"ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์" ฝากคำมั่นโต 30% ทุกปี

ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 จาก ธุรกิจห้องแถวสู่บริษัทมหาชนทายาทคนโตดวงใจ แก้วบุตตาน้อมรับโจทย์ยักษ์ของพ่อ ไม่เกิน 5 ปี พอร์ตสินหมื่นล.
“ธุรกิจของตัวเองไม่กลับมาทำก็ช่างมัน!!”
สิ้นเสียง “คำตัดพ้อ” ของผู้เป็นพ่อ “ฉัตรชัย แก้วบุตตา” เจ้าของ บมจ.ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 หรือ SAWAD “เอื้อย-ดวงใจ แก้วบุตตา” ในฐานะกรรมการผู้จัดการ ลูกสาวคนโตจากจำนวนพี่น้อง 2 คน รีบลาออกจากตำแหน่งความเสี่ยงระบบไอทีของบริษัทตรวจสอบบัญชีแห่งหนึ่งทันที เพื่อมานั่งบริหารงานตามคำสั่งของพ่อเมื่อ 6 ปีก่อน หลังทำงานประจำได้แค่ 2 ปี
บมจ.ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ บ้านและโฉนดที่ดิน สินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่ และสินเชื่อส่วนบุคคลแบบไม่มีหลักประกัน เจ้าของสโลแกน “มีบ้านมีรถ เงินสดทันใจ" มีแผนจะเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ภายในเดือนพ.ค.2557
ด้วยการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 250 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท คิดเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนหุ้นสามัญเรียกชำระแล้ว ส่งผลให้ทุนจดทะเบียนและชำระแล้วเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 ล้านบาท จาก 750 ล้านบาท
หลังขายหุ้นไอพีโอ “ตระกูลแก้วบุตตา” จะมีสัดส่วนการถือหุ้นจำนวน 60.51 เปอร์เซ็นต์ขณะที่ “ดร.ทนง พิทยะ” ก๊วนตีกอล์ฟ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและอดีตนายแบงก์ ในฐานะประธานกรรมการ “ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979” จะเหลือหุ้น 0.75 เปอร์เซ็นต์
“ดวงใจ” ที่กำลังตั้งท้องได้ 4 เดือน ไม่ขอเปิดเผยอายุ แต่เธออายุห่างจากน้องสาวคนเล็ก 3 ปี เล่าทางเดินชีวิตให้ฟังว่า แม้จะช่วยงานครอบครัวมาตั้งแต่เด็ก แต่ก็เลือกที่จะไม่ทำงานกับพ่อ หลังเรียนจบปริญญาตรีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปริญญาโท คณะวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัย เดอ พอท ประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะอยากออกไปหาประสบการณ์ในบริษัทเอกชนก่อน สุดท้ายทำงานได้ 2 ปี ก็ต้องออกมาช่วยท่านตามคำขอ
ธุรกิจครอบครัว เกิดขึ้นครั้งแรกภายในตึกแถวเล็กๆ จังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อปี 2522 เริ่มต้นด้วยธุรกิจขายรถไถนา จนมาถึงธุรกิจปล่อยเงินกู้ ด้วยวิธีจำนำทะเบียนรถเป็นหลักประกัน ภายใต้ชื่อ “ศรีสวัสดิ์ เพชรบูรณ์” ซึ่งนำมาจากชื่อของคุณแม่ “ศรีสวัสดิ์ แก้วบุตตา” เมื่อกิจการเริ่มเป็นที่รู้จัก เราเริ่มเป็นเจ้าตลาดในจังหวัดเพชรบูรณ์ ลูกค้ามานอนรอร้านเปิดตั้งแต่ 7 โมงเช้า ตอนนั้นบริษัทมีพนักงานแค่ 2-3 คนเท่านั้น
