ครม.ไฟเขียว'จีทูจี'จีนสร้างรถไฟ'หนองคาย-มาบตาพุด'

(รายงาน) ครม.ไฟเขียว'จีทูจี'จีน สร้างรถไฟ'หนองคาย-มาบตาพุด'
การประชุมครม.วานนี้ (18 พ.ย.) ที่ประชุมได้พิจารณาข้อเสนอของกระทรวงคมนาคมในการพัฒนาระบบรถไฟรางคู่ ซึ่งจะดำเนินการก่อสร้างเป็นโครงข่ายเชื่อมโยงทั่วประเทศ โดยแบ่งการก่อสร้างออกเป็นเส้นทางๆ ไป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ ลดต้นทุนการขนส่งลงจากเดิมที่ระบบขนส่งของไทยพึ่งพาทางถนนในสัดส่วนมาก ทำให้มีต้นทุนสูง
การพัฒนาระบบรางจะช่วยในการลดต้นทุนผลิตสินค้าของประเทศ เดิมต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศคิดเป็นสัดส่วนกว่า 10 % ต่อจีดีพี ซึ่งกระทบกับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า วันนี้กระทรวงคมนาคมเสนอแผนพัฒนาระบบรถไฟรางคู่เข้ามา เพื่อดำเนินการจัดทำทางรถไฟใหม่ โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้มีความร่วมมือกันระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีน ซึ่งเรื่องรถไฟเป็นเรื่องที่มีความเชื่อมโยงภูมิภาค ที่เราต้องการเชื่อมโยงไปสู่อนาคตในเส้นทางที่วางแผนไว้ก็มีหลายเส้นทาง เท่าที่มีการพูดคุยกับหลายประเทศก็มีหลายประเทศที่สนใจ ในแต่ละเส้นทาง โดยจีนสนใจเส้นทางราง 1.435 เมตร จากหนองคายลงมามาบตาพุด ซึ่งเป็นความร่วมมือแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ซึ่งที่ประชุมก็ให้ความเห็นชอบ และต่อไปจะมีการตกลงและหารือกันในรายละเอียดอีกครั้ง ซึ่งจะดำเนินการให้เร็ว
"ไทยกับจีนมีความร่วมมือระหว่างกันด้วยดีที่มีความร่วมมือกัน 2 เรื่อง อีกเรื่องคือเรื่องที่จีนจะซื้อผลผลิตทางการเกษตรของไทยจำนวนหนึ่ง เพื่อเป็นของขวัญคนไทยและโอกาสครบรอบความสัมพันธ์ทางการทูตที่มีต่อกันมา 40 ปี แต่ส่วนนี้ไม่เกี่ยวกับเรื่องของรถไฟแต่อย่างใด "
ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ส่วนของความร่วมมือไทย จีน มี 2 เรื่อง ได้แก่ 1.มีความเห็นชอบกรอบการจัดทำร่างเอ็มโอยู ไทย จีน ในการพัฒนาเส้นทางรถไฟรางคู่ที่มีขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร มีระยะทางจากหนองคาย แก่งคอย มาบตาพุด ระยะทาง 734 กม. และแก่งคอย กรุงเทพ ระยะทาง 133 กม. เริ่มดำเนินการได้ในปี 2558 มีความเร็ว 160-180 กม.ต่อชม. รวมระยะทาง 2 ช่วง 867 กม.
2. เอ็มโอยูในการซื้อข้าวและสินค้าการเกษตร ในโอกาสฉลองครบรอบ 40 ปีความสัมพันธ์ทางการทูต การประสานความร่วมมือลงนามเอ็มโอยูกระทรวงต่างประเทศเป็นผู้ดูแล โดยหลังจากนี้ให้ไปจัดทำรายละเอียดของเอ็มโอยูร่วมกับประเทศจีนและนำกลับมาเสนอ ครม. ใหม่อีกครั้ง เพื่อพิจารณา ในสัปดาห์หน้าที่จะถึงนี้
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่าการที่ครม.เห็นชอบในหลักการให้จีนเข้ามาสร้างรถไฟราง 1.435 เมตร ในลักษณะรัฐต่อรัฐ เป็นไปตามผลการหารือระหว่าง ประธานาธิบดี สี จิ้น ผิงของจีนกับพล.อ.ประยุทธ์ ในระหว่างการหารือทวิภาคี ในช่วงที่นายกฯเดินทางเยือนจีนเพื่อเข้าร่วมประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิปิกหรือเอเปค
ขณะเดียวกันจีนเองมีแผนที่จะพัฒนาเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อลงมายังกลุ่มประเทศอาเซียน โดยต้องการให้เป็นเส้นทางการค้าใหม่ โดยเฉพาะเส้นทางจากจีนผ่านมาทางประเทศลาว ก่อนเข้าไทยที่จ.หนองคายลงมากรุงเทพฯ และไปสิ้นสุดที่สิงคโปร์ ตามยุทธศาสตร์การเชื่อมโยงจีน-อาเซียนที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้
นอกจากการอนุมัติให้จีนเข้ามาสร้างทางรถไฟแล้ว ในประเด็นความร่วมมือกับจีน จะมีเซ็นสัญญาขายยางพาราในสต็อกรัฐบาลจำนวน 2.08 แสนตัน จากโครงการรักษาเสถียรภาพราคายางพาราให้กับจีน โดยจะมีการเซ็นสัญญาขายในวันพฤหัสบดีที่ 20 พ.ย. นี้
ทั้งนี้ร่างสัญญาซื้อขายยางดังกล่าวผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว
การส่งมอบสินค้าจะต้องมีการเปิด Letter of Credit (L/C) มาก่อน และจะมีการตั้งคณะกรรมการที่มีทั้งฝ่ายรัฐบาลไทยและเซอร์เวเยอร์ของผู้ซื้อในการตรวจสอบยางพาราแบบก้อนต่อก้อน เพื่อให้ถูกต้องตามเกณฑ์การคัดคุณภาพยางพาราที่ตกลงกัน ซึ่งอาจจะมียางมิดเชพ มีราแห้ง ราเปียกบ้าง ทำให้ราคาต่ำกว่าที่ให้แก่ยางคุณภาพดี แต่คู่ค้าจะรับซื้อแน่นอนเพราะคุณภาพยางยังนำไปใช้งานได้
นายชนะชัย เปล่งศิริวัธน์ ผู้อำนวยการองค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) กล่าวว่า มีการเจรจาของกระทรวงพาณิชย์กับบริษัท คอฟโก รัฐวิสาหกิจของจีน ซึ่งรัฐบาลไทยเสนอขายแบบจีทูจีเป็นข้าว 2 ล้านตัน และยางพารา 2 แสนตันนั้น ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีในการทำธุรกิจ เพราะกระทรวงพาณิชย์เปรียบเหมือนฝ่ายการตลาดของบริษัทหนึ่ง ควรหาช่องทางทุกทางที่จะขายได้ ไม่ว่าจะเป็นวิธีบาร์เตอร์เทรดหรือวิธีใดๆ