'เดอะสตีล' แตกตัวสู่ 'พลังงานทดแทน'

เมื่อผู้ผลิตจีนดัมพ์ราคาเหล็กในประเทศ บวกความต้องการใช้ปี 58 หด 70% บมจ.เดอะ สตีล จำต้องหาทางเดินใหม่ 'บุญชัย จิระพงษ์ตระกูล' เคาะแผนยั่งยืน
ทำงานด้วยความยากลำบาก หากจะเอ่ยเช่นนี้กับ 'แวดวงเหล็กเมืองไทย' คงไม่ผิด เพราะนอกจากตลอดปี 2558 ผู้ประกอบการต้องเผชิญหน้ากับความต้องการใช้เหล็กภายในประเทศที่ลดลง จาก 'ร้อยเปอร์เซ็นต์' เหลือเพียง 20-30% แล้ว ยังต้องเหนื่อยกับการหาทางสู้กับผู้ผลิตเหล็กเมืองจีนที่ออกมา 'ดัมพ์ราคา' และราคาเหล็กม้วนที่ปรับตัวลดลงจาก 18 บาทต่อตัน สู่ระดับ 14 บาทต่อตัน
ด้วยเหตุผลเหล่านี้ ทำให้ผลประกอบการปี 2558 ของผู้ผลิตเหล็กหลายรายต้องเข้าสู่โหมด 'กำไรหด' บางรายถึงขั้น 'ขาดทุน' ขณะเดียวกันยังทำให้หุ้นกลุ่มเหล็กรายๆตัวไม่มีความเสถียรภาพ
เฉกเช่น หุ้น เดอะ สตีล หรือ THE ผู้ให้บริการจัดหาผลิตภัณฑ์เหล็กม้วนรีดร้อน เหล็กม้วนสลิต เหล็กแผ่น เหล็กรูปพรรณประเภทขึ้นรูปร้อน และเหล็กรูปพรรณขึ้นรูปเย็น เพราะนับตั้งแต่อุตสาหกรรมเหล็กตกอยู่ในความผันผวน ราคาหุ้นจาก 10 กว่าบาท หล่นตุ๊บ มาอยู่ระดับ 2-3 บาท ปัจจุบันซื้อขาย บาท
'บุญชัย จิระพงษ์ตระกูล' ประธานกรรมการบริหาร กรรมการผู้จัดการ บมจ.เดอะ สตีล หรือ THE เล่าให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2556-2558) ผู้ประกอบการเหล็กต้องทำงานอยู่บนความลำบาก 3 เด้ง คือ ข้อ1.ความต้องการใช้เหล็กทั่วโลกปรับตัวลดลง
ข้อ 2.ผู้ผลิตเหล็กเมืองจีนดัมพ์ราคา หลังรัฐสนับสนุนให้ส่งออกสินค้าสำเร็จรูป ด้วยการคืนภาษี 13% และข้อ 3.ราคาเหล็กปรับตัวลดลงทุกเดือน เหตุผลสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมเหล็กผันผวนหนัก เกิดจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว
ตลอดปี 2558 ความต้องการใช้เหล็กม้วนในประเทศลดลงเหลือเพียง 20-30% นั่นหมายความว่า ผู้ผลิตเหล็กม้วนในเมืองไทยที่มีอยู่ 3 ราย ประกอบด้วย บมจ.จี เจ สตีล หรือ GJS บมจ.จี สตีล หรือ GSTEL และบมจ.สหวิริยาสตีลอินดัสตรี หรือ SSI ที่มีกำลังการผลิตเฉลี่ยปีละเกือบ 3 ล้านตันต่อปี สามารถขายเหล็กได้เพียง 1 ล้านตันต่อปีเท่านั้น
ราคาเหล็กม้วนเคยขึ้นไปยืนจุดสูงสุด 40 บาท ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2551 แต่หลังมีความต้องการใช้เหล็กปลอมๆจากเมืองจีนเข้ามา ประกอบกับเกิดการเก็งกำไร ราคาเหล็กม้วนก็ปรับตัวลงเหลือ 20 บาท โดยใช้เวลาเพียง 1 เดือน ก่อนจะลงมายืนระดับ 10 กว่าบาท หลังจากนั้นมา 5 เดือน
