'สู้ไม่ถอย' วิถีซีอีโอบะหมี่หมื่นล้าน

ไม่มีทีท่าจะวางมือ'พิพัฒ พะเนียงเวทย์'ยังเป็นกุนซือเฝ้ามองบรรดาทายาท ขยายอาณาจักรบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป1-2หมื่นล
"ตอนนี้ใช้ชีวิต ถ้าอยู่ภายในประเทศ ตื่น 6 โมงเช้า พอ 6 โมงครึ่ง ออกกำลังกาย ถ้าไม่หนาวก็ว่ายน้ำ แต่ถ้าหนาวจะเดินเร็วสักครึ่งชั่วโมง 7 โมงได้เวลาอาหารเช้า 8 โมงเข้าออฟฟิศ ประชุมเที่ยงถ้าไม่มีแขกก็เดินไปซื้อก๋วยเตี๋ยว กินก๋วยเตี๋ยวเสร็จ คร่อก...ครึ่งชั่วโมง แล้ว 5 โมงเย็นก็กลับบ้าน"
นี่คือกิจกรรมที่อดีตนักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติไทย นักการตลาดมือฉมัง "พิพัฒ พะเนียงเวทย์" รองประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป "มาม่า" เล่าให้ฟังอย่างเป็นกันเอง เมื่อครั้งพบปะสื่อมวลชน เพื่อบอกเล่าผลการดำเนินงาน และแผนธุรกิจบะหมี่ฯหมื่นล้าน โดยมอบหมายให้เหล่า "ขุนพล" ข้างกายเป็นผู้บอกเล่า
มีพิพัฒ ในวัย 64 ปี มาคอยกำกับบท
เหล่าขุนพลที่ว่า ไล่เลียงตั้งแต่ "สุชัย รัตนเจียเจริญ" กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยทายาทหนุ่มสาว "เพชร พะเนียงเวทย์" ที่เพิ่งถูกดึงกลับมาจากการกุมบังเหียนตลาดฮังการี , "พจนา พะเนียงเวทย์" ดูแลตลาดส่งออก พร้อมกับ "พจนีย์ พะเนียงเวทย์" ที่นั่งเก้าอี้รองผู้อำนวยการ
พลันที่ทายาทธุรกิจร่ายยาวแผนธุรกิจเสร็จสิ้น บทสนทนาออกอรรถรสถึง ชีวิตวัยเกษียณของเจ้าพ่อมาม่า ก็เริ่มขึ้น !!
เริ่มเข้ามาทำธุรกิจบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจวบวันนี้ 40 กว่าปีเห็นจะได้ หากมองย้อนกลับไปดูการทำงานวันแรก เขาเอ่ยปากว่า..
"เอางี้..ความหลังนะ ทำงานจนต้องไปบวชพระ จริง! มันไม่ไหว กดดัน ยอดขายไม่ดี คุณภาพก็มีปัญหา" ถือเป็นมรสุมลูกแรกๆ ที่เจอ แต่นั่นไม่ทำให้เขาท้อ เพียงแต่ต้องการหาทางสงบเลยพึ่งร่มกาสาวพัสตร์ เท่านั้น
"ช่วงปีแรกที่เข้ามา เอาบ้านไปตึ๊ง (จำนอง) มันหมดตัวแล้ว ตอนนั้นอายุ 36 บ้านแลกกับเงินก้อนโต 3 แสนกว่าบาท เพื่อนำไปซื้อแป้งหมี่ (แป้งสาลี) วัตถุดิบเพื่อใช้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป"
บนความโชคร้าย กลับมีคนหยิบยื่นข้อเสนอให้เขายืมเงิน
"ก็มีคนที่มีบุญคุณนะ เข้าไปหาในห้อง ปิดประตูเลย"
"มึงเจ๊งไหม?"
"มึงถามทำไม?"