เมื่อเข้ามาเรียนต่อในกรุงเทพ ด้วยความที่พ่อเป็นคนติดลูกๆ มาก ท่านจึงตามมากรุงเทพด้วย ท่านไม่มามือเปล่าแต่ยังไล่เปิดร้านปล่อยสินเชื่อตลอดเส้นทางที่จะเข้ากรุงเทพ เชื่อหรือไม่ รายได้ดีทุกสาขา แต่เมื่อเมืองไทยเกิดวิกฤติ ปี 2540 พ่อเริ่มหาเงินกู้ยากขึ้น ทำให้ต้องชะลอการปล่อยสินเชื่อลดลง และหันมาเก็บหนี้จากลูกค้าแทน
ช่วงเศรษฐกิจไม่ดี ลูกค้าไม่มีเงินจ่าย ช่วงนั้นพ่อจะยึดรถของลูกค้ามาได้เยอะมาก เชื่อหรือไม่ ที่ดินหลังบ้านมีรถบรรทุกจอดแน่นพื้นที่ไปหมดจนแทบจะเปิดประตูรถไม่ได้ แต่หลังวิกฤตเราก็ขายรถออกไปหมด ทำให้กระแสเงินสดกลับเข้ามาอย่างเร็วมาก
ต่อมาเมื่อปี 2550 กลุ่มเอไอเอ ซึ่งมี “เอไอจี” หรือ “อเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนล กรุ๊ป” กลุ่มธุรกิจประกันและผู้ให้บริการทางการเงินยักษ์ใหญ่ สัญชาติอเมริกัน เข้ามาเจรจาขอร่วมทุนกับกลุ่มศรีสวัสดิ์ และเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ซีเอฟจี เซอร์วิส จำกัด สร้างแบรนด์ทางการค้า “ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ” ทำตลาดทั่วประเทศ
ตอนนั้นพ่อเริ่มวางทางหนีทีไล่ เพื่อรองรับสิ่งที่ไม่คาดคิด นั่นคือ ซื้อบริษัท พีวี แอนด์เคเคเซอร์วิส 2008 แล้วเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นบริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 จำกัด ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท แต่ยังเปิดไม่ดำเนินธุรกิจในตอนนั้น จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในช่วงปี 2552 ผลพวงจากวิกฤตการณ์ทางการเงินในสหรัฐอเมริกา กลุ่มเอไอจีเจอปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างหนักและประกาศนโยบายบังคับให้บริษัทลูกในเครือตัดขายธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก ซึ่งรวมถึงธุรกิจให้บริการสินเชื่อรายย่อยอย่าง “ซีเอฟจี เซอร์วิส” ด้วย
เอไอจี ได้รับการติดต่อจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเวลานั้นมี กลุ่ม จีอี แคปปิตอล อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง คอร์ปอเรชั่น (GECIH) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เสนอซื้อกิจการ “ซีเอฟจี เซอร์วิส” จำนวนร้อยเปอร์เซ็นต์ ขณะที่ “กลุ่มแก้วบุตตา” พยายามเจรจาซื้อคืนกิจการทั้งหมดจากเอไอจีเช่นกัน โดยเสนอราคาหลายรอบ แต่สุดท้าย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา บรรลุข้อตกลงฮุบ “ซีเอฟจี เซอร์วิส” ทั้งหมด รวมถึงแบรนด์ทางการค้า “ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ” ด้วย
