Niche ก็ Rich ได้

Niche ก็ Rich ได้

ไม่ต้องคาดหวังว่ามนุษย์ทุกคนบนโลกจะมาเป็นลูกค้า ถึงเวลาหาทางรวยในตลาด Niche เพราะ“Niche”ก็ Rich ได้

ปัจจุบันการแข่งขันในโลกธุรกิจมีแต่จะสูงขึ้น และคนที่ชนะในเกมแข่งขันก็มักเป็นประเภท มีทุน มีทรัพยากร เป็นแต้มต่อกันทั้งนั้น

จะเสี่ยงไหม ที่จะธุรกิจขนาดเล็ก ทุนน้อย ทรัพยากรจำกัด จะลงแข่งในตลาดที่คู่แข่งล้นสนาม แถมยังทำกำไรได้ยากเย็น

ขณะผู้บริโภคยุคนี้ ก็เฉพาะตัวกันสุดๆ ไม่แค่มีไลฟ์สไตล์ที่สุดเฉพาะ ทว่ายังกล้าแสดงออกถึงความชอบส่วนตัวกันมากขึ้นด้วย

โจทย์หินของการทำธุรกิจยุคใหม่ ที่นำมาสู่ผลงานวิจัย “Niche” ก็ Rich ได้” ของ นักศึกษาปริญญาโท สาขาการตลาดรุ่น MK 15C วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล

เรื่องเก่ามาเล่าใหม่ ที่จะโละความคิดเก่าๆ ที่มีต่อคำว่า “Niche Market” ให้หลุดไปจากสารบบ

เมื่อ “Niche” ไม่ได้แปลว่า ต้องเป็นสิ่งประหลาดมหัศจรรย์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

“Niche” ที่ใครๆ ก็มองว่า กลุ่มเล็ก แท้จริงมันอาจจะไม่เล็กก็ได้

“Niche” ต้องขายของแพง แต่ความจริงอาจจะไม่แพง แต่คุ้มค่าสำหรับความต้องการของผู้ซื้อ

“Niche” คู่แข่งน้อย และใช้เวลานานกว่าจะกลายเป็น Mass แต่ความจริงการขยับจาก Niche ไปสู่ Mass ในยุคนี้อาจเร็วกว่าที่ใครๆ คิด

ที่สำคัญ “Niche” ที่มองว่าตลาดเล็ก คนซื้อมีอยู่เพียงกระบิมือ แต่กับโลกทุกวันนี้ “Niche” ก็ “Rich” ได้

ผู้วิจัยอธิบายความหมายของคำว่า “Niche Market” คือ “ตลาดเฉพาะกลุ่ม” หรือ การทำตลาดเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าเฉพาะกลุ่ม โดยอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (Specialization) ในการทำการตลาด ซึ่งอาจเป็นตลาดเดิม ที่ยังไม่ได้รับการเติมเต็ม หรือตลาดใหม่ ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค

เราเลยได้เห็นธุรกิจมากมาย ที่ปรากฏตัวขึ้น พร้อมตอบโจทย์ในสิ่งที่คนอื่นมองข้าม สร้างความตกตะลึงให้กับตลาดตั้งแต่แรกพบ จนผู้บริโภคเกิดอาการ “อุ๊ต่ะ! ของแบบนี้ก็มีด้วย?”

อย่าง เสื้อกล้ามและบ๊อกเซอร์สำหรับสาวหล่อ โรงแรมหรูของสัตว์เลี้ยง แฟชั่นเสื้อผ้าของคุณแม่ให้นมบุตร คอมมูนิตี้มอลล์ สำหรับเจ้าของและสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะ สปาของเพศที่ 3 สปาของกระเป๋าแบรนด์เนม แปรงสีฟันของคนดัดฟัน กับอีกสารพัดธุรกิจ ที่ผุดขึ้นเพื่อรองรับวิถีชีวิตของผู้คนซึ่งหมุนเวียนเปลี่ยนไว มีวิถีชีวิตเฉพาะตัว มีความเป็นปัจเจกมากขึ้น

“อย่าพยายามทำการตลาดสำหรับทุกๆ คน แต่ให้หาความต้องการเฉพาะกลุ่ม แล้วส่งมอบคุณค่าของสินค้าเหล่านั้นให้กับลูกค้าของคุณ แล้วจึงค่อยขยายตลาด”

