เปิดสัมพันธ์แกร่งไทย-อียู หวังปิดดีล FTA ปีนี้ ลุ้นคนไทยปลอดวีซ่า
สถานทูตอียูเฉลิมฉลอง‘วันยุโรป’ 9 พ.ค. ทูตเผยสัมพันธ์แกร่ง มูลค่าการค้ากับไทย 1 พันล้านยูโรต่อสัปดาห์ ด้านจักรพงษ์เล็งสรุปเอฟทีเอภายในปีนี้ ชงคนไทยเข้าเขตเชงเก้นไม่ต้องใช้วีซ่า
เมื่อวันที่ 9 พ.ค. สถานเอกอัครราชทูตสหภาพยุโรป เฉลิมฉลองวันยุโรป เพื่อรำลึกถึงปฏิญญาณชูมันน์ ที่ประกาศไว้เมื่อวันที่ 9 พ.ค.1950 โดยนายโรเบิร์ต ชูมันน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส
นายเดวิด เดลี เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวว่า ปฏิญญาชูมันน์ได้กำหนดวิสัยทัศน์ความร่วมมือในยุโรปที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นโดยเฉพาะระหว่างอดีตศัตรูในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ความร่วมมือเริ่มต้นจากประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้าที่มีสมาชิกหกประเทศ จากนั้นขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นสหภาพยุโรปในวันนี้ ที่ 27 ประเทศรวมกันเป็นตลาดเดียว ใช้เงินสกุลเดียวกัน และใช้นโยบายต่างประเทศร่วมกัน โดยเดือนหน้าพลเมืองหลายล้านคนทั่วยุโรปจะเลือกตั้งสมาชิกสภายุโรป
ในแง่ความสัมพันธ์กับไทย ทูตอียูเผยว่า การค้าระหว่างกันมีมูลค่า 1 พันล้านยูโรต่อสัปดาห์ และทั้งสองฝ่ายต้องการต่อยอดผ่านการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี
ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชนแข็งแกร่งเช่นกัน ปีนี้นักท่องเที่ยวจากอียูมาเยือนไทยมากเป็นอันดับสองรองจากนักท่องเที่ยวจีน การลงทุนของอียูในไทยมีมากและเติบโตทั้งสองทิศทาง อียูเป็นนักลงทุนรายใหญ่อันดับสามของไทย สร้างงานกว่า 160,000 อัตรา
“เรื่องเมียนมา อียูสนับสนุนแนวทางของอาเซียนและบทบาทของประเทศไทย” ทูตอียูกล่าวด้วยว่า ไทยกับอียูสามารถร่วมมือกันได้มากขึ้นในด้านสภาพอากาศ การพัฒนาที่ยั่งยืน และชื่นชมไทยที่ประสบความสำเร็จในการดูแลการทำประมงผิดกฎหมาย
ด้านนายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตลอดเวลากว่าหกทศวรรษแห่งความสัมพันธ์ ไทยและอียูได้ทำงานร่วมกันในหลายด้าน อาทิ สิทธิมนุษยชน ความยั่งยืน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ภายใต้ประเทศไทยยุคใหม่ เมื่อเร็วๆ นี้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอียูพัฒนาไปอย่างมาก ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการเข้าสู่กระบวนการให้สัตยาบันความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป(Thailand-EU Comprehensive Partnership and Cooperation Agreement) ซึ่งจะวางรากฐานอันแข็งแกร่งเพื่อสร้างหลักประกันถึงความเป็นหุ้นส่วนอย่างครอบคลุมระหว่างกัน
“ยิ่งไปกว่านั้นเราตั้งเป้าสรุปการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีไทย-อียูภายในปีนี้ เอฟทีเอไม่เพียงแค่กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในสองภูมิภาค แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจและห่วงโซ่อุปทานระหว่งภูมิภาคด้วย”
นายจักรพงษ์กล่าวและว่า เพื่อให้ประชาชนติดต่อกันสะดวกยิ่งขึ้น ไทยหวังได้รับการสนับสนุนจากอียูคนไทยเข้าเขตเชงเก้นได้โดยไม่ต้องใช้วีซ่า
ทั้งนี้ การเจรจา FTA ไทย-อียู รอบแรกมีขึ้นในเดือน ก.ย.2566 ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม รอบสองมีขึ้นระหว่างวันที่ 22-26 ม.ค.ที่กรุงเทพฯ ส่วนรอบที่ 3 อียูรับเป็นเจ้าภาพ เพื่อหารือประเด็นต่างๆ ด้านความร่วมมือไทย-อียู เพิ่มเติมในช่วงเดือนมิ.ย. 2567