'แฮม ดานูส ปั้น "ไทยสแควร์'เอกอุครัวไทยหัวคิดเศรษฐีลอนดอน

'แฮม ดานูส ปั้น "ไทยสแควร์'เอกอุครัวไทยหัวคิดเศรษฐีลอนดอน

'แฮม ดานูส'เศรษฐีอสังหาริมทรัพย์เมืองผู้ดีหลงเสน่ห์อัตลักษณ์ไทยเคล้าความมั่งคั่งในการครอบครองทำเลทองกรุงลอนดอนส่ง'ไทยสแควร์'ผู้นำอาหารไทย

ริมแม่น้ำเทมส์ จุดชมวิวงดงามแห่งหนึ่งใจกลางกรุงลอนดอน หัวมุมติดสะพานพัทนีย์ (Putney Bridge) ตึกรูปเรือสูงเด่นเป็นสง่า ผสมกลมกลืนด้วยสถาปัตยกรรมลงตัวกึ่งไทยกึ่งยุโรป คือที่ตั้งของร้านอาหารไทย ที่ชื่อ ไทยสแควร์ สาขา 4 แหล่งลิ้มรสอาหารไทย รื่นรมย์บรรยากาศ ชมวิวจากมุมที่สวยที่สุด ทอดสายตาไปจะเห็น ตึกนาฬิกาเรือนยักษ์ (Big Ben) สัญลักษณ์กรุงลอนดอน

เจ้าของร้านอาหารไทยยังตั้งใจขายความเป็นไทยทุกกระเบียด ไล่มาตั้งแต่พ่อครัว เด็กเสิร์ฟ ยันรสชาติอาหารบนจาน และการตกแต่ง นั่นคือ ไอเดียความคิด ที่หยิบความเป็นไทยขึ้นมาชูเป็นจุดขาย ของ "ป๋าแฮม" ชื่อที่ลูกจ้างคนไทยเรียกขาน ส่วนชื่อเป็นทางการของเขาคือ “แฮม ดานูส” (Mr. Haim Danous) เศรษฐีอังกฤษ เชื้อสายยิว ผู้ที่คร่ำหวอดธุรกิจอสังหาฯมานานกว่า 20 ปี เจ้าของอาคารหลายแห่งในย่านนี้

"ทำเลทอง" คือขุมทรัพย์ชั้นเลิศ ที่ใช้ต่อยอดธุรกิจให้พอกพูน เริ่มต้นจากการผุดโรงแรม ร้านอาหารไทย สปาไทย ฯลฯ

ทำไม "ป๋าแฮม" เศรษฐีชาวอังกฤษจึงเลือกที่จะรุกธุรกิจร้านอาหารไทย เจ้าตัวเผยว่า เพราะตกหลุมรักวัฒนธรรมและอุปนิสัยอย่างไทยๆ จนปัจจุบันขยายกิจการ 18 สาขา ในเวลา 17 ปี

ร้านอาหารไทยสัญชาติอังกฤษ คิดแบบยิวแห่งนี้ ยังแตะเส้นชัยแห่งความสำเร็จ กับตำแหน่งร้านอาหารไทย “Fine Dining” ที่ใหญ่และมีสาขามากที่สุดในลอนดอน ติดท็อปร้านอาหารที่ทริปแอดไวเซอร์แนะนำ

นักธุรกิจผู้มั่งคั่ง และประสบความสำเร็จสูงสุด เปิดปากพูดถึงคนไทยผ่านรอยยิ้มของเขาว่า “เขารักคนไทย อาหารไทย และวัฒนธรรมอย่างไทย” แม้เขาจะเป็นชาวยิว แต่นับถือทั้ง 2 ศาสนาทั้งคริสต์ และพุทธ สอนให้เขาจิตใจดีอย่างวิถีพุทธ และรักเพื่อนมนุษย์อย่างคริสต์

เศรษฐีลอนดอน บอกว่า เขาประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ มีทรัพย์สินมากมาย จนบางครั้งยังจำรหัส หรือเลขที่บัญชีธนาคารของตัวเองไม่ได้ด้วยซ้ำ ทว่าสำหรับเขาความสำเร็จทางธุรกิจกับความสุขต้องมาคู่กัน เขาจึงใช้ความสำเร็จทางธุรกิจ เพื่อเปิดประตูไปสู่การแสวงหามิตร เพราะเขาไม่อยากตายไปคนเดียว โดยขาดมิตร หรือคนรัก ชายวัยเฉียด 60 ปีสารภาพ

