ดีพร้อม ดันโครงการส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าแฟชั่นไทย ซอฟต์พาวเวอร์สู่สากล

ดีพร้อม ดันโครงการส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าแฟชั่นไทย ซอฟต์พาวเวอร์สู่สากล

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เผยผลสำเร็จ โครงการส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าแฟชั่นไทยสู่สากล งาน ShowPow ผู้ประกอบการ SMEs สร้างยอดขาย เชื่อมโยงธุรกิจ แบรนด์แฟชั่นไทย เพิ่มขึ้นกว่า 20% เร่งขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์แฟชั่นไทย โตไกลได้ในระดับสากล 

นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากนโยบายรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองในการผลักดัน และยกระดับภูมิปัญญาไทยไปสู่วัฒนธรรมสร้างสรรค์ (Creative Culture) เพื่อสนับสนุน และส่งเสริมการใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้าน (Local Wisdom) ซึ่งเป็นทุนทางวัฒนธรรมของประเทศไทย เข้ามาผสมผสานกับการดีไซน์ที่ทันสมัย และยกระดับสินค้าด้วยมาตรฐานสากล เพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลก 

กระทรวงอุตสาหกรรม (DIPROM) หรือ "ดีพร้อม" โดยรัฐมนตรี เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ได้มีนโยบายในการ “ปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส” ซึ่งเน้นการนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิต ออกแบบผสมผสานความร่วมสมัย แต่คงอัตลักษณ์ความเป็นไทย รักษาไว้ซึ่งภูมิปัญญา และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

โดยในปีงบประมาณ 2567 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ร่วมมือกับภาคเอกชน ภายใต้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านแฟชั่น ดำเนิน โครงการส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าแฟชั่นไทยสู่สากล (Fashion Identity) ตามแนวทางการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ด้วยการ “สร้างสรรค์และต่อยอด” ให้เกิดเสน่ห์ คุณค่า และเพิ่มมูลค่า “โน้มน้าว” ให้เกิดการยอมรับ เปิดใจ และต้องการ “เผยแพร่” ให้เป็นที่รู้จัก

ดีพร้อม ดันโครงการส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าแฟชั่นไทย ซอฟต์พาวเวอร์สู่สากล

รวมถึงการให้ทักษะใหม่ โดยการเพิ่มทักษะ ความรู้ ความสามารถ บุคคลทั่วไป และผู้ประกอบการ ผ่านกระบวนการสร้างทักษะขึ้นมาใหม่ ที่จำเป็นต่อการทำงาน (Reskill) พร้อมยกระดับทักษะที่มีให้ดีกว่าเดิม (Upskill)

ภายใต้นโยบาย “ดีพร้อมคอมมูนิตี้ ที่นี่มีแต่ให้” ในกลยุทธ์ 4 ให้ และ 1 ปฏิรูป ประกอบด้วย 1. ให้ทักษะใหม่ 2. ให้เครื่องมือที่ทันสมัย 3. ให้โอกาสโตไกล 4. ให้ธุรกิจไทยที่ดีคู่ชุมชน และปฏิรูปดี พร้อมสู่องค์กรทันสมัย ซึ่งจะส่งเสริม และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทุนทางวัฒนธรรม ผ่านทางสาขาแฟชั่น เพื่อสร้างสรรค์ผลงานออกสู่สายตาโลก

รวมทั้งการร่วมมือกับ Influencer ที่มีชื่อเสียง ซึ่งมีส่วนช่วยผลักดันสินค้าแฟชั่นไทยสู่สากล ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดไทย และตลาดโลก สามารถสร้างภาพลักษณ์ที่เป็นสากลให้กับประเทศ และวงการแฟชั่นไทย 

สำหรับโครงการดังกล่าว มีผู้ประกอบการ SMEs กว่า 50 กิจการ จากกลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย 4 สาขา ได้แก่ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์หัตถอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์ความงาม อัญมณีและเครื่องประดับ เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งประกอบด้วย

1.การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ โดยการฝึกอบรมให้มีองค์ความรู้ และสามารถดึงอัตลักษณ์ความเป็นไทยมาเชื่อมโยง และพัฒนาแบรนด์สินค้าแฟชั่นให้เกิดมูลค่าที่สูงขึ้น มีความเป็นสากล ทันสมัย 

