถึงฐานะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น จนแบงก์ชาติอาจหันมายุตินโยบายดอกเบี้ยติดลบที่ยาวนานตั้งแต่ปี 2559 ก็เป็นได้ ซึ่งการประชุมเรื่องดอกเบี้ยครั้งถัดไปของ BOJ จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 มี.ค. 2567
ตามข้อมูลจาก Rengo สหภาพแรงงานญี่ปุ่น ระบุว่า ลูกจ้างในบริษัทใหญ่ขอขึ้นค่าจ้างต่อปีเพิ่มขึ้น 5.85% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 30 ปี และนักวิเคราะห์บางคนได้คาดการณ์ว่า ค่าแรงอาจปรับเพิ่มขึ้น 5% ต่อปีหรือมากกว่านั้น จากระดับเดิมที่อยู่ต่ำกว่า 4% โดยเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 31 ปี
ยิ่งไปกว่านั้น สหภาพแรงงานในภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ ของญี่ปุ่น เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ โลหะ เครื่องจักรหนัก และด้านบริการ ได้เรียกร้องขึ้นค่าแรงก้อนโตด้วย
อ้างอิง: cnbc