ตลาดคาร์บอนเครดิตยุโรปคึก รับCBAMกฎการค้าใหม่ใช้จริงปี69

ท่ามกลางความปั่นป่วนการค้าโลก หลังคลื่นภาษีสหรัฐที่ทยานขึ้นในเกือบทุกภูมิภาค คาดว่าระเบียบข้อบังคับทางการค้าจากนี้จะเพิ่มขึ้นและมีรูปแบบที่คาดเดาได้ยาก
แต่กฎระเบียบว่าด้วยสิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรปที่ได้ดำเนินการประกาศใช้เเละเตรียมความพร้อมมานานยังคงเดินหน้าไปอย่างมั่นคง
เมื่อเร็วๆนี้ คณะกรรมการธิการยุโรป(European Commission) ได้เผยแพร่ข้อมูลว่าด้วยการเตรียมความพร้อมการบังคับใช้และเงื่อนไข รวมถึงขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับสถานะของผู้แจ้งตามมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดนของEU (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ที่ได้รับอนุญาต
“คณะกรรมาธิการมีความยินดีที่จะประกาศว่าคณะกรรมาธิการได้นำข้อบังคับการบังคับใช้เกี่ยวกับการอนุญาตให้ผู้แจ้ง CBAM ได้รับการรับรองเมื่อวันที่ 17 มี.ค.2568 และเผยแพร่บนเว็บไซต์ของคณะกรรมาธิการแล้ว”
สำหรับข้อมูลนี้ จะช่วยให้ผู้นำเข้าและตัวแทนศุลกากรสามารถยื่นคำร้องขอสถานะผู้แจ้ง CBAM ที่ได้รับอนุญาตเพื่อนำเข้าสินค้า ที่กำหนดตามกฎ CBAM ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2569
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการจะเปิดตัวโมดูลการจัดการการอนุญาต (The Commission will launch the Authorisation Management Module (AMM) ในวันที่ 31 มี.ค. 2025 เพื่อขึ้นทะเบียน CBAM ซึ่งเป็นโมดูลที่ผู้นำเข้าและตัวแทนศุลกากรจะใช้สำหรับกระบวนการยื่นคำร้องและการจัดการการอนุญาตกับหน่วยงานที่มีอำนาจ
นอกจากนี้ จะมีการให้คำแนะนำที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับขั้นตอนการอนุญาตสามารถดูได้ในส่วน “โมดูลการจัดการการอนุญาต”
“Authorisation Management Module” บนเว็บไซต์ CBAM ได้ ซึ่งเป็นไปตามที่ คณะกรรมาธิการได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะปรับปรุงระเบียบ CBAM ให้เรียบง่าย และรับข้อเสนอใหม่ๆเกี่ยวกับเกณฑ์ขั้นต่ำที่ 50 ตันของมวล( a de minimis threshold of 50 tonnes mass)เข้าไว้แล้วด้วย
ดังนั้นคณะกรรมาธิการขอสนับสนุนให้ผู้นำเข้าที่คาดว่าจะเกินเกณฑ์ขั้นต่ำสำหรับการนำเข้าสินค้า CBAM ให้ยื่นคำร้องขออนุญาตโดยเร็วที่สุด
สำหรับยุโรปเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย ที่มีสัดส่วนเกือบ 10% ของการส่งออกทั้งหมดในทุกตลาดทั่วโลก แม้ว่าสินค้าภายใต้กติกา CBAM จะยังไม่ครอบคลุมสินค้าส่งออกของไทยแต่มีการประเมินว่าเมื่อระเบียบใหม่นี้ใช้ไปได้ระยะหนึ่ง ยุโรปจะนำสินค้านำเข้าเกือบทั้งหมดเข้าสู่กฎCBAM ซึ่งคาดว่าใช้เวลาไม่นานจากนี้
ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่า ปี 2573 คาดว่าจะมีการขยายประเภทสินค้าที่ต้องรายงานตามมาตรการ CBAM ให้ครอบคลุมสินค้าใน EU ETS (ตลาดซื้อขายโควตาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก)ทั้งหมด ครอบคลุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากโรงไฟฟ้า อุตสาหกรรมหนักที่ใช้พลังงานสูง เรียกได้ว่าจะขยายวงมากขึ้นและเข้มข้นขึ้น
บทวิเคราะห์ของ บริษัท Morgan Stanley Capital International (MSCI) ระบุว่าตลาดเครดิตคาร์บอนที่หยุดชะงักอาจละลายลงเมื่อปี 2030 ใกล้เข้ามา ปัจจุบันมีโครงการคาร์บอนมากกว่า 6,200 โครงการที่ลงทะเบียนในทะเบียนเครดิตระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุด 12 แห่ง ณ สิ้นปี 2567
