“อิมเมจิน ฮับ” จับงานศิลป์มาแจ้งเกิด

“อิมเมจิน ฮับ” จับงานศิลป์มาแจ้งเกิด

ถ้าไม่มีเวทีให้ ดีไซนเนอร์ดีๆที่ไหนจะได้ “แจ้งเกิด”ในช็อปเล็กๆ ที่ชื่อ“อิมเมจิน ฮับ”มีพื้นที่ให้กับเด็กศิลป์ได้ต่อยอดผลงานสู่ผลิตภัณฑ์สุดคูล

ใครจะคิดว่าผลงานหวานๆ น่ารักน่าชัง ไล่ไปจนจี๊ดโดนใจขาช้อป ภายใต้แบรนด์ “Imagine” จะเป็นอดีต “เศษงาน” ของศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

ที่ต้องเรียกว่า “เศษงาน” เพราะชิ้นงานเหล่านี้ คืออดีต ผลงานในเศษกระดาษ ภาพสเก็ตที่เกิดจากการขีดๆ เขียนๆ ในห้องเรียน หรือแม้แต่งานที่ส่งอาจารย์ไปแล้ว และทุกคนก็พร้อมจะหลงลืมทันทีเมื่อเรียนจบ โดยไม่คิดว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มอะไรได้

“นี่เป็นเศษงานของพวกเขา และเขาเองก็ไม่รู้หรอกว่าจะสร้างมูลค่าอะไรได้ ขณะที่บางคนก็หลงลืมและทิ้งไปแล้ว เขาอาจมองเป็นแค่เศษงาน แต่เรามองเป็นอะไรที่ต่อยอดได้ เพราะสิ่งที่เขาทำมา สะท้อนความเป็นตัวตนของเขา”

“พิมพ์จิต ตปนียะ” รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ผู้ดูแลโครงการสนับสนุนการออกแบบของนักศึกษาสู่เชิงพาณิชย์ บอกเล่าเรื่องราวดีๆ ที่เกิดขึ้นในร้าน “อิมเมจิน ฮับ” ภายใน “อิมเมจิน วิลเลจ” ศูนย์การค้าในมหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขต รังสิต ซึ่งเปิดดำเนินการมาแล้วกว่า 2 เดือน

ช็อปเล็กๆ แห่งนี้ ถือกำเนิดขึ้น ด้วยมีเป้าหมายที่อยากจะให้เป็น ศูนย์รวมผลงานของนักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ หลังจากอาจารย์ผู้สอนยอมรับว่า เห็นผลงานของเด็กๆ แล้วเกิดอาการ “เสียดายของ” ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยเลยพยายามหาช่องทางให้นิสิตได้นำผลงานมาวางจำหน่าย อย่างโครงการ Creative Society ที่ให้ส่งผลงานไปฝากขายในร้าน BU Café ของมหาวิทยาลัย การจัดเทศกาลโชว์ของ หรือแม้แต่หาพื้นที่นอกมหาวิทยาลัยให้นิสิตได้ไปแสดงผลงาน

ทว่าในครั้งนี้เด็กศิลป์จะได้เรียนรู้ธุรกิจชัดเจนที่สุด เพราะไม่ใช่แค่มีอะไรก็เอามาขาย แต่ผลงานของพวกเขาจะต้องผ่านการคัดเลือกจากผู้บริหารโครงการ มีการพูดคุย ประชุมงาน เซ็นสัญญา เจรจาต่อรอง ไม่ต่างจากการรับโจทย์ในโลกธุรกิจ

และเมื่อคาแรคเตอร์หรืองานชิ้นไหนได้รับคัดเลือก ก็จะต้องไปออกแบบต่อเป็นผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายในร้าน อย่าง กระเป๋า เสื้อ ผ้าพันคอ ปกสมุด ฯลฯ ในขนาดที่กำหนดไว้ และต้องสอดรับกับกระแสสังคม ความนิยม และพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมาย ที่เป็นนักศึกษา ผู้ปกครองและประชาชนทั่วไป ผู้มีกำลังซื้อระดับ B-B+ มีไลฟ์สไตล์เป็นของตัวเอง และมีรสนิยม

นี่คือการเรียนรู้จากการลงมือทำ ที่แม้แต่ตำราเรียนก็สอนพวกเขาได้ไม่หมด

“ระหว่างเรียน เราก็พยายามใส่ความเข้าใจในธุรกิจให้กับเด็กๆ บอกเขาว่าในการทำงานจริงจะเป็นอย่างไร ให้เขาเข้าใจความสำคัญของลิขสิทธิ์ การคิดราคาที่สมเหตุสมผล ไม่ใช่ตัดราคาจนทำลายวิชาชีพของตัวเอง เขาต้องมีอะไรที่เป็นมาตรฐาน ซึ่งมาตรฐานนี้ ไม่ใช่ลดลงแต่ต้องเพิ่มขึ้น เขาต้องอยู่ได้ด้วยการประกอบอาชีพในอนาคต ฉะนั้นต้องไม่ทำร้ายกัน ไม่คิดทำลายกัน แต่คุณต้องอยู่ได้ รุ่นพี่รุ่นน้องคุณก็ต้องอยู่ได้ นี่คือสิ่งที่เราสอน”