คำกล่าวของ “Evan Carmichael” กูรูเจ้าของเว็บไซต์ภาวะผู้ประกอบการ ที่ผู้วิจัยนำมาแบ่งปัน กระตุ้นความสำคัญของคำว่า “Niche Market”

ตลาดที่มีข้อดีคือ ใช้เงินลงทุนไม่มากเท่าตลาด Mass สามารถผลิตสินค้าและบริการให้ตอบสนองเฉพาะเจาะจงกลุ่มผู้บริโภคได้ ขณะที่การแข่งขัน ยังมีคู่แข่งน้อยเมื่อเทียบกับตลาด Mass หรือ อาจไม่มีเลยก็ได้ ถ้าเราสามารถผลิตสินค้าหรือบริการที่เป็นนวัตกรรม รวมถึงสามารถกำหนดราคาสินค้าได้ เพราะลูกค้าในกลุ่มนี้ยินดีที่จะจ่าย ถ้าสามารถตอบสนองความต้องการได้จริง โดยไม่จำเป็นต้องมาแข่งกันเรื่องราคาเหมือนในทะเลสีเลือด (Red Ocean)

บางครั้ง Niche Market เป็นเรื่องใหม่ แต่หลายครั้งที่พบว่า พวกมันซ่อนตัวอยู่ในตลาด Mass มานานแล้ว เพียงแต่คนยังมองไม่เห็น ยกตัวอย่าง แปรงสีฟัน ซิสเท็มมา หนึ่งผู้เล่นที่อยู่ในสนามแข่งตลาดแปรงสีฟัน มูลค่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งมีเจ้าตลาดกินส่วนแบ่งอันดับหนึ่งอยู่แล้วถึง 70% ขณะที่ซิสเท็มมาเข้ามาเป็นอันดับ 2 กินส่วนแบ่งอยู่ประมาณ 20%

การบ้านคือ จะทำอย่างไร ถึงจะเพิ่มยอดขาย ขยายส่วนแบ่งตลาด จะลดราคา จะขายแพงขึ้น หรือจัดโปรโมชั่น แต่นั่นใครๆ เขาก็ทำกันใช่ไหม ? หรือจะทำแปรงสีฟันที่คนต้องใช้มากขึ้น ใช้หลายอัน ใช้เร็วขึ้น

ทว่าจะใช่คำตอบจริงๆ หรือไม่?

สุดท้ายก็ได้บทสรุป “ซิสเท็มมา โอดี” แปรงสีฟันสำหรับคนจัดฟันโดยเฉพาะ เจาะกันให้ชัด ไม่ต้องหว่านไปทั่วมวลมหาประชาชน แต่ขอแค่คนดัดฟันเท่านั้น จนสามารถแหวกตลาด Mass พลิกกลับมาทำกำไรได้เพิ่มขึ้น

ถามว่ายุคนี้ธุรกิจไหนยังหอมหวาน หนึ่งคำตอบที่อยู่ในใจใครหลายคนหนีไม่พ้น “ธุรกิจท่องเที่ยว” แต่จะทำท่องเที่ยวแบบไหน ที่ไม่ซ้ำคนอื่น ไม่ต้องไปแย่งลูกค้ากับใครให้เมื่อยตุ้ม ลองดูธุรกิจของ “Co Van Kessel” ทัวร์จักรยานที่คนไทยอาจไม่คุ้น แต่เป็นที่หลงใหลได้ปลื้มมากๆ ของลูกค้าชาวต่างชาติ หนึ่งในจุดหมายท่องเที่ยวประเทศไทย ที่คู่มือนำเที่ยวระดับโลก อย่าง “โลนลี แพลนเน็ต” และเว็บไซต์ท่องเที่ยวชื่อดังของโลกหลายเว็บไซต์ ถึงขนาดสปอยล์ว่า..

‘ถ้าคุณมากรุงเทพฯแล้วยังไม่ได้ขี่จักรยานทัวร์ กับ Co Van Kessel ก็เหมือนยังมาไม่ถึงกรุงเทพ!’

