อียูขึ้นทะเบียนกาแฟดอยตุง-ดอยช้าง

อียูขึ้นทะเบียนกาแฟดอยตุง-ดอยช้าง

"สหภาพยุโรป" ขึ้นทะเบียน "กาแฟดอยตุง-ดอยช้าง" ของไทยเป็นสินค้าที่บ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ มีผลบังคับใช้ 3 ส.ค. นี้

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า สหภาพยุโรป (EU) ได้ลงประกาศใน EU Official Journal ขึ้นทะเบียนกาแฟดอยตุงและกาแฟดอยช้างของไทยเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication: GI) ใน EU แล้ว เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 โดยจะมีผลบังคับใช้ในอีก 20 วัน (3 สิงหาคม 2558)

"กาแฟดอยตุงและกาแฟดอยช้างเป็นสินค้า GI ลำดับที่ 2 และ 3 ของไทยที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็น GI ใน EU หลังจากที่ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้เป็นสินค้าเกษตรของไทยสินค้าแรกที่ได้ขึ้นทะเบียนใน EU เมื่อเดือนมีนาคม 2556 ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของทรัพย์สินทางปัญญาไทยในเวทีระดับโลก" รมว.พาณิชย์ กล่าว

ทั้งนี้ ไทยได้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนกาแฟดอยตุงและกาแฟดอยช้างใน EU เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 โดย EU ได้ตรวจสอบและประกาศโฆษณาคำขอของไทยเมื่อปี 2557 และเมื่อไม่มีผู้คัดค้านภายใน 6 เดือน EU จึงได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI ใน EU ส่งผลให้กาแฟดอยตุงและกาแฟดอยช้างของไทยสามารถใช้ตรา GI ของ EU ในการทำตลาดได้ เนื่องจากผู้บริโภคในสหภาพยุโรปส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับตรา GI ที่แสดงถึงลักษณะพิเศษและคุณภาพของสินค้า และยอมจ่ายเงินในราคาที่สูงขึ้นเพื่อบริโภคสินค้าดังกล่าว

สินค้าที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็น GI เป็นสินค้าที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างจากสินค้าเดียวกันซึ่งผลิตในพื้นที่อื่น โดยจะมีเอกลักษณ์โดดเด่นที่สามารถเชื่อมโยงกับแหล่งภูมิศาสตร์ คือ สภาพดิน น้ำ และอากาศ ในพื้นที่ซึ่งผลิตสินค้า GI นั้นได้ โดยปัจจัยทางธรรมชาติและปัจจัยจากมนุษย์มีส่วนสำคัญที่ส่งผลต่อการผลิตกาแฟดอยตุงและกาแฟดอยช้าง กล่าวคือ กาแฟดอยตุงปลูกในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุงบนเทือกเขานางนอน จังหวัดเชียงราย ระดับความสูง 800 – 1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล กาแฟดอยตุงจึงมีกลิ่นหอมและรสชาติกลมกล่อมมีเอกลักษณ์

ขณะที่กาแฟดอยช้างเป็นกาแฟอาราบิก้า สายพันธุ์หลัก คาทูรา คาติมอร์ และคาทุย ที่ปลูกบนหุบเขา ดอยช้าง ในตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ที่ระดับความสูง 1,000 – 1,700 เมตรจากระดับน้ำทะเล ซึ่งเหมาะแก่การปลูกกาแฟอาราบิก้า ประกอบกับการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยวอย่างพิถีพิถัน และกรรมวิธีผลิตที่ได้มาตรฐาน ส่งผลให้กาแฟดอยช้างมีกลิ่นหอมหวานคล้ายน้ำผึ้ง และมีรสชาติกลมกล่อม ชุ่มคอ

รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ในปี 2557 ไทยส่งออกกาแฟไปตลาดโลกในปริมาณ 700 ตัน เป็นมูลค่า 3.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นการส่งออกไป EU 0.374 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 10 ของการส่งออกกาแฟโดยรวมของไทย โดยกาแฟดอยช้างส่งออกประมาณปีละ 400 ตัน ไปแคนาดา อังกฤษ อิตาลี มาเลเซีย เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย และกาแฟดอยตุงส่งออกไปญี่ปุ่น แต่คาดว่าภายหลังจากที่กาแฟทั้งสองชนิดนี้ได้รับการขึ้นทะเบียน GI ใน EU จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ส่งออกกาแฟดอยตุงและกาแฟดอยช้างขยายตลาดในสหภาพยุโรปได้มากขึ้น

สำหรับการขึ้นทะเบียน GI ของไทย ปัจจุบันไทยขึ้นทะเบียนสินค้า GI แล้ว 70 รายการจาก 53 จังหวัด เช่น ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ส้มโอนครชัยศรี มะขามหวานเพชรบูรณ์ เป็นต้น และกระทรวงพาณิชย์มีแผนจะขึ้นทะเบียน GI ในอีก 24 จังหวัดที่เหลือให้ครบภายในปี 2560 ผู้สนใจสามารถยื่นคำขอขึ้นทะเบียนและสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมทรัพย์สินทางปัญญา โทร. 1368