โครงการเหล่านี้ออกเครดิต 305 MtCO2e ในปีที่ผ่านและปัจจุบันได้ออกเครดิตมากกว่า 2.1 พันล้านเครดิตแล้วนับตั้งแต่มีการลงนามข้อตกลงปารีสในช่วงปลายปี 2016
เมื่อปีที่แล้ว เครดิต 180 MtCO2e ถูก “ยกเลิก” ซึ่งหมายความว่าเครดิตเหล่านี้ถูกลบออกจากตลาดอย่างถาวร เพราะบริษัทต่างๆ ได้ใช้เครดิตเหล่านี้ในภาคสมัครใจซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ด้านสภาพอากาศ หลังการเติบโตอย่างรวดเร็วจนถึงปี2566
“ส่งผลให้ขนาดของตลาดเครดิตคาร์บอนยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ในปี 2567 ที่ผ่านมาโดย บริษัทต่างๆ ใช้เครดิตมูลค่ารวม 1.4 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งต่ำกว่าจุดสูงสุดในปี 2566 ที่ 1.7 พันล้านดอลลาร์เล็กน้อย”
อย่างไรก็ตาม พบว่า ยิ่งใกล้ปี 2573 ซึ่งเป็นกำหนดเวลาที่บริษัทหลายแห่งได้ตั้งเป้าหมายการบรรลุความเป็นกลางการปลดปล่อยคาร์บอน แต่ในความเป็นจริงยังมีช่องว่างระหว่างเป้าหมายดังกล่าวกับขั้นตอนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จริง จึงทำให้บริษัทหลายแห่งความปรารถนาที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้สอดคล้องกับเป้าหมายจึงต้องจ่ายเงินสำหรับเครดิตคาร์บอนควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจของตนเอง
สถานการณ์จำลองของ MSCI Carbon Markets คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดการเคลื่อนย้ายจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมากกว่าการลดลง โดยปี 2573 อัตราการเพิ่มขึ้นอยู่ระหว่าง 4 ถึง 11 พันล้านดอลลาร์ ส่วนอัตราลดลงจะอยู่ระหว่าง 1 ถึง 13 พันล้านดอลลาร์ในปีเดียวกัน
นอกจากนี้ ภายในปี 2593 บริษัทหลายแห่งจะต้องเผชิญหรือเลยกำหนดเวลาคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งหนทางเดียวที่จะทำตามคำมั่นสัญญาได้คือ การซื้อ เครดิต คาร์บอน ซึ่งจะทำให้มูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นทำสถิติใหม่ หรือ 45,000 ถึง 250,000 ล้านดอลลาร์ ( ณ ราคาในปี 2567)
สำหรับสถานการณ์ราคา คาร์บอน เครดิต ในปัจจุบัน จากข้อมูลของ Carbon Pricing Dashboard ของธนาคารโลก (เวิล์ดแบงค์) ระบุว่า ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก เฉลี่ยที่ 12.8 พันล้านตันของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (GtCO2e) ในจำนวนนี้ได้รับการจัดการด้วยคาร์บอนเครดิต 24% แบ่งเป็น ตลาดETS19% และภาษคาร์บอน 6%
โดยราคาคาร์บอนเครดิต อยู่ระหว่าง 0.46-167 ดอลลาร์ต่อตัน (tCO2e) ราคาในระดับสูงอยู่ในยุโรป เช่น สวีเดนราคา 127.26 ดอลลาร์ ต่อ tCO2e, อิตาลี 61.30 ดอลลาร์ต่อ tCO2e ,เยอรมนี 48.37 ดอลาร์ต่อtCO2e ,ฝรั่งเศส 47.94 ดอลลาร์ต่อtCO2e,สหราชอาณาจักร 61.30 ดอลลาร์ต่อ tCO2e
อย่างไรก็ตาม ในฝั่งสหรัฐ ไม่มีรายงานราคาการซื้อขาย ขณะที่จีน ราคาเพียง 12.57 ดอลลาร์ต่อ tCO2e และอินโดนีเซีย 0.61 ดอลลาร์ต่อtCO2e สอดคล้องกับแนวโน้มการซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่พบว่าส่วนใหญ่ 31% อยู่ในประเทศรายได้สูง 22% ประเทศรายได้ปานกลางและ0% รายได้ต่ำ
เทรนด์การค้าโลกกำลังอยู่ท่ามกลางฝุ่นควันที่สับสนทำให้การคาดเดาสถานการณ์เพื่อการวางแผนทำได้ยาก แต่หากไทยสามารถมองสถานการณ์ได้ชัดเจนได้เร็วเท่าไหร่ โอกาสก็จะเป็นของไทยมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งรวมถึงตลาดส่งออกในยุโรปนี้ด้วย