ทัวร์จักรยานที่ก่อตั้ง โดยชาวต่างชาติ Co Van Kessel ที่อยู่เมืองไทยมานาน เกิดอาการรักเมืองไทยเข้าเส้น เขาชื่นชอบขี่จักรยานสำรวจเส้นทาง เลยเป็นที่มาของเส้นทางทัวร์ แบบเฉพาะตัวของ Co Van Kessel เพื่อเข้าถึงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตแบบไทยๆ ที่หลายเส้นทาง แม้แต่คนไทยเองก็อาจยังไม่เคยสัมผัส

ธุรกิจแตกต่าง เป็นที่นิยมอย่างมากของลูกค้าต่างชาติ โดยเฉพาะชาวยุโรป ที่คุ้นเคยกับการขี่จักรยานเป็นทุนเดิม ขณะที่เทรนด์คนรักจักรยานก็มาแรงสุดๆ บวกกระแสรักษ์โลก ก็ยิ่งนำส่งธุรกิจให้เติบโตขึ้น ตลอดสิบปีของการให้บริการ

แล้วแรงบันดาลใจแบบไหน ที่นำไปสู่การก่อเกิดธุรกิจ “Niche” จากผลวิจัยบอกว่า 26% คือ ต้องการตอบสนองความต้องการเฉพาะตัว 24% เห็นปัญหาจากการใช้สินค้าที่มีอยู่เดิม หรือบริการในรูปแบบปกติ ซึ่งยังไม่สามารถตอบโจทย์เฉพาะกลุ่มได้ และไม่แตกต่าง กับอีก 24% คือ เห็นโอกาสรอบๆ ตัว จนก่อเกิดมาเป็นสินค้าและบริการสุด Niche

แล้วส่วนใหญ่เริ่มต้นกันแบบไหน ผู้วิจัยให้ข้อมูลว่า 41% เกิดจากการลองรับมาขาย 29% ลองผลิตใช้เอง เนื่องจากสินค้าที่มีอยู่ในตลาดอาจยังไม่สามารถตอบความต้องการได้ และ 13% ต่อยอดมาจากความเชี่ยวชาญที่มี

แล้วทำอย่างไรจะให้ Niche ไปรุ่ง และขยับเข้าใกล้คำว่า “Rich” !!

ผู้วิจัยสรุป 4 กลยุทธ์สำคัญ คือ กลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์ ราคา การบริหารลูกค้าสัมพันธ์ และการสื่อสาร

มาดูที่ตัวผลิตภัณฑ์ สินค้าแบบไหนที่ผู้บริโภคยินดีควักเงินจ่าย เพราะโดนใจและตอบโจทย์ บทสรุปมีแค่ 3 ข้อ คือ

“Function ที่ใช่ Emotion โดนใจ สะท้อนรสนิยมและสไตล์ของตน”

ตัวอย่าง “กล้อง GoPro” ที่กำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้ชื่นชอบกิจกรรมกลางแจ้งและกีฬาผาดโผน ชูจุดขายการเป็นกล้องตัวเก่งที่พร้อมลุยไปได้ในทุกสถานการณ์ สะเทินน้ำสะเทินบก พร้อมบันทึกทุกช่วงเวลาของความมัน หรืออย่างรถจักรยานยนต์สุดเฉี่ยว “Ducati” ที่มาพร้อมเครื่องยนต์สมรรถนะสูง ขับขี่ได้อย่างมั่นใจ ตื่นเต้นเร้าใจในยามขับขี่ ที่เหล่าสาวกต่างรู้สึกว่า ช่าง เท่ห์ ดูดี มีระดับ เหมาะสำหรับคนรักความเร็วยิ่งนัก

ส่วนมุมของผู้ประกอบการ วิธีออกสินค้ามาสนองตลาด Niche คิดจาก

‘หาความต้องการที่ยังไม่ถูกเติมเต็มให้เจอ สร้างคุณค่าของสินค้าและบริการ และต้องออกสินค้าใหม่ เพื่อก้าวให้เร็วกว่า อัพเดทต่อสถานการณ์’

ยกตัวอย่าง “Siam Nectar” เสื้อสำหรับให้นมบุตร ที่เพิ่มความสะดวกสบายให้คุณแม่มือใหม่ สามารถให้นมบุตรได้ทุกที่ทุกเวลา ด้วยการออกแบบและตัดเย็บในรูปแบบเฉพาะตัว หลากหลายและทันสมัยตามกระแสแฟชั่น

