เปิดแผนฟื้นอิสลามแบงก์ เร่งล้างหนี้เน่า

"ธานินทร์"วาง 5 ภารกิจฟื้นอิสลามแบงก์ เตรียมจับมือธนาคารอิสลามตะวันออกกลางทำเทรดไฟแนนซ์ รับหนี้เน่า 90% มาจากรายใหญ่กว่า 2.2 หมื่นล้าน
ปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย "รอยแผลใหญ่" ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ที่ต้องเร่งรักษาก่อนเนื้อร้ายจะลุกลามถึงขั้นแบงก์ล้ม ถือเป็นภารกิจใหญ่ที่นายธานินทร์ อังสุวรังษี ผู้จัดการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) จะต้องเร่งดำเนินการแก้ปัญหาและสร้างภาพลักษณ์องค์กร
นายธานินทร์ ให้สัมภาษณ์กับ "กรุงเทพธุรกิจ" โดยยอมรับว่าจำนวนเอ็นพีแอลที่มีอยู่กว่า 24,000 ล้านบาทนั้น ปีนี้ตั้งเป้าที่จะเจรจาแก้หนี้ให้ได้ 12,000 ล้านบาท แต่คาดว่าจะมีการเซ็นสัญญาชำระคืนได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่ง หรือประมาณ 6,000 ล้านบาท เนื่องจากแต่ละกรณีค่อนข้างมีความซับซ้อน จึงต้องใช้เวลาเจรจาพอสมควร ประกอบกับบางรายเกิดปัญหามานานแล้ว
โดยภายในปี พ.ศ. 2556 จะพยายามเจรจาและติดตามหนี้ให้ครบทุกราย โดย 90% ของ เอ็นพีแอล หรือคิดเป็นมูลหนี้ 22,000 ล้านบาท มาจากการปล่อยสินเชื่อรายใหญ่ ส่วนรายย่อยอยู่ที่ 2,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาสามารถแก้ปัญหาหนี้ไปได้แล้วประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท
นายธานินทร์ ยอมรับว่าต้นตอเอ็นพีแอลของธนาคารมาจากปัญหาหลักๆ ใน 3 เรื่อง คือ 1.การให้สินเชื่อไม่รอบคอบ 2.การประเมินหลักประกันเกินจริง และ 3.การติดตามดูแลหนี้ที่ไม่มีประสิทธิภาพ หนี้เสียที่เกิดขึ้นเป็นความเสียหาย มาจากการปล่อยสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับโครงการอสังหาริมทรัพย์ ทั้ง บ้าน คอนโดมิเนียม โรงแรม ซึ่งมีอยู่กว่า 60%
"มีคนบอกว่าผมไม่ปล่อยค่างวด จริงๆ แล้วปล่อย แต่ขอดูก่อนว่าที่ให้ไป เอาไปทำหรือยัง ถ่ายรูปเป็นหลักฐานมาให้ดู ส่งคนไปตรวจด้วย บางครั้งเจ้าหน้าที่เราไม่ดู ได้เงินไปตั้ง 4-5 งวดยังไม่ทำเลย แต่ตอนนี้ แทบไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็ไม่เกิน 15 ราย ที่มีปัญหา ที่เหลือกว่าร้อยรายไม่ติดขัดอะไร บริหารจัดการไปได้ ลูกค้าเข้าใจมากขึ้น"นายธานินทร์ กล่าว
รับ 90% หนี้เสียมาจากสินเชื่อรายใหญ่
