ธนาคาร จิตอาสาฝาก เวลา ไถ่ถอน ความสุข
ธนาคารจิตอาสารับฝากเวลาเพื่อแบ่งมาช่วยสังคมเป้าหมายคือสร้างการเรียนรู้และยกระดับจิตใจของคนทำงานจิตอาสา ทั้งสร้างดัชนีชี้วัดใหม่ให้สังคม
“เวลาเป็นสิ่งมีค่า และทุกคนมีเท่ากัน ไม่ว่าจะร่ำรวยหรือยากจน บางคนอาจไม่มีเงินทองไปบริจาค แต่ทุกคนมีเวลาให้บริจาค เพื่อทำอะไรดีๆ ให้กับสังคม อยากเห็นทุกคน เอาเวลาที่แต่ละคนมี ไม่ต้องก้อนโต อาจแค่ชั่วโมงเดียว หรือครึ่งชั่วโมง แต่เอามาบริจาครวมกันเป็นต้นทุนของประเทศ..นี่ไม่ใช่ต้นทุนทางการเงิน แต่เป็นต้นทุนทางสังคม และจิตวิญญาณ เพื่อสร้างบทสนทนาใหม่ให้กับผู้คนในสังคม”
บทสนทนาเริ่มต้นจาก “ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ” ที่นำพาพวกเราให้รู้จักกับ “ธนาคารจิตอาสา” องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสภากาชาดไทย พันธกิจของพวกเขาคือพัฒนาระบบสนับสนุนและขับเคลื่อนจิตอาสาเพื่อยกระดับจิตสำนึกและจิตใจของผู้คน บน 3 ภารกิจหลัก คือ ระบบฝากเวลา (Time Bank) ปฐมนิเทศและการอบรม (Orientation and Training) ตลอดจนงานอาสาสัมพันธ์ (VRM-Volunteer Relation Management)
ธนาคารน้องใหม่ เพิ่งเปิดตัวมาเพียงไม่กี่เดือน แต่มีเวลาที่เหล่าคนอาสามาฝากไว้กว่าแสนชั่วโมงแล้ว!
คอนเซ็ปต์ของ “ธนาคารจิตอาสา” คือการเปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้เข้ามาประกาศความตั้งใจที่จะแบ่งปันเวลาให้กับสังคม พวกเขาเริ่มจากจัดทำเว็บไซต์ธนาคารจิตอาสา (www.jitarsabank.com) เพื่อให้ทุกคนได้เข้ามาฝากเวลาไว้ พร้อมๆ กับบอกความสนใจของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม หมาแมว เด็ก คนชรา ศาสนา และสารพัดความสนใจ ที่อยากแบ่งปันเวลาไปเพื่อสิ่งเหล่านั้น แถมท้ายด้วยการบอกความถนัดและทักษะที่มี เช่น ขับรถเป็น ทำอาหารได้ สอนหนังสือ แปลและพูดภาษาต่างประเทศได้ จากนั้นระบบก็จะแนะนำงานอาสาที่สอดคล้องกับความสนใจและทักษะของเขา
ขณะที่องค์กรเพื่อสังคม ก็จะเข้ามาบอกความต้องการหรือคุณลักษณะของอาสาสมัครที่อยากได้ เพื่อเชื่อมโยงกันเองระหว่างผู้ที่มีเวลาพร้อมทักษะ กับงานอาสาที่ต้องการทักษะนั้น เพื่อใช้พลังของอาสาให้เหมาะกับความสนใจ ความสามารถ และแบบแผนการใช้ชีวิตและเวลาว่างของแต่ละคนอย่างแท้จริง
การสร้างให้เกิดการเรียนรู้และยกระดับจิตใจของเหล่าอาสาและองค์กรเพื่อสังคม คือ หัวใจของธนาคารจิตอาสา
