Pet Lover Business ธุรกิจคลั่งสัตว์เลี้ยง

เลี้ยงเหมือนน้อง ดูแลเหมือนลูก ใส่ใจเหมือนคนรัก ยอมจ่ายหนักดูแล พวกเขาคือเหล่า Pet Lover ปรากฏการณ์ที่เป็นมากกว่ากระแสแต่คือโอกาสธุรกิจ
ห้องวีไอพีในโรงพยาบาล แพทย์เฉพาะทางสำหรับสัตว์เลี้ยง อาหารเสริม ของเล่น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เสื้อผ้าและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์สำหรับสัตว์ สตูดิโอถ่ายภาพ บริการแท็กซี่นำส่งโรงพยาบาล บริการอาบน้ำแต่งขนถึงบ้าน คาเฟ่และโรงแรมสำหรับสัตว์เลี้ยง ศูนย์ฝึก ศูนย์รับฝาก กระทั่งบริการฌาปนกิจสัตว์เลี้ยงแสนรัก ฯลฯ
นี่คือตัวอย่าง “เบาะๆ” ของสารพัดธุรกิจที่ผุดขึ้น สนองความต้องการของ “Pet Lover” มหาชนคนรักสัตว์เลี้ยง ที่ทวีขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา
คนยุคก่อน อาจเลี้ยงสัตว์ไว้เฝ้าบ้าน หรือเลี้ยงไว้เป็นเพื่อนแก้เหงา แต่กับคนยุคนี้ พวกเขามีสัตว์เลี้ยงเป็นดั่ง “ลูกรัก” สมาชิกคนสำคัญของครอบครัว รับสภาพสังคมยุคใหม่ ที่คนโสดมีมากขึ้น คนแต่งงานช้าลง มีลูกช้า ไม่ตั้งท้อง หลายคนเลยเลือกเลี้ยงสัตว์ไว้เป็นลูก
“สัตว์เลี้ยง” จึงเติมเต็มความเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์ให้กับคนยุคนี้
“ผมเองก็ไม่มีลูก เลยเลี้ยงสุนัขต่างลูกสาว เลี้ยงในบ้าน นอนในห้องนอน ตะกี้ก็เพิ่งซื้อที่ขัดหินปูนให้เขาไป 800 บาท ขณะที่ยาสีฟันของผมเองยังไม่ถึง 80 บาทเลย” (หัวเราะ)
คำบอกเล่าของหนึ่ง Pet Lover “ปณิธาน บำราศอรินทร์พ่าย” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานจัดการประชุม บริษัท เอ็น.ซี.ซี แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด ผู้จัดงาน PET Expo Thailand 2014 งานรวมพลคนรักสัตว์เลี้ยง พูดถึงความคลั่งไคล้ของตัวเอง ที่มีต่อน้องหมาพันธุ์บางแก้ว ซึ่งเลี้ยงมาประมาณ 4 ปี ซื้อมาในราคา 7,000 บาท และหมดเงินไปกับ “ลูกรัก” ถึงวันนี้เหยียบแสนบาท! แล้ว
“ล่าสุดเขาซนมาก เผลอกลืนนอตตัวเล็กๆ เข้าไป พาไปโรงพยาบาลต้องเข้าผ่าตัด เฉพาะเหตุการณ์นั้นหมดเงินไปห้าหมื่นบาท!”
ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล เป็นเพียง “รายจ่าย” ส่วนหนึ่งที่เหล่า Pet Lover ยอมทุ่มไปให้กับสัตว์เลี้ยง ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายตั้งแต่ “ค่าตัว” ที่บางประเภท บางสายพันธุ์ ก็ขายกันในราคาหลักหมื่น หลักแสน ค่าอาหาร อาหารเสริม ค่าผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ของเล่นฝึกทักษะ อยากให้มีวินัยก็ต้องส่งเข้าโรงเรียน ไปเพิ่มทักษะที่ศูนย์ฝึกค่าใช้จ่ายก็หลักหมื่นบาท อยากสุขภาพดีก็ส่งไปว่ายน้ำ ไปสปา ไหนจะค่าข้าวของเครื่องใช้ “สุดพิเศษ” สร้างความโดดเด่นให้เหล่าลูกรัก
“เมื่อก่อนเวลามางานสัตว์เลี้ยง เรายังเห็นภาพที่เจ้าของจูงมาบ้าง แต่วันนี้เขาใส่รถเข็นเด็กมา ใส่เอี๊ยมอุ้มด้านหน้าเหมือนลูกเลย ซึ่งการมาออกงานของเขาก็เหมือนได้มาโชว์ลูกๆ ด้วย”
เขาบอกเทรนด์ของคนรักสัตว์ ที่ปรากฏให้เห็นในงานแสดงสินค้าเพื่อสัตว์เลี้ยง หลายคนจัดเต็มพร๊อพที่สวมใส่ให้เป็นธีมเดียวกับลูกรัก ขณะที่เสื้อผ้าบางแบรนด์ ก็ดีไซน์ให้กับทั้งคนและสัตว์เลี้ยง ภาพการแสดงตัวตนของคนรักกัน เลยสะท้อนผ่าน การเติบโตของผู้ประกอบการ สินค้าและบริการเพื่อสัตว์เลี้ยง ที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง ผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ยังทยอยออกสู่ตลาด ขณะที่ภาพรวมตลาด พบว่า เมืองไทยมีคลับของสัตว์เลี้ยงเยอะขึ้น เป็นที่นัดพบของชุมชนคนเลี้ยงสัตว์ประเภทเดียวกัน โซเชียลเน็ตเวิร์คเปิดกว้าง แจ้งเกิดเหล่า “เซเลบสัตว์เลี้ยง” ที่มีแฟนเพจทั่วบ้านทั่วเมือง ไม่ต่างจากศิลปินดารา ต่อยอดไปเป็นผลิตภัณฑ์สนองเหล่าสาวกที่ขายดิบขายดีไม่ต่างกัน เวลาเดียวกับที่ “สื่อเพื่อคนรักสัตว์” ผุดขึ้นมากมาย ทั้งสื่อออนไลน์ นิตยสาร กระทั่งรายการโทรทัศน์สำหรับคนรักสัตว์โดยเฉพาะ
ขณะเทรนด์การเลี้ยงสัตว์ ไม่ได้มีเพียงสัตว์เลี้ยงพื้นๆ อย่าง สุนัข และแมวเท่านั้น แต่ยังหลากหลาย และแปลกต่าง ขึ้นกับ “จริต” ของผู้เลี้ยง อย่างพวกสัตว์หายาก จำพวก กิ้งก่าทะเลทราย แมงมุม งู เหยี่ยว นกฮูก นกอินทรีฯลฯ
“สัตว์เลี้ยง” จึงไม่ใช่แค่ “ลูกรัก” แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนตัวตนของผู้เลี้ยง
“ทุกวันนี้ เจ้าของยอมจ่ายเพื่อสัตว์เลี้ยงมากขึ้น คนมีฐานะมากๆ เมื่อก่อนอาจจ่ายแสนนึง แต่เดี๋ยวนี้ยอมจ่าย 3-4 แสนบาท คนฐานะปานกลางอาจจะจ่าย 3 หมื่นบาท ปัจจุบันกล้าจ่ายถึง 6-7 หมื่นบาท ขณะเด็กจบใหม่บางทีทำงานได้เงินเดือน 2-3 หมื่นบาท แต่ยอมจ่ายเงินกับสัตว์เลี้ยงถึงเกือบหมื่นบาท นั่นหมายถึง เกือบ 30% ของรายได้เขาเลยนะ”