2.สร้างองค์ความรู้ด้านการตลาด โดยเฉพาะตลาดออนไลน์ พร้อมส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือทางธุรกิจ ระหว่าง Influencer และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย

3. การเผยแพร่ภาพลักษณ์แบรนด์สินค้าแฟชั่น ผ่านสื่อ Social Media ต่าง ๆ หรือช่องทางสื่อของ Influencer และ 4. การจัดงานแสดงศักยภาพ และสื่อสารภาพลักษณ์สินค้าแฟชั่น ภายใต้ชื่องาน ShowPow ณ ศูนย์การค้าเอ็มสเฟียร์ 

ดีพร้อม ดันโครงการส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าแฟชั่นไทย ซอฟต์พาวเวอร์สู่สากล

นางสาวณัฏฐิญา กล่าวอีกว่า โครงการส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าแฟชั่นไทยสู่สากล ได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการจัดงาน ShowPow ผู้ประกอบการ SMEs สามารถสร้างยอดขาย และเชื่อมโยงธุรกิจ มูลค่าโดยรวมกว่า 10 ล้านบาท เมื่อวัดผลสำเร็จของภาพรวมในการดำเนินโครงการ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม และสร้างรายได้ให้กับแบรนด์แฟชั่นไทยเพิ่มขึ้น ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 เป็นไปตามเป้าหมายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเปิดโอกาสให้แบรนด์แฟชั่นไทยพัฒนาไปสู่ Hero Brand ที่มีชื่อเสียง และสามารถขยายโอกาสโตไกลได้ในระดับสากล 

หากผู้ประกอบการสนใจรับคำปรึกษา และรับบริการในโครงการต่าง ๆ ของ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สอบถามได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 1358 กด 0 หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.diprom.go.th
 
ทั้งนี้ หนึ่งในความสำเร็จของโครงการส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าแฟชั่นไทยสู่สากล คือ KRAMPHON (ครามพล) แบรนด์เสื้อผ้าของไทย ที่ผลิตจากใยธรรมชาติ 

นายรัฐพล ทองดี เจ้าของแบรนด์ KRAMPHON ซึ่งเป็นทั้งดีไซเนอร์ ผู้ประกอบการ ที่เข้าร่วมโครงการ เปิดเผยว่า KRAMPHON เป็นแบรนด์เสื้อผ้าที่เน้นการออกแบบและการผลิตที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม โดยการใช้เส้นใยและกระบวนการย้อมสีแบบธรรมชาติทั้งหมด รวมถึงการนำเศษผ้าที่เหลือจากอุตสาหกรรมการตัดเย็บมาประยุกต์ใช้ใหม่ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความนิยมในปัจจุบัน จึงทำให้ผลิตภัณฑ์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง 

การออกแบบของแบรนด์ ได้มุ่งเน้นการใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้าน และวัสดุธรรมชาติ ซึ่งไม่เพียงแต่สร้างสรรค์เสื้อผ้า Street wear แต่ยังเป็นงานศิลปะที่มีความหมายลึกซึ้ง ภายใต้แนวคิดการสื่อสารในเชิงภูมิปัญญา ที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าวัยรุ่นที่ใส่ใจในแฟชั่น และสิ่งแวดล้อม

นายรัฐพล กล่าวอีกว่า แบรนด์ KRAMPHON ได้เข้าร่วมโครงการเพื่อพัฒนาธุรกิจ และได้รับความรู้ ด้านการตลาดออนไลน์ โดยเฉพาะการทำคอนเทนต์ การตัดต่อสื่อโซเชียล และการสื่อสารผ่านอินฟลูเอนเซอร์ ได้รับผลตอบรับที่ดี

โดยได้รับการติดต่อจากร้านคราฟท์ที่หัวหิน เพื่อฝากขายสินค้า และยังได้รับคำสั่งซื้อจากผู้ค้าคราฟท์ ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อนำสินค้าไปจำหน่ายในต่างประเทศ รวมถึงการขายสินค้าออนไลน์บนเว็บไซต์งานคราฟท์ ส่งผลให้เกิดการเพิ่มโอกาส ในการขยายตลาด และยอดขายในระดับนานาชาติอีกด้วย