ค่าเสื่อมราคา

ค่าเสื่อมราคา

ขอนำประเด็นปัญหาค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคามาปุจฉา - วิสัชนา ดังนี้

ปุจฉา รบกวนสอบถามเรื่องการคำนวณค่าเสื่อมราคารถยนต์นั่ง กรณีรถยนต์นั่งซื้อมามูลค่า 1,080,000.00 คิดค่าเสื่อมโดยกำหนดซาก 300,000.00 บาทตามมาตรฐานบัญชีที่ให้ทบทวนราคาทรัพย์สิน แล้วทางภาษีต้องคิดค่าเสื่อมอย่างไร่ค่ะ ต้องใช้ซาก 1 บาทหรือ 300,000 บาทคะ ขอบคุณค่ะ

วิสัชนา การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คนตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต เพื่อประโยชน์ในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ เป็นไปตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 ซึ่งมีหลักเกณฑ์ พอสรุปได้ดังนี้

1. ค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน ให้หักได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและอัตราที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527

2. เมื่อบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้เลือกใช้วิธีการทางบัญชีที่รับรองทั่วไป และอัตราที่จะหักในการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินอย่างใดแล้ว ให้ใช้วิธีการทางบัญชีที่รับรองทั่วไป และอัตราที่จะหักอย่างใดแล้ว ให้ใช้วิธีการทางบัญชีและอัตรานั้นตลอดไป เว้นแต่ จะได้รับอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงจากอธิบดีกรมสรรพากร หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายและให้ถือปฏิบัติตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับอนุมัตินั้น (มาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527)

3. การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินให้คำนวณหักตามระยะเวลาที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีในกรณีที่รอบระยะเวลาใดไม่เต็มสิบสองเดือนให้เฉลี่ยตามส่วนสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ทั้งนี้ ไม่เกินอัตราร้อยละของมูลค่าต้นทุนตามประเภทของทรัพย์สิน ตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527

4. ทรัพย์สินประเภทรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคนตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาจากมูลค่าต้นทุน เฉพาะส่วนที่ไม่เกินหนึ่งล้านบาท เว้นแต่เป็นทรัพย์สินซึ่งมีไว้ใช้ในกิจการให้เช่ารถยนต์ ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาจากมูลค่าต้นทุนทั้งหมด ทั้งนี้ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะต้องไม่นำทรัพย์สินดังกล่าวไปใช้ในกิจการอื่น ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

ต่อข้อถาม ขอเรียนว่า

การคำนวณค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคารถยนต์นั่งซึ่งซื้อมามูลค่า 1,080,000 บาท นั้น ในทางภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้คำนวณจากมูลค่าต้นทุนตามที่ซื้อมา แต่ไม่เกิน 1 ล้านบาท สำหรับค่าซากให้นำไปหักในรอบระยะเวลาบัญชีท้ายๆ ของอายุการใช้งาน เช่น จากกรณีตามประเด็นปัญหาข้างต้น ให้คำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาจากมูลค่าต้นทุน 1 ล้านบาท สมมติเลือกใช้วิธีเส้นตรงอายุการใช้งาน 5 ปี จะได้ค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาปีละ 200,000 บาท เมื่อหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาไปครบ 3 ปี จะมีมูลค่าทรัพย์สินทางบัญชีอยู่ 480,000 บาท ให้นำมูลค่าซากที่ในทางบัญชีกำหนดว่ามีมูลค่า 300,000 บาท มาหักออก ก็จะเหลือมูลค่าต้นทุนรถยนต์นั่งที่หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาได้อีกเพียง 180,000 บาท ในปีที่ 5 จะไม่มีค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาสำหรับทรัพย์สินรายการนี้

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