"ถ้ามึงเจ๊งมึงบอกกู กูให้มึงแสนนึง" เขาย้อนบทสนทนาในอดีต ที่จำได้แม่นยำ ก่อนจะเล่าต่อว่า
เขาเข้าสู่วงการ "กินเส้น" ด้วยบะหมี่ฮกเกี้ยน สินค้าแรกที่ทำตลาด แต่..เจ๊งไม่เป็นท่า ทั้งที่สำรวจตลาดมาดิบดี
"เอาเข้าจริงๆ เจ๊ง! ขายไม่ได้ เราก็มาคิดว่า ที่ขายไม่ได้ เพราะชื่อแบรนด์ไม่บอกอะไร" เขาเล่าจุดอ่อนของกลยุทธ์การตลาดและการสร้างแบรนด์ในยุคนั้น
นั่นเลยทำให้ต้องแก้เกมกันใหม่ ยกเครื่องโปรดักท์คลอดรสชาติต่อจากบะหมี่ฮกเกี้ยน นั่นคือ มาม่าซุปไก่ หรือ "มาม่าหมูสับ" สู่ตลาด จนขายดิบขายดี กระทั่งคู่แข่งที่ทำตลาดก่อนหน้าอย่าง "ยำยำ" ต้องเดินตาม โดยเลี่ยงบาลีส่งรส "หมูบะช่อ" มาแข่ง ไม่หยุดแค่นั้น เมื่อมาม่าออกรสชาติ "ต้มยำกุ้ง" กระทุ้งซ้ำความปราชัยให้คู่แข่ง ขณะที่ทางการตลาดถือว่าประสบความสำเร็จล้นหลาม
"ออกมาแต่ละรสชาติต้องบอกเลยว่าคืออะไร เราไม่ทำรสหมู แต่ต้องบอกว่าหมูสับ ชัดๆ เลย พอจะออกรสกุ้ง แทนที่จะเป็นรสกุ้งเฉยๆ ก็ออกต้มยำกุ้ง เลยสำเร็จ" พิพัฒ แจกแจงทริกเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่
ทว่า ความดีความชอบไม่ได้มาจากฝีมือเขาและทีมงานเท่านั้น ส่วนหนึ่งยังต้องยกความสำเร็จให้กับความแข็งแกร่งของช่องทางจัดจำหน่าย และการตลาดของ "เครือสหพัฒน์" ไม่นับการส่งมือดีมาช่วยกอบกู้สถานการณ์ยามวิกฤติ
เมื่อสินค้าดี รสชาติโดนใจกลุ่มเป้าหมาย จึงไม่ยากที่ยี่ห้อมาม่า จะติดลมบนภายในระยะเวลาเพียงปีเศษ เข้าสู่ปีที่ 3 ของการทำการตลาด ก็เริ่มเห็นเค้าลางความสำเร็จ
"ปีที่แย่ๆ แค่ปีเดียว คือปีแรก หลังจากนั้นมาม่าก็ค่อยๆ ขึ้น" ส่วนสาเหตุที่ระส่ำในบางจังหวะ เขายืดอกรับว่า เป็นเพราะยุคนั้นผู้บริโภคยังไม่รู้จักบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ประกอบกับคุณภาพสินค้าก็ยังไม่ค่อยดี
"ต้องยอมรับ" เขาย้ำ
เขายังเล่าว่า เมื่อ 40 ปีก่อน มาม่า ยังไม่ใช่ยี่ห้อแรกที่เข้ามาทำตลาดบะหมี่ฯ หากแต่เป็นแบรนด์ที่ 4 รองจาก "ซันวา, ยำยำ และไวไว" โดยขณะนั้นมูลค่าตลาดบะหมี่ฯ เรียกว่าเล็กมากราว 10-20 ล้านบาทเท่านั้น และไม่มีผู้นำตลาดหรือเบอร์ 1 เบอร์ 2 เหมือนวันนี้ เพราะ "ขายไม่ได้สักเจ้าหนึ่ง" พูดจบก็หัวเราะร่วน