นายธานินทร์ ย้ำว่า จำนวน 90% ของเอ็นพีแอล ส่วนใหญ่มาจากการปล่อยสินเชื่อให้กับรายใหญ่ ธนาคารจึงจำเป็นต้องลดสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อรายใหญ่ หันมาปล่อยสินเชื่อรายย่อยและเอสเอ็มอีแทน โดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่มลูกค้าชาวมุสลิม ให้เข้าถึงบริการทางการเงินอย่างถูกต้องตามหลักชะรีอะฮ์ตามพันธกิจของธนาคาร โดยปีนี้ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อให้เติบโตเพิ่มขึ้น 5% หรือเพิ่มขึ้น 6,000 ล้านบาท จากเคยตั้งเป้าว่าจะอยู่ในระดับเดิมที่ 120,000 ล้านบาท และต้องควบคุมหนี้เสียที่มาจากการปล่อยสินเชื่อรายใหญ่ไม่ให้เกิน 2% ของสินเชื่อใหม่ ขณะที่รายย่อยต้องไม่เกิน 5% ซึ่งตอนนี้พอร์ตสินเชื่อที่เป็นหนี้เสียอยู่ที่กว่า 20%
"หลักการให้สินเชื่อใหม่จะพิจารณาจากกระแสเงินสดเป็นอันดับหนึ่ง ที่ผ่านมาใช้หลักประกันคุ้มก็ปล่อยได้ นั่นคือโรงรับจำนำ แต่ธนาคารไม่ใช่ ความสามารถในการชำระคืนในแต่ละเดือนต่างหาก ถ้าให้เงินไปแล้วขายได้จ่ายคืน จึงต้องเปลี่ยนทัศนคติฝ่ายสินเชื่อก่อนว่าแคชโฟลว์ต้องเอามาคุยก่อน ถ้าไม่ได้ไม่ต้องมาคุยกัน เรื่องหลักประกันไม่ต้องมาคุยกันเลย"
เน้นปล่อยสินเชื่อโปร่งใส-มีประสิทธิภาพ
นายธานินทร์ ย้ำว่า การบริหารงานของเขาจะต้องมุ่งเน้นแก้หนี้เสียและปรับกระบวนทัพการทำงานของเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะการให้บริการและการปล่อยสินเชื่อที่โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ ส่วนกรณีที่ธปท.เข้าไปตรวจสอบผลดำเนินงานของธนาคารในช่วงปี 2553-2554 พบว่าปัญหาหนี้เสียที่เกิดขึ้นมาจากการปล่อยกู้ไม่ตรงวัตถุประสงค์ และเชื่อมโยงว่ามีผู้บริหารระดับสูงของธนาคารเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริตครั้งนั้นด้วยเรื่องนี้นายธานินทร์ กล่าวว่าส่วนตัวไม่ได้ลงไปดูรายละเอียดเกี่ยวกับผลการสอบสวน แต่อาจจะมีลูกค้าที่เป็นหนี้เสียบางรายปรับสถานะขึ้นเป็นหนี้ชั้นดีแล้วก็ได้
ย้ำหนี้เน่าเก่าเป็นหน้าที่บอร์ดและผู้ถือหุ้น
ขณะเดียวกัน บอร์ดของธนาคาร ก็รายงานไปยังกระทรวงการคลัง ว่า ผลสอบธปท. ในปี พ.ศ. 2553 และ ปี พ.ศ. 2554 ไม่มีอะไรผิดปกติ ส่วนที่เหลือในปี พ.ศ. 2555 บางส่วนยังต้องรอดูอีกครั้งหนึ่ง
"จำนวนลูกหนี้ชำระหมดหรือยังช่วงนั้น ไม่ได้ลงรายละเอียดจริงๆ อาจจะมีบางรายจบไปแล้ว บางรายเป็นหนี้ดีไปแล้ว บางรายยังเป็นหนี้ที่มีอาการ ที่ ธปท. บอกทั้งหมดนี่คือสงสัยว่ามีทุจริต แต่ไม่ได้แปลว่าต้องเป็นหนี้เน่าทั้งหมด ในแง่แบงก์ที่ ธปท.ชี้คือให้ไปดูกระบวนการในการให้ หรือปล่อยสินเชื่อว่าถูกต้อง เหมาะสมหรือไม่ ควรปรับปรุงในอนาคต เป็นบทเรียนว่าถ้าอนาคตจะทำควรจะระมัดระวังเรื่องอะไรบ้าง"เขากล่าวและย้ำว่าภารกิจที่เข้ามา คือ หนี้เน่ามีเท่าไรผมมีหน้าที่แก้ ไม่ต้องถามว่าใครทำอะไรยังไง แก้ให้เรียบร้อย ส่วนหน้าที่สอบของเก่า ผมเรียนรู้ว่าอะไรที่ไม่ดี อย่าไปทำอีก ส่วนหน้าที่สอบเป็นของบอร์ดและกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้น และตัวแทนผู้ถือหุ้น ท่านจะว่าอะไร
