7 หนทางแก้นิสัยใช้จ่ายเกินตัว

7 หนทางแก้นิสัยใช้จ่ายเกินตัว

โละนิสัยการเงินแย่ สลัดหนี้ทิ้ง ออมมากขึ้น หยุดใช้ชีวิตหรูหรา กับ 7 หนทางแก้นิสัยใช้จ่ายเงินของคุณ แล้วคุณจะได้ไม่เป็นหนี้ !!!

"เจ้าของเงินจะรู้สึกดีขึ้นมากกับสิ่งต่างๆ ที่ต้องใช้เงินจ่ายอยู่ทุกวัน ที่สำคัญเป็นการจ่ายแบบเห็นคุณค่าของเงินอย่างแท้จริง ไม่ใช่จ่ายเพลินก่อหนี้แบบไม่รู้ตัว" เดลี่เวิร์ธ ดอท คอม

จากสถิติแบงก์ชาติ หนี้ภาคครัวเรือนไทยตลอด 5 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นเร็วจาก 50% ของจีดีพี เป็น 80% ของจีดีพี หรือราว 8 ล้านล้านบาท เทียบมูลค่าจีดีพี 10 ล้านล้านบาทในปัจจุบัน ทำให้ความพยายามรณรงค์ให้คนไทยลดหนี้รู้จักออมสำคัญยิ่งขึ้น

Fundamentals สัปดาห์นี้จึงขอมีส่วนร่วม ด้วยการนำเสนอข้อมูลบางส่วนจาก "7 หนทางแก้นิสัยใช้จ่ายเกินตัว" จากเว็บไซต์ "เดลี่ เวิร์ธ ดอท คอม" หวังกระตุ้นคนไทยอยู่ทุกมุมโลกบริหารเงินให้ได้ดีมีประสิทธิภาพ อยู่ห่างไกลหนี้เก็บออมได้มากขึ้น

==> เปลี่ยนนิสัยการเงินไม่ง่าย

เดลี่เวิร์ธ ดอท คอม ตั้งคำถามง่ายๆให้คนไทยฉุกคิดว่า เคยเพ่งดูเงินในบัญชีอย่างจริงจังและสงสัยบ้างไหมว่าเงินในบัญชีหายไปไหนบ้าง เงินที่หายไปจากบัญชีอาจเกิดมาจากเหตุผลหลายอย่างที่บอกได้ว่า ทำไมคนไทยที่อยู่ในทุกมุมของโลกจึงใช้จ่ายมากจนเกินไป

ขณะเดียวกันสาเหตุการใช้จ่ายมากเกินไปข้างต้นนั้นก็เป็นที่มาของเหตุผลเช่นกันทำไมคนไทยทั่วโลกจึงไม่ควรทำเช่นนั้น เดลี เวิร์ธ ดอท คอม แนะนำว่าก้าวแรกในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม คือการตระหนักถึงสิ่งกระตุ้นต่างๆ และตั้งใจเผชิญหน้ากับสิ่งกระตุ้นเหล่านั้น ฝึกจิตใจไม่ให้ถูกล่อลวงให้ต้องยอมแพ้

หากคนเราต้องการเอาชนะนิสัยใช้จ่ายมากเกินไปให้ได้จริงๆในระยะยาว ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องวิเคราะห์ค้นหาเหตุผลเบื้องลึก ซึ่งบอกได้ถึงสาเหตุว่าเหตุใดจึงทำเช่นนั้น ซึ่งเดลี่ เวิร์ธ ดอท คอม ได้รวบรวมต้นเหตุพื้นฐานธรรมดาทั่วไป ซึ่งทำให้คนทั่วโลกรวมทั้งคนไทยใช้จ่ายเกินตัวหรือใช้เงินมากเกินไป และแนวทางแก้ปัญหาทำอย่างไรจึงจะเอาชนะนิสัยการเงินแย่ๆเหล่านี้นี้ได้

