'PCA' ข้อตกลงไทย-อียู ขยายพื้นที่เศรษฐกิจ หนุนบทบาทไทยบนเวทีโลก

'PCA' ข้อตกลงไทย-อียู ขยายพื้นที่เศรษฐกิจ หนุนบทบาทไทยบนเวทีโลก

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหภาพยุโรปกำลังเข้าสู่ความสัมพันธ์ที่ทัดเทียมกันมากขึ้น เนื่องจากกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างอียูและไทย หรือเรียกว่า กรอบความตกลง PCA จะช่วยหนุนให้ไทยได้รับการพัฒนาทางเศรษฐกิจหลายด้าน

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหภาพยุโรปกำลังเข้าสู่ความสัมพันธ์ที่ทัดเทียมกันมากขึ้น เนื่องจากกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างสหภาพยุโรป (EU) และรัฐสมาชิกกับไทย (Thailand-EU Comprehensive Partnership and Cooperation Agreement: PCA) จะช่วยหนุนให้ไทยได้รับการพัฒนาทางเศรษฐกิจหลายด้าน รวมทั้งเปิดโอกาสให้ไทยมีพื้นที่ตลาดและพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่กว้างขวางมากขึ้น โดยกระทรวงการต่างประเทศจัดสัมมนาโต๊ะกลม "ก้าวสู่สัมพันธ์ไทย-อียูยุคใหม่” เมื่อวันที่ 18 ต.ค.2567 มีผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชนและนักวิชาการร่วมแสดงความเห็นการขับเคลื่อนข้อตกลง PCA

นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวภายในงานสัมมนาว่า PCA เป็นความตกลงระหว่างไทยกับ EU ที่เป็นพื้นฐานในการขยายความร่วมมือระยะยาว บนหลักการทั้ง 2 ฝ่ายร่วมดำเนินงาน เช่น ด้านเศรษฐกิจและการค้า ด้านสิทธิมนุษยชน ด้านทรัพยากรธรรมชาติ และเป็นกรอบความร่วมมือที่เจรจามานานที่สุด หรือราว 20 ปี และลงมติเห็นชอบจากรัฐบาลเมื่อวันที่ 29 ส.ค.2567

ด้านนางครองขนิษฐ รักษ์เจริญ อธิบดีกรมยุโรป เผยถึงประโยชน์การจัดทำรอบความตกลง PCA ว่า ไทยและ EU มีความสัมพันธ์ทางการทูตมานาน 62 ปี PCA จึงเป็นนิมิตหมายที่ดีในการเริ่มต้นความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นขึ้น ขยายความร่วมมือระหว่างกันทุกมิติและเป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดกันมากขึ้น โดย PCA เป็นกรอบความตกลงที่จะทำให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์ 3 ด้าน ได้แก่

 

1.ด้านการเมืองความมั่นคง โดยจะช่วยสนับสนุนบทบาทและการยกระดับสถานะของไทยในระดับภูมิภาคและระดับโลก เช่น EU หนุนไทยสมัครสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน และไทยได้รับเลือกตั้งให้ดำรงวาระปี 2568-2570 ด้วยคะแนนสูงสุด แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษยชนของไทย รวมทั้ง EU ได้แสดงความยินดีที่ไทยมีกฎหมายสมรสเท่าเทียม พร้อมจะสานต่อกับไทยในด้านความเปิดกว้างทางสังคม

2.ด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน โดยจะมีส่วนช่วยเร่งพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้ทัดเทียมระดับสากล สนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูล ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีระหว่างกัน ต่อต้านภัยคุกคามทางไซเบอร์ ส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานที่ปลอดภัย อำนวยความสะดวกการค้าลงทุน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งสนับสนุนธุรกิจไทยดำเนินธุรกิจเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับมาตรฐานของอียู เช่น มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM)

3.ด้านสังคม เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม กรอบความตกลงนี้จะมีส่วนช่วยพัฒนาศักยภาพแรงงานไทยให้เป็นแรงงานที่มีทักษะสูง ยกระดับด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมของไทย เช่น การพัฒนาผ่านโครงการ Horizon Europe ที่มีทุนวิจัยจำนวนมากและยังมีโครงการพัฒนาการศึกษาที่ไทยสามารถจัดโครงการความร่วมมือกับ EU