ทว่าความผันผวนลักษณะนี้ผู้ประกอบการไม่ค่อยปลื้มเท่าไรนัก เพราะราคาเหล็กที่ไม่เสถียรภาพจะทำให้บริษัทมีกำไรหรือขาดทุนจำนวนมากในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ยกตัวอย่าง ในช่วงครึ่งปีของปี 2551 บริษัทมีกำไรสุทธิมากถึง 400-500 ล้านบาท แต่เมื่อราคาเหล็กเริ่มหักหัวลงกำไรถูกคืนหมดในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2551
'ที่ผ่านมาจีนนิยมส่งสินค้าสำเร็จรูปเข้ามาตีตลาดเมืองไทย จากเดิมที่ส่งออกเพียงวัตถุดิบ ซึ่งจีนทำการค้าไม่เป็นธรรม เพราะเขาส่งสินค้าสำเร็จรูปและวัตถุดิบในราคาเดียวกัน เป้าหมาย คือ แย่งมาร์เก็ตแชร์ผู้ผลิตไทย ปัญหาเหล่านี้สร้างความเดือดร้อนให้ผู้ผลิตภายในประเทศ'
๐ราคาเหล็กปีนี้เกิน 18 บาทต่อตัน
ประธานกรรมการบริหาร ยืนยันว่า หลังเหล่าผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กยื่นหนังสือขอให้ทางการออกมาตรการสกัดเหล็กเมื่อเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา ประกอบการรัฐบาลเริ่มออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ราคาเหล็กม้วนในเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา เริ่มปรับดีขึ้นจาก 14 บาทมาสู่ 15 บาท ดังนั้นโอกาสจะเห็นราคาเหล็กม้วนภายในประเทศขยับมายืนเกิน 18 บาทในปีนี้ไม่ใช่เรื่องยาก
ในช่วงที่ราคาเหล็กม้วนตกอยู่ในภาวะขาลง บริษัทหันมาใส่ใจในการบริหารสต็อกมากขึ้น เช่น 1.สต็อกเหล็กตามคำสั่งซื้อ เพราะราคาเหล็กที่ผันผวนอาจทำให้บริษัทขาดทุนจากสต็อกสินค้าได้ 2.ไม่ซื้อเหล็กจากเมืองนอก เพราะกว่าจะได้รับสินค้าต้องใช้เวลา 3 เดือน ต่างแตกจากสั่งซื้อสินค้าในเมืองไทยที่ใช้เวลาเพียง 1 เดือน
ข้อเสียของการสั่งซื้อสินค้าในประเทศ คือ ราคาจะแพงกว่าต่างประเทศเฉลี่ย 5-10% ที่ผ่านมาบริษัทจะสั่งซื้อเหล็กจากผู้ผลิตประเทศบราซิล,ตุรกี,อียิปต์ และอิหร่าน เป็นต้น ราคาเหล็กเฉลี่ย 12 บาท (ไม่รวมภาษี) และบริษัทจะไม่สั่งซื้อสินค้าจากเมืองจีน รัสเซีย และอินเดีย แม้ราคาเหล็กม้วนจะถูกกว่า 20% ก็ตาม ราคาเฉลี่ย 10 บาท เพราะสินค้าไม่ได้คุณภาพ และตอนนี้ทางการไทยไม่อนุญาตให้นำเข้าสินค้าแล้ว
'ที่ผ่านมาราคาเหล็กปรับตัวลดลงทุกเดือนเฉลี่ย 2-3% ฉะนั้นต่อให้บริการสต็อกเหล็กดีแค่ไหน บริษัทก็ยังขาดทุนอยู่ดี ดังนั้นรายได้ในปี 2558 อาจลดลงจากปีก่อนหน้าที่ทำได้ 9 แสนตันต่อปี เหลือเพียง 6 แสนตันต่อปี'
๐1.2 ล้านตัน เป้าขายเหล็กปี 59
