พาณิชย์เล็งหั่นเป้าส่งออก รุกกลุ่มBRIC

พาณิชย์เล็งหั่นเป้าส่งออก รุกกลุ่มBRIC

พาณิชย์เล็งหั่นเป้า หลังส่งออกหดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน สินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตร ร่วงหนัก "วัชรี" ประเมินสถานการณ์เลวร้ายที่สุดขยายตัว 3%

กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการส่งออกของไทย พบว่าเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา มีมูลค่ารวม 19,098 ล้านดอลลาร์ ลดลง 3.38% จากเดือนเดียวกันกับปีที่แล้ว ซึ่งหดตัวเป็นเดือนที่สองติดต่อกัน ส่งผลให้การส่งออกรวมช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.) เติบโตในอัตราที่ต่ำ คือ 0.95%

นางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การส่งออกที่ลดลงใน 2 เดือนที่ผ่านมา และการที่ช่วงครึ่งปีหลังก็มีแนวโน้มที่ไม่ดีนัก อีกทั้งยังไม่เห็นปัจจัยสนับสนุน ทำให้กระทรวงมีแนวคิดปรับลดเป้าหมายการส่งออกในปีนี้ลง จากเดิมที่คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ 7-7.5% คิดเป็นมูลค่า 2.5-2.46 แสนล้านดอลลาร์ โดยจะมีการประเมินสถานการณ์อีกครั้งว่าควรจะอยู่ในระดับเท่าใด อย่างไรก็ตาม หากมองสถานการณ์เลวร้ายที่สุด การส่งออกปีนี้ก็น่าจะขยายตัวใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา คือ 3%

นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า จากการสอบถามผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศทั่วโลกช่วงเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา พบว่ามีการประเมินการส่งออกปีนี้ว่าจะสามารถขยายตัวได้ 6-6.5% ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายเดิม ทั้งนี้การประเมินของกรมฯ จะดำเนินการปีละ 2 ครั้ง โดยครั้งต่อไปคาดว่าจะมีขึ้นในอีก 2 เดือนข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม กรมฯ มีแผนผลักดันการส่งออกช่วงครึ่งปีหลัง โดยจะเน้นการเพิ่มศักยภาพการจัดกิจกรรมต่างๆ ให้มากขึ้น และการเข้าไปยังตลาดใหม่ๆ มากขึ้น รวมไปถึงการปรับรูปแบบการส่งออกที่จะไม่เน้นสินค้าใดสินค้าหนึ่งกับตลาดใดตลาดหนึ่งมากเกินไป เช่น ยางพารา จะไม่ให้พึ่งพาตลาดจีนเท่านั้น เพราะที่ผ่านมาการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การส่งออกเดือนมิ.ย. ลดลง

ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า เป้าหมายการทำตลาดครึ่งปีหลัง จะเน้นกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่ ได้แก่ กลุ่ม BRIC (บราซิล รัสเซีย อินเดีย และ จีน) เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้น และแนวโน้มเศรษฐกิจดี ส่วนรูปแบบกิจกรรมจะยังเป็นรูปแบบเดิมแต่เพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น

"สำหรับการที่ตลาดหลักเดือนมิ.ย. หดตัวแรง โดยเฉพาะญี่ปุ่นนั้น สาเหตุสำคัญมาจากเงินเยนที่อ่อนค่าลงทำให้สินค้าที่ส่งเข้าไปแพงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า นอกจากนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐบาลในปัจจุบันยังไม่ส่งผลเท่าที่ควร ส่วนตลาดยุโรป ก็ยังน่าเป็นห่วงเพราะยังไม่มีทิศทางว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว ขณะที่สหรัฐมีแนวโน้มดีขึ้นและกำลังกำหนดกิจกรรมเพื่อเข้าไปทำตลาดอีกครั้ง"

เอกชนเชื่อขยายตัวไม่เกิน 4%

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า การส่งออกปี 2556 เชื่อว่าจะขยายตัวไม่เกิน 4% เนื่องจากยังไม่เห็นปัจจัยสนับสนุนในช่วงครึ่งปีหลัง และแม้ว่าสถานการณ์เงินบาทในขณะนี้จะอ่อนค่าลงแล้ว แต่การที่เงินแข็งค่าช่วงต้นปียังคงส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อการทำธุรกิจในขณะนี้

