สงครามจีน - สหรัฐ จากแนวรบทางการค้า เทคโนโลยี ถึงกีฬาโอลิมปิก
ไม่เคยมีสักครั้งในประวัติศาสตร์ที่มีทีมที่ได้จำนวนเหรียญทองเท่ากันมาก่อนในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน จนต้องตัดสินกันที่จำนวนเหรียญรวม นี่คือภาพสะท้อนของการแข่งขันอันร้อนแรงระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน
KEY
POINTS
Key points
- การเติบโตอย่างน่ากลัวของจีนในทุกด้านทำให้สหรัฐอเมริกาเกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยต่อสถานภา พของตนเองอย่างรุนแรง โดยไม่เพียงแค่เรื่องของการขาดดุลการค้าอย่างรุนแรงเท่านั้น แต่ยังมีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical) เข้ามาประกอบด้วย
- แนวรบใหม่อยู่ที่เรื่องของเทคโนโลยี ซึ่งทางสหรัฐประเมินว่าความก้าวหน้าของจีนที่รวดเร็วเกินไปอาจส่งผลต่อความมั่นคงของชาติได้ จึงมีความพยายามที่จะสกัดเตะตัดขาทุกทางเพื่อไม่ให้จีนก้าวหน้าไปเร็วกว่านี้ในทางเทคโนโลยีชั้นสูง อันเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามเทคโนโลยี (Tech War) ในปี 2022
- นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีชาติที่คว้าเหรียญทองได้เท่ากันนับตั้งแต่เริ่มต้นการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกสมัยใหม่ (Modern Olympics) ในปี 1896 หรือ 128 ปีที่แล้วเลยทีเดียว เพียงแต่สุดท้ายสหรัฐ คว้าตำแหน่งเจ้าเหรียญทองได้สำเร็จเพราะมีจำนวนเหรียญมากกว่า (44 เงิน 42 ทองแดง รวม 126 เหรียญ)
เปิดแนวรบครบทุกด้านไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ การค้า มาจนถึงการแข่งขันกีฬา คำถามที่น่าสนใจคือ ระหว่างทั้งสองชาติทำไมเรื่องเหล่านี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่อาจมีใครยอมใครได้ลง
เริ่มต้นจาก Trade War
เมื่อมังกรขยับโลกก็สั่นไหว การเติบโตอย่างน่ากลัวของจีนในทุกด้านทำให้สหรัฐอเมริกาเกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยต่อสถานภาพของตนเองอย่างรุนแรง โดยไม่เพียง แค่เรื่องของการขาดดุลการค้าอย่างรุนแรงเท่านั้น แต่ยังมีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical) เข้ามาประกอบด้วย
นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของ สงครามการค้า (Trade war) ในปี 2018 ที่กระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองชาติอย่างรุนแรง
สหรัฐจุดชนวนด้วยการประกาศเก็บภาษีนำเข้าเหล็ก และอะลูมิเนียมจากจีน ทำให้โดนโต้ตอบด้วยการที่จีนเองสั่งเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐ มูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.05 แสนล้านบาท) ก่อนที่ฟากวอชิงตันจะประกาศเก็บภาษีสินค้าจีน 800 รายการ มูลค่ากว่า 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.195 ล้านล้านบาท)
ในปี 2019 สหรัฐ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนอีกถึง 2 ระลอกด้วยกัน โดยระลอกแรก 2 แสนล้านดอลลาร์ (7.03 ล้านล้านบาท) หรือเพิ่มจากเดิม 10 เป็น 25 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจีนโต้ตอบเช่นกันด้วยการเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐ 7.5 หมื่นล้านสหรัฐ (2.36 ล้านบาท) ก่อนที่สหรัฐ จะลุยต่อด้วยการเพิ่มภาษีสินค้าจีนอีกรอบ 1.56 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (5.48 ล้านล้านบาท)
เรียกได้ว่าเป็นการตอบโต้กันแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน กลิ่นดินปืน และควันไฟของสงครามการค้าทวีความรุนแรงมากขึ้นจนโลกทั้งใบต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด
