รัฐบาล ‘งูกินหาง’ นโยบายพลังงานไม่ถึงฝั่ง
คะแนนนิยมที่รัฐบาลได้ช่วงต้นการจัดตั้งรัฐบาลที่กระชากค่าไฟฟ้าและน้ำมันลงได้ลดหายไปแล้ว เพราะเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้นที่กลับสร้างปัญหาใหม่ให้รัฐบาลจากการจัดเก็บรายได้พลาดเป้าและสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่เข้าขั้นวิกฤติจนกลายเป็นปัญหางูกินหาง
รัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2566 จะผลักดันนโยบายเร่งด่วน โดยการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้ประชาชน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตและเศรษฐกิจ รัฐบาลจะสนับสนุนให้เกิดการบริหารจัดการราคาพลังงานทั้งค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม และค่าน้ำมันเชื้อเพลิงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในทันที ซึ่งนำมาสู่นโยบายการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซิน เพื่อให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงลดต่ำลงในทันที
การจัดเก็บรายได้รัฐบาลในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 (ต.ค. 2566 - เม.ย. 2567) ต่ำกว่าเป้าหมาย 39,000 ล้านบาท มีสาเหตุหลักมาตรการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตดีเซลและเบนซินในช่วงต้นปีงบประมาณส่งผลให้รัฐบาลเสียรายได้ 24,000 ล้านบาท ในขณะที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่เป็นกลไกอุดหนุนราคาดีเซลให้อยู่ในราคาที่รัฐบาลกำหนด โดยล่าสุด 9 มิ.ย. 2567 กองทุนฯ ติดลบ 110.030 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากวันที่ 3 ก.ย. 2566 หลังการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี มีสถานะติดลบ 57,132 ล้านบาท
สถานการณ์ดังกล่าวปฏิเสธไม่ได้ว่านโยบายการตรึงราคาน้ำมันของรัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาค่าครองชีพได้อย่างยั่งยืน โดยต้นปี 2567 รัฐบาลตัดสินใจไม่ต่อมาตรการลดภาษีเบนซินและลดเฉพาะภาษีดีเซล แต่ท้ายที่สุดรัฐบาลต้องตัดสินใจยกเลิกมาตรการลดภาษีดีเซลเพราะกระทบกับรายได้รัฐบาล และยอมปรับเพดานราคาดีเซลขึ้นเป็น 33 บาท และถ้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังคงมีสถานะไม่ดีอาจมีข้อเสนอจากกระทรวงพลังงานเพื่อขอปรับเพดานขึ้นเป็น 35 บาท
นอกจากนี้ รัฐบาลประกาศปรับเปลี่ยนโครงสร้างการใช้พลังงานของประเทศ โดยวางแผนความต้องการและสนับสนุนการจัดหาแหล่งพลังงานอย่างเหมาะสม ส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้สอดคล้องแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เร่งเจรจาการใช้พลังงานในพื้นที่อ้างสิทธิกับประเทศข้างเคียงและสำรวจแหล่งพลังงานเพิ่มเติม รวมถึงสนับสนุนการจัดหาแหล่งพลังงานใหม่ เพื่อให้มั่นใจว่าประเทศไทยจะมีความมั่นคงทางพลังงานที่จะขับเคลื่อนประเทศ
รัฐบาลมีอำนาจเต็มบริหารประเทศเข้าสู่เดือนที่ 10 โดยกระทรวงพลังงานเตรียมร่างกฎหมายปิดทางผู้ค้าน้ำมันผลักภาระต้นทุนบางส่วนให้ประชาชน แต่ประเมินได้ลำบากว่าจะมีผลบังคับใช้เมื่อใด ขณะที่การปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้ายังไม่ชัดเจน ซึ่งคะแนนนิยมที่รัฐบาลได้ช่วงต้นการจัดตั้งรัฐบาลที่กระชากค่าไฟฟ้าและน้ำมันลงได้ลดหายไปแล้ว เพราะมาตรการดังกล่าวเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้นที่กลับสร้างปัญหาใหม่ให้รัฐบาลจากการจัดเก็บรายได้พลาดเป้าและสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่เข้าขั้นวิกฤติจนกลายเป็นปัญหา"งูกินหาง"