หน้าที่ของพวกเขาจึงไม่เพียงจับคู่ให้คนและงานมาเจอกัน หรือจะวัดความสำเร็จด้วยปริมาณคน กิจกรรม หรือ เวลา แต่คือการขับเคลื่อนและผลักดันให้ผู้คนเข้าใจคำว่า “จิตอาสา” มากขึ้น ที่ไม่ใช่แค่ “แรงงานราคาถูก” หรือเป็นเรื่องที่ทำแล้ว “ขาดทุน-โง่-เสียเวลา” แต่งานอาสาสมัคร เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาจิตใจ มีส่วนช่วย สังคม สิ่งแวดล้อม ทั้งยังพัฒนาตัวคนทำได้ด้วย
“จิตอาสา เป็นงานที่พัฒนาตัวตน พัฒนาจิตใจของเรา ทำให้เรามีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้นได้”
“ธีระพล เต็มอุดม” หัวหน้าโครงการธนาคารจิตอาสา ขยายความเข้าใจในความหมายของ “จิตอาสา” ที่อยู่บนรากฐานของความเชื่อเรื่อง “จิตตปัญญาศึกษา” (Contemplative Education) และสุขภาวะทางจิตวิญญาณ ที่พวกเขาขับเคลื่อนและผลักดันตลอดหลายปีที่ผ่านมา
หนึ่งในภารกิจที่ต้องเดินหน้าคู่กันไป คือ เตรียมความพร้อม และยกศักยภาพขององค์กรที่ทำงานอาสาสมัคร ที่ไม่แค่การบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ แต่ต้องก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ด้วย
“องค์กรจำนวนมาก มองงานอาสาสมัครเหมือนหาแรงงานมาทำงานให้เสร็จ แล้วก็คิดในระดับที่ว่าจะจัดการอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพ อย่างใช้คนและเวลาให้น้อยที่สุด แต่สิ่งที่เราอยากชักชวนให้เห็น คือ การจัดให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ นั่นคือ ไม่ได้ใส่ใจแค่ว่างานเสร็จ แต่ใส่ใจว่าประสบการณ์ที่เกิดกับอาสาสมัครเป็นอย่างไร เขาเกิดกระบวนการเรียนรู้อย่างไร”
พวกเขาสะท้อนความคิด พร้อมบอกเล่าประสบการณ์ของหลายๆ คน ที่ได้แบ่งปันเวลามาลงมือทำเพื่อสังคมกับธนาคารจิตอาสา ซึ่งต่างก็รับ “ดอกเบี้ย” ที่แตกต่างกันไป พวกเขาว่าเหมือนบางอย่างถูกจัดสรรมาไว้ให้แล้ว อย่างบางคนอาจได้ความเข้าใจครอบครัวกลับคืนมา บางคนได้ความภูมิใจ บางคนได้ความสุข หรือบางคนอาจได้ในสิ่งสำคัญไปกว่านั้น นั่นคือ “ความหมายของชีวิต”
“งานจิตอาสาเป็นโอกาสให้คนได้ทลายมุมมองอันจำกัดของตัวเอง เพื่อประโยชน์ของผู้อื่น ทำให้เราได้เรียนรู้ ได้เท่าทันตัวเอง ทำให้รู้ว่า โลกไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนี้เสมอไป และเราสามารถเป็นได้มากกว่าที่เราเคยเป็น”
ย้อนถามคนทำงานภาคสังคมอย่างพวกเขา อะไรนะ ที่ทำให้ยังอยู่ในงานนี้ได้ และยังมุ่งมั่นมาจนถึงทุกวันนี้
“ดร.สรยุทธ” ผู้ซึ่งเพิ่งลาออกจากอาจารย์มหาวิทยาลัย เพื่อมาทำงานภาคสังคมอย่างเต็มตัว บอกเราว่า งานนี้ตอบความหมายของชีวิต และเป็นเสียงเรียกจากข้างในตัวเขา