'บุญชัย' ยืนยันเป้าหมายการขายในปี 2559 ว่า บริษัทอาจมีรายได้ประมาณ 1.2 ล้านตันต่อปี หลังงานภาครัฐจะกลับมาเต็มรูปแบบ ซึ่งจะทำให้ราคาเหล็กม้วนในประเทศดีดตัวกลับได้บางส่วน แต่ราคาเหล็กม้วนต่างประเทศอาจขยับขึ้นเพียง 2-3% ขณะเดียวกันเงินจากภาครัฐเริ่มเข้าสู่ภาคเกษตรกรมากขึ้น แม้จะยังไม่มีเงินมากพอในการออกรถใหม่ หรือซื้อบ้านใหม่ แต่ถือเป็นสัญญาที่ดี
นอกจากนั้นในปี 2559 บริษัทยังจะรับรู้รายได้ตามสัดส่วนการถือหุ้น จากการเข้าไปถือหุ้น 20% มูลค่า 200 ล้านบาท ในบริษัท เต๋อหลง (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเหล็กม้วนหน้าแคบ สัญชาติจีน เมื่อต้นปี 2558 ปัจจุบันโรงงานดังกล่าวมีกำลังการผลิต 500,000 ตันต่อปี โดยบริษัทเริ่มรับรู้รายได้ครั้งแรกในเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา ในสัดส่วน 50% ส่วนที่เหลือจะเป็นรายได้ของบมจ.เอเซีย เมทัล (AMC) ซึ่งเขาถือหุ้นในบริษัทแห่งนี้สัดส่วน 20%
ขณะเดียวกันบริษัทยังได้กลุ่มลูกค้าใหม่ๆเพิ่มขึ้นจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้าง หลังเมื่อเดือนก.ย.ที่ผ่านมา บริษัทได้เข้าไปซื้อสินทรัพย์ จากกลุ่มคิมเส็งค้าเหล็ก ผู้จําหน่ายเหล็กเส้นและเหล็กข้ออ้อย และกลุ่มมหาชัยศูนย์รวมเหล็ก ผู้จําหน่ายเหล็กม้วนดําและเหล็กม้วนขาว
บริษัทได้นำเงินจากการขายหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 150 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1 บาท ราคาหุ้นละ 5 บาท รวมมูลค่า 750 ล้านบาท ให้แก่บุคคลในวงจำกัด 2 ราย คือ 'สรชุ จิระพงษ์ตระกลู' กรรมการผู้จัดการ บริษัท คิมเส็ง ค้าเหล็ก จํากัด และ 'นิรุตต์ งามชํานญฤทธิ์' กรรมการบริษัท มหาชัยศูนย์รวมเหล็ก จํากัด มาดำเนินการซื้อสินทรัพย์
ปัจจุบัน 'เดอะ สตีล' มีลูกค้าพันกว่าราย ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าไซด์เล็ก แต่เมื่อเรามีสองบริษัทใหม่เข้ามาจะทำให้ผลิตภัณฑ์ของเรามีความครบวงจรมากขึ้น โดยบริษัทจะมีสัดส่วนรายได้จากเหล็กม้วน 30% เหล็กเส้น 30% และเหล็กรูปพรรณ 40% เทียบกับในอดีตที่มีสัดส่วนรายได้ 20%, 20% และ 60% ตามลำดับ
สาเหตุที่เน้นขายเหล็กรูปพรรณเป็นเพราะมีอัตรากำไรขั้นต้นค่อนข้างสูง หากขายในลักษณะซื้อมาขายไปจะมีกำไรขั้นต้นสูงถึง 5% รองลงมาเป็นเหล็กเส้น 3-5% และเหล็กม้วน 3% แต่ถ้าขายเหล็กรูปพรรณในลักษณะที่บริษัทผลิตเองจะมีกำไรขั้นต้นเฉลี่ย 10-12% ปัจจบันบริษัทให้บริการจัดหาผลิตภัณฑ์ในลักษณะซื้อมาขายไปคิดเป็นสัดส่วน 80% และผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์ 20%