==>ใช้เงินสดช่วยยั้งใจ

เดลี่ เวิร์ธ ดอท คอม ให้ข้อมูลว่าปีที่แล้วชาวอเมริกันนิยมใช้บัตรพลาสติกทำธุรกรรมในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้นมากกว่าการใช้เงินสดสองเท่า และคาดว่าช่วง 10 ปีข้างหน้า การใช้บัตรพลาสติกโดยเฉพาะอย่างยิ่งบัตรเดบิตหรือบัตรใช้หักเงินจากบัญชีทันทีจะมีมากขึ้น กลายเป็นรูปแบบหลักของการแลกเปลี่ยนเงินเพื่อทำธุรกรรมการเงินทุกประเภทมากกว่าการใช้เงินสดอย่างแน่นอน

แต่การใช้บัตรเครดิตหรือแม้แต่บัตรเดบิต ทำให้ทุกอย่างง่าย ไม่รู้สึกเหมือนกับการถือเงินสดหรือธนบัตรที่เห็นกันชัดๆ เป็นวิธีการใช้เงินแบบเดิมๆ การใช้บัตรพลาสติกใบเล็กๆ ติดกระเป๋าจึงทำให้ทุกอย่างดูง่ายยิ่งขึ้น หรือไปกระตุ้นต่อมเจ็บปวดได้น้อยลง ในเวลาต้องนับเงินกับธนบัตรในกระเป๋าเพื่อส่งให้กับพนักงานเก็บเงิน

นอกจากนี้การต้องเดินหรือแวะไปที่ตู้เอทีเอ็มเป็นประจำสม่ำเสมอ รวมถึงความรู้สึกของผู้คนที่ไม่สบายใจกับการต้องถือต้องแบกเงินสดธนบัตรมากมาย ยิ่งทำให้การใช้บัตรพลาสติกเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งๆ ที่ข้อเสียของการถือบัตรเครดิตคือความรู้สึกผ่อนคลาย ส่งผลให้เจ้าของบัตรสามารถใช้จ่ายมากจนเกินไป

ดังนั้น ความรู้สึกเจ็บปวดกับการได้เห็นเงินสดของตัวเอง ค่อยๆ ออกจากกระเป๋าเวลาส่งเงินให้คนขาย ความรู้สึกเช่นนี้จริงๆ แล้วถือเป็นกำแพงขัดขวางอย่างดี คอยสกัดกั้นไม่ให้เจ้าของเงินใช้จ่ายมากจนเกินไป

หนทางแก้ไขไม่ให้จ่ายผ่านบัตรพลาสติกมากเกินไป ด้วยการพยายามจัดระเบียบการใช้เงินสดเป็นรายสัปดาห์หรือรายเดือน โดยลองกำหนดว่าทุกวันอาทิตย์ต้องเบิกเงินจากตู้เอทีเอ็ม และลองประเมินว่าจำนวนเงินเท่าใดที่ใช้ในแต่ละวันแล้วรู้สึกว่าสามารถใช้ได้แบบสบายๆ และไม่อึดอัดใจ

หรือจะลองใช้วิธีง่ายๆ หาซองใส่เงินสดสักหนึ่งซอง ใช้ซองนี้เป็นเหมือนเอทีเอ็มที่มีเงินเก็บไว้ให้ใช้ได้นานเป็นสัปดาห์ วิธีนี้ช่วยรับประกันได้ว่าเจ้าของเงินจะสามารถเลี่ยงการใช้จ่ายมากเกินไป

ทั้งนี้ในหนึ่งสัปดาห์ของการใช้เงินสด เดลี่ เวิร์ธ ดอท คอม กล้ารับประกันว่า เจ้าของเงินจะมีความรู้สึกดีขึ้นอย่างมากกับสิ่งต่างๆ ที่ต้องใช้เงินจ่ายอยู่ทุกวัน และที่สำคัญเป็นการจ่ายแบบเห็นคุณค่าของเงินอย่างแท้จริง และไม่จ่ายเพลินจนก่อหนี้แบบไม่รู้ตัว

==>รู้จักบริหารเงินครอบครัว

นักวิจัยเกี่ยวกับความสุขพบว่า การใช้จ่ายเงินไปกับสิ่งต่างๆทำให้คนเรารู้สึกดีขึ้น แต่การใช้จ่ายเงินขอให้แยกแยะ คำนึงถึงความจำเป็นต้องมีต้องใช้กับความรู้สึกอยากเอาใจคนรอบข้างอันเป็นที่รัก เช่น ลูกๆรบเร้าอยากได้ของเล่นหรือตุ๊กตาใหม่ หรือสามีอยากได้โทรทัศน์รุ่นใหม่บางเฉียบ ทำให้ภรรยาหรือคุณแม่ยากจะปฏิเสธความต้องการที่ไม่จำเป็นเหล่านี้ได้

