จับตาการค้าจีน-เวียดนาม เติบโตพุ่งพรวด
การค้าระหว่างจีนและเวียดนาม ตั้งแต่ปี 5251 มูลค่าการค้า 2 ประเทศเพิ่มขึ้น 2 หมื่นล้านดอลลาร์ และ ขยายเพิ่มเป็น 230,200 ล้านดอลลาร์ในปี 2566 หรือเพิ่มขึ้น 11.5 เท่า ชี้ ขนส่งเอื้อ ทั้งระยะทางใกล้และขนส่งหลากหลายรูปแบบ ดันการค้า 2 ประเทศขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง
KEY
POINTS
Key Point
- การค้าระหว่างจีนและเวียดนาม 15 ปี ขยายตัวเพิ่มขึ้น 11.5 เท่า
- เวียดนามเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีนในภูมิภาคอาเซียนและจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม
- รูปแบบการขนส่งสินค้า 2 ประเทศ สองประเทศใช้ช่องทางการขนส่งที่หลากหลาย เช่น รถไฟ ทางบก ทางทะเล และทางอากาศ
- จีนส่งออกเครื่องจักร อุปกรณ์ และวัตถุดิบให้เวียดนาม
- เวียดนามส่งออกสินค้าเกษตร เช่น ทุเรียน แก้วมังกร และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ไปยังจีน
เว็ปไซต์จากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เมืองเฉิงตู ประเทศจีน รายงานถึงสถานการณ์การค้าระหว่างจีนและเวียดนาม ว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การค้าระหว่างจีนและเวียดนามได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยมูลค่าการค้าระหว่างสองฝ่ายเพิ่มขึ้นจากประมาณ 20,000 ล้านดอลลาร์ ในปี 2551 เป็น 230,200 ล้านดอลลาร์ในปี 2566 ซึ่งได้ขยายตัวเพิ่มขึ้น 11.5 เท่าในช่วงเวลา 15 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2561 เวียดนามกลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีนในภูมิภาคอาเซียน การค้าทวิภาคีมีมูลค่าเกิน 200,000 ล้านดอลลาร์เป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน
ข้อมูลของศุลกากรจีน ระบุว่า ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2567 มูลค่าการค้าระหว่างจีนและเวียดนามอยู่ที่ 145,015 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 24.1 % โดยแบ่งเป็นมูลค่าการส่งออกไปเวียดนาม 91,122 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 25.5 % และจีนนำเข้าจากเวียดนาม 53,892 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 21.7 % โดยเวียดนามขาดดุลการค้าให้กับจีน 37,230 ล้านดอลลาร์
จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม สินค้าส่งออกหลักของเวียดนามไปยังจีน ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยาง สินค้าเกษตร ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรของเวียดนาม อาทิ ทุเรียน แก้วมังกร ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวจีน สินค้าเกษตรที่จีนนำเข้าจากเวียดนามคิดเป็นประมาณ 20 % หรือเป็นสัดส่วน 1 ใน 5 ของผลิตภัณฑ์การเกษตรทั้งหมดที่จีนนำเข้าจากกลุ่มประเทศอาเซียน
ขณะเดียวกัน เวียดนามยังเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีนในอาเซียนอีกด้วย สินค้าส่งออกของจีนไปยังเวียดนาม ได้แก่ เครื่องจักร อุปกรณ์ วัตถุดิบสำหรับการผลิตเสื้อผ้า รองเท้าหนัง เหล็ก วัสดุก่อสร้าง สินค้าอุปโภคบริโภค และของใช้ในชีวิตประจำวันประเภทอื่นๆ
โดยรูปแบบการขนส่งสินค้าระหว่างจีนกับเวียดนาม ผ่าน 4 ช่องทางประกอบด้วย 1.การขนส่งทางรถไฟ โดยรถไฟจีน-เวียดนามที่ออกเดินทางจากนครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ไปยังกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2560 การขนส่งสินค้าที่ใช้เส้นทางดังกล่าวใช้เวลาเพียง 14 ชั่วโมงจากนครหนานหนิงไปยังกรุงฮานอย และสามารถจัดส่งสินค้าและดำเนินพิธีการศุลกากรได้ภายในวันเดียวกัน ปัจจุบัน รถไฟจีน – เวียดนามได้ครอบคลุมมากกว่า 20 เมืองในเขตฯ กวางสีจ้วงและพื้นที่ใกล้เคียง โดยการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนได้ครอบคลุมเวียดนาม ลาว ไทย และประเทศในกลุ่มอาเซียนอื่นๆ