ข้อมูลสุดตะลึงจาก “น.สพ.บุญชู ทองเจริญพูลพร” กรรมการผู้อำนวยการ โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ ผู้นำในตลาดการรักษาสัตว์ภาคเอกชน ที่อยู่ในสนามมาถึง 20 ปี สะท้อน “กำลังซื้อ” ไม่ธรรมดาของเหล่าคนรักสัตว์เลี้ยง
“เขายอมจ่าย เพราะเขาเลี้ยงเหมือนลูก เหมือนคนในครอบครัว จึงยอมทุ่มเท คนสมัยนี้ รักสัตว์ ก็รักจริงๆ นะ”
เมื่อตลาดเปลี่ยน และเหล่า Pet Lover เริ่มเรียกร้องความพิเศษในการรับบริการจากโรงพยาบาลสัตว์มากขึ้น ผู้ให้บริการอย่างพวกเขาเลยต้องปรับตัว เพื่อสนองความต้องการของลูกค้า ตั้งแต่การพัฒนา “สัตวแพทย์เฉพาะทาง” เพิ่มมากขึ้น ครอบคลุมสารพัดอาการป่วย และลงลึกในเรื่องต่างๆ มากขึ้น มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย มาตรฐานสากล ขณะที่การบริการก็ยกระดับให้สูงขึ้นตามกำลังกระเป๋าของลูกค้า
“อย่างเรามีห้องวีไอพี ที่ให้เจ้าของสามารถนอนกับสัตว์เลี้ยงได้ นี่คือการครีเอทขึ้นจากความต้องการของลูกค้า จากแต่เดิมมีห้องรวม เขาก็รู้สึกไม่ค่อยสะดวก จน 5-6 ปี ก่อน เลยทำเป็นห้องวีไอพีขึ้นมา ปรากฏได้รับการตอบรับดี และตอนนี้ทุกสาขาของโรงพยาบาลก็มีห้องวีไอพีหมดแล้ว”
ราคาห้องวีไอพีตกคืนละ 2,000-3,000 บาท พร้อมสรรพด้วยที่หลับที่นอน ทีวี ตู้เย็น ห้องน้ำ ประหนึ่งห้องพิเศษในโรงพยาบาลคน ขณะที่เคสไหน “ซีเรียส” ก็มีอุปกรณ์ทางการแพทย์ อำนวยความสะดวกพร้อม
“ลูกค้ากลุ่มบนเรามีประมาณ 20% แต่ 20% นี้ สร้างรายได้ให้กับโรงพยาบาลถึง 80%”
นั่นคือความน่าสนใจของตลาด Pet Lover กลุ่มบน ที่สร้างรายได้หลักให้กับโรงพยาบาลในวันนี้ โดยตลาดรวมสถานพยาบาลเพื่อการรักษาอยู่ที่ประมาณ 7,000 ล้านบาท ต่อปี ขณะที่โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อกินส่วนแบ่งอยู่ประมาณ 10% มีสัตวแพทย์อยู่ 120 คน และพนักงานอีก 450 คน
ธุรกิจยังคงเติบโตต่อเนื่อง ตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และความรักที่มีต่อสัตว์เลี้ยง และไม่ได้จำกัดแค่ในกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงตลาดต่างจังหวัด โดยเขาบอกว่าปัจจุบันโรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ มีสาขาทั้งหมด 13 สาขา และวางแผนขยายปีละประมาณ 2 สาขา ล่าสุดเพิ่งเปิดที่สาขาเชียงใหม่ โดยพิจารณาจากจังหวัดที่เศรษฐกิจดี รายได้ประชากรต่อหัวดี แล้วคำนวณกลับมาเป็นประชากรสัตว์เลี้ยง
