"สถาพรบุ๊คส์"นักสร้างสรรค์ แห่งโลกวรรณกรรม

"สถาพรบุ๊คส์"นักสร้างสรรค์ แห่งโลกวรรณกรรม

เกมรุกหน้าใหม่ของสถาพรบุ๊คส์คือก้าวให้ทันความเปลี่ยนแปลง สู้ด้วยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์โตให้ต่อเนื่องและมั่นคงเพื่อวิถียั่งยืนของธุรกิจ

ถ้าถามว่าผลงานวรรณกรรมของค่ายไหน ถูกนำไปผลิตเป็นซีรีส์ในฟรีทีวีมากที่สุด

นาทีนี้คงต้องยกให้ “สถาพรบุ๊คส์” สำนักพิมพ์เนื้อหอมที่คอละครและนักอ่าน ให้การตามติดในยุค “ละครซีรีส์ฟีเว่อร์”

ประเดิมตั้งแต่นวนิยายชุดบ้านไร่ปลายฝัน ที่มาของละครยอดฮิต "4 หัวใจแห่งขุนเขา" (ผลิตเป็นละครเมื่อปี พ.ศ. 2553) เปิดรูปแบบนักเขียนแทคทีมผลิตผลงานในชุดเดียวกัน จนกลายเป็นละครโทรทัศน์รูปแบบใหม่ ที่คนติดกันทั่วบ้านทั่วเมือง ตามมาด้วยซีรีส์ The Sixth Sense สื่อรักสัมผัสหัวใจ ซีซั่น 1 ในปี พ.ศ. 2555 และ ซีซั่น 2 ที่กำลังออกอากาศอยู่ในตอนนี้ ตามมาติดๆ กับซีรีส์แห่งปี "สุภาพบุรุษจุฑาเทพ" ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นผลงานคุณภาพจาก “สำนักพิมพ์พิมพ์คำ” เครือสถาพรบุ๊คส์

และที่กำลังเรียงคิวออกอากาศ ก็ยังทยอยออกมาต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น ซีรีส์ชุด “ลูกไม้ของพ่อ” นวนิยายชุดมาเฟียเลือดมังกร ซีรีส์ "The Rising Sun" รวมถึงนวนิยายดังจากโลกออนไลน์อย่าง “คิวบิก” ที่กำลังผลิตเป็นละครและจะออกอากาศเร็วๆ นี้ แม้แต่ผลงานนวนินายแฟนตาซี ชุด “7 Stars” ที่เพิ่งคลอดออกมาสดๆ ร้อนๆ ก็มีข่าวแว่วว่าค่ายละครติดต่อซื้อไปศึกษาแล้ว!

“ผมไม่ได้รู้จักกับใครเป็นพิเศษ มันอยู่ที่งาน เพราะถ้างานไม่ดี เขาก็ไม่ซื้อ”

“วรพันธ์ โลกิตสถาพร” กรรมการผู้จัดการ บริษัท สถาพรบุ๊คส์ จำกัด ย้ำชัดเมื่อเจอกับคำถามว่า รู้จักกับ “ช่องสาม” เป็นกรณีพิเศษหรือเปล่า ถึงได้ผลิตผลงานป้อนช่องอย่างต่อเนื่อง เขาบอกว่า อาจจะโชคดีที่ผู้จัดละครยุคนี้ต้องการบทนวนิยายแนวใหม่ ขณะที่ฐานคนอ่านของสถาพรบุ๊คส์และฐานคนดูละครทีวีก็เป็นฐานเดียวกัน ทำให้เมื่อวันที่พวกเขาเริ่มสร้างสรรค์ผลงานแนวใหม่อย่างการให้นักเขียนหลายคนมามาผลิตผลงานในชุดเดียวกัน จนกลายเป็นซีรีส์ที่แปลกต่างไปจากตลาด เลยไปเข้าตาผู้จัดละครและช่องทีวีเข้าให้ จนได้มีผลงานเกลื่อนหน้าจออย่างทุกวันนี้

