เปิดมุมมอง IMF ต่อไทย แนะ 'ลดดอกเบี้ยเพิ่ม' รับความเสี่ยงขาลง

เปิดมุมมอง IMF ต่อไทย แนะ 'ลดดอกเบี้ยเพิ่ม' รับความเสี่ยงขาลง

IMF แนะแบงก์ชาติ 'ลดดอกเบี้ยเพิ่ม' รับความเสี่ยงขาลงของประเทศ ชี้เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว แต่ในอัตราช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน

คณะกรรมการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยผลการประชุมหารือกับประเทศไทยประจำปี 2567 หรือ Article IV Consultation โดยมีรายละเอียด ดังนี้

"เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ในอัตราที่ช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน" กิจกรรมทางเศรษฐกิจขยายตัวได้ปานกลาง 1.9% ในปี 2566 และ 2.3% ในช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2567 ซึ่งขับเคลื่อนโดยการเติบโตของการบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 0.4% ในปี 2567 ซึ่งต่ำกว่ากรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ 1- 3% ปัจจัยภายนอก เช่น ราคาพลังงาน และอาหารทั่วโลกที่ลดลง รวมถึงราคาสินค้านำเข้าที่ลดลงมีส่วนช่วย แต่ปัจจัยในประเทศ เช่น การอุดหนุนราคาพลังงาน การควบคุมราคา และการยกเลิกมาตรการช่วยเหลือทางการเงินจากการระบาดของโควิด ก็มีส่วนทำให้เงินเฟ้อลดลงเช่นกัน

ดุลบัญชีเดินสะพัดแข็งแกร่งขึ้นเป็น 1.4% ของจีดีพี GDP ในปี 2566 จากที่เคยติดลบ 3.5% ในปี 2565 และยังคงมีดุลบัญชีเกินดุลปานกลางจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2567 โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของการท่องเที่ยว และการส่งออกที่เพิ่มขึ้น

การฟื้นตัวตามวัฏจักรแบบค่อยเป็นค่อยไปคาดว่าจะดำเนินต่อไป โดย IMF คาดว่าจีดีพีที่แท้จริงของไทยจะเติบโต 2.7% ในปี 2567 และเพิ่มขึ้นเป็น 2.9% ในปี 2568 จากการใช้นโยบายการคลังแบบขยายตัวในงบประมาณปี 2568 ซึ่งรวมถึงมาตรการแจกเงินเพิ่มเติมอีก 1.0% ของจีดีพี และการฟื้นตัวของการลงทุนภาครัฐ ส่วนภาคที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวคาดว่าจะยังคงสนับสนุนการเติบโตเช่นกัน รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนที่จะได้รับอานิสงส์จากมาตรการแจกเงินของรัฐ

ทั้งนี้เนื่องจากการเติบโตที่ยังคงแข็งแกร่ง คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะฟื้นตัวขึ้น แต่ยังคงอยู่ในครึ่งล่างของกรอบเป้าหมายในปี 2568 ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นต่อทั้งในปี 2567 และ 2568 จากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเยือน
 

IMF ประเมินว่า "แนวโน้มเศรษฐกิจไทยเป็นความเสี่ยงขาลง" โดยในด้านปัจจัยภายนอกนั้น ความตึงเครียดด้านการค้าโลกที่ทวีความรุนแรงขึ้นหรือการแตกแยกทางภูมิเศรษฐกิจในระดับที่ลึกขึ้น อาจขัดขวางการฟื้นตัวของการส่งออกของไทย และส่งผลให้การไหลเข้าของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ลดลง ในขณะที่ความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโต และนำไปสู่อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น และอาจส่งผลให้สภาพการเงินโลกตึงตัวเป็นเวลานานขึ้น ความขัดแย้งระหว่างภูมิภาคที่ทวีความรุนแรงขึ้นอาจกระทบต่อการค้า และการเดินทาง ขณะที่สภาพอากาศที่รุนแรงบ่อยครั้งขึ้นอาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อแนวโน้มการเติบโต 