เธอ บอกว่า หลังจากไม่สามารถซื้อคืนกิจการที่บุกเบิกมากับมือได้ เราจึงเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส ด้วยการซื้อบริษัท พาวเวอร์ 99 จำกัด แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น “ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์” เพื่อประกอบธุรกิจรับจ้างจัดเก็บหนี้และบริการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ
ต่อมาในปี 2553 ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 5 ล้าน เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 จำกัด เพื่อเริ่มดำเนินธุรกิจให้บริการสินเชื่อจำนำรถทุกประเภท รวมถึงการให้บริการสินเชื่อประเภทที่อยู่อาศัย
การรุกขยายสาขาและทำตลาดแบบติดจรวด โดยเฉพาะการใช้แบรนด์ “ศรีสวัสดิ์” เป็นตัวรุก ไม่ต่างจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งกลุ่มจีอี แคปปิตอลฯ ต้องการขยายตลาดสินเชื่อรายย่อยอย่างเข้มข้น และมองว่าการทำตลาดของกลุ่มแก้วบุตตาสร้างความสับสนให้กลุ่มลูกค้า จึงประกาศยื่นฟ้องต่อศาล เพื่อบังคับ “ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979” ยกเลิกการใช้ชื่อ “ศรีสวัสดิ์” ทำตลาด
สุดท้ายศาลไม่ได้มีคำสั่งตามคำร้องขอของธนาคารกรุงศรีอยุธยา โดยให้เหตุผลว่า ชื่อ “ศรีสวัสดิ์” เป็นชื่ออำเภอในจังหวัดกาญจนบุรี และเป็นชื่อทั่วไปที่สามารถนำมาจดจัดตั้งบริษัทได้ ขณะที่ตัวแบรนด์มีความแตกต่างกัน เนื่องจากกลุ่มศรีสวัสดิ์พาวเวอร์ไม่ได้หยิบคำว่า “ศรีสวัสดิ์” เข้ามาอยู่ในโลโก้และแบรนด์ ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น มหากาพย์ “ศรีสวัสดิ์” ยังไม่ได้ยุติแบบเด็ดขาดและมีสิทธิ์เปิดภาคต่อได้ทุกเมื่อด้วย
“กรรมการผู้จัดการ” เล่าว่า หลังจากไม่สามารถซื้อกิจการเดิมคืนได้ กลุ่มแก้วบุตตา ก็ออกมาตั้งบริษัทเองใหม่ เปิดสาขาแรกที่อำเภอหัวหิน ประจวบคีรีขันธ์ โดยเงินลงทุนมาจากการนำที่ดินเข้าจำนำในธนาคาร เพื่อนำเงินออกมา 500 ล้านบาท ใช้ในการขยายสาขา ปัจจุบันเรามีสาขา 602 สาขา
เธอ เล่าแผนธุรกิจให้ฟัง ว่า อีก 3-5 ปีข้างหน้า (2557-2561) อยากเห็นบมจ. ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 มีจำนวนสาขา 1,000 แห่ง มีพอร์ตสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท ตั้งเป้ารายได้เติบโตทุกปีเฉลี่ย 20-30 เปอร์เซ็นต์
ที่สำคัญอยากเห็น เรื่องการสร้างระบบสินเชื่อรายย่อย หรือ “Micro Finance” อย่างมีมาตรฐาน คิดอัตราดอกเบี้ยอย่างเป็นธรรม และสร้างโมเดลธุรกิจที่เรียกว่า “ร้านสะดวกซื้อทางการเงิน” เพื่อเปิดช่องทางให้ลูกค้าระดับชาวบ้านทั่วไปเข้าถึงแหล่งเงินทุนง่ายขึ้น
“ใครมีปัญหาเรื่องการเงินมาปรึกษาเรา เดี๋ยวจัดให้”
สำหรับกลยุทธ์บริษัทจะเปิดสาขาในแหล่งพื้นที่ชุมชนทุกจังหวัดทั่วประเทศ ตั้งเป้าที่จะเปิดสาขาทั่วประเทศปีละ 50-100 สาขา เพื่อคงความเป็นผู้นำด้านบริการทางการเงินที่ใกล้ชิดชุมชน ด้วยประสบการณ์มายาวนานกว่า 30 ปี เราจะเน้นการให้บริการรวดเร็วรู้ผลภายใน 30 นาที ผ่านสาขาที่กระจายแทบทุกจังหวัด ควบคู่พัฒนาระบบบริหารความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อที่มีคุณภาพ