“ผมเริ่มต้นทำงานที่เกี่ยวข้องกับงานพัฒนาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม ผมสนใจเรื่องราวทำนองนี้ เรื่องมิติสังคม สิ่งแวดล้อม เป็นการค้นหาคุณค่าและความหมายของชีวิต ผมอยากให้งานที่ทำมันตอบโจทย์ทั้งตัวเอง ตอบโจทย์โลกและสังคมด้วย ในทางโลกอาจเข้าใจว่าผมเปลี่ยนอาชีพ แต่การเดินทางข้างในยังเป็นเส้นทางเดิม ผมยังมุ่งมั่นไปสู่การค้นหาคุณค่าและความหมายของชีวิต ค้นหาสิ่งที่ควรทำ..ทำแล้วรู้สึกว่าชีวิตมันใช่”
ขณะที่ “ธีระพล” คนทำงานภาคสังคมมานานหลายปี บอกเราว่า นี่เป็นการทำงานที่อิสระและมีความสุข
“อิสระในที่นี้ ไม่ใช่ว่าอยากไปไหนก็ได้ไป หรืออยากทำอะไรก็ได้ทำ แต่คือการที่รู้สึกว่าเราเลือกเส้นทางชีวิตของเราเองได้ ถ้ายังทำงานกับบริษัท ก็คงไม่มีวันได้เจอคนดีๆ ที่จะตอบเรื่องดีๆ ให้ความรู้ดีๆ ทำให้เราเรียนรู้ได้มากขึ้น และเข้าใจตัวเองมากขึ้น ยอมรับตัวเอง และมีความสุขได้อย่างแท้จริง”
ก่อนปิดบทสนทนา เรายังได้พูดคุยกับน้องๆ ทีมงานธนาคารจิตอาสา กลุ่มคนรุ่นใหม่อดีตนิสิตคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่วันนี้กลายมาเป็นคนทำงานภาคสังคมแบบเต็มตัว ทั้งน้อง “ธีรัช พิริยะปัญญาพร” ,“เพ็ญจุรี วีระธนาบุตร” และ “โชติศักย์ กิจพรยงพันธ์” หลังจากได้เรียน “จิตตปัญญาศึกษา” ที่มหาวิทยาลัยแล้วเกิดความสนใจ จนติดตามอาจารย์ผู้สอน (ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ) มาทำงานด้วย
“ถ้าต้องออกไปทำงานอื่น ผมไม่อยากแค่ ใช้ทั้งพลังงาน พลังสมอง ใช้ทุกๆ อย่าง แม้กระทั่งเวลาของตัวเอง เพื่อแลกกับเงิน แล้วเอาเงินนั้นมาสนองความต้องการให้มีความสุขไปวันๆ รู้สึกว่าไม่อยากได้ชีวิตแบบนี้ ผมไม่อยากจ่ายทั้งหมดในชีวิตของผม เพื่อแค่ให้ตอนแก่จะได้มีเงินพอใช้ มีเงินเลี้ยงลูก รู้สึกว่าน้อยไปไหม ชีวิตมีแค่นี้เองเหรอ ผมจึงเลือกมาอยู่ในพื้นที่ตรงนี้ เหมือนอยู่ในพื้นที่ใหม่ และรู้สึกว่าได้เปิดโลกมากขึ้น” น้องโชติศักย์ หนึ่งในทีมงานไฟแรงบอกกับเรา
และดูเป็นความคิดที่สอดรับไปกับเพื่อนๆ ร่วมทีม ที่บอกเราว่า ชีวิตของพวกเขาเปลี่ยนไปมาก เมื่อได้มาทำงานเพื่อสังคม แม้แต่การเข้าอกเข้าใจกันมากขึ้นของสมาชิกในครอบครัว ความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเองได้เห็นผลกระทบจากสิ่งที่ทำต่อสังคม กระทั่งได้ทำงานกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์ เท่านี้ก็ส่งเสริมและหล่อเลี้ยงให้พวกเขามีพลังเดินในเส้นทางนี้ต่อไปแล้ว
อีกหนึ่งเส้นทางของคนทำงานภาคสังคม ที่ชื่อ “ธนาคารจิตอาสา” ผู้รับฝาก “เวลา” เพื่อให้เราไถ่ถอน “ความสุข” และความหมายในชีวิต ไปจากพวกเขา