ค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคารถยนต์นั่ง (2)

ค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคารถยนต์นั่ง (2)

ขอนำประเด็นค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน

มาปุจฉา – วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อนดังนี้
ปุจฉา หลักเกณฑ์การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคารถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ที่มีขึ้นเพื่อการให้เช่ากำหนดไว้อย่างไร
วิสัชนา การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน เฉพาะที่มีขึ้นเพื่อการให้เช่า กำหนดไว้ดังนี้
1. สำหรับรถยนต์ดังกล่าวที่ได้มาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2532 จนถึงวันที่ 14 ตุลาคม 2553 ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาจากมูลค่าต้นทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท สำหรับมูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือให้หักเป็นรายจ่ายได้ทั้งจำนวนเมื่อขายหรือทำลายรถยนต์ดังกล่าวไปในภายหลัง
2. สำหรับรถยนต์ดังกล่าวที่ได้มาตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2553 เป็นต้นมา ได้มีการแก้ไขพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 โดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 505) พ.ศ. 2553 ยอมให้หักค่าสึกหรอค่าเสื่อมราคาจากมูลค่าต้นทุนทั้งหมด
ปุจฉา มีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับมูลค่าต้นทุนรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ที่ได้มาโดยการเช่าซื้อที่จะนำมาคำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาอย่างไร
วิสัชนา การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของรถยนต์ดังกล่าวที่ได้มาโดยการเช่าซื้อหรือซื้อขายเงินผ่อน ให้ถือมูลค่าต้นทุนของรถยนต์นั้นตามราคาที่พึงต้องชำระทั้งหมดตามสัญญาเช่าซื้อ และให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของรถยนต์ตามมูลค่าต้นทุนดังกล่าว แต่ค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีเมื่อรวมกับค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาที่หักไปในรอบระยะเวลาบัญชีก่อนๆ (ถ้ามี) แล้วจะต้องไม่เกินค่าเช่าซื้อ หรือราคาที่ต้องผ่อนชำระในรอบระยะเวลาบัญชีก่อนๆ จนถึงรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ดังนั้น ในกรณีที่ได้ชำระเงินค่าเช่าซื้อหรือราคาตามสัญญาครบถ้วนแล้ว โดยรถยนต์ดังกล่าวยังคงมีมูลค่าต้นทุนหลังจากหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามวิธีการดังกล่าวข้างต้นเหลืออยู่ก็ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาจากมูลค่าต้นทุนที่เหลืออยู่นั้นได้ต่อไป
ปุจฉา มีหลักเกณฑ์เกี่ยวการตีราคาทรัพย์สินเพิ่มขึ้นตามมาตรา 65 ทวิ (3) แห่งประมวลรัษฎากร ตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2535 อย่างไร
วิสัชนา กรณีตีราคาทรัพย์สินเพิ่มขึ้นตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2535 เป็นต้นไป ไม่ต้องนำราคาที่ตีเพิ่มมารวมคำนวณกำไรสุทธิสำหรับการคำนวณค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราเดิมที่ใช้อยู่ก่อนตีราคาทรัพย์สินเพิ่มขึ้น ดังนั้น กรณีที่ตามมาตรฐานการบัญชีกำหนดให้มีการทบทวนมูลค่าของทรัพย์สินอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง หากกิจการต้องตีราคาทรัพย์สินเพิ่มขึ้น การกระทำดังกล่าวย่อมไม่มีผลต่อการคำนวณค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทางภาษีอากรแต่อย่างใด
อนึ่ง การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินไม่ว่ากรณีใด จะหักจนหมดมูลค่าของต้นทุนของทรัพย์สินนั้นไม่ได้ ซึ่งตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.3/2527 กำหนดให้คงเหลือมูลค่าทรัพย์สินไว้ไม่น้อยกว่า 1 บาท

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