หัวใจของการทำตลาด Niche ก็คือ ต้องเข้าใจความต้องการส่วนลึกของผู้บริโภค (Consumer Insight) ซึ่งวิธีการจะได้มาในสิ่งนี้ก็ต้อง เจาะลึกข้อมูลกลุ่มเป้าหมายอย่างละเอียด เชื่อมคุณค่าหลักของสินค้าที่จะมาเป็นจุดขาย จากนั้นก็แปรผลเป็น Consumer Insight

ส่วนกลยุทธ์ด้านราคา สำหรับสินค้าและบริการ Niche จะอิงตามคุณภาพของวัสดุหรือวัตถุดิบที่ใช้ รวมไปถึงรูปแบบของสินค้าและบริการ ทั้งนี้ลูกค้าเต็มใจที่จะจ่าย หากสินค้านั้นสามารถตอบโจทย์ความต้องการได้ โดยไม่สนว่าถูกหรือแพง

ราคาอาจไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า สินค้า Niche จะต้องมีราคาที่แพงหูฉี่จนลูกค้าเข้าไม่ถึง แต่ต้องอยู่ในราคาที่สมเหตุสมผลและลูกค้าให้คุณค่า

ในประเด็นนี้ ผศ.ดร.พัลลภา ปีติสันต์ อาจารย์ประจำสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการมหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) แสดงความเห็นว่า Niche ไม่จำเป็นต้องขายแพงเสมอไป และไม่จำเป็นเช่นกันว่า สินค้าถูกแล้วผู้บริโภคถึงจะซื้อ แต่สิ่งที่ธุรกิจต้องตอบให้ได้ก็คือ คุณมีคุณค่าอะไรให้ลูกค้า พอที่เขาจะยอมรับได้ คุณค่าคุณมีเท่าไร แล้วนำไปสู่การตั้งราคาขาย ที่ผู้บริโภคจะรับได้ เพราะลูกค้ายุคนี้..ไม่ได้โง่

จากนั้นก็มาสู่ กลยุทธ์ด้านการสื่อสาร เพื่อสร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำ ผ่านสื่อที่เข้าถึงลูกค้าเฉพาะกลุ่มและมีประสิทธิภาพ

โดยการใช้สื่อที่ผู้ประกอบการมองว่า เขาถึงลูกค้า Niche นำโด่งเป็นที่หนึ่ง ต้องยกให้ Facebook คิดเป็นสัดส่วนถึง 75% ตามมาด้วย นิตยสาร 69% เว็บไซต์ 63% อินสตาแกรม 50% ส่วนการเป็นสปอนเซอร์ 31% ปิดท้ายกับการออกอีเวนท์ ที่ 25%

ขณะในมุมของผู้บริโภค จะใช้สื่อแบบไหนเพื่อเข้าถึงสินค้าและบริการที่สนใจ นำโด่งมาคือ การค้นหาผ่าน Search Engine ในอินเทอร์เน็ต ฟังมาจากการบอกต่อ ดูจากโฆษณาในเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง การไปตามงานแสดงสินค้า ดูทางเว็บไซต์ และนิตยสาร เป็นต้น

ผู้วิจัยฝากข้อแนะนำในการทำตลาด Niche ว่า

‘อย่าแข่งเรื่องราคา อย่างเหวี่ยงหาผิดเป้าหมาย อย่างเสี่ยงตายในสิ่งที่ไม่ถนัด อย่าจำกัดสิ่งเดิม อย่าหยุดเติมนวัตกรรม และ อย่าลืมทำการสร้างแบรนด์’

ผศ.ดร.พัลลภา สรุปในตอนท้ายว่า คนพยายามหาสิ่งที่เรียกว่า Niche แต่เมื่อทำไปได้ระยะหนึ่งแล้ว ก็อยากที่จะเปลี่ยนจาก Niche ให้เป็น Mass เนื่องจาก Niche เป็นเพียงกลุ่มคนเล็กๆ และหากสังเกตจะพบว่า คนที่อยู่ในตลาด Niche หลายคนที่ไม่ได้กลัวคู่แข่งในตลาด เพราะนั่นหมายถึงว่า เมื่อมีผู้เล่นเข้ามามากขึ้น ลูกค้าก็จะขยายเพิ่มขึ้น..เมื่อเค้กก้อนใหญ่ขึ้น เราก็มีโอกาสกินได้อิ่มขึ้น