มุมคิดแบบธุรกิจ ที่ อาจารย์พิมพ์จิต บอกเราว่าต้องใส่เติมให้กับนักเรียนศิลปะ เพื่อให้รู้เท่าทันโลกธุรกิจ และยืนหยัดได้เมื่อเข้าสู่การทำงานในอนาคต และที่อิมเมจิน ฮับ ก็เป็นเหมือนห้องเรียนธุรกิจที่สำคัญของพวกเขา

ที่ร้านแห่งงานศิลป์ ไม่ได้มีแค่ผลงานของนักศึกษา ที่จำหน่ายภายใต้แบรนด์ “Imagine” เท่านั้น ทว่าส่วนหนึ่งยังเป็นสินค้าฝากขายของกลุ่มศิษย์เก่าที่มีธุรกิจและแบรนด์ของตัวเองอยู่แล้ว

“เด็กคนหนึ่งยังเรียนอยู่ แต่ไม่มีเงินเรียน และยังต้องช่วยทางบ้านด้วย เลยไปวาดรูปและพิมพ์เป็นผ้าพันคอ แล้วขายในเว็บไซต์ ปรากฎประสบความสำเร็จมาก ขายไม่ทันเลย เราก็ติดต่อมาวางที่ร้าน เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับน้องๆ
การมีพื้นที่ตรงนี้ ก็เพื่อให้ทุกคนได้รู้คุณค่าของงานตัวเอง รู้ว่ามูลค่าของมันไม่เหมือนกับงานอุตสาหกรรม แต่เป็นงานที่มีคุณค่าด้วยตัวเองจริงๆ” และนั่นก็คือความคาดหวังของคนทำงานเบื้องหลังอย่างพวกเขา

มุมหนึ่งของร้าน อิมเมจิน ฮับ ยังมีกระเป๋าลวดลายแสบๆ สไตล์ Tattoo อารมณ์เหมือนมีลายสักอยู่บนผืนผ้า ขัดกับเจ้าของผลงานที่เป็นสาวน้อยหน้าหวาน วัย 25 ปี “จิ๊ก” ประภาสิริ คร้ามสมอ อดีตนิสิตสาขาออกแบบนิเทศศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ เธอเรียนจบมาแล้วสองปี และผลงานจากการเรียนอย่างตั้งใจ ก็กลับมาปลุกความฝันให้เธอได้อีกครั้ง

“ตอนที่เรียนอาจารย์ให้หัวข้อว่า เราชอบอะไร ก็พบว่าชอบสัตว์ทะเล และสัตว์ประหลาด เลยเอามาบวกกันตามจินตนาการ จนวาดออกมาเป็นคาแรคเตอร์แบบนี้ เป็นผลงานที่ทำตอนเรียน”

เธอยอมรับว่า ตอนเรียนไม่คิดว่าผลงานจะต่อยอดเป็นสินค้าอะไรได้ แต่เมื่อได้รับโอกาส ภาพวาดกราฟฟิกที่เคยสะสมไว้ รวมทั้งผลงานระหว่างเรียน ก็ถูกนำมาใช้กับงานในวันนี้ ผสมผสานจนเป็นสไตล์ของตัวเองอย่างเด่นชัด ปรากฏเป็นผลิตภัณฑ์เก๋ๆ ทั้ง กระเป๋า ปกสมุด ผ้าพันคอ แม้แต่กระเป๋าใส่แทบเล็ต ก็แสบสันได้ด้วยลวดลายแบบ “จิ๊ก”

การไม่ได้ทำงานคนเดียว แต่มีการประชุมกับทีมงานหลายๆ ส่วน ช่วยขยับไอเดียของมือใหม่ ให้น่าสนใจมากขึ้น อย่างการเพิ่มฟังก์ชันการใช้งาน ใส่ความสนุกให้กับชิ้นงาน เช่น กระเป๋าใบใหญ่ ที่มีกระเป๋าลูกเล็กๆ ห้อยอยู่ข้างๆ ช่วยสลัดความน่าเบื่อ ซึ่งดูจะเรียกความสนใจจากนักช้อปสาวๆ ได้ไม่น้อย

“เป็นศิลปินจะมาทำธุรกิจ ก็ต้องวางแผนอะไรเยอะมาก ต้องศึกษาเพิ่มเติม ไม่ใช่รู้แค่ว่าจะออกแบบคาแรคเตอร์ ตัวนี้ซึ่งเราชอบ แต่ไม่มีเหตุผล ไม่มีที่มาที่ไป และไม่รู้จะเอาไปขายใคร ก็คงเป็นไปไม่ได้ เราต้องมองเป็นเรื่องของธุรกิจมากขึ้น”