วาง5แนวทางฟื้นภาพลักษณ์องค์กร
นายธานินทร์ กล่าวถึงหลักการบริหารงานของธนาคาร จากนี้ไปว่า ได้ปักหมุดไว้ 5 เรื่องสำคัญ คือ 1.การขอเพิ่มทุนจากกระทรวงการคลัง เพื่อฟื้นฟูกิจการจากปัญหาเอ็นพีแอล ซึ่งธนาคารขอเพิ่มทุนเป็นจำนวน 7,000 ล้านบาท โดยงวดแรกในปีงบประมาณ 2556 ซึ่งกระทรวงการคลังอนุมัติและผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว จำนวน 445 ล้านบาท คาดว่าจะได้เบิกจ่ายเงินก้อนแรกได้ภายในเดือนก.ค. นี้ ซึ่งหลังการประชุมผู้ถือหุ้นธนาคารในเดือนนี้ การขอเพิ่มทุนดังกล่าวเพื่อทำให้เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บีไอเอส) เพิ่มจาก 4% เป็น 9% ซึ่งจะสูงกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดไว้ 8.5%
2.การแก้หนี้เสีย ขณะนี้ต้องยอมรับว่าทีมงานมีน้อยมาก จึงบริหารจัดการด้วยการโยกย้ายภายใน ดึงเจ้าหน้าที่จากฝ่ายสินเชื่อรายใหญ่ ประกอบกับได้รับคำแนะนำจากกระทรวงการคลัง รวมถึงผู้มีความรู้ และประสบการณ์ในแวดวงการเงินการธนาคารพอสมควรทำให้ไม่น่ากังวล 3.ปรับปรุงกระบวนการปล่อยสินเชื่อ เพื่อตอบสนองการปล่อยสินเชื่อได้เร็วขึ้น มุ่งเน้นไปที่กลุ่มลูกค้ารายย่อยและชาวมุสลิมเป็นหลัก
4.ปรับกระบวนการภายในการทำงานของธนาคาร โดยเฉพาะการสร้างวัฒนธรรมทางความคิด ปรับทัศนคติในการให้บริการ ขณะนี้ได้มุ่งไปที่ลูกค้ารายย่อย พนักงานให้บริการจึงเป็นสิ่งสำคัญ จึงมีแนวคิดที่จะทำสาขาต้นแบบ ที่เป็นคนมุสลิมทั้งสาขา โดยตั้งเป้าดำเนินการปีนี้ 1-2 แห่ง ซึ่งสาขาต้นแบบพนักงานที่จะมาอยู่ต้องสอบแข่งขันกัน อยากให้เป็นความต้องการของพนักงานจริงๆ ที่จะเข้ามา จะได้รับการฝึกฝนและตั้งเป็นมาตรฐานไว้ ต่อไปในอนาคตอาจมีกฎว่า หากพนักงานจะสามารถเลื่อนไปในตำแหน่งที่สูงขึ้นได้ต้องผ่านการทำงานที่สาขาต้นแบบ หรือสาขาท็อปที่รองรับลูกค้าจำนวนมากๆ คาดไม่เกิน 5 ปี
รื้อโครงสร้างผู้บริหารใช้สัญญาว่าจ้างแทน
นายธานินทร์ กล่าวอีกว่า ได้รับข้อเสนอจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ขอให้ธนาคารเร่งปรับโครงสร้างผู้บริหาร ตั้งแต่ระดับผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ขึ้นไป ให้เป็นแบบสัญญาจ้าง 4 ปี เหมือนระดับผู้จัดการใหญ่ เพื่อรองรับหรือดึงผู้ที่มีความรู้ความสามารถจากภายนอกเข้ามาทำงาน อัตราผลตอบแทนที่ให้จะเพิ่มสูงขึ้นได้ สู้กับราคาตลาดได้ โดยใช้วิธีการประเมินผลงาน หรือ เคพีไอ ก็จะเป็นมาตรฐานเดียวกับระดับผู้จัดการใหญ่ ซึ่งจะดำเนินการเร็วๆ นี้
