"พาที สารสิน" คุยเรื่อง "นกแอร์"
ชำเลืองทิศทาง โลว์คอสต์ แอร์ไลน์ ผ่านชายมาดติสท์ พาที สารสิน CEO นกแอร์ มองแนวโน้มยังเติบโตสูงทั่วโลก
“จุดต่ำสุด” ของอุตสาหกรรมการบินกำลังจะผ่านพ้นไป ในช่วง 6 เดือนหลังของปี 2557 อาจเริ่มเห็นการฟื้นตัว โดยเฉพาะสายการบินต้นทุนต่ำ หรือ โลว์คอสต์ แอร์ไลน์ เหล่านักวิเคราะห์เชื่อเช่นนั้น แล้ว “ดุ๋ง-พาที สารสิน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สายการบินนกแอร์ หรือ NOK เจ้าของสโลแกน “ทุกเที่ยวบินมีรอยยิ้ม” หรือ We FLY Smiles มองเช่นไร
“การเมืองไม่สงบ-นักท่องเที่ยวหดตัว” ส่งผลให้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2557 “สายการบินนกแอร์” มีผลขาดทุนจำนวน 118.69 ล้านบาท ขณะที่ราคาหุ้น NOK ปรับตัวลดลงแล้วประมาณ 45.54 เปอร์เซ็นต์ หากคิดจากราคาสูงสุด 29.75 บาท (ตัวเลข ณ วันที่ 24 มิ.ย.2556)
“ผมเพิ่งกลับมาจากต่างประเทศ หลังบินไปพูดเรื่องแนวโน้มอุตสาหกรรมสายการบินราคาประหยัด เดือนก.ย.นี้ จะบินไปพูดอีกครั้งที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ” “พาที สารสิน” บอกกับ “กรุงเทพธุรกิจ Biz Week”
เขาวิเคราะห์ให้ฟังว่า ปัจจุบันโลว์คอสต์ แอร์ไลน์ ค่อนข้างขยายตัวสูง เรียกว่าเป็นเหมือนกันในทั่วโลก ราคาตั๋วเครื่องบินถูกและหาซื้อง่าย ถือเป็น “จุดเด่น” เรียกคนให้มาใช้บริการ คุณลองคิดดูสิ อุตสาหกรรมดีมากถึงขนาด “ลุฟท์ฮันซ่า” (Lufthansa) สายการบินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเยอรมันมีแผนทำสายการบินราคาประหยัด
“สายการบินราคาประหยัดมีส่วนสำคัญช่วยผลักดันให้ตัวเลขผู้โดยสารเพิ่มขึ้นทุกปี ยกตัวอย่าง ในเมืองไทยย้อนหลัง 10 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 10 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นหากผู้ประกอบการโลว์คอสต์รายใดมีเครื่องบินเพิ่มขึ้น เชื่อว่าตัวเลขการใช้บริการจะขยายตัวมากกว่านี้”
เขาเชื่อว่า อุตสาหกรรมสายการบินราคาประหยัดน่าจะเริ่มดีขึ้นในไตรมาส 4 ปี 57 เนื่องจากเป็นช่วงเทคกาลท่องเที่ยว คนอัดอั้นอยากเที่ยวมานาน รวมถึงมีการลดค่าธรรมเนียมวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวจีน โดยปกติฤดูกาลท่องเที่ยวจะมีตัวเลข Load Factor เฉลี่ย 90 เปอร์เซ็นต์
“แม้ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ทิศทางจะพื้นตัว แต่ปี 2557 นกแอร์อาจมีกำไรต่ำเพียง 300 ล้านบาท เหมือนที่เหล่านักวิเคราะห์ประเมินไว้ โดยในปี 2556 บริษัทมีกำไรสุทธิ 1,066 ล้านบาท และมีรายได้รวม 11,180 ล้านบาท”
ปัจจุบันสายการบินนกแอร์มีเครื่องบิน 18 ลำ เปิดให้บริการ 27 เส้นทางการบิน เราตั้งใจว่า สิ้นปี 2557 จะมีเครื่องบินเพิ่มขึ้นอีก 1 ลำ ถามว่านกแอร์มีแผนจะเพิ่มฝูงบินปีละกี่ลำ เขาตอบว่า ขึ้นอยู่ที่ว่าปีนั้นเรามีแผนเปิดเส้นทางใหม่หรือไม่ โดยปกตินกแอร์จะไม่สั่งซื้อเครื่องบินล็อตใหญ่มาสต็อกไว้ โดยที่ยังไม่มีแผนเปิดเส้นทางใหม่
