โค้กเปิดฉากการผลิตจำหน่ายในพม่า

โค้กเปิดฉากการผลิตจำหน่ายในพม่า

"โค้ก"หนึ่งในผู้ผลิตน้ำอัดลมรายใหญ่สุดของโลก จากสหรัฐ เปิดฉากการผลิตจำหน่ายสินค้าในตลาดพม่า

จากนี้ไป พม่าไม่จำเป็นต้องนำเข้าเครื่องดื่มที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุดในโลกอีกต่อไปแล้ว เพราะหลังห่างหายจากตลาดไปนานมากกว่า 60 ปี ในที่สุด โคคา โคล่า โค หนึ่งในผู้ผลิตน้ำอัดลมรายใหญ่สุดของโลก จากสหรัฐ เจ้าของแบรนด์ดังอย่างโค้ก และสไปรท์ ก็ได้เวลาที่จะหวนกลับเข้าไปผลิต และจำหน่ายสินค้าในตลาดพม่าอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อวานนี้นายมูห์ตาร์ เคนท์ ประธานกรรมการบริหาร และหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ได้ทำพิธีเปิดโรงงานบรรจุขวดของโคคา โคลา ในพม่า อย่างเป็นทางการ โดยโรงงานแห่งใหม่ตั้งอยู่ในย่านคริสตัล วิลล์ ภายในเขตอุตสาหกรรมมอบี

โคคา โคลา จะใช้โรงงานแห่งนี้ใช้เป็นสถานที่ผลิต และบรรจุขวดเครื่องดื่มโคคา-โคลา การเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้่น หลังจากบริษัทประกาศการหวนคืนสู่ตลาดพม่าตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว

การเปิดโรงงานครั้งนี้ ยังเป็นส่วนหนึ่งของแผนการลงทุน 200 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 6,000 ล้านบาท ที่โคคา โคลาจะลงทุนในพม่าตลอดช่วง 5 ปีข้างหน้า ซึ่งการลงทุนนี้จะช่วยเพิ่มความสามารถในการผลิต การลำเลียงสินค้า ซึ่งรวมถึงการขายและการกระจายสินค้า การปรับปรุงตลาดและความสามารถของแรงงานให้ดียิ่งขึ้น

เบื้องต้น โคคา โคลา วางแผนที่จะผลิตเครื่องดื่มโคคา-โคลา และสไปรท์ แบบขวดพลาสติกขนาด 425 มิลลิลิตร ติดฉลากเครื่องหมายการค้าเป็นภาษาพม่า จากนั้น อาจจะเริ่มการผลิตแบบขวดแก้วขนาด 300 มิลลิลิตร และแบบกระป๋อง อลูมิเนียมได้ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

ภายใต้แผนการที่วางไว้นั้น บริษัทตั้งเป้าเข้าถึงร้านค้ากว่า 100,000 แห่งทั่วประเทศให้ได้ ภายในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ผ่านทางการเพิ่มความสามารถในการผลิต และการกระจายสินค้า ซึ่งรวมถึงการตั้งโรงงานผลิตแห่งที่สองในเขตอุตสาหกรรมหล่าย ทาร์ยา

"การที่เราจะเติบโตขึ้นในฐานะธุรกิจท้องถิ่นของพม่านั้น เรามีพันธะที่จะต้องสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และสร้างชุมชนที่ยั่งยืน สำหรับชาวพม่าแล้ว โคคา โคลา มองเห็นถึงอนาคตที่สดใส พร้อมให้คำมั่นถึงอนาคตที่ดีขึ้นของผู้คนในประเทศ" นายเคนท์ ระบุ

การเคลื่อนไหวข้างต้น ยังเกิดขึ้นหลังเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว โคคา โคลา ได้ออกมาประกาศว่า บริษัทจะกลับเข้าไปลงทุนในพม่าอีกครั้ง โดยได้แรงหนุนมาจากการที่รัฐบาลสหรัฐ ประกาศผ่อนปรนความเข้มงวดการลงทุนในพม่า เพราะพม่ามีความคืบหน้าต่อเนื่องในการปฏิรูปการปกครอง

ก่อนหน้าที่จะมีการเปิดโรงงานผลิตอย่างเป็นทางการในครั้งนี้ บริษัทได้นำเครื่องดื่ม โค้ก จากประเทศเพื่อนบ้านเข้าไปจำหน่ายในพม่า ตามด้วยการหาหุ้นส่วนท้องถิ่นมาร่วมธุรกิจ

ในครั้งนั้น โคคา โคลา ยืนยันด้วยว่า บริษัทจะปฏิบัติตามหลักจริยธรรม รวมถึงเคารพสิทธิมนุษยชน และไม่จ่ายสินบน ในการเข้าไปดำเนินธุรกิจในพม่า ขณะที่ มูลนิธิ โคคา โคลา เผยว่าจะบริจาคเงิน 3 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 93 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมโครงการทางเศรษฐกิจในหมู่สตรีชาวพม่า

การกลับมาของโคคา โคลา ยังสะท้อนให้เห็นถึงเค้าลางการแข่งขันอย่างดุเดือดในตลาดพม่า เพราะหลังการเคลื่อนไหวของโค้กเพียงไม่กี่เดือน คู่แข่งสำคัญของบริษัทอย่างเป๊ปซี่โค ผู้ผลิตเครื่องดื่มน้ำอัดลมรายใหญ่สัญชาติเเดียวกัน ก็ออกประกาศตามมาติดๆ ถึงการทำข้อตกลงกับ ไดมอนด์ สตาร์ โค หนึ่งในตัวแทนจำหน่ายสินค้าบรรจุหีบห่อรายใหญ่สุดของพม่า เพื่อจัดจำหน่ายเครื่องดื่มของเป็ปซี่ ทั้งบริษัทยังเผยว่า มีแผนที่จะประเมินโอกาสอื่นๆ ในพม่า รวมถึงศักยภาพของผู้ผลิตท้องถิ่น และการลงทุนในการพัฒนาการเกษตร เพื่อเข้าลงทุนเพิ่มเติมด้วย

ทั้งนี้ พม่าเริ่มหลุดพ้นจากความโดดเดี่ยวเมื่อกว่า 2 ปีที่ผ่านมา เมื่อรัฐบาลทหารสละอำนาจให้รัฐบาลพลเรือนปกครองประเทศ และรัฐบาลชุดใหม่เริ่มยกเครื่องเศรษฐกิจ ผ่อนคลายการควบคุมสื่อ ทำให้สหภาพแรงงานและการประท้วงเป็นเรื่องถูกกฎหมาย และปล่อยนักโทษการเมือง