“เราพยายามนำเสนอกลวิธีใหม่ในการทำนวนิยาย โดยเป็นการทำงานร่วมกันของนักเขียนที่เป็นผู้สร้างสรรค์ กับบก.ที่จะทำหน้าที่ประสานและเชื่อมโยงเรื่องราวเข้าด้วยกัน แล้วยิ่งมีนักเขียน 4-5 คนมาทำงานด้วยกันแล้ว บก.นี่เป็นศูนย์กลางเลย ฉะนั้นทั้งสองฝ่ายสำคัญมาก ก็เหมือนกับ ดาราจะดี ก็ต้องมีผู้กำกับที่ดี นักเขียนจะดีได้ก็ต้องมี บก.ที่ดี เช่นเดียวกัน”

ขณะที่ปรัชญาการทำธุรกิจ คือ “เสริมสร้างนักเขียน เคียงข้างนักอ่าน” ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา สถาพรบุ๊คส์ จึงมีการพัฒนานักเขียนในสังกัดอย่างต่อเนื่อง โดยการจัดอบรมนักเขียนตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะมือเก๋าหรือมือใหม่ ก็มีโอกาสฝึกปรือฝีมือให้แหลมคมขึ้น และดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เวลาเดียวกับให้โอกาสนักเขียนหน้าใหม่ ได้ร่วมทำงานเขียนซีรีส์ร่วมกับนักเขียนมือเก๋าเพื่อยกระดับฝีมือตัวเองให้เก่งขึ้น

ที่ต้องทุ่มเทขนาดนี้ เพราะเขาบอกว่า ถ้านักเขียนผลิตผลงานที่ดี สำนักพิมพ์ก็เหนื่อยน้อยลง และเมื่อผลงานดี ย่อมขายได้มาก ซึ่งหากมีโอกาสไปเข้าตาผู้จัดจนต่อยอดไปทำละครได้ สุดท้าย “นักเขียน” ก็มีรายได้สูงขึ้นจากค่าลิขสิทธิ์ ส่วนสำนักพิมพ์ก็จะได้อานิสงห์จากยอดขายหนังสือที่จะเพิ่มขึ้นตามมาด้วย

“เรามองว่านักเขียนเป็น “พาร์ทเนอร์” เป็นต้นน้ำ มีความสำคัญมาก ซึ่งถ้าหนังสือขายดี กระแสแรง ก็จะส่งผลถึงยอดขายหนังสือที่จะสูงขึ้นด้วย ซึ่งการปรับตัวของสำนักพิมพ์ที่ผ่านมา ทำให้ยอดรายได้ หรือผลประโยชน์ของนักเขียนที่ฝีมือดีๆ เพิ่มขึ้นมาก นักเขียนที่ทำงานกับเราหลายคน เปลี่ยนจากงานฟรีแลนซ์ เป็นงานประจำไปแล้ว”

นี่คือสถานการณ์จริง ที่เกิดกับนักเขียนหลายคนในยุคนี้ ที่สามารถเลี้ยงชีพได้สบาย ไม่ใช่ “นักเขียนไส้แห้ง” เหมือนยุคก่อน ด้วยรายได้จากค่าลิขสิทธิ์งานเขียน ทั้งที่ตีพิมพ์เป็นหนังสือ และลิขสิทธิ์จากการขายให้กับค่ายละคร ขณะที่เมื่อละครกระแสแรง คนติดตามมาอ่านหนังสือ ก็ดึงยอดพิมพ์ให้เพิ่มขึ้น นักเขียนก็จะได้ผลประโยชน์จากยอดขายที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