“แต่นั่นหมายความว่า เมื่อทำไปถึงจุดหนึ่ง ไม่มีทางที่คุณจะเป็น Niche ไปได้ตลอด และระยะเวลาที่จะเปลี่ยนจาก Niche ไปเป็น Mass ก็จะเร็วขึ้นด้วย เพราะยุคนี้ใครๆ ก็อยากมาเป็นเจ้าของกิจการ เมื่อเห็นว่าเป็นโอกาสคนก็จะเข้ามาทำกันเยอะขึ้น เพราะฉะนั้นเราต้องไม่หยุดนิ่ง พยายามหาว่ายังมีอะไรอีกที่ลูกค้าอยากได้ ตอบโจทย์ในสิ่งที่คนอื่นมองข้าม"

สร้างคุณค่าในสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็น เพราะนั่นคือหัวใจของ Niche

บทสรุปของงานวิจัย ทิ้งคำเฉลยการทำ Niche ให้ Rich ว่า ต้อง หลงใหล (Passion) เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ต้องเริ่มก่อน ลงมือทำด้วยตัวเอง ใส่ใจทุกรายละเอียด และพัฒนาสิ่งใหม่เสมอ

เพื่อไปสู่ผลลัพธ์ในตอนท้าย เป็น Niche ที่ Rich ได้

+++++++++++++++++++++++++++++++++

ธุรกิจ จาก “Niche” สู่ “Rich”

J.P.Toys ของเล่นร้อยล้าน

“J.P.Toys” ธุรกิจจำหน่ายของเล่นกลุ่ม “Designer Toys” กว่า 23 แบรนด์จากทั่วโลก ของ “จิ๊บ-พงศธร ธรรมวัฒนะ” คนหนุ่มวัยเพียง 25 ปี ที่เห็นโอกาสจากการไปเดินงานแสดงของเล่นที่ต่างประเทศ ต่อคิวซื้อของเล่นที่ผลิตออกมาจำกัดและจำหน่ายเป็นงานแรก ยังไม่ทันเดินพ้นงาน มีคนมาเสนอขอซื้อโดยให้ราคาเพิ่มถึง 10 เท่า

เขาเลยตัดสินใจติดต่อแบรนด์ต่างๆ เพื่อขอเป็นตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย ตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นปี 1 และความรู้ในการทำธุรกิจเท่ากับ “ศูนย์” แถมยังถูกสกัดดาวรุ่งจากคนรอบข้าง ที่บอกว่า “ไม่รอด ไร้สาระ” จนแทบจะเลิกตั้งแต่ยังไม่เริ่ม ทว่าด้วยใจที่อยากพิสูจน์ เลยยอมเดินหน้าต่อ เริ่มจากสั่งสินค้าตามเพดานขั้นต่ำ คือ 12 ตัว ใช้เงินลงทุนเริ่มต้นประมาณ 28,000 บาท ผลสรุป “ขายไม่ได้” เอาใหม่ ลองขอทุนคุณแม่ มาสั่งเพิ่มอีก 8 ไอเท็ม ปรากฏก็ยัง..ขายไม่ได้

บทเรียนนี้สอนว่า การทำตลาด Niche ต้องหาช่องทางให้ถูก ที่มาของการลงไปติดต่อร้านของเล่น เพื่อแนะนำสินค้า และขอฝากขาย และหากลุ่มเป้าหมายตัวจริงให้พบ นั่นคือ ไม่ใช่คนไทยแต่เป็นลูกค้าต่างชาติ ตลอดจนต้องรู้จักนำเสนอให้มากขึ้น นั่นคือการให้ข้อมูลเกี่ยวกับของเล่น กระตุ้นต่อมอยากซื้อของเหล่าแฟนพันธุ์แท้ โดยโปรโมทผ่าน Facebook เป็นหลัก

ทำธุรกิจมีแต่อุปสรรค แม้แต่วันที่เริ่มทำตลาดได้ ขายคล่อง สินค้าบางตัวขายได้เป็นแสนชิ้น เมื่อวันที่เขาหาญกล้า คิดการใหญ่ อยากปลุกตลาดของเล่นไทยให้เทียบเท่าระดับโลก โดยการจัดงาน Thailand Toy Expo โดยใช้เงินจากการทำธุรกิจตลอด 4 ปี มาทุ่มกับงานนี้งานเดียว