ขณะที่ตลาดเป้าหมาย พบว่าตลาดสหรัฐยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนพอที่จะเป็นความหวังต่อการส่งออกได้ เช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่ยังต้องใช้เวลาในการปรับตัวทางเศรษฐกิจ อีกทั้งการปรับตัวของญี่ปุ่น ก็จะเน้นการส่งออก และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นหลัก จึงไม่ใช่ตลาดแห่งความหวังเช่นกัน ส่วนจีนยังคงควบคุมเศรษฐกิจไม่ให้ขยายตัวมากเกินไป จนทำให้การนำเข้าสินค้าสำคัญๆ ได้แก่ ยานยนต์และอุปกรณ์และ ยางพารา มีแนวโน้มลดลง

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การส่งออกทั้งปีนี้น่าจะขยายตัวได้ 3% เพราะหากต้องการให้ขยายตัวได้ตามคาดการณ์ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศที่ 6-6.5% ช่วงเวลาที่เหลือจะต้องมีการมีการส่งออกมากกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก

อย่างไรก็ตาม เห็นว่ากระทรวงพาณิชย์สามารถผลักดันการส่งออก ด้วยการต่อยอดการค้าชายแดน ซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 9 แสนล้านบาทได้ ผ่านการผลักดันสินค้าไทยเข้าสู่เมืองหลวงของประเทศต่างๆ ในอาเซียน เพื่อให้สินค้าไทยมีมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นจากเดิมซึ่งเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมอยู่ก่อนแล้ว

นักวิเคราะห์หวั่นฉุดเศรษฐกิจ

นักวิเคราะห์ผิดหวังตัวเลขส่งออกเดือนมิ.ย. จ่อหั่นประมาณการใหม่ พร้อมระบุเป้าเติบโตที่ 6-6.5% เป็นไปได้น้อยมาก การทำให้ถึงเป้า ต้องดันส่งออกครึ่งปีหลังโตไม่น้อยกว่า 10-12% โดยทุบสถิติมูลค่าส่งออกใหม่กันรายเดือน

ด้าน นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตัวเลขส่งออกเดือนมิ.ย. น่าผิดหวัง เพราะแม้ว่าจะคาดการณ์ไว้แล้วว่าจะติดลบ แต่ก็ไม่คิดว่าจะมากขนาดนี้ และส่งผลให้มุมมองต่อการส่งออกช่วงที่เหลือเปลี่ยนไปด้วย จากที่เคยประเมินว่าทั้งปีจะเติบโต 3.5% อาจต้องปรับลดลงมา

"เดิมเราก็มองว่าอาจต้องปรับลดคาดการณ์ แต่ที่ยังไม่ปรับเพราะรอดูตัวเลขเดือนมิ.ย. และค่าเฉลี่ยครึ่งปีแรกก่อน ซึ่งตัวเลขที่ออกมาเท่าที่เราไปดูไส้ในก็เห็นว่า ตลาดหลัก ทั้ง สหรัฐ ญี่ปุ่น และ จีน ยังไม่ฟื้นขึ้นเลย"

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการส่งออกยังมีโอกาสเติบโต 3-3.5% ถ้ากระทรวงพาณิชย์เร่งส่งเสริมสินค้าส่งออกที่เป็นสินค้าหลัก รวมทั้งหาหรือกระจายตลาดส่งออกใหม่เพิ่มเติม เพื่อให้ช่วง 6 เดือนหลังมีอัตราการเติบโตไม่น้อยกว่า 4-5% ทุกเดือน

นายเบญจรงค์ กล่าวว่า การส่งออกที่ต่ำกว่าเป้าหมายมาก ทำให้กังวลว่าจะกระทบต่อประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยปัจจุบันศูนย์วิเคราะห์ฯ ประเมินไว้ที่ 4.2% แต่ก็มีแนวโน้มว่าจะปรับลดลงมา หากตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2 ออกมาต่ำกว่าที่คาดการณ์เอาไว้

สินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรหดตัวแรง

ท่าทีการปรับลดเป้าหมาย เกิดขึ้นหลังจากกระทรวงพาณิชย์แถลงตัวเลขส่งออกเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมาซึ่งหดตัวเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน มีมูลค่า 19,098 ล้านดอลลาร์ ลดลง 3.38% จากเดือนเดียวกันปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ขณะที่การนำเข้ามูลค่า 21,013 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 3.01% ทำให้เดือนมิ.ย. ไทยขาดดุลการค้า 1,915 ล้านดอลลาร์

หมวดสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตร มีการส่งออกลดลง 7.1% โดยข้าวลดลง 0.5% ยางพารา 20.5% กุ้งแช่แข็งและแปรรูป 45.6% ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป 13% น้ำตาล 9.2% หมวดสินค้าอุตสาหกรรมลดลง 3.8% โดยเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ลดลง 11.6% เครื่องใช้ไฟฟ้า 6.1% ส่วนหมวดสินค้าอื่นๆ เพิ่มขึ้น 1.5%

เมื่อแบ่งเป็นรายตลาด พบว่า กลุ่มตลาดหลัก ลดลง 8.4% โดยญี่ปุ่นหดตัว 11.9% สหรัฐ 9.4% สหภาพยุโรปสมาชิกเดิม 15 ประเทศ 2.4% กลุ่มตลาดศักยภาพสูงลดลง 0.1% โดยจีนลดลง 16.7% ขณะที่ตลาดศักยภาพระดับรองเพิ่มขึ้น 3.9% ส่วนตลาดอื่นๆ ลดลง 56.3%

ส่วนการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น เป็นการเพิ่มขึ้นของหมวดเชื้อเพลิง 12.2% หมวดวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูป 3.4% หมวดอุปโภคบริโภค 5.9% แต่หมวดสินค้าทุน ลดลง 4.9% หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่ง ลดลง 1.1% และหมวดอาวุธ ยุทธปัจจัย และสินค้าอื่นๆ ลดลง 5.6%

6 เดือนขาดดุล 1.5 หมื่นล้านดอลล์

เมื่อรวม 6 เดือน (ม.ค.-มิ.ย.) การส่งออกมีมูลค่าทั้งสิ้น 113,304 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 0.95% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 129,075 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 4.32% ทำให้ครึ่งปีแรกขาดดุลการค้า 15,771.5 ล้านดอลลาร์

ช่วง 6 เดือนแรก หมวดสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตร ลดลง 6.2% ซึ่งสินค้าที่ลดลงคือ ข้าว 3.4% ยางพารา 12.3% กุ้งแช่แข็งและแปรรูป 28.4% ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป 2% น้ำตาล 29.5% ส่วนสินค้าส่งออกที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง 12.2% อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป (ไม่รวมกุ้ง) 1% ผักและผลไม้ 5.1%

สินค้าหมวดอุตสาหกรรมสำคัญ เพิ่มขึ้น 3.2% โดยกลุ่มสินค้าที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า 2.8% ยานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 14.7% เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก 7.9% สิ่งทอ 4% วัสดุก่อสร้าง 32.5% อัญมณี (ไม่รวมทองคำ) 3.7% ผลิตภัณฑ์ยาง 2.3% ส่วนสินค้าที่ส่งออกลดลงได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ 4.7% ทองคำยังไม่ขึ้นรูป 65.4%

เมื่อแบ่งเป็นกลุ่มตลาด พบว่าการส่งออกไปตลาดหลักลดลง 0.6% โดยญี่ปุ่น 2.5% สหรัฐ 0.5% สหภาพยุโรป 15 ประเทศ เพิ่มขึ้น 1.4% ขณะที่ตลาดศักยภาพสูง เพิ่มขึ้น 2.3% โดยอาเซียน เพิ่มขึ้น 4.1% แบ่งเป็นอาเซียนเดิมเพิ่มขึ้น 2.2% อินโดจีนและพม่า เพิ่มขึ้น 8.5% เอเชียใต้ เพิ่มขึ้น 1.1% ฮ่องกง เพิ่มขึ้น 9.6% เกาหลีใต้ เพิ่มขึ้น 3.7% ส่วนตลาดที่ลดลง ได้แก่ จีน 3.6% ไต้หวัน 5.5%

ตลาดศักยภาพระดับรอง เพิ่มขึ้น 6.6% ตลาดที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ออสเตรเลีย 21.9% แอฟริกา 4.3% ละตินอเมริกา 5% รัสเซียและกลุ่มอดีตสหภาพโซเวียต (CIS) เพิ่มขึ้น 8.8% ตลาดที่ลดลง ได้แก่ ตะวันออกกลาง 0.6% สหภาพยุโรปกลุ่มสมาชิกใหม่ 12 ประเทศ ลดลง 3.5% แคนาดา ลดลง 4.5% ส่วนตลาดอื่นๆ ภาพรวมลดลง 54.4%