เราต่างจากคู่แข่งบางรายที่มักซื้อเครื่องบินมาเก็บไว้ก่อนแล้วค่อยมานั่งคิดว่าจะนำไปบินเส้นทางไหน จริงอยู่รูปแบบของนกแอร์อาจทำให้มีต้นทุนการสั่งซื้อเครื่องบินแพงกว่าคนอื่นเล็กน้อย เพราะส่วนใหญ่คู่แข่งจะสั่งซื้อครั้งละหลายๆลำ แต่เราคิดว่ารูปแบบนี้เหมาะสม เพราะมีที่ให้บิน
ทุกครั้งที่นกแอร์สั่งซื้อเครื่องบินมาใหม่มักโละเครื่องบินลำเก่าทิ้ง โดยปกติอายุการใช้งานเครื่องบินหนึ่งลำจะเฉลี่ย 10 ปี ล่าสุดเราสั่งซื้อเครื่องบินโบอิ้ง 15 ลำ โดยจะทยอยส่งมอบในปี 2559-2560 ตามแผนที่วางไว้จะใช้บินภายในประเทศเป็นหลักทั้งเส้นทางใหม่และเส้นทางเดิม
“ที่ผ่านมาเราโฟกัสแบบนี้มาตลอด ทำให้ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา เราแข็งแรงมาก แต่ในช่วง 6 เดือนแรกที่ผ่านมา ถือเป็นปีแรกที่นกแอร์ขาดทุน โดยมีผลขาดทุน 118 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 0.19 บาท หลังการเมืองวุ่นวาย และคนไม่เดินทาง ทุกคนโดนเหมือนกันหมดครึ่งปีแรกตลาดการบินเหนื่อย”
ถามถึงแผนการบินในและนอกประเทศของนกแอร์ “ดุ๋ง” ลุกขึ้นจากเก้าอี้หยิบปากกาวาดโมเดลธุรกิจบนกระดานไวท์บอร์ดให้พอมองเห็นภาพคร่าวๆว่า วันนี้เรามีสายการบินนกแอร์ สายการบินนกมินิ และสายการบินนกสกู๊ต (นกสกู๊ต เกิดจากการร่วมทุนระหว่างนกแอร์ 51 เปอร์เซ็นต์ และ Scoot Pte Ltd 49 เปอร์เซ็นต์) ซึ่งแต่ละสายการบินมีเป้าหมายไม่เหมือนกัน
“การแบ่งกลุ่มเป้าหมายชัดเจน ทำให้วันนี้เรามีกำไรเหนือคู่แข่ง”
สายการบินนกมินิจะใช้เครื่องบิน Q400-500 เน้นบินไปในเมืองเล็กๆ เช่น จังหวัดชุมพร และจังหวัดลำปาง จังหวัดแพร่ และจังหวัดน่าน เป็นต้น ส่วนสายการบินนกแอร์จะใช้เครื่องบินโบอิ้ง 737-800 ที่สามารถบินติดต่อได้ไกล 4 ชั่วโมง เน้นบินลงตามหัวเมืองขนาดใหญ่ทั้งในและนอกประเทศ
ล่าสุดเมื่อ 3 เดือนที่ผ่านมา เราเพิ่งเปิดเส้นทางบินเมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่าปัจจุบันมีอัตรา load factor ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ถือเป็นตัวเลขที่ใช้ได้ ถามว่าจะเปิดเพิ่มเที่ยวบินในย่างกุ้งอีกหรือไม่ ตอนนี้ขอเปิด 2 เที่ยวบินไปก่อน เขาตอบ
เดิมนกแอร์ตั้งใจจะเปิดเส้นทางบินไปประเทศเวียดนาม 2 เที่ยวบิน ในเดือนต.ค.นี้ แต่สถานการณ์ยังไม่เอื้ออำนวยทำให้ต้องเลื่อนไปเปิดในปี 2558 แต่เราจะพยายามเปิดเส้นทางใหม่ๆให้ครอบคลุม AEC
ในอดีตนกแอร์เคยประสบผลขาดทุน จากการเปิดเส้นทางบินไปเมืองบังกาลอร์ ประเทศอินเดีย หลังเราใช้เครื่องบินผิดประเภท ตอนนั้นใช้โบอิ้ง 737-400 ขณะเดียวกันราคาน้ำมันช่วงนั้นแพงมาก
ที่สำคัญช่วงนั้นนกแอร์มี “อีโก้สูง” คิดว่าตัวเองเก่งมาก เดินหน้าทำงานโดยไม่ได้ศึกษารายละเอียดเลย ตอนนั้นขาดทุนวันละ 3 ล้านบาท ขาดทุนอยู่หลายเดือน สุดท้ายตัดสินใจปิดเส้นทางนี้ และดับอีโก้สูงของตัวเองลงทันที (หัวเราะ)