“ผมโดนไล่ออกจากบ้าน เพราะครอบครัวไม่เห็นด้วยที่จะเอาเงินทั้งหมดมาทุ่มกับงานนี้งานเดียว ผมไปขอสปอนเซอร์หลายเจ้ามาก แต่ไม่มีใครให้ เพราะมองว่า ไร้สาระ เหนื่อย ไม่น่าทำ กระทั่งบริษัทรถยนต์รายหนึ่ง เขาบอกผมว่า ถ้ามีคนเข้ามาเกินหมื่นหรือแสนคน เดี๋ยวมากราบเท้าเลย ผมต้องสวดมนต์ ไหว้พระ ไหว้เจ้า จนวันงานดีใจมาก มีฝรั่งบินมาต่อคิวรอเข้างาน เราจัด 4 วัน ปีแรกมีคนมา 4.7 แสนคน ปีที่ 2 มีคนมา 5.7 แสนคน ..แล้วผมสัญญาว่า ผมจะไปหาพี่ที่บริษัทเจ้าของรถให้มากราบผม” (หัวเราะ)

เขาบอกว่า งาน Thailand Toy Expo อาจขาดทุน แต่ก็ได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย ขณะธุรกิจก็ยังเติบโตไปได้เรื่อยๆ จากน้อย สู่ร้อยล้าน ด้วยสองมือของคนหนุ่มอย่างเขา

“ไม่อยากให้ทุกคนท้อ ถ้าเราเจออุปสรรค อย่าไปท้อ เพราะทุกปัญหามีทางแก้ และ เงินไม่สำคัญ อย่าเอาเงินเป็นตัวตั้ง ให้มองว่า ได้ทำอะไรให้คนหลายๆ คน มีความสุข นี่คือสิ่งสำคัญที่กว่า”

เขาบอกว่า การจะทำธุรกิจ Niche ให้ Rich ต้องใช้ “หัวใจ” คือต้องมีใจรักในสิ่งที่ทำ ใช้หัวใจดูแล ลูกน้อง ลูกค้าต้องซื่อสัตย์ต่อลูกค้า และต่อตัวเอง ไม่ขายของในราคาที่แพงเกินไป แต่ในราคาที่ทุกคนสามารถซื้อได้ อย่าโกงคนอื่น และสู้กับทุกสิ่งที่ผ่านเข้ามาให้ได้

“คนที่เริ่มทำธุรกิจ มีความกลัวหมด แต่ถ้าเรากลัวก่อนลงมือทำ ก็ไม่มีทางรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น และจะสร้างความท้อให้ตัวเอง วิธีของผม คือ ผมทำเลย ทำแล้วค่อยมาใช้ประสบการณ์แก้ และ กำลังใจสำคัญก็คือครอบครัว มีอะไรให้บอกให้ปรึกษา เพราะท่านมีประสบการณ์มากกว่า ซึ่งพอได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ มา ก็ทำให้เราอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้”

“Tom Chic” พลิกชีวิต สาวหล่อ

“จีน-ศุภมาส ศิริมงคลวณิชย์” เจ้าของ “Tom Chic” แบรนด์เสื้อผ้าและชุดชั้นในสตรีเฉพาะกลุ่ม ผู้แหวกตลาดมาเปิดตัวกับเสื้อกล้ามของสาวหล่อ และประสบความสำเร็จอย่างมากๆ ในตลาดนี้ เพราะทั้งรู้ใจ และโดนใจ แก้ปัญหาได้ ในราคาที่เข้าถึง ธุรกิจที่เริ่มจากเงินทุนเพียง 3-5 หมื่นบาท จากบัตรกดเงินสด ขยับมาเป็นธุรกิจสิบล้าน ที่ยังเติบโตได้แม้ในวิกฤติ

เริ่มแรกพวกเขาใช้ Hi5 เป็นช่องทางให้ลูกค้าได้สั่งซื้อสินค้า จนเกิดเป็นกระแสแชร์ต่อ ปากต่อปาก จากความแตกต่างและคุณภาพของสินค้า บวกการให้บริการชนิด “ได้ใจ” จนในที่สุดก็ขยับมามีหน้าร้านเล็กๆ ของตัวเองได้