“เมื่อไรที่เศรษฐกิจดี คนมีกำลังซื้อ เขาก็จะใช้จ่ายกับสัตว์เลี้ยงมากขึ้นเช่นกัน เป็นอะไรที่ต่อเนื่องกัน ทุกครั้งที่เกิดวิกฤติ จะพบว่าตลาดการรักษาสัตว์จะกระทบไม่มากนัก เพราะยังเป็นสิ่งจำเป็น ผมมองว่า ทุกวันนี้ สัตว์เลี้ยง กลายเป็นปัจจัยที่ 5-6 ของคนเราไปแล้ว”
กรรมการผู้อำนวยการ โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ ประเมินมูลค่าตลาดรวมของธุรกิจสัตว์เลี้ยงว่า ไม่น่าจะต่ำกว่า 22,000 ล้านบาท โดยตลาดใหญ่ที่สุดยังคงเป็น อาหาร ที่มีไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท รองลงมาคือ ตลาดการรักษาพยาบาล ที่คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 7,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือคือ ผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยง
ขณะที่ “สิริญาพัทธ์ เทียนรุ่งศรี” นายกสมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงไทย บอกว่า มูลค่าผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยงในปีที่ผ่านมา อยู่ที่ประมาณ 11,000 ล้านบาท โดยเติบโตทุกปี ปีละไม่ต่ำกว่า 10-15% แม้ปีนี้อาจชะลอตัวไปบ้าง ตามสภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์ภายในประเทศ แต่ยังสามารถเติบโตได้เทียบเท่ากับปีที่ผ่านมา คือประมาณ 10-15%
“ปีนี้เรียกว่าทรงตัว แต่อย่างไรก็ตามอัตราการเติบโตยังคงมีอยู่ เพราะปริมาณคนที่เลี้ยงสัตว์ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเขายังคงจับจ่ายใช้สอยเพื่อสัตว์เลี้ยง ขณะที่คนไทยยังท่องเที่ยวอยู่ตลอด ฉะนั้นสินค้าและบริการที่เกี่ยวกับการเดินทางของสัตว์เลี้ยงก็ยังคงโตอยู่ เช่น โรงแรมที่อนุญาตให้เอาสัตว์เลี้ยงไปพักด้วยได้ รวมถึงพวกศูนย์รับฝากสุนัข เหล่านี้เป็นต้น”
แล้วธุรกิจไหนที่ยังมีโอกาสแจ้งเกิดในตลาดสัตว์เลี้ยง เธอบอกว่า ที่เห็นชัดเลยว่า มีความต้องการเพิ่มขึ้น ก็คือ สระว่ายน้ำสำหรับสัตว์เลี้ยง ศูนย์ออกกำลังกายที่ให้เหล่าสัตว์เลี้ยงได้ไปฟิน รวมถึงธาราบำบัดสำหรับสัตว์เลี้ยง ส่วนที่ยังเป็นช่องว่างอยู่ และมีอนาคต ก็คือ “Delivery” ส่งถึงที่ บริการถึงบ้าน
“ปัจจุบันตลาดออนไลน์บ้านยังอยู่ในช่วงที่กำลังเติบโต และยังมีโอกาสสำหรับสินค้าออนไลน์ รวมถึงสินค้าเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง ขณะที่บริการถึงบ้าน อย่าง การอาบน้ำตัดขนที่บ้าน ซึ่งเป็นแนวคิดมาจากต่างประเทศ ก็ยังมีโอกาสอยู่สูงมาก และคนที่ทำก็ยังมีไม่มาก จึงยังมีรูมให้เล่น”
เธอบอกว่า การทำผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยง เริ่มต้นได้ไม่ยาก นี่จึงเป็นเหตุผลที่มีเอสเอ็มอีหน้าใหม่เข้ามามาก