สำหรับสายการบินนกสกู๊ตจะเน้นบินไปในประเทศที่ใช้เวลาบินประมาณ 5-6 ชั่วโมง เช่น ญี่ปุ่น ปักกิ่ง และเกาหลี เป็นต้น เขาเล่าที่มาของการเกิด “นกสกู๊ต” ว่า Scoot รู้จักกับเพื่อนเราเลยขอให้ช่วยประสานงาน เมื่อนกแอร์บินไปคุยที่ประเทศสิงคโปร์ และสามารถตกลงกันได้ตามเงื่อนไขจึงเกิดดีลนี้ขึ้นมา
“ตามแผน “นกสกู๊ต” ควรจะมีรายได้เติบโตเฉลี่ยปีละประมาณ 10-15 เปอร์เซ็นต์”
ถามถึงเป้าหมายการเติบโตของสายการบินนกแอร์ “พาที” ตอบว่า เราจะคิดการเติบโตตามจำนวนเครื่องบิน อย่างในปี 2557 เรามีเครื่องบิน 18 ลำ และมีอัตรา load factor เฉลี่ย 80 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่มีอัตรากำไรสุทธิ 2-3 เปอร์เซ็นต์ และมีต้นทุนต่ำหากคิดจากปัจจัยเหล่านี้ผลประกอบการต้องเติบโต 10-15 เปอร์เซ็นต์ แต่หากมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน ขณะที่ราคาน้ำมันถูกลง และคนท่องเที่ยวมากขึ้นผลประกอบการอาจโตเฉลี่ย 20 เปอร์เซ็นต์
“ผมไม่เคยสนใจว่า ใครจะเป็นอันดับ 1 หรือ 2 ของสายการบินราคาประหยัด แต่แคร์ว่าทุกเที่ยวบินต้องมีความสุข และองค์กรต้องเติบโตทุกปี เวลาได้ยินเหตุการณ์ไม่คาดฝันของแบรนด์เรา ผมจะลงพื้นที่แก้ไขทันที เรียกว่า เอาคอขึ้นเขียงเองเลย ด้วยความเป็นคนใจร้อน ฉะนั้นทุกปัญหาต้องจัดการเสร็จภายในวันนั้น”
แบรนด์นกแอร์ติดตลาดเพราะอะไร? “ดุ๋ง” ส่ายหัวก่อนพูดว่า ไม่รู้เหมือนกัน แต่อาจเป็นเพราะนกแอร์เป็นสายการบินของคนไทยที่มีความเป็นกันเอง และการคำนวณค่าตั๋วออกแนวบุฟเฟ่ต์ ไม่ได้มาคิดค่าโน้นค่านี่ยิบย่อย แถมมีช่องทางการจัดจำหน่ายและชำระเงินง่าย เรียกว่ามีทุกช่องทาง
ตอนนี้เรากำลังหาช่องทางการขายเพิ่มเติม ขายตั๋วตามเกมส์โชว์ก็ทำได้นะ ปัจจุบันนกแอร์มีช่องทางการจัดจำหน่ายหลากหลาย เช่น เว็บไซต์,ศูนย์บริการลูกค้าทางโทรศัพท์,เคาน์เตอร์ท่าอากาศยาน, เคาน์เตอร์เซอร์วิส และตัวแทนจำหน่าย เป็นต้น
หลายคนถามว่าทำไมจองผ่านเคาน์เตอร์ท่าอากาศยานถึงมีราคาแพง นั่นเป็นเพราะเครื่องบินกำลังจะเต็มแล้ว จริงๆถือเป็นเรื่องปกติ ส่วนใหญ่จะแพงกว่าจองผ่านช่องทางอื่นๆกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ที่ผ่านมาพยายามแนะนำหลายคนว่าให้จองล่วงหน้า
“ความเป็นกันเองของชายชื่อพาที น่าจะมีส่วนช่วยให้แบรนด์นกแอร์ได้รับการตอบรับที่ดี ผมเข้าถึงง่ายไม่เคยหยิ่ง”
“พาที” เล่าต่อว่า ปัจจุบันผมถือหุ้น NOK ประมาณ 4 เปอร์เเซ็นต์ ถามว่าจะซื้อเพิ่มหรือไม่ NO ไม่มีตังค์แล้ว เขาตอบ ส่วนตัวไม่ชอบลงทุนในตลาดหุ้น เพราะในอดีตเคยขาดทุนมากถึง 30 ล้านบาท หลังจากนั้นไม่เคยแตะอีกเลย จำความได้ว่า ตอนนั้นซื้อหุ้นตามเพื่อนแล้วบินไปประชุมที่นิวยอร์กระหว่างที่อยู่บนเครื่องบินดันเกิดเหตุการณ์แบล็กมันเดย์ “ซวยจริงๆ”
เมื่อก่อนเคยซื้อหุ้นตาม “เสี่ยสอง-สอง วัชรศรีโรจน์” แต่เขาขายออกก่อนทำให้เราเจ๊ง ตอนนั้นโดนพ่อด่าเลย ทุกวันนี้ยังคงแอนตี้ตลาดหุ้น ผมไม่ได้อินกับการรวยมาก และไม่ชอบใช้ของแพง ด้วยความที่เป็นคนแบบนี้ ทำให้ชอบใส่เสื้อยืดสีดำ ส่วนใหญ่ซื้อมายกโล คุณจะเห็นเราใส่สูทเพียงไม่กี่งาน