กระนั้น เขากลับสวมวิญญาณนักแข่ง กล้าการันตียอดขายกับ "ดร.เทียม โชควัฒนา" ผู้ก่อตั้งเครือสหพัฒน์
"ผมจำได้ รับปากคุณเทียมว่าจะขายเดือนหนึ่ง 8 ล้านบาท คุณเทียมถามว่า..เอาอย่างงั้นเหรอ เดือนละ 8 ล้านนะ" ดร.เทียม ถามกลับมาอีกว่าทำได้หรือไม่ เจ้าตัวชิงตอบทันที
"ได้ๆๆ ทำได้หลังจากรับปากสัก 1 ปี แล้วรับปากอีกที 30 ล้าน ก็ทำได้ใน 5 ปีต่อมา"
ความสำเร็จครั้งนั้นทำให้เจ้าตัว ขอแหวน "อัศวิน" ซึ่งเป็นแหวนตราสัญลักษณ์สหพัฒน์มา 1 วง จากคู่หู "อภิชาติ ธรรมมโนมัย" หัวเรือใหญ่ของฟาร์มเฮ้าส์ ซึ่งเคยเป็นฝ่ายขายของมาม่ามาก่อน
ปัจจุบันธุรกิจของมาม่า สำหรับเขา ยังมองเป็นปีทอง แม้ยอดขายในปีที่ผ่านมา จะตกต่ำเป็นประวัติการณ์ในรอบ 42 ปี
ทว่า กำไรยังดี เพราะทะลุ "พันล้าน" ทุกๆ ปีต่อเนื่อง 4-5 ปีแล้ว
แม้ยังเข้าออฟฟิศเป็นปกติ แต่บทบาทของนักธุรกิจวัยเกษียณ พิพัฒขอมองภาพใหญ่ แล้วปล่อยให้เด็กโชว์ฝีมือ
"ตอนนี้ก็วางแล้ว คำว่าวางมือไม่ใช่วางมือแบบระบบราชการ เราเตรียมเกษียณ แล้วเราก็มองให้คนอื่นรับผิดชอบไป แล้วเราก็คอยดู นี่เรียกว่าเกษียณ ไม่ใช่ว่าเกษียณออกมาแล้วอยู่บ้าน อันนี้ไม่ใช่"
สำหรับโจทย์ที่ให้ทายาทและนักบริหารรุ่นหลังทำต่อ คือเป้าหมายปั้นยอดขาย 2 หมื่นล้านบาท ภายใน 10 ปีข้างหน้า โดยเพิ่มยอดส่งออกเป็น 1 หมื่นล้านบาท และในประเทศ 1 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 50% เท่ากัน จากปัจจุบันสัดส่วนส่งออกอยู่ที่ 19% และในประเทศอยู่ที่ 81%
นอกจากนั้น สิ่งสำคัญที่คนในเจเนอเรชั่น 2 ต้องยึดถือเป็นแนวทางนั่นคือ การเป็นคนดี มีคุณธรรม ไม่ใช่จ่ายเกินตัว ช่วยเหลือเพื่อนฝูง ช่วยเหลือสังคมได้ก็ดี รวมถึงการยึดถือ "คุณภาพสินค้า" เพื่อความยั่งยืนขององค์กร
ถามว่า ในชีวิตทำงานมีอะไรที่เป็นผลงานชิ้นโบแดงไหม? พิพัฒ ตอบถ่อมตัวทันทีว่า "ไม่มี" พร้อมขยายความว่า
"ในชีวิตการทำงาน ไม่มีอะไรที่ยังไม่ได้ทำ" เพราะตลอดเวลากว่า 4 ทศวรรษที่ผ่านมา การเป็นเบอร์ 1 ในตลาดบะหมี่ครองส่วนแบ่งตลาดกว่า 50% การมีกำไรที่ดี นี่ก็พิสูจน์ผลงานได้เป็นอย่างดี
"ผมบอกว่าถ้าหมื่นล้าน (ยอดขาย) เกษียณ!! ก็ทำจนหมื่นล้าน ตอนนี้เลยบอกให้รุ่น ไปต่อ 2 หมื่นล้าน" เสียงที่เริ่มแหบแห้ง ทำให้เขาต้องหยุดบทสนทนาไว้เท่านี้
"โอเค พอแล้ว เหนื่อยแล้ว"