ส่วนปัจจัยในประเทศนั้น "ความเสี่ยงจากหนี้ภาคเอกชนที่พุ่งสูงอาจส่งผลกระทบต่องบดุลของสถาบันการเงิน และลดอุปทานสินเชื่อลงอีก ซึ่งจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ ขณะที่ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เกิดขึ้นใหม่ อาจขัดขวางการดำเนินนโยบาย และบั่นทอนความเชื่อมั่น"

ในการสรุปการปรึกษาหารือตามมาตรา 4 กับประเทศไทยประจำปี 2567 คณะกรรมการบริหารของไอเอ็มเอฟ ได้ให้การรับรองการประเมินของเจ้าหน้าที่ ดังนี้:

"การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยยังคงดำเนินต่อไป แต่ค่อนข้างช้า และไม่สม่ำเสมอ" กิจกรรมทางเศรษฐกิจขยายตัวเล็กน้อยในปี 2567 ซึ่งขับเคลื่อนโดยการบริโภคภาคเอกชน และการฟื้นตัวของกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ในขณะที่การดำเนินการตามงบประมาณที่ล่าช้าทำให้การลงทุนของภาครัฐชะลอตัวลง "การฟื้นตัวที่ช้าเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนยังมีพื้นฐานมาจากจุดอ่อนเชิงโครงสร้างที่มีมาอย่างยาวนานของไทย" ในขณะที่ปัจจัยเสี่ยงภายนอก และภายในประเทศที่เกิดขึ้นใหม่ยังส่งผลให้เงินเฟ้อลดลงอีกด้วย แนวโน้มของประเทศไทยจึงยังมีความไม่แน่นอนอย่างมากพร้อมความเสี่ยงด้านลบที่สำคัญ

เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวลงจึงควรปรับโฟกัสใหม่ไปที่การสร้างพื้นที่ทางการคลังใหม่ แม้จะใช้นโยบายการคลังแบบขยายตัวน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ในงบประมาณปี 2568 แต่ก็จะยังช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้ และช่วยรักษาพื้นที่ทางนโยบายเอาไว้ ส่วนการจัดสรรงบประมาณใหม่จากนโยบายแจกเงินหมื่นไปสู่การลงทุนที่ช่วยเพิ่มผลิตภาพหรือการคุ้มครองทางสังคม จะช่วยให้เกิดการเติบโตที่ครอบคลุมมากขึ้น และลดสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีลง ทั้งนี้ เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2569 เป็นต้นไป จำเป็นต้องมีการปรับใช้นโยบายการคลังแบบสมดุลในระยะปานกลางตามรายได้ เพื่อช่วยลดหนี้สาธารณะ และสร้างกันชนทางการคลังขึ้นใหม่

ประเทศไทยสามารถปรับ "กรอบวินัยทางการคลัง" ให้แข็งแกร่งได้มากกว่านี้ ซึ่งจะต้องมีการปรับปรุงกฎระเบียบทางการคลังเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการควบคุมระดับหนี้ให้ดีขึ้น ผ่านการนำแนวทางกฎเกณฑ์ตามความเสี่ยงมาใช้ ควรคำนึงถึงต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับมาตรการกึ่งการคลัง เช่น การตรึงราคาพลังงาน ควรถูกกำหนดอย่างเหมาะสม และควรติดตามความเสี่ยงทางการคลังอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ การปรับปรุงการให้ข้อมูลทางสถิติด้านการเงินการคลังของรัฐบาล และรัฐวิสาหกิจก็เป็นสิ่งสำคัญ

IMF ยินดีกับการตัดสินใจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนตุลาคม 2567 และแนะนำให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนเงินเฟ้อ รวมถึงช่วยให้ความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ดีขึ้น โดยมีความเสี่ยงต่อการก่อหนี้เพิ่มเติมอย่างจำกัดท่ามกลางภาวะสินเชื่อตึงตัว

ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่ยังคงอยู่ในแนวโน้มเศรษฐกิจ ภาครัฐควรเตรียมความพร้อมในการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินตามข้อมูล และแนวโน้มเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ การรักษาความเป็นอิสระของธนาคารกลางควบคู่กับการสื่อสารที่ชัดเจนเกี่ยวกับการดำเนินนโยบาย ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาความน่าเชื่อถือ และประสิทธิภาพของนโยบายการเงินในการกำหนดกรอบเงินเฟ้อ

การประสานงานที่มีประสิทธิภาพระหว่างเครื่องมือนโยบายต่างๆ ที่รองรับด้วยกันชนทางเศรษฐกิจที่เพียงพอ ถือเป็นสิ่งจำเป็นในการบริหารความเสี่ยงจากสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ อัตราแลกเปลี่ยนแบบยืดหยุ่นควรยังคงทำหน้าที่เป็นตัวดูดซับแรงกระแทกทางเศรษฐกิจต่อไป ขณะเดียวกัน การใช้นโยบายแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FXI) ควบคู่กันอาจช่วยลดการ trade-offs นโยบายลง

นอกจากนี้ การเปิดเสรีระบบอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มเติม และการทยอยยกเลิกมาตรการควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ยังเหลืออยู่ จะช่วยให้ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนมีความเข้มแข็งมากขึ้น และลดความจำเป็นในการใช้ FXI ในระยะยาว

จำเป็นต้องมีการใช้มาตรการกำกับดูแล และกฎหมายที่ครอบคลุมเพื่อสนับสนุนกระบวนการ "ลดภาระหนี้ภาคเอกชนอย่างเป็นระบบ" IMF ขอชื่นชมมาตรการที่ไทยได้ดำเนินการไปแล้วเพื่อจัดการกับภาระหนี้ครัวเรือนที่มีอยู่ รวมถึงการป้องกันการสะสมของหนี้ใหม่ อย่างไรก็ตาม การดำเนินมาตรการแก้ปัญหาหนี้ส่วนบุคคลอย่างจริงจังและพร้อมกันผ่านกระบวนการล้มละลายที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการลดภาระหนี้ครัวเรือนที่มีอยู่ในปัจจุบัน

สถานะภายนอกในปี 2567 แข็งแกร่งกว่าที่ปัจจัยพื้นฐาน และการกำหนดนโยบายที่พึงประสงค์รับประกันเล็กน้อย นโยบายที่มุ่งเน้นส่งเสริมการลงทุน เสริมสร้างระบบความปลอดภัยทางสังคม การเปิดเสรีภาคบริการ และลดแรงจูงใจทางภาษี และเงินอุดหนุนที่บิดเบือนการแข่งขัน จะช่วยให้เกิดการปรับสมดุลภายนอกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สุดท้ายนี้ IMF มองว่า "การปฏิรูปเชิงโครงสร้างอย่างจริงจัง" เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อยกระดับผลิตภาพ และขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย โดยลำดับความสำคัญของการปฏิรูปควรครอบคลุมถึงด้านต่างๆ อาทิ

  • การส่งเสริมความสามารถในการแข่งขัน และการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจ
  • การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ และดิจิทัล
  • การพัฒนาทักษะ และเสริมทักษะใหม่ให้แก่แรงงาน
  • การยกระดับความซับซ้อนของการส่งออกผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล
  • การเสริมความแข็งแกร่งของธรรมาภิบาล

นอกจากนี้ การจัดให้มีระบบคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอสำหรับครัวเรือนที่เปราะบาง อาจช่วยเพิ่มความสามารถในการรับมือกับแรงกระแทกทางเศรษฐกิจ และแก้ไขปัจจัยเชิงโครงสร้างที่นำไปสู่การสะสมหนี้ครัวเรือน
 

ที่มา: IMF

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์