"ผมมองว่าผู้ที่จะมารับตำแหน่งในระดับผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ต้องเก่งจริง เพราะเป็นผู้ขับเคลื่อน ส่วนตำแหน่งผู้จัดการใครมาเป็นก็ได้ เพราะเป็นแค่คนนำนโยบายไปปฏิบัติ"
5.การเตรียมพร้อมรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งประชากรในภูมิภาคนี้มีรวมกันประมาณ 600 ล้านคน แต่เป็นมุสลิมเกิน 300 ล้านคน ถือเป็นโอกาสเพิ่มรายได้ของธนาคาร เพราะเราถือเป็นหนึ่งเดียวที่ทำธุรกรรมให้แก่ชาวมุสลิมได้ถูกต้องตามหลักศาสนา
เป้าหมายแรกในปีนี้คือการเพิ่มตู้เอทีเอ็มในแหล่งท่องเที่ยว การเพิ่มจุดแลกเปลี่ยนเงิน ห้องทำละหมาดในสนามบินสุวรรณภูมิ รวมทั้งอาจเสนอขอกระทรวงการคลัง โอนย้ายบางสาขาไปอยู่ในจุดที่มีชุมชนมุสลิมหนาแน่นแทน เพื่อให้บริการได้ตรงจุด ตอนนี้ธนาคารมีทั้งหมด 106 สาขาทั่วประเทศ ส่วนโควตาที่กระทรวงการคลังตั้งไว้คือ 130 สาขา อีก 24 สาขา อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ขณะเดียวกันในครึ่งปีหลังนี้จะเปลี่ยนกลับมาใช้ชื่อว่า "ธนาคารอิสลาม" แทนชื่อ "ไอแบงก์" เพื่อปรับภาพลักษณ์องค์กรให้ชัดเจนและแข็งแรง
"จริงๆ แล้ว เราไม่ต้องคิดทำธุรกรรมแข่งกับแบงก์ไหนเลย เพราะว่าของเรามีลูกค้าที่ชัดเจนอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมายังไม่ได้ให้ความสำคัญกับตรงนี้มากนัก ต่อไปผมจะเน้นการให้บริการกับกลุ่มลูกค้าที่เป็นชาวมุสลิมมากขึ้น ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก หากเราสามารถบริหารตรงนี้ได้ เชื่อว่าการเติบโตยังมีอีกมาก"
เล็งจับมือแบงก์อาหรับขยายเทรดไฟแนนซ์
สำหรับแผนธุรกิจใหม่ นายธานินทร์ กล่าวว่า ในปีหน้าธนาคารตั้งเป้าที่จะขยายธุรกิจไปยังกลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ (เทรดไฟแนนซ์) ที่เกี่ยวกับธุรกรรมการเงินระหว่างอาหรับกับประเทศไทย โดยจะมีการเซ็นสัญญาเป็นพันธมิตรคล้ายกับสตาร์อัลไลแอนซ์ (Star Alliance) กับ ธนาคารอิสลามในตะวันออกกลาง และในกลุ่มเออีซี เพื่อเชื่อมเครือข่ายพันธมิตรส่งต่อลูกค้าให้กันและกัน สิ่งสำคัญขณะนี้ ต้องจัดการเรื่องต้นทุน หรือการเพิ่มทุนให้เสร็จก่อน พร้อมกับการแก้ปัญหาหนี้เสียอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการปรับกระบวนการภายใน สร้างวัฒนธรรมและทัศนคติของพนักงาน เพื่อให้เข้าใจทิศทางการบริหารงาน และพันธกิจองค์กร