“บริษัทตั้งทีมงานพร้อมต้อนรับ AEC แล้ว “เขมร-พม่า-ลาว” คือ ประเทศที่เราจะเข้าไปทำธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์”
สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2553 ถึงไตรมาส 3 ของปี 2556 พอร์ตสินเชื่อของบริษัทขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 45 เปอร์เซ็นต์ต่อปี โดยปี 2553 พอร์ตเพิ่มจากระดับ 1,960 ล้านบาท เป็น 5,387 ล้านบาท ณ สิ้นไตรมาส 3/2556
ส่วนรายได้เพิ่มขึ้นจาก 557.24 ล้านบาท ในปี 2553 เป็น 1,306 ล้านบาท ในปี 2555 และ 1,402 ล้านบาท ในงวด 9 เดือนปี 2556 คิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ย 40 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ด้าน “กำไรสุทธิ” เพิ่มขึ้นจาก 5 ล้านบาทในปี 2553 เป็น 362 ล้านบาท ในปี 2555 และ 443 ล้านบาท ในงวด 9 เดือนปี 2556 คิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ยถึง 401 เปอร์เซ็นต์ต่อปี
ตลาดหุ้นแหล่งลงทุนชั้นดี
“ดวงใจ แก้วบุตตา” ในฐานะนักลงทุน เล่าว่า รู้จักตลาดหุ้นตั้งแต่เด็กๆ เพราะว่าพ่อให้อ่านหนังสือพิมพ์เศรษฐกิจทุกวัน ทำให้รู้จักบริษัทจดทะเบียนในตลาดที่อยู่ในหมวดการเงิน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มธนาคาร หรือสินเชื่อรถยนต์ ตอนนั้นไม่รู้แค่ว่า เขาซื้อขายหุ้นอย่างไร
“ไม่อยากฝากเงินธนาคาร เพราะให้ดอกเบี้ยน้อย แต่คิดดอกเบี้ยแพง” นั่นคือ จุดเริ่มต้นของการลงทุน ทำงานมาได้สักพักเพื่อนสนิทมาชวนลงทุนในตลาดหุ้น ตอนนั้นเราเงินเดือนแค่ 17,000 บาท แต่พอมีเงินเก็บอยู่บ้าง ก็นำมาลงทุนในตลาดหุ้นหมด
หุ้นตัวแรกที่ซื้อจำแม่น!! คือ “หุ้น ธนาคารกรุงเทพ” หรือ BBL จำต้นทุนซื้อไม่ได้ รู้เพียงว่า ใช้เงินหลัก “หมื่นบาท” ซื้อหุ้นทั้งหมด แต่ถืออยู่ได้ไม่กี่เดือนก็ขายโกยกำไร (หัวเราะ)
แต่พอมาทำงานกับครอบครัวก็หยุดลงทุน งานยุ่งมาก ไม่มีเวลาดูหุ้น ที่ผ่านมาแบ่งพอร์ตลงทุนออกเป็น 2 ส่วน พอร์ตแรกเป็นหุ้นพื้นฐาน หุ้นปันผล อีกพอร์ตเป็นหุ้นเก็งกำไร เรายังกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์อื่นๆด้วย ฉะนั้นพอร์ตลงทุนจึงแบ่งเป็นตลาดหุ้น 50 เปอร์เซ็นต์ อสังหาริมทรัพย์ 30 เปอร์เซ็นต์ และอีก 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นการลงทุนในพันธบัตร
เพิ่งกลับมาลงทุนอีกครั้งเมื่อปี 2556 โดยยังคงเน้นกลยุทธ์ซื้อหุ้นที่รู้จัก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มธนาคาร อาทิ หุ้น ธนาคารกรุงเทพ หรือ BBL หุ้น ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK หุ้น ฐิติกร หรือ TK แต่ปัจจุบันล้างพอร์ตเกลี้ยงแล้ว เพราะไม่มั่นใจสถานการณ์ตลาดหุ้นที่ค่อนข้างผันผวน