“สังเกตได้ว่าตลอด 2 ปี ที่ผ่านมา มีคนมาทำสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยงเยอะมาก เพราะมันเริ่มได้ไม่ยาก และมีงานแสดงสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยงเยอะแยะไปหมด ทั้งตามห้างฯ อินดอร์และเอาท์ดอร์ รวมถึงสื่อออนไลน์ ที่จะเป็นช่องทางให้เขาเปิดตัวเองได้ไม่ยาก ขอแค่มีความสามารถ แล้วดึงจุดเด่นของตัวเองออกมาให้ได้ ก็แจ้งเกิดได้ในธุรกิจนี้”
ตลาดสัตว์เลี้ยงไม่ได้มีโอกาสแค่ในประเทศไทย แต่ยังไฉไลได้อีกมาก ในตลาดอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอาหารสัตว์ ซึ่งไทยเป็นฐานผลิตขนาดใหญ่ และส่งออกในระดับโลกอยู่แล้ว ขณะการค้าตามตะเข็บชายแดนก็ยังเติบโตอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา สินค้าหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด หรือกลุ่มอาหารเสริม หลายแบรนด์ไทยก็มีขายอยู่แล้วในต่างประเทศ ขณะที่ ผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์สำหรับสัตว์เลี้ยง ไทยก็เป็นฐานผลิตและมีหัวทางด้านดีไซน์ มีสินค้าที่มีวิวัฒนการกว่าประเทศอื่นในย่านนี้ การเปิดเออีซี จึงเหมือนเปิดให้บายเออร์ต่างชาติ มามองหาสินค้าแปลกๆ ใหม่ๆ มีดีไซน์ที่บ้านเรา ไปขายในอาเซียนได้มากขึ้นด้วย
“สินค้าของเราไปได้ทั่วโลก ไม่ใช่แค่อาเซียน แต่คนที่จะไปต้องรู้กฎกติกา ว่าแต่ละประเทศเป็นอย่างไร และจะส่งออกไปอย่างไร เขาต้องมีความพร้อม เพราะการขายในประเทศไทย กับการส่งออก มีเงื่อนไขทางธุรกิจที่ต่างกัน ทางสมาคมฯ ก็ได้มีการพูดคุยกัน และในปีนี้เราได้ทำแผนการส่งออกขึ้นมาอย่างชัดเจน เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการที่ต้องการส่งออกไปอาเซียนอย่างจริงจัง”
ปณิธาน ยังบอกเราว่า มีโอกาสอย่างมากที่ไทยจะเป็นศูนย์กลางธุรกิจสัตว์ของอาเซียน เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเปิดสำหรับสัตว์เลี้ยงทุกชนิด ส่วนด้านการสัตวแพทย์ และปศุสัตว์ของไทย ก็มีพัฒนาการที่ก้าวหน้า บุคลากรทางการแพทย์มีความพร้อม และเชี่ยวชาญ ขณะที่กลุ่มอาหารสัตว์เราก็อยู่ในระดับโลก
“ผมเชื่อว่า เราเป็นเทรนด์เซทเตอร์ในการเลี้ยงสัตว์ในเออีซี เพราะเรามีเซเลบ ดารา คนมีชื่อเสียงที่ได้รับการยอมรับในอาเซียน เป็นคนเลี้ยงสัตว์ อย่าง แพนเค้ก, อั้ม-พัชราภา เหล่านี้ บวกกับปัจจัยที่กล่าวไปแล้วข้างต้น จึงไม่ยากที่ไทยจะกลายเป็นฮับธุรกิจสัตว์เลี้ยงในอาเซียน”
กับปรากฏการณ์ที่คงไม่ใช่แค่กระแส หรือแฟชั่น แต่คือ โอกาสธุรกิจ “ของจริง” ในตลาด Pet Lover
.............................................