เป้าหมายในการใช้ชีวิตคืออะไร “ชายวัย 52 ปี” บอกว่า แฮปปี้อย่างเดียว ผมไม่ต้องการเป็นที่หนึ่ง ตระกูลสารสิน ส่วนใหญ่เป็นคนง่ายๆ คุณพ่อคุณแม่เลี้ยงเราให้เป็นคนถ่อมตัว ผมถูกส่งไปเรียนชั้นมัธยมศึกษาที่คิงส์สกูล เมืองแคนเตอร์บูรี่ ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่อายุ 10 ขวบ ช่วงเรียนหนังสือเคยทำงานหลากหลายอาชีพ เช่น ส่งหนังสือพิมพ์ ส่งพิชซ่า เล่นกีตาร์ขอเงิน เป็นต้น ตอนนั้นอยากได้เงินไปซื้อเครื่องแผ่นเสียง
เมื่ออายุ 18 ปี ย้ายไปเรียนปริญญาตรี คณะบริหารธุรกิจและวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยคลาร์ก รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา และกลับมาเมืองไทยตอนอายุ 28 ปี ช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัยก็กลับมาเมืองไทยเรื่อยๆ ทุกครั้งที่กลับมาพ่อชอบส่งไปฝึกงานในบริษัทเอกชนหลายๆแห่ง เช่น เครือเจริญโภคภัณฑ์อาหาร ,ยิบอินซอย และล็อกซเล่ย์ เป็นต้น การฝึกงานครานั้นนอกจากจะทำให้รู้ระบบการทำงานในเมืองไทยที่ออกแนวเกรงใจแล้วยังทำให้รู้ว่าระบบการทำงานกับระดับพนักงานเป็นอย่างไร
อาชีพมนุษย์เงินเดือนครั้งแรกเกิดขึ้นที่เครือเจริญโภคภัณฑ์อาหาร หลังพ่อฝากฝัง “ธนินท์ เจียรวนนท์” เข้าทำงาน ตอนนั้น “เจ้าสัว” ส่งไปเลี้ยงไก่ อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี รับเงินเดือน 2,800 บาท เกือบปี ก็ย้ายไปทำงานใน “ลินตาส” รับเงินเดือน 4,000 บาท อยู่ดีๆเจ้านายก็อัพตำแหน่งเป็น “ซุปเปอร์ไวเซอร์” รับเงินเดือน 12,000 บาท ตอนนั้นดีใจมาก
สุดท้ายกลับไปเรียนปริญญาโท คณะสื่อสารมวลชน สาขาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ มหาวิทยาลัยอเมริกัน วอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเรียนจบมีโอกาสไปทำงานใน NBC เงินเดือนสูงมากชั่วโมงละ 500 เหรียญ ทำงานทุกวันตกวันละ 6 ชั่วโมง ด้วยความที่เงินเดือนสูง ทำให้มีความคิดอยากซื้อรถยนต์ปอร์เช่ ตอนอายุ 23 ปี แต่สุดท้ายไม่ได้ซื้อพ่อเรียกตัวกลับเมืองไทยเสียก่อน
เมื่อกลับมาเมืองไทย “ลินตาส” เรียกตัวกลับไปทำงานให้เงินเดือนสูงถึง 400,000 บาท แต่ตัดสินใจไม่ไปทำ เพราะเรายังอายุน้อยประสบการณ์ยังมีไม่มาก สุดท้ายย้ายไปทำงานเป็นโปรดิวเซอร์ในบริษัท สปา แอดเวอร์ไทซิ่ง จำกัด รับเงินเดือน 25,000 บาท
สนุกอยู่สักพักก็ขยับไปทำบริษัท มัลติมีเดีย ออร์บิท จำกัด ก่อนจะไปเป็น CEO บริษัท เบทส์ แอดเวอร์ไทซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด สุดท้ายเข้ามาทำงานในสายการบินนกแอร์ในปี 2547 หลังเพื่อนสนิทตั้งแต่ชั้นอนุบาล “ปิยะ ยอดมณี” มาชวนไปทำงาน ผ่านมา 10 ปี ผมยังเรียนรู้งานในนกแอร์ไม่หมด เพราะทุกวันมักมีเรื่องใหม่เกิดขึ้นเสมอ
“แอร์โฮสเตสไม่จำเป็นต้องสวยที่สุด แต่ขอให้มีใจรักบริการที่สุดเป็นพอ”