ร้านอาหารที่อบอวลด้วยความอบอุ่นอย่างไทย พร้อมหัวใจบริการ (Service Mind) เป็นความสุข ที่ทำให้เขาอยากขับเคลื่อนธุรกิจ

“แม้ธุรกิจร้านอาหารจะรายได้ดีคืนทุนได้รวดเร็วภายใน 2 เดือน แต่ก็เทียบไม่ได้กับราคาอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นถึง 50 เท่าตัวในเวลา 20 ปี จากที่เคยซื้อด้วยราคา 100 ปอนด์ ก็เพิ่มขึ้นเป็น 5,000 ปอนด์ ใน 20 ปี เมื่อธุรกิจอสังหาฯเริ่มอยู่ตัว จึงหันมาหาความสุขในสิ่งที่ชอบ ผมไม่อยากตายคนเดียว โดยไม่มีคนรัก แม้แต่ขึ้นเครื่องบินยังเลือกที่จะโดยสารสายการบินธรรมดาลำใหญ่ดีกว่าบินจัมโบ้เจ็ทส่วนตัว เพราะไม่ต้องการบินคนเดียว” ป๋าแฮม เปิดใจ

ไทยสแควร์ "สาขาแรก" เริ่มเปิดตลาดลอนดอนในปี ค.ศ.1996 (พ.ศ.2539 ) บนถนน "เดอะสแตรนด์” (The Strand) ตามมาด้วยย่านธุรกิจไชน่าทาวน์ประจำลอนดอน “โซโห” (Soho ) ต่อด้วย ทาฟาการ์ สแควร์(Trafalgar Square) เป็นสาขาที่ 3 เวลาผ่านไป 10 กว่าปี กิจการร้านอาหารไทยของป๋าแฮม ขยายไปถึง 18 สาขา

เขาบอกว่า จุดขายของร้านอาหารไทยแห่งนี้อยู่ที่รสชาติและความเป็นไทยแท้ แบบเข้าถึง ป๋าแฮมจะสั่งวัตถุดิบตรงจากเมืองไทย รวมถึงพ่อครัว 100 กว่าคน และพนักงานอื่นๆ ทั้งเด็กเสิร์ฟ และตำแหน่งสนับสนุน ก็ล้วนเป็นคนไทย ที่บินไปร่ำเรียนที่ลอนดอน ไม่ต่ำกว่า 800 คน

จากเศรษฐีผู้มั่งคั่งไม่เคยรู้จักอาหารไทย คนไทย และนิสัยใจคอแบบไทยๆ ต้องหันมาทานอาหารไทยเป็นหลัก ห้อมล้อมด้วยพนักงานคนไทย และบินมาเที่ยวไทยไม่ต่ำกว่าปีละ 2 ครั้ง เพื่อมาพักผ่อน และใช้ชีวิตในสิ่งแวดล้อมอย่างไทย แถมท้ายด้วยการพบรักแต่งงานกับสาวไทย

เขายกทุกสิ่งที่เขาประทับใจไปใส่ไว้ในร้านอาหารไทยแห่งนี้ ความพิเศษร้านอาหารจึงถูกจริต คนอังกฤษและชาวต่างชาติอื่น ที่ชอบแฮงค์เอาท์

ป๋าแฮมยังบอกว่า ที่ผ่านมาร้านอาหารไทยในอังกฤษที่เคยมีถึง 2,000 แห่ง แม้จะเปิดมากมาย แต่ก็ปิดตัวไปไม่ใช่น้อย จึงไม่ใช่เรื่องง่ายหากจะแจ้งเกิดร้านอาหารในต่างแดน

มหาเศรษฐีเช่นเขายังบอกถึงโมเดลความสำเร็จของร้านอาหารไทยว่า ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับเขา เพราะโปรดักส์ร้านอาหารไทยแท้ดีอยู่แล้ว เพียงแต่ให้คนไทยเข้ามาบริหารจัดการ โดยเขาเป็นผู้ดูแลการเงินเท่านั้น