ไอเดียธุรกิจคิดจากสัตว์
“DADDY PET” คือ เฟอร์นิเจอร์สำหรับสัตว์เลี้ยง ของ “เกดสุดา เมธีวิวัฒน์” ที่ฉีกไอเดียการทำเฟอร์นิเจอร์ให้สัตว์ใช้ มาทำเฟอร์นิเจอร์ที่คนและสัตว์สามารถใช้งานร่วมกันได้ และยังใช้ต่อได้แม้ไม่มีสัตว์เลี้ยง อย่างเช่น เก้าอี้นั่งที่ด้านล่างเป็นที่นอนของสัตว์เลี้ยง สัตว์ไม่ใช้งานก็สามารถทำเป็นที่เก็บหนังสือ หรือของตกแต่งได้ คอนโดแมว ที่ออกแบบให้เป็นชั้นวางหนังสือและของตกแต่ง เหล่านี้เป็นต้น
เธอยอมรับว่า ทำสินค้าได้ แต่ขายไม่เก่ง ที่ทำอยู่ก็แค่เปิดแฟนเพจ “ไมตรี” สุนัขลูกรัก ที่มีแฟนคลับติดตามอยู่พอควร แล้วเอาผลิตภัณฑ์ “DADDY PET” แฝงไปในชีวิตประจำวันของไมตรี ใครสนใจสินค้าตัวไหนก็สั่งซื้อได้ผ่านทางโซเชียล
แม้แต่จานอาหารสัตว์เลี้ยง ก็ไม่ควรเป็นสิ่งแปลกปลอมในบ้าน แต่ต้องสามารถกลืนกลายไปกับเฟอร์นิเจอร์เท่ๆ ที่มีอยู่ในบ้านได้ นั่นคือที่มาของ “barketek” ผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์สำหรับสัตว์เลี้ยง ของสถาปนิกหนุ่ม “ปิยณัฐ รัตนวงศาโรจน์” โจทย์ที่เขาเลือกใช้ในการพัฒนาสินค้าคือ ฟังก์ชันและดีไซน์ที่คิดถึงทั้งคนเลี้ยงและสัตว์เลี้ยง เช่น ถาดใส่อาหารจากไม้เนื้อดี ที่ดูทันสมัย เข้ากับพื้นบ้านได้ดี ขณะที่ลักษณะถาดวางสูงจากพื้น เพื่อสุขภาพของน้องหมา ความน่าสนใจของ barketek คือ ไม่เพียงขายในไทย แต่ปัจจุบันสามารถส่งขายไปที่ฝรั่งเศสได้แล้ว รวมถึงโอกาสในตลาดเอเชีย ด้วยความสามารถของเจ้าของที่สื่อสารภาษาจีนได้ดีอีกด้วย
การเป็นทายาทสัตวแพทย์ เติบโตมากับโรงพยาบาลสัตว์ ทำให้ “เกศคณี สุยะนันทน์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดูเดิลตันส์ แอนด์ เฟรนด์ส จำกัด มีความเข้าใจในสัตว์เลี้ยง การเข้ามาพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยงแบรนด์ “SKETCH” จึงไม่ใช่แค่เน้นดีไซน์เก๋ๆ แต่คือ ต้องคำนึงถึงฟังก์ชันการใช้งาน ที่เหมาะกับสุขภาพที่ดีของสัตว์เลี้ยงด้วย เช่น กระเป๋าพกพาที่เน้นการระบายอากาศ เตียงที่ดีต่อข้อต่อและเส้นเอ็น ขนมกินเล่นที่ไม่ใส่สารกันบูดปลอดภัยต่อสัตว์เลี้ยง ของเล่นที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติ เน้นคุณภาพ และ “ไม่อะลุ่มอล่วย” ให้กับซัพพลายเออร์ที่ทำของดีให้ไม่ได้ โดยผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นต้องผ่านการวิจัยและพัฒนา มีการทดสอบผลิตภัณฑ์และได้รับคำแนะนำจากสัตวแพทย์แล้วเท่านั้น
