‘Samsung’ แชโบลยืนหนึ่ง บริษัทใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ตามมูลค่าตลาด
แชโบลยักษ์ใหญ่ใน “เกาหลีใต้” พากันเรียงแถวยึดหัวตารางบริษัทมูลค่าตลาดสูงสุดในประเทศ โดย “Samsung” นำมาเป็นอันดับหนึ่งด้วยมูลค่าตลาด 3.75 แสนล้านดอลลาร์ และยังมีบริษัทในเครือติดอันดับมาอีก 3 บริษัท
KEY
POINTS
- มูลค่าตลาดของแชโบลยักษ์ใหญ่ “Samsung” สูงสุดในเกาหลีใต้ อยู่ที่ 3.75 แสนล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 135,001,875,000 บาท (อัตราค่าแลกเปลี่ยนวันที่ 19 มีนาคม 2024)
- ยังมีบริษัทในเครือ Samsung ติด 25 อันดับแรกมาอีก 3 เจ้า ได้แก่ Samsung Biologics อันดับที่ 5, Samsung SDI อันดับที่ 12 และ Samsung Life Insurance อันดับที่ 21
- แม้ว่า “แชโบล” จะมีส่วนสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของ “เกาหลีใต้” แต่ก็มีการตั้งคำถามว่าจะเป็นการผูกขาดหรือไม่
ในช่วงสองทศวรรษหลังสงครามเกาหลี เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วภายใน “เกาหลีใต้” หรือที่หลายคนเรียกว่า “ปาฏิหาริย์แห่งแม่น้ำฮัน” ได้เปลี่ยนเกาหลีใต้ให้กลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ และมีการก่อตั้งบริษัทขึ้นมากมาย จนกลายเป็นยักษ์ใหญ่ และเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ที่สำคัญบางบริษัทยังกลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในประเทศไปจนถึงระดับนานาชาติ และส่วนมากมักเป็นบริษัทในรูปแบบ “แชโบล”
ข้อมูลการจัดอันดับบริษัทเกาหลีใต้ตามมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด โดยอ้างอิงจากราคาในสกุลเงินดอลลาร์ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2024 จาก Companies Marketcap มีบริษัทชั้นนำที่มูลค่าสูง 5 อันดับแรก ได้แก่
อันดับ 1 Samsung มูลค่า 3.75 แสนล้านดอลลาร์
อันดับ 2 SK Hynix มูลค่า 7.2 หมื่นล้านดอลลาร์
อันดับ 3 LG Energy Solution มูลค่า 6.8 หมื่นล้านดอลลาร์
อันดับ 4 Hyundai มูลค่า 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์
อันดับ 5 Samsung Biologics 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์
“Samsung” มูลค่าสูงสุดในเกาหลีใต้
สำหรับบริษัทที่มีมูลค่าตลาดมากที่สุดในเกาหลีใต้ก็คือ Samsung (ซัมซุง) แชโบลที่ประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เป็นอย่างมาก ซึ่งในปัจจุบันมี “สมาร์ตโฟน” เป็นสินค้าชูโรง และได้รับความนิยมไปทั่วโลกจนกลายเป็นสมาร์ตโฟนที่ได้รับความนิยมมากเป็นอันดับสองของโลก เป็นรองแค่ Apple จากอเมริกาเท่านั้น
อ่านข่าว :
‘Samsung’ จากธุรกิจค้าปลีกทั่วไป สู่ค่ายสมาร์ตโฟนระดับโลก
โดยมูลค่าตลาดของ Samsung มีมากกว่า 3.75 แสนล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 13 ล้านล้านบาท เรียกได้ว่าใหญ่กว่าเศรษฐกิจของกาตาร์เสียอีก และแม้ว่าจะเป็นที่รู้จักในฐานะค่ายสมาร์ตโฟนยักษ์ใหญ่ แต่ก็ยังเป็นผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ เช่น เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ และโทรทัศน์ นอกจากนี้ยังมีการยกระดับธุรกิจโรงหล่อผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์เพิ่มเติมอีกด้วย
ด้วยรายรับในปี 2023 ที่สูงเกือบ 19.7 แสนล้านดอลลาร์ Samsung จึงเป็นบริษัทอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่อันดับสองของโลกรองจาก Apple
นอกจากนี้ในการจัดอันดับครั้งนี้ยังมีชื่อของ “Samsung” ที่แตกไลน์ไปทำธุรกิจอื่นๆ ติดโผมาด้วย เช่น Samsung Biologics แผนกเทคโนโลยีชีวภาพของ Samsung ในอันดับที่ 5, Samsung SDI การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และแบตเตอรี่ ในอันดับที่ 12 (มูลค่าตลาด 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์) และ Samsung Life Insurance บริษัทประกันภัยที่ใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ ในอันดับที่ 21 (มูลค่าตลาด 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์)
ในส่วนของบริษัทอื่นที่ติดอันดับก็มาจากแชโบลยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้เป็นจำนวนมาก เช่น LG Group, SK Hynix และ Hyundai เป็นต้น
แชโบลยักษ์ใหญ่มีแนวโน้มผูกขาดเศรษฐกิจ ?