"ผมให้อิสระผู้จัดการร้าน ส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียนไทยที่ไปเรียนต่อ" เขาเล่า

ความสำเร็จที่เหลือก็น่าจะเกิดจากแนวคิดของนักธุรกิจเชื้อสายยิว ผู้มีหัวการค้าจากดีเอ็นเอ

แม้แต่เจ้าตัวยังยอมรับว่า "ผมมีไอคิวสูง" นั่นเป็นดีเอ็นเอที่ทำให้เขาเรียนรู้ไว เข้าใจธุรกิจง่าย ชอบศิลปะ วาดรูปเก่ง ออกแบบได้ ร้านอาหารไทยบางสาขาจึงออกแบบโดยเจ้าของร้าน

“เคยวาดรูปแต่ศิลปินต้องยอมรับว่ายังไงก็จน จึงหันมามุ่งหน้าทำธุรกิจ” เขาเล่าจุดหักเหในชีวิต แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เขารวยขึ้นทันทีทันใด ทุกอย่างต้องค่อยเป็นค่อยไป ไม่มั่นใจตัวเองจนเกินไป

เศรษฐีลอนดอน ยังเปรยหลักคิดของชีวิตมั่งคั่งเพิ่มเติมว่า "อย่ามัวแต่นั่งเมียงมองชีวิตปล่อยเวลาให้ผ่านไปแล้วหวังว่าจะรวยภายใน 20 ปีโดยที่มัวแต่ตั้งคำถามติดกับดักความจน หากลงมือไล่ล่าเป้าหมายจะพบกับคำว่ารวยสักวัน”

นอกจากไอคิว หัวใจที่แข็งแรงแล้ว ความสำเร็จยังอยู่ที่การจัดสมดุลของอารมณ์ตัวเอง พร้อมกันกับกระตุ้นขวัญและกำลังใจด้วยค่าตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อ

"ผมไม่เคยโกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยง หากมีปัญหายากๆก็ลืมทิ้งมันไว้ เพราะไม่มีอะไรที่เราแก้ไขได้หมดทุกเรื่อง" เขาเล่าถึงวิธีจัดการกับอารมณ์

ก่อนจะจะสรุปผลึกความสำเร็จของร้านไทยสแควร์ จุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุดคือ ความพร้อมเรื่องทำเลที่ตั้ง ฐานที่เป็นเจ้าของธุรกิจนี้

"ถ้าคุณทำธุรกิจคุณรวยชั่วคราว หากคนเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ คุณรวยตลอดกาล"

“ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ตึกของบริษัท คือองค์ประกอบเอื้อต่อการทำร้านอาหาร เพราะผมมีตึกเป็นของตัวเอง จึงตัดต้นทุนส่วนนี้ออกไปได้เลย ปกติหากไม่มีตึกเป็นตัวเองลงทุนร้านอาหารไทยลงทุน 10 ล้านปอนด์เซ้งตึก แต่หากมีตึกเป็นของตัวเอง ลงทุนเพียง 2 ล้านปอนด์"

หนึ่งในจุดบอดที่ร้านอาหารไทยสายป่านไม่ยาวพอต้องปิดตัวลงเป็นจำนวนไม่น้อย

สิ่งที่ยุ่งยากอีกอย่างหนึ่งที่เขาควบคุมได้อยู่หมัดคือ การบริหารคนไทยไม่ต่ำกว่า 800 ชีวิตทั้งการดูแลเอกสาร และให้รางวัลจูงใจในการทำงาน ทำให้คนไทยในลอนดอนทำงานแบบสู้สุดใจ

วัฒนธรรมบางอย่างปกครองแบบไทยที่ยังคงไว้คือระบบอาวุโส (Seniority) ให้คนไทยในร้านดูแลกันเองอย่างพี่น้อง

สิ่งที่เขาภูมิใจและตั้งใจทำธุรกิจกับคนไทยตลอดไป คือการได้รับการยอมรับและเชิดชูอย่างมีเกียรติทั้งจากคนไทยและรัฐบาลไทย ทั้งจากสถานทูตไทยในอังกฤษ และสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงลอนดอน

เสมือนเป็นทูตประเทศไทย “Thailand Ambassador”