'เผ่าภูมิ' ยันหนี้สาธารณะไร้กังวล กระสุนการคลังเพียงพอ มอง ‘จีดีพี Q1’ สดใส

'เผ่าภูมิ' ยันหนี้สาธารณะไร้กังวล กระสุนการคลังเพียงพอ มอง ‘จีดีพี Q1’ สดใส

"รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง" ยืนยัน หนี้สาธารณะไทยยังอยู่ในระดับที่ไม่น่ากังวล แม้ IMF จะประเมินว่าไทยมีหนี้สาธารณะสูงเกินค่าเฉลี่ยอาเซียน 5 ประเทศรองจากมาเลเซีย พร้อมชี้มีกระสุนการคลังเพียงพอรับมือสถานการณ์เศรษฐกิจ

ตลอดช่วงวันที่ 21-26 เม.ย. นี้คือช่วงการประชุม IMF-World Bank Spring Meeting ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นการประชุมที่เกิดขึ้นภายใต้ฉากของสงครามการค้าทั่วโลกที่กำลังร้อนระอุ และ “ไทย” ก็เป็นหนึ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าในครั้งนี้อย่างรุนแรงเช่นเดียวกันโดย กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) พึ่งจะประกาศปรับตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2568 ลงเหลือเพียง 1.8% ซึ่งต่ำที่สุดในกลุ่ม ASEAN-5

จากผลกระทบทั้งหมด เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ทางกระทรวงการคลังจึงออกมาประกาศความเป็นไปได้ในการกู้เงินเพิ่มเพื่อประคับประคองการเติบโตของประเทศ แม้ไอเอ็มเอ็ฟจะออกรายงาน “Fiscal Monitor” เมื่อวันที่ 23 เม.ย. ที่ผ่านมาว่าหนี้สาธารณะของประเทศไทยนั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ ASEAN-5 และสูงเป็นอันดับสองรองจากประเทศมาเลเซีย

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ถึงประเด็นหนี้สาธารณะว่า  สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทยไม่ได้อยู่ในระดับที่น่ากังวล และหากคำนวณตามมาตรฐานของ IMF หนี้สาธารณะของไทยจะต่ำกว่า พ.ร.บ.หนี้สาธาณะด้วยเนื่องจากไทยนับรวมหนี้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและรัฐวิสาหกิจเข้าไปด้วย

"หนี้สาธารณะไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ที่น่ากังวลสำหรับประเทศไทย ตราบใดที่เราใช้เงินกู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ" นายเผ่าภูมิกล่าว

สำหรับกรณีที่มีข่าวว่า กระทรวงการคลังมีแผนกู้เงินเพิ่มอีก 500,000 ล้านบาทเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ นายเผ่าภูมิระบุว่า ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าต้องใช้เม็ดเงินเท่าไร เนื่องจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการค้าโลกโดยเฉพาะนโยบายภาษีศุลกากรที่ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนอาจจะน้อยกว่าตัวเลขดังกล่าวก็ได้

ส่วนประเด็นการขยายเพดานหนี้สาธารณะ รมช.คลัง ปฏิเสธว่ายังไม่มีการหารือในเรื่องนี้ภายในกระทรวงการคลัง ยืนยันว่าระดับหนี้สาธารณะปัจจุบันที่ 64% ยังมี "รูม" หรือพื้นที่เหลืออยู่มาก ทำให้ยังไม่จำเป็นต้องพิจารณาประเด็นนี้

มอง 'จีดีพีไตรมาสหนึ่ง' สดใส

นายเผ่าภูมิให้ความเห็นต่อรายงานของ IMF ที่ระบุว่าไทยมีการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำที่สุดในอาเซียน 5 ว่า ยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำมานาน แต่ควรดูแนวโน้มและโมเมนตัมด้วยเนื่องจากปีที่แล้วแนวโน้มจีดีพีอยู่ในขาขึ้นและมีโอกาสที่แนวโน้มในไตรมาสหนึ่งจะออกมาดูดี

นอกจากนี้ ในการประชุมครั้งนี้ รมช.คลัง ยังได้พบหารือกับหน่วยงานจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ทั้ง S&P, Moody's และ JP Morgan โดยแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของไทยยังคงดี มีความเป็นไปได้สูงที่จะ "คงอันดับเดิม" แม้ว่าประเทศจะอยู่ในภาวะที่มีความเสี่ยงในปัจจุบัน

สรุปประเด็นที่ ‘รมช.คลัง’ หารือในการประชุม IMF-World Bank

การประชุมทางการ

  • ร่วมประชุมกับรัฐมนตรีคลังอาเซียน เน้นหารือเรื่องการค้าและภาษีศุลกากร
  • IMF เสนอแนะ 4 ประเด็นหลัก:
    1. ส่งเสริมการค้าภายในอาเซียน (Intra-regional Trade)
    2. กระจายความเสี่ยงการส่งออก
    3. เชื่อมโยงตลาดทุนให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
    4. เพิ่มกำลังซื้อในประเทศเพื่อรับมือความไม่แน่นอนจากต่างประเทศ

การประชุมทวิภาคี

  • พบกับบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (S&P, Moody's, JP Morgan)
    • ชี้แจงสถานะการคลังและการเงินของไทย
    • มีแนวโน้มที่ดีที่อันดับความน่าเชื่อถือจะคงเดิม
  • หารือกับรัฐมนตรีคลังลักเซมเบิร์ก
    • วางแผนเชื่อมโยงศูนย์กลางทางการเงินของทั้งสองประเทศ
    • หารือเรื่องการนำซัสเทนเนเบิลบอนด์ของไทยไปจดทะเบียนที่ลักเซมเบิร์ก
  • พบกับธนาคารโลก
    • หารือเรื่องโครงสร้างประชากรและการพัฒนาระบบบำนาญ
    • ธนาคารโลกสนใจนโยบาย "หวยเกษียณ" ของไทย ที่ใช้พฤติกรรมของคนไทยมาสร้างแรงจูงใจในการออม

การเตรียมความพร้อมเป็นเจ้าภาพปีหน้า

  • ความคืบหน้าเป็นไปตามไทม์ไลน์ คาดมีผู้เข้าร่วมประมาณ 18,000 คน
  • พิจารณา 3 หัวข้อย่อยสำหรับเป็นธีมงาน:
    1. ดิจิทัลไฟแนนซ์และนวัตกรรมทางการเงิน
    2. การพัฒนาโดยมีคนเป็นศูนย์กลาง
    3. กรีนไฟแนนซ์