'สิ้นปี 2559 บริษัทจะมีรายได้จากการจำหน่ายเหล็กเฉลี่ย 18,000 ล้านบาท เทียบกับปี 2558 ที่มีรายได้เพียงหมื่นล้านบาท'
๐'พลังงานทดแทน' สตอรี่ต่อไป
หุ้นใหญ่เบอร์หนึ่ง เล่าว่า ด้วยความที่ราคาเหล็กผันผวนหนักมาหลายปี บริษัทจึงตัดสินใจ 'แตกไลน์ธุรกิจ' ออกไปสู่ 'พลังงานทดแทน' เพื่อลดความเสี่ยงและสร้างผลกำไรให้คงที่ ล่าสุดบริษัท เดอะ สยาม พาวเวอร์ หรือ TSP ในฐานะบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 70% ได้เข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของ บมจ.สยามเพาเวอร์เจนเนอเรชั่น หรือ SIPCO
รวมถึงบริษัทที่เกี่ยวข้องจำนวน 3 บริษัท คือ บริษัท สยามเพาเวอร์โครงการ 2 จํากัด บริษัท สยาม ไอซ์ จํากัด และบริษัท สยาม ไพน์แอปเปิ้ล ฟีด จํากัด ส่วนสัดส่วนการถือหุ้นที่เหลืออีก 30% ถือผ่าน 'กลุ่มมหาชัยศูนย์รวมเหล็ก' ปัจจุบัน บมจ.สยามเพาเวอร์เจนเนอเรชั่น สัญชาติมาเลเซีย เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (Combined Cycle Cogeneration) กำลังการผลิต 160 เมกะวัตต์ ซึ่งตั้งอยู่ในโครงการสวนอุตสาหกรรม เอส เอส พี จังหวัดระยอง ลูกค้าหลัก คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบมจ.จี สตีล หรือ GSTEL โดยบริษัทได้ขายไฟฟ้าให้ลูกค้าสองรายมานาน 5 ปี ในสัดส่วน 90 เมกะวัตต์ อายุสัญญา 25 ปี (นับตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค.2553) และ70 เมกะวัตต์ อายุสัญญา 20 ปี (นับตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค.58) ตามลำดับ
ตามแผนงานบริษัทจะนำเรื่อง บริษัท เดอะ สยาม พาวเวอร์ ขอเพิ่มทุนไม่เกิน 3,000 ล้านบาท เพื่อนำเงินไปซื้อหุ้น 4 บริษัท เข้าที่ประชุมผู้ถือหุ้น ในวันที่ 26 ก.พ.นี้ หากทุกอย่างผ่านพ้นไปด้วยดี คาดว่ากระบวนการลงทุนจะแล้วเสร็จในเดือนมี.ค.นี้ และบริษัทจะเริ่มรับรู้ได้จากโรงไฟฟ้าในช่วงเดือนเม.ย.นี้
เบื้องต้นบริษัทประเมินว่า จะมีรายได้จากการขายไฟฟ้าเดือนละเฉลี่ย 300 ล้านบาท ฉะนั้นสิ้นปี 2559 บริษัทจะมีรายได้ไฟฟ้าประมาณ 2,000-2,700 ล้านบาท คิดเป็น 10% ของรายได้รวม ซึ่งจะทำให้บริษัทมีรายได้รวมแตะ 20,000 ล้านบาท เทียบกับปี 2558 ที่มีรายได้จากการจำหน่ายเหล็กอย่างเดียวเพียงหมื่นล้านบาท
