"เอสเอฟ ขอนแก่น"นักบู๊ลูกอีสาน ธุรกิจเกษตรพันล้าน!

พวกเขาคือผู้ปฏิวัติธุรกิจปศุสัตว์สู่อุตสาหกรรมฟาร์มไก่ไข่ขยายสู่เกษตรแปรรูปอาหาร พลังงาน ท่องเที่ยวและบริการจนรายได้ทะลุหลักพันล้านในวันนี้
เพิ่งนำเสนอเรื่องราวของ “ชัยพร ศรีวิโรจน์” ทายาทคนโตแห่งตระกูล “ศรีวิโรจน์” เจ้าอาณาจักร “เอสเอฟ ขอนแก่น” ธุรกิจเกษตรพันล้านแห่งภาคอีสาน ที่แยกออกมาต่อสู้ด้วยลำแข้ง โดยต่อยอดจากธุรกิจของครอบครัว
สำหรับความยิ่งใหญ่ของกลุ่มธุรกิจ “เอสเอฟ ขอนแก่น” ในวันนี้ ที่ยังคงสยายปีกอย่างงดงาม มีชื่อของน้องชาย “ประยุทธ ศรีวิโรจน์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสเอฟ ขอนแก่น จำกัด คอยคุมเกมและวางหมากรบอยู่เบื้องหลัง พร้อมขับเคลื่อนธุรกิจครอบครัวให้เติบใหญ่สไตล์ “นักบู๊ลูกอีสาน” ผู้กล้าแตกต่างในธุรกิจเกษตร จนมีถึง 6 บริษัทในเครือ และพิชิตยอดขายแตะ 2.5 พันล้านบาทในวันนี้ได้
“ผมเป็นนักธุรกิจบ้านนอก ไม่ได้มีชื่อเสียงอะไร ไม่เรียนจบมหาวิทยาลัย จบแค่ มศ.5 แต่ด้วยสำนึกที่ “พ่อจน” ผมเลยประกาศอย่างชัดเจนว่า ในยุคที่ผมดูแลอยู่ ผมจะเป็นอภิชาตบุตร จะทำให้ดีกว่ารุ่นพ่อหลายเท่า”
คำประกาศจากนักบู๊เลือดอีสาน “ประยุทธ ศรีวิโรจน์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสเอฟ ขอนแก่น เมื่อวันที่ขึ้นเวทีสัมมนา “รุก-รู้-สู้-สำเร็จ หมากเด็ด SME” โดยธนาคารกรุงไทย เมื่อเดือนที่ผ่านมา และยังคงย้ำชัดในวันที่ให้สัมภาษณ์กับกรุงเทพธุรกิจ Bizweek อีกครั้ง
ทำอย่างไรให้ธุรกิจเกษตรที่เริ่มจากแค่เปิดร้านขายอาหารสัตว์ของซีพี เมื่อ 40 ปี ที่ผ่านมา ขยับสู่การเลี้ยงไก่ไข่ครบวงจร จะกลายเป็นอาณาจักรธุรกิจพันล้านบาทอย่างวันนี้ได้
เขากางแผนการรบ ฉบับ “เอสเอฟ ขอนแก่น” ที่เรียก “Evolution Concept” ปฏิวัติอุตสาหกรรมเกษตร ไม่ให้ตีบตันเพียงเส้นทางใดเส้นทางหนึ่ง แต่มีหนทางสร้างเงินมากถึง 4 เส้นทาง
นั่นคือ เกษตรอาหารแปรรูป เกษตรพลังงาน เกษตรบริการ และเกษตรท่องเที่ยว
“เนื่องจากเราทำธุรกิจเกษตรมานาน เลี้ยงไก่ ขายไข่ มีความเสี่ยงเรื่องดีมานด์ ซัพพลาย รัฐบาลก็เข้ามาวุ่นวาย ผมเลี้ยงไก่ตั้งแต่ 500 ตัว จนถึงร่วม 2 ล้านตัว เจออุปสรรคมามาก เลยต้องหามูลค่าเพิ่ม แล้วก็สร้างแบรนด์" เขาบอกที่มาของฉากรบหน้าใหม่