ดีไซเนอร์หน้าใหม่บอกกับเรา ถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้หลังเข้าสู่โลกการค้า ซึ่ง อิมเมจิน ฮับ ไม่เพียงเปิดพื้นที่ ให้ผลงานของเธอได้ปรากฏโฉมเท่านั้น ทว่ายังจุดแรงบันดาลใจให้ความฝันที่อยากเป็นผู้ประกอบการของเธอ โชติช่วงขึ้นอีกครั้ง

“เป็นคนที่เวลาถูกใครมาตีกรอบ จะทำงานไม่ค่อยได้ ก็เลยคิดว่า อยากมีแบรนด์เป็นของตัวเอง เพราะเราจะมีโอกาสผลิตผลงานตามใจได้มากกว่า” เธอให้เหตุผล ที่คงโดนใจเด็กศิลป์หลายคน แต่เหตุผลที่ดูน่าสนใจและเท่ห์ไปกว่านั้น คือ คำตอบที่ว่า..

“การทำงานให้กับคนอื่น เราก็จะได้แต่แบบเดิมๆ ตามที่เขาต้องการ ที่ตลาดต้องการ แต่จะไม่มีสิ่งแปลกใหม่ออกมาเลย ซึ่งศิลปินควรมีหน้าที่สร้างสิ่งใหม่ๆ ให้กับตลาดด้วย ไม่อยากให้เป็นแค่ผลงานที่ทำออกไป พอจบแล้วก็กลายเป็นแค่ขยะชิ้นหนึ่ง แต่อยากให้เกิดประโยชน์ เกิดแรงบันดาลใจ ให้กับผู้อื่น ซึ่งแม้เป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ แต่ก็ยังดีที่ได้ทำ”
เธอสะท้อนมุมคิด ในฐานะคนทำงานศิลปะคนหนึ่ง ที่อยากสร้างคุณค่าให้โลกใบนี้บ้าง

ดีไซเนอร์สาว ยังแย้มความฝันกับเราว่าผลิตภัณฑ์ในแบรนด์ของตัวเอง ที่เธอจะทำออกมาเร็วๆ นี้ คือ ผันพันคอ ผ้าคลุมไหล่ เพราะมองว่าสามารถขายให้กับกลุ่มผู้หญิงได้ง่าย เธอบอกว่า การทำงานอะไรออกมา คงไม่ได้ดูแค่ว่างานของเราจะเป็นอะไรได้บ้าง แต่ต้องดูด้วยว่ากลุ่มเป้าหมายเป็นใคร และนั่นคือสิ่งที่เธอได้เรียนรู้ จากเวทีธุรกิจเล็กๆ แห่งนี้

ไม่มีความฝันไหนที่ไม่ต้องเผชิญอุปสรรค และไม่มีความสำเร็จใดที่จะได้มาง่ายๆ ดูอย่างความมุ่งมั่นของผู้หญิงตัวเล็กๆ คนนี้ ที่เธอไม่เคยทิ้งเศษงานของตัวเอง และฝึกฝนฝีมืออย่างต่อเนื่องทุกวัน เวลาว่างก็ลุกมาขีดๆ เขียนๆ แล้วเก็บไว้เป็นพอร์ทงานของตัวเอง เธอบอกว่า ในอนาคตจะหยิบงานพวกนี้มาใช้ได้ โดยเฉพาะนำมาสร้างแบรนด์ของตัวเอง ดั่งที่ใฝ่ฝันไว้ตั้งแต่ต้น ก่อนฝากความคิดให้กับคนที่อยากเดินบนความฝันเดียวกันนี้..

“ทุกอย่างขึ้นอยู่กับโอกาสและจุดมุ่งหมายของตัวเอง ถ้าเรามีแรงบันดาลใจ มีจุดมุ่งหมาย ผสมกับโอกาสที่ได้รับ และทำมันให้ตลอด ไม่ทิ้ง ไม่ยอมแพ้ แม้ยากที่จะไขว่คว้ามา แต่ถ้าพยายามและมุ่งมั่น สักวันหนึ่งก็คงสำเร็จได้กันทุกคน”

หนึ่งมุมคิดจากคนรักศิลปะ ที่กำลังปล่อยแสง เพื่อ “แจ้งเกิด” ในร้าน อิมเมจิน ฮับ
....................................
Key to success
แจ้งเกิด! งานศิลป์ ที่ “อิมเมจิน ฮับ”
๐ จากเศษงาน สู่ผลงานที่มีมูลค่าและคุณค่า
๐ มีตลาดให้ปล่อยของและแจ้งเกิด
๐ เด็กศิลป์ได้เข้าใจโลกธุรกิจ
๐ ผลประโยชน์ วิน-วิน ด้วยกันทุกฝ่าย
๐ มองเห็นคุณค่างานสร้างสรรค์และผลงานตัวเอง
๐ เรียนรู้เพื่อต่อยอดไปสู่แบรนด์ตัวเองในอนาคต