“ตลาดสัตว์เลี้ยง มีแบรนด์ใหม่ๆ ที่เริ่มใช้คำว่าดีไซน์ และคุณภาพกันมากขึ้น แต่ก่อนคนเลี้ยงหมา เป็นหมา แต่ตอนนี้ คนเลี้ยงเป็นลูก และยิ่งชัดขึ้นเรื่อยๆ เลยทุ่มเทให้กับของใช้สำหรับสัตว์เลี้ยงตามไปด้วย สังเกตเลยว่า ลูกค้าถ้าชอบแบรนด์เราแล้ว เขาจะซื้อทุกอย่างที่เป็นเรา โดยไม่สนใจราคา”
เพราะรักลูก เลยอยากเก็บภาพความประทับใจคู่กับลูกรัก ที่มาของ “F10mm Pet Studio” สตูดิโอสัตว์เลี้ยงแสนรัก ของ “จันทรรัตน์ อดิเรกสาร” และ “แสงอุษา ทรรทรานนท์” ที่เปิดมาประมาณ 2 ปี แต่ยังมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการต่อเนื่อง โดยมีจุดขายที่เข้าใจธรรมชาติสัตว์ และเจ้าของ ให้เวลา ไม่กดดัน ซึ่งค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของลูกค้าแต่ละรายอยู่ที่ 3,000-5,000 บาท รายที่เคยจ่ายมากสุดคือ ถึงประมาณ 2 หมื่นบาท เพื่อลูกรัก
ปิดท้ายกับ “Pet Master” ธุรกิจฌาปนกิจสัตว์เลี้ยงแสนรัก ของ “พลอยทราย ภัสสรศิริ” ที่ให้บริการฌาปนกิจสัตว์เลี้ยงครบวงจร ตั้งแต่เตาเผาไร้มลพิษ พิธีศาสนา พวงหรีด สวดบังสุกุล ลอยอังคาร บริการถ่ายรูป ฯลฯ โดยจัดเป็นแพ็คเกจตั้งแต่ พื้นๆ 1,500 บาท ไปจนแบบ “จัดเต็ม” ครบเซ็ตฌาปนกิจ ที่ราคาตั้งแต่ 5,000- 30,000 บาท ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีมากๆ ทั้งจากลูกค้าคนไทยและต่างชาติในไทย ตลอด 5 ปี ของการทำธุรกิจ
นี่คือไอเดียธุรกิจคิดจากสัตว์ ที่ไม่เพียงแค่แตกต่าง แต่ต้อง "เข้าใจ" สัตว์เลี้ยง
.................................
สูตรแจ้งเกิด "เซเลบ ออนไลน์"
หนึ่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในตลาดคนรักสัตว์เลี้ยง ก็คือ เหล่า “เซเลบสัตว์เลี้ยง” ที่ดังเป็นพลุแตกอยู่ในโลกโซเชียล กรุงเทพธุรกิจBizweek จับเข่าคุย กับสองเซเลบ “กลูต้า” จากหมาหลง สู่ถนนนางแบบ ที่มีแฟนเพจอยู่กว่า 78,000 ไลค์ และ "จอนนี่แมวศุภลักษณ์" หรือที่รู้จักกันในนาม "อาตแมว” กับแฟนเพจกว่า 210,000 ไลค์
“ยอร์ช-สรศาสตร์ วิเศษสินธุ์” เจ้าของและคนแจ้งเกิด “กลูต้า” ในโลกออนไลน์ บรรยายอุปนิสัยของอดีตหมาหลง สารพัดโรค ที่เขานำมาอุปการะว่า “อ่อนน้อมถ่อมตัวสูง” และนิสัยแบบนั้นเองที่ทำให้เจ้ากลูต้า ยิ่งน่ารักน่าชัง และดูพิเศษกว่าสุนัขตัวอื่น ด้วยความที่ชอบถ่ายรูป เลยได้โพสต์รูปเจ้ากลูต้าขึ้นเฟชบุ๊คของตัวเอง ปรากฏคนมาไลค์มากกว่ารูปตัวเขาด้วยซ้ำ จนทำให้ตัดสินใจตั้งเพจส่วนตัวชื่อ “Gluta” ขึ้น แต่นั่นก็ยังไม่ทำให้เจ้ากลูต้าเป็นที่รู้จักมากนัก จนได้มาเขียนกระทู้ลงเว็บพันทิปดอทคอม ตั้งหัวกระทู้ที่สรุปความเป็นกลูต้าสั้นๆ ว่า “กลูต้า จากหมาหลง สู่ถนนนางแบบ” บวกเรื่องราวความเป็นมาที่เรียกความประทับใจให้คนรับรู้ จนกลายเป็นปรากฏการณ์ที่สร้างความสนใจในวงกว้าง มีคนนำกระทู้ไปแชร์ตามเว็บต่างๆ กระทั่งลงหนังสือ น้องหมาโนเนมเลยได้กลาย “ดาว” หลังจากนั้น