เพียงแต่ในระหว่างนั้นหลังฉากทั้งสองฝ่ายมีการเจรจาทางการค้าอยู่เรื่อยๆ แต่กว่าที่จะบรรลุข้อตกลงจนเกิดการลงนามตกลงการค้าระยะที่ 1 นั้นต้องใช้เวลาในการเจรจาร่วม 2 ปีด้วยกัน
สหรัฐ ยอมถอยด้วยการลดภาษีนำเข้าบางรายการของจีน เช่นกันจีนก็ตกลงเพิ่มการนำเข้าสินค้าเกษตร และบริการจากชาติมหาอำนาจคู่ปรับ โลกทำท่าเหมือนจะกลับมาสงบสุขอีกครั้ง
สู่ Tech War ที่ร้อนแรง
แต่ความสงบก็อยู่โลกได้ไม่นานนัก แรงปะทะกันระหว่างสองชาติมหาอำนาจตะวันตก และตะวันออกยังมีอย่างต่อเนื่อง โดยคราวนี้ไม่ได้จำกัดวงอยู่แค่เพียงเรื่องของการค้าแล้ว
แนวรบใหม่อยู่ที่เรื่องของเทคโนโลยี ซึ่งทางสหรัฐประเมินว่าความก้าวหน้าของจีนที่รวดเร็วเกินไปอาจส่งผลต่อความมั่นคงของชาติได้ จึงมีความพยายามที่จะสกัดเตะตัดขาทุกทางเพื่อไม่ให้จีนก้าวหน้าไปเร็วกว่านี้ในทางเทคโนโลยีชั้นสูง อันเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามเทคโนโลยี (Tech War) ในปี 2022
ที่ต้องสู้กันแบบนี้เพราะเรื่องเทคโนโลยีคือ เครื่องมือทางการเมืองสำคัญสำหรับจีน ที่นอกจากจะช่วงชิงตลาดการค้าจากต่างประเทศแล้วยังสามารถนำมาใช้พัฒนาแสนยานุภาพทางด้านอาวุธ และกองทัพ สำหรับสหรัฐแล้ว นี่คือ ภัยคุกคามด้านความมั่นคงอย่างร้ายแรง
หัวใจสำคัญของเรื่องคือ เซมิคอนดักเตอร์หรือชิปประมวลผลที่เป็นมันสมองของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสหรัฐ เริ่มต้นมาตรการในการจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีผลิตชิปของจีน ด้วยการสกัดการส่งออกชิปด้าน AI
เรื่องนี้กระทบต่อผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของโลกอย่าง Nvidia ที่ไม่สามารถส่งออกชิปสเปกที่ดีที่สุดให้กับจีนได้จนต้องมีการแก้เกมด้วยการเปิดตัวชิปที่มีการจำกัดประสิทธิภาพ และคุณสมบัติบางอย่างเพื่อให้ผ่านเกณฑ์
เท่านั้นไม่พอในปีที่ผ่านมาสหรัฐ รุกหนักขึ้นด้วยการออกกฎหมายใหม่ที่ยิ่งเข้มงวดมากขึ้นกับการส่งออกชิปประมวลผลให้กับจีน ทำให้กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติอย่างรุนแรง โดยที่จีนเองก็มีการออกกฎระเบียบใหม่ควบคุมการส่งออกเทคโนโลยี และวัสดุบางประเภทด้วย
ฝ่ามือมังกรปะทะดัชนีอินทรี
ล่าสุดในปีนี้ซึ่งเป็นปีที่สินค้าจากจีนไหลทะลักถล่มโลกทั้งใบ รวมถึงในประเทศไทยที่โดนรุกหนักจนแทบโงหัวไม่ขึ้นกับ Teemu แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซใหม่ สหรัฐอเมริกาเป็นหนึ่งในชาติที่เปิดฉากโต้ตอบด้วยกำแพงภาษีที่รุนแรงเพื่อสกัดสินค้าราคาถูกจากจีนถึงที่ถูกจับตามองมากเป็นพิเศษคือ รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จากจีนที่ถูกขึ้นภาษีนำเข้าจากเดิม 27.5 เปอร์เซ็นต์เป็น 102.5 เปอร์เซ็นต์ เพื่อสกัดไม่ให้รถอีวีจากจีนซึ่งมีราคาต่ำกว่ารถยนต์ที่ผลิตในประเทศที่ไม่สามารถต่อสู้ด้านราคาได้เข้ามาถล่มตลาด
นอกจากนี้ยังมีการขึ้นภาษีสินค้าหลายรายการที่น่าสนใจ เช่น แบตเตอรี่ลิเทียมไอออน (EV) จาก 7.5 เปอร์เซ็นต์ เป็น 25 เปอร์เซ็นต์, แบตเตอรี่ลิเทียมไอออน (non-EV) ก็ขึ้นจาก 7.5 เปอร์เซ็นต์เป็น 25 เปอร์เซ็นต์เช่นกัน (เริ่มปี 2026) ขณะที่เซมิคอนดักเตอร์ ขึ้นเป็น 50 เปอร์เซ็นต์จากเดิม 25 เปอร์เซ็นต์ (เริ่มปี 2025)
อุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างกระบอกฉีดยา และเข็มฉีดยาก็เพิ่มภาษีเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ จนถึงถุงมือยางที่ขึ้นจาก 7.5 เปอร์เซ็นต์เป็น 25เปอร์เซ็นต์ รวมทุกรายการในบัญชีแล้วอยู่ที่ 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (6.64 แสนล้านบาท)