“นักเขียนถ้ามีวินัย ไม่อยู่กับที่ และพัฒนาตัวเองตลอดเวลา ผมเชื่อว่ารายได้จากการทำหน้าที่นักเขียนอยู่ได้ ขอแค่คิดสร้างสรรค์ ทำอะไรใหม่ๆ สุดท้ายไม่ได้พูดถึงเรื่องค่าตอบแทนหรอก แต่พูดถึงการพัฒนางานร่วมกัน แนวคิดผม เราทำงานเพื่องาน ไม่ใช่เพื่อเงิน ซึ่งถ้างานสำเร็จ เงินมันจะมาเอง นี่คือสิ่งที่คุยกับนักเขียนว่า..เราลองมาทำอะไรใหม่ๆ ด้วยกันดีไหม”

นั่นคือจุดเริ่มต้นของนักสร้างสรรค์ ที่เขาบอกว่า สำนักพิมพ์ต้องพยายาม “คิดนอกกรอบ” โดยใช้อาวุธอย่าง “ความคิดสร้างสรรค์” และ “นวัตกรรม” ทั้งในด้านการนำเสนอ การตลาด กระบวนการทำงานภายใน นวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยี เหล่านี้ คือ สิ่งที่สำนักพิมพ์ต้องปรับตัว และสร้างจุดแกร่งของตัวเองขึ้นมาให้ได้ในยุคนี้

เขาหยิบ ซีรีส์ “How To Love รักฉบับเซเลบ” ที่เพิ่งเปิดตัวไป มาเป็นตัวอย่างของการสร้างนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์แบบสถาพรบุ๊คส์ ผลงานเขียนที่มาจากโจทย์ “การทำหนังสือให้สนุก” เลยได้นวนิยายฮาวทู จากนักเขียนนวนิยาย ที่แทรก “ฮาวทู” ไว้ในเนื้อเรื่อง ใช้วิธีการจัดหน้าที่แตกต่าง ทั้งสดใสและน่าอ่านเหมือนนิตยสาร เลือกพิมพ์งานสี เพื่อให้ได้ “นวนิยาย” ที่อ่านสนุกในแบบ “นิตยสาร” แถมยังมี “ฮาวทู” แทรกไว้เป็นสาระให้กับคนอ่านได้อีกด้วย

นอกจากมีนวัตกรรมและช่างสร้างสรรค์ การทำธุรกิจสิ่งพิมพ์ยุคนี้ จะต้อง “เก่งจัดการ” และ “บริหารความเสี่ยง” เขาบอกว่าในการพิมพ์หนังสือจะต้องประเมินให้ “ขาด” เพราะหลายครั้งที่สำนักพิมพ์ประเมินบางผลงานสูงไป จนพิมพ์ออกมาล้นตลาด สุดท้ายขายไม่ออก ก็กลายเป็นแค่ “กองกระดาษ” เขายกตัวอย่าง “คิวบิก” นวนิยายที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในอินเตอร์เน็ต ซึ่งพอเดาได้ว่าจะต้องขายดีแน่ แต่สิ่งที่เลือกทำคือผลิตออกมาเพียงจำนวนหนึ่งเพื่อทดสอบตลาด เพราะถ้าขาดยังพิมพ์เพิ่มได้ แต่ถ้าขายไม่ออกก็เท่ากับ “เจ๊ง”

ซึ่งก็ไม่ได้เห็นกันบ่อยนักในวงการวรรณกรรมของบ้านเรา ที่หนังสือโดยนักเขียนคนไทยจะกลายเป็นของ “ขาดตลาด” จนก่อกระแส “คิวบิกฟีเว่อร์” ตามล่าหาคิวบิกทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ช่วงที่ผ่านมา

“ทำธุรกิจหนังสือต้องคำนึงถึง ความเสี่ยง เราต้องระมัดระวัง เหมือนสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ สมัยก่อนที่ล้มไป ก็เพราะประเมินสูง แล้วพลาด ขายไม่ได้กลายเป็นแต่สะต๊อก เพราะฉะนั้นทำธุรกิจเราต้องตั้งอยู่บนความไม่ประมาท เพราะถ้าหนังสือขาดมันยังพิมพ์เพิ่มได้ ถ้าคนอยากอ่านจริงๆ อย่างไรเขาก็ตามซื้อ”