หนทางแก้ปัญหานี้ คือคุณแม่อาจลองให้เงินใช้จ่ายจำนวนหนึ่งให้ลูกหากเขามีอายุพอสมควร และให้ลูกลองบริหารเงินที่ได้ เมื่อใดที่อยากได้ของเล่นหรือของสะสมอย่างที่ชอบ ต้องให้เขาอดออมเงินที่ได้เป็นค่าใช้จ่ายประจำวันหรือประจำสัปดาห์ไว้เพื่อซื้อของที่อยากได้เอง วิธีนี้จะช่วยให้เด็กๆค่อยๆเข้าใจถึงคุณค่าของเงินและภูมิใจกับความสามารถเก็บออมซื้อสิ่งที่อยากได้

ขณะเดียวกันภรรยาควรคุยกับสามี จัดลำดับความสำคัญทางการเงิน ให้สิ่งใดจำเป็นต้องใช้จ่ายและสิ่งใดไม่จำเป็น เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน และสามารถกันเงินพิเศษไว้ในแต่ละเดือน เพื่อให้สามีผ่อนคลายได้ใช้จ่ายในสิ่งของบางอย่างที่อยากได้ อย่างเช่นอุปกรณ์ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ไอที ที่แม้เป็นของดูแล้วเป็นของฟุ่มเฟือยในชีวิตก็ตาม

==>หยุดใช้ชีวิตหรูเกินงบ

บนสมมติฐานที่ว่า ผู้ที่ดำรงชีวิตมีไลฟ์สไตล์หรือการใช้ชีวิตสะดวกสบาย และใช้เงินอย่างไม่คิด หากเผชิญกับความทุกข์ยากทางการเงิน หรือภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอย่างไม่รู้ตัว แต่ไม่รีบกลับลำยังใช้ชีวิตในรูปแบบเดิม ย่อมหมายถึงชีวิตที่อยู่บนกองหนี้ พร้อมกับค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แม้ว่าสิ่งที่ดูจะทำได้ยาก คือ การปรับตัวปรับใจของบุคคล ที่คุ้นเคยกับการใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบายมาก่อน ให้ยอมอดทนหันกลับไปใช้ชีวิตในลักษณะตรงกันข้าม คือใช้จ่ายให้น้อยลงและสบายให้น้อยลงได้นั้น

หนทางหนึ่งช่วยลดแรงกดดัน ทำให้ความรู้สึกไม่ดีน้อยลงหรือหมดไป อยู่ที่การเตรียมตัวอย่างต่อเนื่อง ดำรงชีวิตแบบใช้จ่ายไม่เกินตัว ทั้งในช่วงเวลารุ่งเรืองและเลวร้าย และให้แน่ใจก่อนว่าตัวเองมีเงินออมสำรองไว้เป็นกันชน พร้อมใช้จ่ายอย่างน้อย 6 เดือน ในกรณีฉุกเฉิน เช่น สำหรับชีวิตใหม่กำลังเกิด ในเวลาป่วยหนักหรือรายได้ที่มีอยู่ลดลง ขอให้สะสมเงินออม ด้วยการหักเงินอัตโนมัติจากรายได้ที่มีหรือหามาได้ เข้าบัญชีเงินออมโดยไม่เข้าไปแตะต้องจนกว่าจะถึงเวลาที่จำเป็นต้องใช้

==>แก้ปมนิสัยวัยเด็ก

มีผู้คนมากมายที่มาจากครอบครัวยากจน สภาพแวดล้อมนี้กระตุ้นให้พวกเขาอยากใช้จ่ายมาก เพื่อชดเชยความรู้สึกที่ขาดหายไปในวัยเด็ก และใช้จ่ายเกินตัวเพื่อช่วยให้รู้สึกว่าได้หลุดจากวงจรชนชั้นต่ำ แต่แท้จริงแล้วพวกเขากลับกำลังทำร้ายสถานะทางการเงินกับความสามารถในการใช้ชีวิตของตัวเอง