เรียกว่าเป็นการรวมลมปราณของฝ่ายสหรัฐก่อนปล่อยพลังหมัดต้านทานฝ่ามือมังกรที่ก็กำลังเจ็บหนักไม่แพ้กันกับปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ
สงครามชิงเจ้าเหรียญทองโอลิมปิก
แต่การปะทะกันระหว่างสหรัฐ กับจีนไม่ได้จำกัดอยู่แค่เรื่องการค้าหรือเทคโนโลยีเท่านั้น
ในสนามกีฬาพวกเขาเองก็ไม่มีใครยอมใครเหมือนกัน
การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2024 ที่กรุงปารีส ที่เพิ่งจบลงไปนั้น ท่ามกลางเรื่องราวการแข่งขันที่น่าติดตามมากมายที่แฟนกีฬาทั่วโลกได้อิ่มเอม และประทับใจกับเหล่ายอดมนุษย์นักกีฬา หนึ่งในเรื่องที่มีการจับตามองคือ การช่วงชิงตำแหน่งเจ้าเหรียญทอง
โดยใน “ปารีส 2024” กว่าจะรู้เจ้าเหรียญทองนั้นต้องลุ้นกันจนถึงวันสุดท้ายของการแข่งขันเลยทีเดียว ในการแข่งขันกีฬาบาสเกตบอลหญิงนัดชิงชนะเลิศระหว่างทีมฝรั่งเศสเจ้าภาพที่ต้องเจอกับสหรัฐ
ผลปรากฏว่าหลังการต่อสู้อย่างหนักทีมหญิงสหรัฐ เฉือนเอาชนะเจ้าภาพได้อย่างหวุดหวิดสุดๆ 67-66 คว้าเหรียญทองไปครอง และกลายเป็นเหรียญทองที่มีความสำคัญอย่างมาก เพราะทำให้สหรัฐ มีจำนวนเหรียญทองเท่ากับจีนที่ 40 เหรียญ
นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีชาติที่คว้าเหรียญทองได้เท่ากันนับตั้งแต่เริ่มต้นการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกสมัยใหม่ (Modern Olympics) ในปี 1896 หรือ 128 ปีที่แล้วเลยทีเดียว
เพียงแต่สุดท้ายสหรัฐ คว้าตำแหน่งเจ้าเหรียญทองได้สำเร็จเพราะมีจำนวนเหรียญมากกว่า (44 เงิน 42 ทองแดง รวม 126 เหรียญ) ขณะที่จีนมีเหรียญรวมแค่ 91 เหรียญ (27 เงิน 24 ทองแดง) และเป็นการครองเจ้าเหรียญทองติดต่อกัน 4 สมัย (2012, 2016, 2020, 2024)
มีเพียงโอลิมปิก 2008 ที่กรุงปักกิ่งที่จีนครองเจ้าเหรียญทองได้
ยอมใครยอมได้ ยอมกันไม่ได้
ในภาพรวมแล้วการแข่งขันกันระหว่างสหรัฐกับจีน ที่ไม่มีการยอมกันแม้กระทั่งในเรื่องของกีฬานั้นเป็นภาพสะท้อนในความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติยอมใครยอมได้ ให้ยอมกันยอมไม่ได้เด็ดขาด
ตลอดศตวรรษที่ผ่านมาสหรัฐ เป็นหนึ่งมาโดยตลอดไม่ว่าจะเป็นการค้า เทคโนโลยี หรือแม้แต่กีฬา การที่จีนก้าวขึ้นมาท้าชิงกับตำแหน่ง “ผู้นำ” ที่อาจจะลามไปถึงการเป็น “ผู้ปกครอง” คือสิ่งที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถจะยอมรับได้แม้กระทั่งในความคิด
ขณะที่จีนเองหลังมีการเปลี่ยนแปลงมากมายภายในประเทศจนเกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็วทุกด้าน เติบโตอย่างน่าเกรงขาม พวกเขาคิดถึงการที่จะสามารถเป็นมหาอำนาจที่โลกต้องครั่นคร้าม ซึ่งรวมถึงในด้านเทคโนโลยีและกีฬา
โดยในเกมกีฬา จีนใช้เวลามากถึง 4 ทศวรรษในการเริ่มต้นโปรเจกต์สู่การเป็นเจ้าโอลิมปิกด้วยการสืบหากีฬาที่สามารถมีลุ้นเหรียญทอง และทุ่มสรรพกำลังให้กับกีฬานั้นๆ มีการสร้างโรงเรียนกีฬาทั่วประเทศ และรับนักเรียนกีฬาหลายแสนคนเพื่อคัดนักกีฬาที่เป็นเลิศที่จะมาเป็นตัวแทนของประเทศ
เหมือนเฉวียนหงฉาน นักกระโดดน้ำสาวน้อยมหัศจรรย์วัย 17 ปี ที่คว้า 3 เหรียญทองจากโอลิมปิก 2 ครั้งหลังสุด
วันนี้สหรัฐ อาจจะสกัดกั้นทางการค้า และเทคโนโลยีของจีน รวมถึงคว้าเจ้าเหรียญทองในโอลิมปิกได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะจบลงมันเป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์