รวมทั้งยังมีแผนที่เชิญนักวิจัยจากยุโรปมาให้ความรู้กับไทย นอกจากนี้มีโครงการความร่วมมืออื่น เช่น โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านพลังงานและการเปลี่ยนผ่านสีเขียว ส่วนด้านนวัตกรรม EU ช่วยหนุนการพัฒนาเทคโนโลยีให้ไทย เช่น การดักจับคาร์บอน

“PCA เป็นการลงทุนที่ไม่มีต้นทุน ไทยไม่ต้องแก้กฎหมาย ที่สำคัญ EU เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจโลก เป็นคู่ค้าอันดับ 4 และเป็นนักลงทุนอันดับ 6 ของไทย และ PCA อาจช่วยให้อียูหันมาฟื้นการเจรจา FTA กับไทยได้” นางครองขนิษฐ กล่าว

รศ.ดร.ณัฐนันท์ คุณมาศ ผู้อำนวยการศูนย์ยุโรปศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การจัดทำ PCA จะช่วยส่งเสริมบทบาทไทยบนเวทีโลกอย่างมาก นอกจากไทยจะมีตลาดและมีพื้นที่ทางเศรษฐกิจในยุโรปแล้ว ยังช่วยหนุนให้มหาอำนาจโลกหันมาสนใจไทยมากขึ้น และนำไปสู่โอกาสทางเศรษฐกิจที่กว้างขวางยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ที่ผ่านมาปัจจัยที่ทำให้ไทยมีบทบาทบนเวทีโลกได้ไม่เต็มที่เพราะปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ระดับโลก เช่น สงครามรัสเซีย-ยูเครน ปัญหาระดับภูมิภาค เช่น การเจรจาการค้าเสรีระหว่างอาเซียน-EUที่ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก

แต่หากมองที่ความสัมพันธ์ระหว่างภูมิภาคและรัฐ เช่น กรอบความตกลง PCA ระหว่างไทย-EU ที่อาจนำไปสู่ความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทย-EU ถือเป็น “กรอบการตกลงทางการค้าที่พิเศษ”

“PCA” ช่วยตอบสนองทางวัตถุให้ไทย คือ การมีพื้นที่ในตลาดและการมีพื้นที่ทางเศรษฐกิจในยุโรป เพื่อบรรเทาความท้าทายที่ไทยได้รับจากมหาอำนาจโลก รวมถึงปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์โลก และ “ไทย-อียู PCA” จะทำให้ไทยเป็นอีกทางเลือกสำหรับยุโรป ท่ามกลางการแข่งขันทางการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน รวมถึงช่วยยุโรปบรรเทาความเสี่ยงจากมหาอำนาจ

รศ.ดร.ณัฐนันท์ ย้ำว่า PCA เป็นกรอบความตกลงที่ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลไทยที่ต้องการเป็นรัฐการค้าที่เป็นมิตรกับทุกคนและไม่เป็นศัตรูกับใคร และท้ายที่สุดแล้ว PCA จะช่วยยกระดับสัมพันธ์ไทย-อียูให้เท่าเทียมกัน จากเดิมที่มีความสัมพันธ์แบบผู้ให้เงินช่วยเหลือและผู้รับเงินช่วยเหลือ

“PCA เป็นความสำเร็จชิ้นโบแดงที่บอกว่า อียู-ไทย มีความสัมพันธ์เท่าเทียม และ EUเป็นฝ่ายพึ่งพาเรา และไทยอาจเป็นสะพานเชื่อมสัมพันธ์อียูกับประเทศอื่นในอาเซียน”

ขณะที่ภูมิภาคอินโดแปซิฟิกมีความสำคัญทางเศรษฐกิจมาก อาจทำให้มหาอำนาจโลกต้องการสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับไทยมากขึ้น และ EU จะซัพพอร์ตเราในโครงการหรือมิติอื่นที่ไทยต้องการได้