‘หนี้’ ท่วม ฉุดอนาคตประเทศ
เรื่อง หนี้ คือ ปัญหาใหญ่ระดับชาติ เป็นกับดักฉุดเศรษฐกิจประเทศ ส่งผลต่อความเชื่อมั่น ทำลายบรรยากาศการลงทุน ปัญหาหนี้เสียมีแนวโน้มสูงมากที่จะลุกลามบานปลาย นำไปสู่ปัญหาอื่น รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเร่งหาทางแก้ปัญหา
“หนี้” กำลังเป็นปัญหาใหญ่ สะเทือนระบบเศรษฐกิจประเทศ การเปิดเผยตัวเลขหนี้ จากโพสต์บนเฟซบุ๊กของ “นายสุรพล โอภาสเสถียร” ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) ถึงสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทย
หลายตัวเลขน่าหวั่นวิตกไม่น้อย คีย์เมสเสจสำคัญอยู่ที่ ไตรมาสแรก พบหนี้เสียทะลักมากถึง 1.09 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 15% ส่วนใหญ่เป็น “หนี้รถยนต์-บ้าน” โดยเฉพาะหนี้รถยนต์โต 32% บ้านอีก 18% ยังไม่นับยอดค้างชำระ ‘รถ-บ้าน-บัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคล’ ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่ากลัว
ขณะที่ คุณภาพหนี้ นับวันยิ่งน่าเป็นห่วง ทั้งหนี้เสีย และหนี้ค้างชำระ โดยเฉพาะหนี้ที่กำลังมีปัญหา วันนี้เราเห็นสัญญาณของคนที่ผ่อนชำระไม่ไหวเพิ่มขึ้น ผู้บริหารเครดิตบูโร เผยว่า ภาพหนี้ครัวเรือนไทยเมื่อเทียบกับ จีดีพี พบว่า ปัจจุบันอยู่ที่ 91.3% ซึ่งอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต
ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจบ้านเราที่ยังไม่ฟื้นตัวดีจากปัจจัยลบที่ถาโถมมาแบบไม่หยุด ตั้งแต่ก่อนโควิด ช่วงระหว่างโควิด หลังจากโควิดเริ่มผ่อนคลาย เราก็เจอกับสภาพเศรษฐกิจที่โตต่ำ แถมด้วยปัจจัยลบอย่างภูมิรัฐศาสตร์ เกิดสงครามดันราคาพลังงานแพงขึ้นหลายเท่าตัว
ผู้บริหารเครดิตบูโร ชวนเจาะลงรายละเอียดจะเห็นเจ้าหนี้แต่ละประเภท จุดที่น่าสนใจ คือ หนี้ที่ปล่อยกู้โดยสหกรณ์ออมทรัพย์ให้กับสมาชิกโตถึง 2.3 ล้านล้านบาท
ในจำนวนนี้ 8 แสนล้านบาท เป็นการให้กู้กับกลุ่มอาชีพครู และบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งเป็นเป้าหมายใหญ่ที่ทางรัฐบาลกำลังเร่งแก้ปัญหา โดยเฉพาะประเด็นการหักเงินหน้าซองเงินเดือนส่งให้เจ้าหนี้จนเหลือไม่ถึง 30% ของรายได้ ยังไม่นับการไปหักหลังซองเพิ่มต่ออีก จนแทบจะดำเนินชีวิตต่อไปไม่ได้
อีกข้อมูลที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือ 28% ของหนี้ครัวเรือนไทยที่ 16.3 ล้านล้านบาท เป็นการกู้ไปเพื่อบริโภค ซึ่งต้องเอารายได้ในอนาคตมาผ่อนจ่าย ซึ่งถ้ารายได้ไม่มาตามนัด เพราะมีโรคระบาดคั่น สิ่งที่คิดว่าจะจ่ายได้แน่ ก็ไม่แน่ แถมดอกเบี้ยก็ทับถม และแพงพอควร นำมาซึ่งปัญหามีหนี้สะสมเกินศักยภาพ เรียกว่า ติดกับดักการเป็นหนี้ชัดเจน
สิ่งที่น่ากังวลอีกเรื่อง คือ หนี้บัตรเครดิต ปัจจุบันเติบโต 32.4% พร้อมกับมาตรการเพิ่มเปอร์เซ็นต์ชำระหนี้ขั้นต่ำจาก 5% มาเป็น 8% คนที่ใช้บัตรเครดิตหลายใบ มีความเสี่ยงสูงมากที่จะผ่อนชำระไม่ไหว
เรื่อง หนี้ คือ ปัญหาใหญ่ระดับชาติ เป็นกับดักฉุดเศรษฐกิจประเทศ ส่งผลต่อความเชื่อมั่น ทำลายบรรยากาศการลงทุน ปัญหาหนี้เสียมีแนวโน้มสูงมากที่จะลุกลามบานปลาย นำไปสู่ปัญหาอื่น รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเร่งหาทางแก้ปัญหา หรืออาจต้องย้อนกลับไปดูที่ต้นทาง หรือต้นเหตุของ “หนี้” แล้วช่วยกันตีโจทย์ให้แตก ไม่ให้ “หนี้” กลายเป็นกับดักฉุดเศรษฐกิจประเทศไปมากกว่านี้