ขณะเดียวกัน มีผู้คนมากมายเติบโตมาจากครอบครัวร่ำรวย ที่มีความรู้สึกอยู่ตลอดเวลาว่าต้องใช้ต้องจ่ายเพื่อไม่ให้รูปแบบการใช้ชีวิตตกต่ำ ทั้งที่ในชีวิตจริงรูปแบบการใช้ชีวิต เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ พวกเขามีรายได้หรือเงินใช้ไม่เพียงพอกับความต้องการมากเกินไป

หนทางแก้ไขหากไม่มีโมเดลหรือต้นแบบการบริหารเงินที่ดี ให้นึกถึงแหล่งช่วยให้ค้นคว้าหาความรู้ได้ง่ายอย่างห้องสมุดหรือร้านหนังสือ ลองหาหนังสือเป็นแรงบันดาลใจสามารถแนะนำเส้นทางชีวิตการเงินได้ และหากอยู่ในสหรัฐมีหนังสือการเงินดีหลายเล่มที่น่าอ่าน อย่างเช่น "Rich Dad, Poor Dad" , "Your Money or Your Life" , "The Millionaire Next Door" และ "Secrets of the Millionaire Mind"

==>หามิตรดีไม่ก่อปัญหาการเงิน

ผู้หญิงไทยจำนวนไม่น้อย ไม่รู้ตัวว่าใช้จ่ายเงินมากเกินไป เมื่อพวกเธออยู่กับเพื่อนฝูงหรือเพื่อนร่วมงาน แต่ที่ทำเช่นนั้นเพราะคิดว่าไม่ได้รับการยอมรับและอึดอัดใจหากยอมรับกับเพื่อนๆ ว่าไม่สามารถจ่ายและซื้อหาสินค้าและบริการนั้นได้

สถานการณ์ข้างต้น สะท้อนให้รู้ว่าแม้เพื่อนรอบตัวปรารถนาดีอยากให้มีสไตล์การใช้ชีวิตแบบพวกเขา แต่เพื่อนๆ กลุ่มนี้ก็สามารถมีอิทธิพลสั่งสมหรือบ่มเพาะนิสัยการเงินไม่ดีให้แก่คุณได้เช่นกัน

ลองเข้าหาเน้นคบกับกลุ่มเพื่อนที่ชอบการออกกำลังกาย ทั้งการวิ่ง เต้นแอโรบิกหรือการปีนกับไต่เขา พยายามหาเพื่อนแวดล้อมตัวที่สนับสนุนทั้งการทำงานและการทำเงิน ซึ่งจะช่วยให้คุณไปถึงเป้าหมายความสำเร็จทางการเงินได้ง่ายขึ้น

==>ตั้งเป้ามีแผนการเงินชัด

คำแนะนำสุดท้ายของ เดลี่ เวิร์ธ ดอท คอม คือ การไม่มีความหนักแน่นหรือเข้าใจเป้าหมายทางการเงิน ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และ ระยะยาว ทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยต้องสูญเสียมุมมองช่วยจัดลำดับความสำคัญทางการเงินว่าเรื่องใดสำคัญที่สุด และทำให้พวกเขาพ่ายแพ้ต่อกิเลสอยากใช้อยากจ่ายแบบง่ายดาย

หนทางแก้ไขที่ดีที่สุด ต้องหาเป้าหมายต่างๆ ให้ชัดเจนว่าเป้าหมายใดนำพาพวกเขาไปให้ถึงความสำเร็จทางการเงินได้บ้าง อาจทำแผนการเงินด้วยตัวเอง หรือทำร่วมกับนักวางแผนการเงินมืออาชีพ

กระบวนการวางแผนก็เริ่มต้นอย่างง่ายๆ เรียงความสำคัญและกำหนดเป้าหมายสามารถเห็นได้ชัดและเกิดขึ้นได้จริง เขียนแผนทุกอย่างลงในกระดาษหรือบันทึกในคอมพิวเตอร์ ระหว่างที่บันทึกหรือเขียน ให้ระบุความคิดด้วยว่ารู้สึกอย่างไร เมื่อทำแผนแต่ละส่วนได้สำเร็จ