ชี้กัมพูชาเร่งขยายพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง

ชี้กัมพูชาเร่งขยายพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง

สศก.เผยแนวโน้มกัมพูชาขยายพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังต่อเนื่อง หลังได้เปรียบในด้านต้นทุนและค่าจ้างแรงงานถูก เตรียมรุกฐานการส่งออกไปยังตลาดจีน

นายอนันต์ ลิลา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)เปิดเผยถึงผลการศึกษาศักยภาพสินค้าเกษตรเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกรณีศึกษา : มันสำปะหลังในราชอาณาจักรกัมพูชาว่า กัมพูชานับเป็นประเทศผู้ผลิตมันสำปะหลังอันดับที่ 13 ของโลกและผลิตมากเป็นอันดับที่ 4 ในอาเซียน รองมาจาก อินโดนีเซีย ไทย และเวียดนาม โดยจากข้อมูลองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) พบว่า มันสำปะหลังเป็นสินค้าเกษตรที่กัมพูชาผลิตมากเป็นอันดับที่ 2 รองมาจาก ข้าว ซึ่งกัมพูชาได้ขยายพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการส่งเสริมและพัฒนาการปลูก การปรับปรุงพันธุ์เพื่อให้ได้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น โดยมีความได้เปรียบในด้านต้นทุนการผลิตมันสำปะหลังที่ต่ำ เนื่องจากสภาพดินมีความอุดมสมบูรณ์ และเกษตรกรยังเพาะปลูกโดยอาศัยธรรมชาติเป็นหลัก มีการใช้แรงงานคนมากกว่าใช้เครื่องจักรกล ประกอบกับค่าจ้างแรงงานถูก

สำหรับการผลิตมันสำปะหลังของกัมพูชา มีทั้งการผลิตเพื่อใช้ภายในประเทศ และการส่งออก ผลผลิตส่วนใหญ่แปรรูปเป็นมันเส้น และแป้งมันสำปะหลัง ซึ่งมันเส้นส่วนใหญ่จะส่งออกมาประเทศไทย ส่วนแป้งมันสำปะหลังจะส่งออกไปยังประเทศเวียดนาม จึงถือได้ว่าประเทศไทยและประเทศเวียดนามเป็นช่องทางสำคัญในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของกัมพูชา นอกจากนี้ ประเทศกัมพูชายังมีการส่งออกหัวมันสดไปยังประเทศเวียดนาม สำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตแป้งมันสำปะหลังอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์ศักยภาพการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในตลาดโลก พบว่า ทั้งไทยและกัมพูชามีความได้เปรียบ เมื่อเปรียบเทียบในการส่งออกมันเส้นและแป้งมันสำปะหลังไปยังตลาดโลก โดยการวิเคราะห์ตำแหน่งและความสามารถในการแข่งขัน (BCG) โดยการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยนั้น อยู่ในตำแหน่งกลุ่มสินค้าทำเงิน (Cash Cows) และกัมพูชาอยู่ในตำแหน่งกลุ่มสินค้าที่มีปัญหา (Question Marks) และจากการศึกษา ยังพบว่า หน่วยงานภาครัฐและเอกชนของกัมพูชา อยากให้นักธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมมันสำปะหลังในประเทศกัมพูชา เพื่อเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมมันสำปะหลังร่วมกัน

นอกจากนี้ กัมพูชายังมีแผนที่จะขยายการส่งออกมันสำปะหลังไปยังประเทศจีนโดยตรงผ่านท่าเรือที่เมืองสีหนุวิลล์ ซึ่งผู้นำเข้าจีนได้เริ่มเจรจากับผู้ประกอบการกัมพูชาแล้ว เพื่อดำเนินการปรับปรุงโลจิสติกส์ในบริเวณดังกล่าวให้สามารถดำเนินการได้โดยเร็ว ทั้งนี้ ในส่วนของประเทศไทยการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ควรมีมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลัง เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่และลดต้นทุนการผลิต ให้เกษตรกรแปรรูปมันสำปะหลังเพื่อเพิ่มมูลค่า มีความหลากหลายในผลิตภัณฑ์ ตลอดจนมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของตลาดสนับสนุนผู้ประกอบการขยายฐานการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านที่มีทรัพยากรและแรงงานถูกเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในการส่งออกสินค้าไปนอกอาเซียน