เริ่มจากเกษตรแปรรูปอาหาร กับคอนเซ็ปต์ “From Farm to Table” จากจุดเริ่มต้น ทำฟาร์มให้กลายเป็นโรงงานผลิต ลดต้นทุน ประหยัดพลังงาน พอได้ไก่สาว เข้าโรงงานผลิตเป็นแม่ไก่ ได้ไข่ ก็เข้าโรงคัด ส่วนหนึ่งแปรรูปออกมาเป็นไข่เค็ม แม่ไก่แปรรูปเป็น ลูกชิ้น ไส้กรอก ฮ็อทด็อก กุนเชียง ส่งไปขายที่ร้านอาหารเอสเอฟของพวกเขา
ขณะที่ไก่ตัวผู้ ปกติจะถูกฆ่าทิ้ง เพราะไม่มีไข่ ก็นำมาทำเป็นไก่ย่าง เขาสวนกวาง ซึ่งมีชื่อเสียงทางภาคอีสาน แล้วส่งเข้าร้านอาหารทั่วไทย สุดท้ายเพื่อให้คนรู้เรื่องไก่ย่างให้มากกว่านี้ เลยทำร้านไก่ย่างของตัวเองที่มี “Story” ชื่อ ร้านไก่ย่างเอสเอฟ ตำรับเขาสวนกวาง มีสาขาทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด กับมาสคอสเก๋ๆ “ซุปเปอร์โต้ง”
“อนาคตเราจะไปเปิดที่เมืองจีน ตอนนี้ยังเป็นบูธเล็กๆ อยู่ในศูนย์การค้าที่จีน โดยใช้วัตถุดิบที่โน่นแต่ใช้เครื่องปรุงจากที่นี่ เราต้องเริ่มจากศึกษาตลาดก่อน เพราะเราเป็นเอสเอ็มอี ต้องระมัดระวังเรื่องการลงทุนด้วย”
ด้านเกษตรพลังงาน นำมูลไก่มาทำไบโอแก๊ส แล้วปั่นกระแสไฟฟ้า เพื่อใช้ในโรงงานและขายให้การไฟฟ้า และมาพัฒนาต่อเป็น CBG เป็นพลังงานเติมรถยนต์ได้ เพื่อลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของบริษัท จากนั้นก็อัดลงถังเพื่อใช้แทนแก๊สหุงต้ม ขณะความร้อนจากการปั่นกระแสไฟฟ้า เอาไปอุ่นไบโอแก๊ส เพื่อให้มีแก๊สตลอด 24 ชม. โดยไม่ต้องอาศัยแสงแดด ส่วนของเนื้อเอามาทำปุ๋ย เข้าสู่โรงงานปุ๋ยอินทรีย์ ทำเป็นปุ๋ยอัดเม็ดเพื่อจำหน่าย ส่วนหนึ่งเอาไปทำปุ๋ยสำหรับพืช โดยเน้นปลูกหญ้าพลังงาน คือหญ้าเนเปียร์ ที่สามารถนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าได้
ต่อยอดสู่ เกษตรท่องเที่ยว โดยเอาไส้ไก่จากโรงงาน ของเสียอย่างไข่บุบ เศษอาหาร มาเลี้ยงปลาดุก แล้วทำเป็นฟาร์มปลาและบ่อตกปลา เปิดให้คนเที่ยว ปุ๋ยอินทรีย์นำมาปลูกองุ่น เปิดเป็นสวนองุ่นเบญจพร หนึ่งเส้นทางเที่ยวที่พลาดไม่ได้ของภาคอีสาน
ด้านเกษตรบริการ เปิดโรงแรมไก่กับไข่ ที่คอนเซ็ปต์สุดแปลก ตั้งแต่พนักงานชื่อนำหน้าว่า ไก่ มีอาหารหลักเป็นไก่และไข่ พร้อมจุดขาย ‘เจ้าของฟาร์มคือเจ้าของโรงแรม เราดูแลลูกเจี๊ยบอย่างไร ก็จะดูแลลูกค้าอย่างนั้น..ดูแลลูกค้ายิ่งกว่าไข่ในหิน’
“ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เราทำ และทำด้วยความมุ่งมั่น เหมือนกับที่เขาบอกว่า Vision without action is the dream , action without vision is a fool แต่ถ้า vision with action can change the world”