เธอบอกว่า ทำธุรกิจ Niche ไม่ง่าย เพราะไม่แค่ขายของที่แปลกไปจากท้องตลาดเพียงอย่างเดียว ทว่ากำลังจะเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนทั้งชีวิต จากการที่สาวหล่อใช้ของทดแทนแบบเดิมๆ อย่าง การรัดสเตย์ที่หน้าอกเพื่อลดรูปร่างความเป็นหญิง ซึ่งทั้งยุ่งยากและทรมาน มาสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ เสื้อกล้ามทอม ที่ทั้งใช้ง่าย ใช่และโดน ซึ่งเธอบอกว่า ต้องให้ลูกค้าได้สัมผัส ได้ทดลองเอง ถึงจะเห็นความแตกต่าง และยอมรับในตัวสินค้า

ขณะที่หลายคนอาจมองว่า อุปสรรค คือ การที่ไม่มีลูกค้า ขายได้น้อย ต้นทุนสูง กำไรน้อย แต่เธอบอกว่า บางครั้ง แม้แต่ในความโชคดี ก็เป็นอุปสรรคได้ โดยยกตัวอย่าง การไปออกรายการเอสเอ็มอีตีแตก เมื่อปี พ.ศ. 2554 จากธุรกิจเล็กๆ กลายเป็นดาวจรัสในชั่วข้ามคืน ถึงขนาดมีคนมาต่อคิวยาวรอซื้อสินค้าที่หน้าร้าน จากของที่ผลิตได้ประมาณ 300 ตัวต่อวัน กลายเป็นเสื้อ 300 ตัว ที่ขายหมดเกลี้ยงเพียงในชั่วโมงครึ่ง

วิกฤติก็คือ การไม่ได้เตรียมรับมือกับเหตุการณ์นี้ ทุกอย่างเลยประเดประดัง ชนิดตั้งรับไม่ทัน

“การที่คุณจะประสบความสำเร็จไม่ใช่แค่ คุณภาพหรือการใส่ใจในบริการที่ดีเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการตั้งรับที่ดีด้วยเมื่อโอกาสนั้นมาถึง”

การรับมือกับโอกาส คือที่มาของแผนขยายธุรกิจ ซึ่งปัจจุบัน “Tom Chic” มีหน้าร้านของตัวเองอยู่ 4 สาขา ขายผ่านตัวแทนไปใน 40 จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงลูกค้าในต่างประเทศ โดยยังคงพัฒนาโพรดักส์ใหม่ๆ ออกมาสนองใจสาวหล่ออย่างต่อเนื่อง

บทเรียนที่ได้จากทำธุรกิจ คือ อย่ายืมจมูกคนอื่นหายใจ เพราะย่อมยากที่เราจะควบคุมได้ ไม่ว่าจะคุณภาพสินค้าหรือระยะเวลาการผลิต ขณะที่ทำธุรกิจควรมีหนังสือสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร ไม่ว่าจะเป็นเงินจำนวนมากหรือน้อย เพื่อป้องกันความเสี่ยง จะทำแบรนด์ให้ยั่งยืน ต้องรักษาคุณภาพการบริหาร รักษาความพึงพอใจของลูกค้า เพราะถ้าลูกค้าแฮปปี้ ก็จะเกิดการบอกต่อไม่รู้จบ และเมื่อถึงวันที่ดังแล้ว ก็ต้องยังรักษาบริการที่ดีให้เหมือนวันที่เริ่มต้นธุรกิจ เพราะถ้าไม่ทำก็เท่ากับได้ทุบหม้อข้าวตัวเองทิ้งแล้ว

“คุณขายอะไร ต้องใส่ใจกับมัน ให้ความสำคัญในงานบริการและเน้นในเรื่องการตลาด เพื่อกระจายสินค้าให้เป็นที่รู้จัก สิ่งสำคัญ คือ ใจต้องสู้ ถ้าใจไม่แกร่งพอ ไม่สู้พอ ธุรกิจไปได้ไม่ไกล ขอให้อดทน อย่าไปเสียใจกับอุปสรรคนาน เพราะถ้าเราสามารถผ่านไปได้ ก็จะรู้สึกศรัทธาในตัวเองมากขึ้น และไม่มีอะไรต้องกลัวอีกแล้ว”