ทั้งนี้ ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2567 รถไฟจีน – เวียดนาม มีการขนส่งตู้สินค้าไปแล้วทั้งสิ้น 6,850 TEU ขยายตัวเพิ่มขึ้น 16 เท่า ซึ่งถือว่าเป็น “ช่องทางด่วน” ที่มีประสิทธิภาพในการส่งเสริมการค้าระหว่างจีนและเวียดนาม
2.การขนส่งทางบก รูปแบบการขนส่งทางบก ด่านผิงเสียง (Pingxiang border) และด่านตงซิ่ง (Dongxing border) ของเขตฯ กวางสีจ้วง เป็นช่องทางการขนส่งทางบกที่สำคัญระหว่างจีนและเวียดนาม สินค้าที่ขนส่งผ่านช่องทางนี้ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้า เป็นต้น
3. การขนส่งทางทะเล/ทางเรือ โดยท่าเรือที่ติดชายฝั่งของจีน เช่น ท่าเรือกวางโจว ท่าเรือเซินเจิ้น ท่าเรือเซี่ยงไฮ้ ฯลฯ มีการขนส่งสินค้าทางเรือบ่อยครั้งกับท่าเรือไฮฟอง ท่าเรือโฮจิมินห์ และท่าเรืออื่นๆ ของเวียดนาม สินค้าที่ขนส่งผ่านช่องทางนี้ประกอบด้วยวัสดุก่อสร้าง ธัญญาหาร ฯลฯ
4. การขนส่งทางอากาศ ซึ่งสนามบินในเมืองใหญ่ของจีน เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และกว่างโจว มีเที่ยวบินขนส่งสินค้าเป็นประจำกับสนามบินฮานอย สนามบินโหน่ยบ่าย และสนามบินเติ่นเซินเญิ้ตของเวียดนาม สินค้าที่ขนส่งผ่านช่องทางนี้ส่วนใหญ่ได้แก่ เครื่องมือที่มีความแม่นยำ สินค้าสด เป็นต้น
ทั้งนี้การค้าระหว่างจีน-เวียดนาม มีการนำเข้าและส่งออกผลิตภัณฑ์ระหว่างผลิต (Intermediate Product) มีสัดส่วนเกือบ70 % สะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือที่ใกล้ชิดมากขึ้นระหว่างทั้งสองประเทศในห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทาน ตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมการผลิตโทรศัพท์มือถือของเวียดนามกำลังได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดความต้องการนำเข้าสินค้าในห่วงโซ่การผลิต อาทิ วงจรเบ็ดเสร็จ (integrated circuit) ชิ้นส่วนโทรศัพท์มือถือ แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน จึงส่งผลให้เวียดนามมีการนำเข้าจากจีนที่เพิ่มสูงขึ้น
ขณะที่ สินค้าเกษตรของเวียดนามยังคงขยายการส่งออกไปยังประเทศจีนอย่างต่อเนื่อง ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 (ม.ค. – มิ.ย. 67) จีนมีปริมาณการนำเข้าทุเรียนจากเวียดนามเพิ่มขึ้น 46.3% มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น 33.3% สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มความต้องการสินค้าเกษตร โดยเฉพาะทุเรียนในตลาดจีนที่เพิ่มสูงขึ้น และเวียดนามสามารถตอบสนองความต้องการตลาด
ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ นั้น เมื่อวันที่ 12 -13 ธ.ค. 2566 ในโอกาสที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เดินทางไปเยือนเวียดนาม ประธานาธิบดีสี กล่าวถึงความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างจีนและเวียดนามที่มีมาอย่างยาวนาน โดยทั้งสองฝ่ายควรให้ความสำคัญกับความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์และความได้เปรียบทางอุตสาหกรรมที่เกื้อกูลกัน เพื่อเร่งรัดความร่วมมือด้านการค้าและการพัฒนาประเทศให้ดียิ่งขึ้น อันจะนำประโยชน์ต่อประชาชนของทั้งสองประเทศมากยิ่งขึ้น
สคต. ณ นครเฉิงตู ให้ความเห็นว่า แม้ว่าในปัจจุบันการค้าโลกกำลังเผชิญกับความท้าทาย แต่การค้าระหว่างเวียดนามและจีนก็ยังแสดงแนวโน้มการเติบโตที่แข็งแกร่ง เนื่องจากจีนมีอุตสาหกรรมในระดับกลางน้ำและต้นน้ำของห่วงโซ่การผลิต ทำให้เวียดนามมีความต้องการกระชับความร่วมมือกับจีนเพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศของตน ในขณะเดียวกัน การพัฒนาเศรษฐกิจของจีนยังนำโอกาสทางธุรกิจมากมายมาสู่วิสาหกิจของเวียดนาม
ในปี 2567 เวียดนามตั้งเป้าให้จีนเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ป่าไม้ และผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่มีแนวโน้มการขยายตัวอย่างชัดเจน นอกจากนี้ เวียดนามยังมีตั้งเป้าขยายการส่งออกสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพสูงในตลาดจีน ได้แก่ ยางพารา พริกไทย และมันสำปะหลัง