เขาบอกว่า เอสเอ็มอีต้องรู้จัก “คิดให้แตกต่าง” เรียนรู้จากความผิดพลาด และประสบการณ์ ที่ตกผลึกทางความคิด และต้องบอกให้พนักงานของตัวเอง “คลั่งไคล้” กับวิธีคิดเดียวกันนี้ เพื่อเป็นแรงหนุนสำคัญเดินทัพธุรกิจสู้เป้าหมายได้
“สำหรับผม ปลาเร็ว กินปลาช้า ไม่ใช่ปลาใหญ่ กินปลาเล็กนะ เพราะเอสเอ็มอีเราคล่องตัว แต่ต้องหาวิธี คิดให้แตกต่าง คิดให้ถูก แล้วก็ทำให้ถูก ภายใต้คอนเซ็ปต์ เพิ่มมูลค่า ไม่ใช่ปริมาณ คือต้องได้มูลค่าเพิ่มมากที่สุด ขณะที่ของเสียต้องเป็นศูนย์”
จากแนวคิดที่เยี่ยมยุทธ์ เปิดเกมรุกที่ไปได้ไกลกว่าเส้นทางเก่า เขาบอกว่า แผนการรบนับจากนี้ คือใช้ "ขอนแก่น" เป็นจุดยุทธศาสตร์ เพื่อขยายตลาดไปยังประเทศเพื่อนบ้านและจีน โดยปูเส้นทางเกษตรสู่ลาว เวียดนาม เมืองจีน อย่างไปทำฟาร์มไก่ที่ลาว เมื่อ 3 ปี ที่ผ่านมา มีร้านไก่ย่างที่เวียงจันทร์ ขยายไปถึง เว้ ดานัง ประเทศเวียดนาม ไล่ยาวไปจนเมืองจีน
“เราเดินทางไปถึงคุนหมิง ตรงนี้รถไฟความเร็วสูงจะผ่านอีกไม่นานจะเอาไก่ย่างขายตามเส้นรถไฟ จากขอนแก่น จนถึง หนานหนิง เมืองจีน ซึ่งยุทธศาสตร์ของหนานหนิงคือประตูสู่อาเซียน ผมจะเอาไก่ ผลไม้ เอาสินค้าโอท้อปของเราไปขาย แล้วนำผลิตภัณฑ์จากจีนเข้ามาที่เราคิดว่าจะสู้เขาไม่ได้” เขาบอกหมากรบในวันนี้
ทำธุรกิจเอสเอ็มอีไม่มีง่าย เขาฝาก “5 ถึง” สู่ความสำเร็จ นั่นคือ “ตาถึง” คือ ต้องเดินทางไปศึกษาตลาด โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านเราที่ยังมีโอกาสมหาศาล “มือถึง” คือต้องมีทีมงานที่ดีเข้ามาช่วยงาน “ใจถึง” สำหรับเขาถ้าต้องรอถึง 99.99% ถึงจะมั่นใจ ก็ไม่ต้องทำ เพราะถึงเวลานั้นคนอื่นก็ทำกันไปหมดแล้ว ฉะนั้นแค่ 60% ก็ให้ดำเนินการได้ ต่อมา “เงินถึง” คือ มีทุน มีสายป่านยาวพอ และสุดท้ายซึ่งเขาย้ำว่ายากที่สุด คือ “บุญถึง” นั่นคือต้อง กตัญญู เสียสละ และรักบ้านเกิด
เขาฝากประโยคสั้นๆ ปิดท้ายการสนทนาที่ย้ำทุกครั้งว่า “ผมไม่ดัง เลยต้องทำให้ต่าง” กับการทำงานของนักบู๊ผู้สู้ไม่ถอย
“ถ้าท้อเราจะเป็นถ่าน แต่ถ้าผ่านเราจะเป็นเพชร”
คมคิดนักบู๊ลูกอีสานที่ชื่อ “ประยุทธ ศรีวิโรจน์”
....................................
Key to success
สูตรรบฉบับ “ประยุทธ ศรีวิโรจน์”
๐ ทำธุรกิจต้องให้ดีกว่ารุ่นพ่อ
๐ ปฏิวัติสู่อาหารแปรรูป พลังงาน บริการ และท่องเที่ยว
๐ ไม่ดัง ต้องทำให้ต่างและสร้างแบรนด์
๐ปลาเร็ว กินปลาช้า ไม่ใช่ปลาใหญ่ กินปลาเล็ก
๐เพิ่มมูลค่าเพิ่ม ของเสียต้องเป็นศูนย์
๐ตาถึง มือถึง ใจถึง เงินถึง และบุญถึง