วันนี้กลูต้าไม่ได้มีแค่เว็บเพจของตัวเอง แต่ยังมีผลิตภัณฑ์น่ารักๆ ภายใต้แบรนด์ “Gluta Story” ที่หารายได้เพื่อไปช่วยเหลือเพื่อนสัตว์จรจัด ใช้ความเป็น “เซเลบ” สร้างประโยชน์สู่สังคมได้ “เก๋ๆ”
“การจะแจ้งเกิดแบบนี้ ผมว่าอย่างแรกเลยคือ ต้องใหม่ ต้องไม่ซ้ำ มีความเป็นยูนีค เป็นตัวของตัวเอง อย่าง กลูต้า เขาคือ หมาหลง สู่ถนนนางแบบ แต่ถ้ากลูต้าเป็นเพียงแค่หมาจร ที่มีชีวิตดีขึ้น แค่นี้กลูต้าก็คงไม่มาถึงขนาดนี้ และการทำอะไรที่ใหม่ เราก็จะกลายเป็นที่หนึ่ง สมมติมีรายที่สองแล้วใช้คอนเซปต์เดียวกัน..ก็ซ้ำไปแล้ว”
สวมจีวร (ผ้าขนหนู) ใส่แว่นกันแดด หิ้วกระเป๋าหลุยส์ คือ ภาพติดตาของ “อาตแมว” หรือที่รู้จักกันดี ในแฟนเพจ "จอนนี่ แมวศุภลักษณ์" ของ "เกรียงไกร ซื่อตรง" หนุ่มระนองเจ้าของร้านขายอุปกรณ์สำหรับเด็กอ่อน ที่อยากให้สังคมหันกลับมาสนใจเลี้ยงแมวไทย จึงได้ส่ง “เจ้าจอนนี่” แมวศุภลักษณ์ แจ้งเกิดบนเฟซบุ๊ก แต่เปิดมา 8 เดือน ก็ยังไม่ทำท่าว่าจะเกิดได้ มีคนไลค์แค่ 1,800 ไลค์ จนวันหนึ่งได้จับแต่งตัวเลียนแบบพระดัง “เณรคำ” เพียงวันเดียวเท่านั้น ยอดไลค์พุ่งไปถึง 10,000 ไลค์ ไวกว่า “ไฟลามทุ่ง” และยังขยับเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ จนมีกว่า 210,000 ไลค์ในวันนี้
“การจะแจ้งเกิดได้ ผมว่าต้องหาความแตกต่างที่ลงตัว แตกต่างอย่างสร้างสรรค์ แมวคนอื่นอาจโชว์ความน่ารัก แต่จอนนี่ จะถ่ายทอดเรื่องที่เป็นกระแสอยู่ในสังคม ให้เป็นเรื่องขำๆ มองในมุมที่ทำให้คนยิ้มได้ หัวเราะได้”
หมดกระแสพระฉาว ก็พร้อมแซวเรื่องอื่นที่เป็นกระแสต่อ เพื่อไม่ปล่อยให้ตัวเองเงียบหาย หรือหมดความสนใจไป จนกลายเป็น “คนในกระแส” ที่ไม่มีวันตาย และครองใจแฟนคลับเหนียวแน่นมาจนถึงทุกวันนี้
ในวันนี้อาตแมว ไม่ได้มีตัวตนเพียงในโลกออนไลน์เท่านั้น แต่ยังได้โชว์ตัวตามงานสัตว์เลี้ยง มีผลิตภัณฑ์เก๋ๆ ของตัวเอง ทั้งเสื้ออาตแมว และล่าสุดกับ “อาตแมวกวัก” คู่แข่งแมวกวักของญี่ปุ่น ด้วยไอเดียของเกรียงไกรที่บอกเราว่า อยากทำอะไรออกมาให้คนเห็นคุณค่าของแมวไทย และภูมิใจในความเป็นไทยให้มากขึ้น
โดยใช้สัตว์เลี้ยงแสนรัก ที่วันนี้กลายเป็น “เซเลบ” ต่อยอดความฝันของพวกเขา