แน่นอนว่าการจัดอันดับมูลค่าตลาดของบริษัทยักษ์ใหญ่ย่อมต้องมี “แชโบล” หรือ Chaebol ติดโผมาหลายเจ้าแน่นอน ซึ่งบริษัทแชโบลเหล่านี้ก็คือ กลุ่มบริษัทที่มีครอบครัวเป็นเจ้าของและดำเนินธุรกิจ หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็น “ธุรกิจครอบครัว” มีบทบาทสำคัญในการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของเกาหลีใต้นับตั้งแต่ทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา
ในปี 2023 มีบริษัทที่ถูกจัดว่าเป็นแชโบลประมาณ 40 บริษัท โดยแต่ละบริษัทก็จะมีบริษัทลูกมากมาย และมีรายได้มากกว่าร้อยละ 80 ของ GDP ของประเทศเกาหลีใต้ทั้งประเทศ
“LG Group” (เดิมชื่อ Lucky-Goldstar) คือ กลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ของเกาหลีกลุ่มหนึ่งที่ดำเนินธุรกิจด้วยการบริหารจัดการโดยครอบครัว ซึ่งบริษัทในเครือ LG Group ก็ติดอันดับบริษัทมูลค่าสูงในเกาหลีใต้ 25 อันดับแรกหลายบริษัท ได้แก่ LG Energy Solution ในอันดับ 3, LG Chem ธุรกิจเคมีภัณฑ์ ในอันดับ 8 (มูลค่าตลาด 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์), LG Electronics ธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า ในอันดับที่ 18 (มูลค่าตลาด 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์), LG Corp ดำเนินการเกี่ยวกับเทคโนโลยี ในอันดับที่ 22 (มูลค่าตลาด 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์)
แม้ว่าแชโบลจะเป็นธุรกิจสำคัญที่ขับเคลื่อนประเทศแต่ก็มีข้อสังเกตว่า อาจทำให้เกิดการผูกขาดในระบบเศรษฐกิจ ปิดกั้นการแข่งขันในบางภาคส่วน ขัดขวางการเติบโตของธุรกิจขนาดเล็ก และอาจนำไปสู่ความไร้ประสิทธิภาพในระบบเศรษฐกิจ
ข้อมูลจาก visualcapitalist ระบุว่านักวิจารณ์ถึงขั้นออกความเห็นว่าระบบแชโบลอาจทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันทางรายได้ในเกาหลีใต้รุนแรงมากยิ่งขึ้น เพราะความมั่งคั่งกระจุกตัวอยู่ในครอบครัวผู้ก่อตั้งและผู้บริหารระดับสูงเท่านั้น
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ “แชโบล” ได้ประโยชน์จากการสนับสนุนของรัฐบาลในช่วงการฟื้นฟูหลังสงคราม รวมถึงการเข้าถึงสินเชื่อ ทำให้สามารถลงทุนได้มหาศาลในอุตสาหกรรมหลักๆ เช่น การต่อเรือ อิเล็กทรอนิกส์ ค้าปลีก และรถยนต์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อรูปแบบการเติบโตของระบบเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการส่งออกของประเทศ
แนวคิดของกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่ดำเนินธุรกิจโดยครอบครัวไม่ได้มีแค่ใน “เกาหลีใต้” เท่านั้น แต่ในช่วงปี 1910-1945 ในขณะที่ญี่ปุ่นอยู่ภายใต้การปกครองของเกาหลีใต้ มีธุรกิจในลักษณะเดียวกันเรียกว่า Keiretsu หรือ เคเรตสึ
ท้ายที่สุดนี้อาจเรียกได้ว่าตัวช่วยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจเกาหลีใต้มาจากธุรกิจ “แชโบล” แต่ก็ต้องดูกันต่อไปว่าจะทำให้เกิดการผูกขาดทางเศรษฐกิจตามที่นักวิจารณ์ตั้งข้อสังเกตหรือไม่ และ “Samsung” รวมถึงแชโบลยักษ์ใหญ่อื่นๆ จะสามารถยึดหัวตารางบริษัทมีมูลค่าสูงสุดใน “เกาหลีใต้” ต่อไปได้นานแค่ไหน และมีความเป็นไปได้ที่จะมีบริษัทอื่นๆ ก้าวขึ้นมาเทียบชั้นได้มากน้อยเพียงใด
อ้างอิงข้อมูล : visualcapitalist และ connect the dots
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์