ประเมินตัวเองได้ แต่ก็ไม่ใช่ทุกเล่มที่จะประสบความสำเร็จ เขายอมรับว่า “ที่เจ็บตัวก็คงมีบ้าง” แต่ภาพรวมคือ “อยู่ได้ ไปรอด” และทำธุรกิจให้เติบโตทุกปี นั่นคือ หัวใจ

“การทำการค้า สำคัญเลย คือ เรื่องการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ คือ มั่นคงด้วย แล้วก็โตด้วย นั่นคือจุดมุ่งหมาย ทำธุรกิจสำคัญคือ อย่าแกว่ง อย่าขึ้นๆ ลงๆ สำหรับสถาพรบุ๊คส์ เราพยายามเติบโตอย่างมั่นคงทุกๆ ปี”

ที่มาของการเติบโตสองหลักทุกปี มีรายได้รวมหลักร้อยล้านบาท ทั้งหนังสือกลุ่มความรู้ และบันเทิง ครอบคลุม สำนักพิมพ์สถาพรบุ๊คส์, พิมพ์คำ, ธรรมสถาพร, เพชรการเรือน, BRiGHT, Princess, Suga Beat และ Z-Girl ซึ่งแม้หลายคนจะบอกว่าพวกเขาสำเร็จ แต่สำหรับ “วรพันธ์” นี่ไม่ใช่จุดสิ้นสุดของการพัฒนา

“เราไม่เติบโตแบบหวือหวา ไม่หลงไปในช่วงที่เราหอมหวานมากๆ เพราะมันคือการฆ่าตัวเอง ถ้าถามว่าเราประสบความสำเร็จไหม ผมว่าเรายังคงต้องเดินต่อ ตอนนี้สถาพรฯ 14 ปี เราก็อยากเห็นปีที่ 40 ปีที่ 100 อีกอย่างมันมีคำว่า “การเปลี่ยนแปลง” คือ สังคมเปลี่ยน ไลฟ์สไตล์คนเปลี่ยน โลกเปลี่ยน ลูกค้าเปลี่ยน คู่แข่งเองก็เปลี่ยน ฉะนั้นแล้ว เราจะบอกว่าเราสำเร็จ แล้วไม่ทำอะไรต่อ..ไม่ได้!”

ในวันนี้ความสนุกในธุรกิจยังไม่จบ ว่ากันตามตรงยังเป็นช่วงเริ่มต้นสำหรับโอกาสใหม่ๆ ของสถาพรบุ๊คส์ อย่างเช่นการเปิดตลาดอาเซียน การพัฒนาความร่วมมือกับพันธมิตรในอาเซียน ฯลฯ

ที่กระตุ้นเตือนให้พวกเขายังคงต้องทำงานหนักและไม่หยุดสร้างสรรค์ เพื่อบันไดขั้นที่สูงกว่า ในเวทีธุรกิจสิ่งพิมพ์ ณ วันนี้

.................................

Key to success
สยายปีกรบแบบ “สถาพรบุ๊คส์”
๐ นักเขียนที่ดี ต้องมีบก.ที่ดี ทำงานร่วมกัน
๐ พัฒนานักเขียนทั้งใหม่และเก่า ยกระดับฝีมือขั้นเทพ
๐ ทำงานเพื่องาน ไม่ใช่เพื่อเงิน ผลงานดี เงินมาเอง
๐ กล้าคิดนอกกรอบ คิดสร้างสรรค์ มีนวัตกรรม
๐ เก่งจัดการ และบริหารความเสี่ยงเลิศ
๐ เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ไม่หวือหวา
๐ โลกเปลี่ยน ต้องไม่หยุดพัฒนา