'เซนเทนเนียล'เซ็นขายถ่านหิน24ล้านตัน

'เซนเทนเนียล'เซ็นขายถ่านหิน24ล้านตัน

บริษัทลูกบ้านปู "เซนเทนเนียล" เซ็นสัญญาขายถ่านหินในออสเตรเลีย 24.5 ล้านตัน เข้าแผนลดการส่งออกเพื่อปรับสมดุลตลาดถ่านหินในออสเตรเลีย

นางสมฤดี ชัยมงคล ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท บ้านปู หรือ BANPU เปิดเผยว่า บริษัท เซนเทนเนียล โคล คัมพานี (CENTENNIAL) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในประเทศออสเตรเลีย แจ้งว่า ได้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายถ่านหินกับบริษัท Origin Energy จำนวนสูงสุดไม่เกิน 24.5 ล้านตัน โดยสัญญาดังกล่าวมีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 8 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2557 เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า ในโรงไฟฟ้าปากเหมืองเอียริ่ง เพาเวอร์ (Eraring Power) ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับเหมืองถ่านหินของ CENTENNIAL ในรัฐนิวเซาท์เวลส์

"การลงนามในสัญญาซื้อขายถ่านหินฉบับนี้ เป็นหนึ่งในแผนกลยุทธ์ของบริษัทในการสร้างความสมดุลของการจำหน่ายถ่านหินในตลาดภายในประเทศออสเตรเลียที่รัฐนิวเซาท์เวลส์ และตลาดการส่งออกของเซนเทนเนียล โดยบริษัทจะคงพัฒนาความสัมพันธ์และเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาความมั่นคงด้านพลังงานของรัฐนิวเซาท์เวลส์ต่อไป"นางสมฤดี กล่าว

ด้าน บล.เอเซียพลัส วิเคราะห์ว่า การลงนามซื้อขายถ่านหินดังกล่าว ถือเป็นประเด็นบวกต่อการสร้างความมั่นคง สำหรับการทำสัญญาขายถ่านหินในระยะ 8 ปีข้างหน้า เป็นจำนวนที่แน่นอน ปริมาณขายถ่านหินที่ 24.5 ล้านตัน ภายในระยะเวลา 8 ปี จะเฉลี่ยอยู่ราวปีละ 3 ล้านตัน ซึ่งจากการสอบถามผู้บริหารปริมาณขายถ่านหินที่จะนำมาขายให้กับบริษัท Origin Energy จะมาจากปริมาณการผลิตเดิมที่ผลิตอยู่แล้ว แต่อาจจะปรับเปลี่ยนจากการส่งออกมาขายในประเทศในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นและมาจากแหล่งอื่นๆ ที่จะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้

ส่วนภาพรวมยังคงสอดคล้องกับแผนกำลังการผลิตถ่านหินจากแหล่งเซนเทนเนียล ที่ทางบ้านปู ได้เคยเปิดเผยไว้ว่า มีแผนจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 1 ล้านตัน ในปี 2557-2558 จากปีนี้ที่คาดการณ์จะอยู่ประมาณ 15 ล้านตันต่อปี และจะเพิ่มอย่างมีนัยประมาณ 2-4 ล้านตันต่อปี ในปี 2559 หลังจากแหล่ง NEWSTAN เริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ กำลังการผลิต 4 ล้านตันต่อปี

การลงนามในสัญญาซื้อขายถ่านหินในครั้งนี้ถือเป็นไปตามแผนกลยุทธ์ของบริษัทบ้านปู ในการสร้างความสมดุลของการจำหน่ายถ่านหินในตลาดภายในประเทศออสเตรเลียและตลาดส่งออก ซึ่งในปัจจุบันเซนเทนเนียล ขายในประเทศประมาณ 55-60% ของกำลังการผลิตทั้งหมด ส่วนที่เหลืออีกราว 40-45% เป็นการส่งออก สำหรับในส่วนของราคาขายถ่านหินนั้นก็จะมีการเปลี่ยนแปลงอ้างอิงตามราคาตลาดที่เกิดขึ้นในแต่ละปี

ทั้งนี้ฝ่ายวิจัยประเมินมูลค่าพื้นฐาน ณ สิ้นปี 2556 (DCF) เท่ากับ 420.86 บาทต่อหุ้น ยังคงคำแนะนำเพียงถือเนื่องจากคาดในระยะ 1-3 เดือนข้างหน้าจะยังไม่มีประเด็นบวกใหม่เข้ามาหนุน อย่างไรก็ตามแม้ฝ่ายวิจัยเชื่อว่า ราคาหุ้นได้ผ่านการปรับฐานสะท้อนปัจจัยลบของภาพรวมอุตสาหกรรมไปมากแล้ว แต่ตราบที่ราคาถ่านหินยังไม่เห็นการฟื้นตัวเช่นในปัจจุบัน คาดจะยังคงเป็นปัจจัยลบกดดันราคาหุ้นในช่วงสั้น

สำหรับการเคลื่อนราคาหุ้นบ้านปูวานนี้ (2 มิ.ย.) ปิดตลาดที่ระดับ 241 บาท ไม่เปลี่ยนแปลง มีมูลค่าการซื้อขาย 235.9 ล้านบาท