'เรากำลังมองหาพันธมิตรภายในประเทศที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องโรงไฟฟ้าให้กับบริษัท เดอะ สยาม พาวเวอร์ ส่วนเงื่อนไขการลงทุนอยู่ระหว่างเจรจา'
เมื่อถามถึงสเต็ปต่อไปของธุรกิจไฟฟ้า? เขา บอกว่า ปัจจุบันบริษัท สยามเพาเวอร์โครงการ 2 จำกัด (บริษัทย่อยของ SIPCO) มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า หรือ PPA กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.แล้ว 90 เมกะวัตต์
เมื่อเราได้เป็นเจ้าของเต็มตัวจะลงมือก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมทันที คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2 ปีครึ่ง และจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในวันที่ 1 ก.ค.2561
ดังนั้นในปี 2561 เราอาจมีรายได้จาก 2 โรงไฟฟ้า ประมาณ 4,000 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนหน้าที่มีรายได้จากโรงไฟฟ้าโรงเดียวประมาณ 3,000 ล้านบาท และเมื่อโรงไฟฟ้าแห่งที่สองเดินเต็มกำลังการผลิต บริษัทจะมีรายได้จากสองโรงไฟฟ้าประมาณ 6,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 20% ของรายได้รวม (ตัวเลขดังกล่าวเป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น)
'แม้จะมีรายได้จากไฟฟ้าเพิ่มเติมเข้ามา และอุตสาหกรรมเหล็กผันผวน แต่เรายังคงยกให้ธุรกิจเหล็กเป็นงานหลัก เพราะแบรนด์ของบริษัทเป็นที่รู้จักแล้ว ที่สำคัญธุรกิจเหล็กคงเติบโตเรื่อยๆ ซึ่งงานไฟฟ้าคงขยายตัวไม่ทัน และราคาเหล็กคงไม่ต่ำไปกว่านี้อีกแล้ว'
เขา ย้ำว่า การเข้าลงทุนใน 4 บริษัท นอกจากบริษัทจะได้ครอบครองธุรกิจไฟฟ้าแล้วยังได้ ธุรกิจห้องเย็นสาธารณะด้วย ปัจจุบันบริษัท สยาม ไอซ์ จํากัด มีห้องเย็นให้เช่า ขนาด 5,000 ตัน
ขณะเดียวกันยังได้ธุรกิจผลิตอาหารสัตว์จากเปลือกสับปะรด กําลังการผลิต 4 ตันต่อวัน และธุรกิจผลิตน้ำสับปะรดเข้มข้น กําลงการผลิต 1,000 ลิตรต่อวัน ภายใต้การดูแลของบริษัท สยาม ไพน์แอปเปิ้ล ฟีด จํากัด ซึ่งสองบริษัทย่อยได้ซื้อพลังงานไอน้ำจาก SIPCO
'ปัจจุบันบริษัทมีอัตราหนี้สินต่อ หรือ D/E ต่ำเพียง 1.1 เทียบกับปี 2557 ที่เคยอยู่สูงถึง 3 เท่า ฉะนั้นยังมีช่องว่างในการกู้เงินอีกมาก'
'บุญชัย' ทิ้งท้ายว่า ตลอดปี 2559 อาจเกิดการแข่งขันในอุตสาหกรรมเหล็กบาง เพราะความต้องการใช้จะกลับมาแตะ 50% ฉะนั้นอาจมีบางครั้งที่จำเป็นต้องขายตัดราคา แต่เนื่องจากเรามีต้นทุนต่ำ เพราะมีคู่ค้าที่ดีอย่าง จีสตีล และเต๋อหลง ฉะนั้นย่อมได้มากกว่าเสีย
ถามว่า เราเตรียมรับความต้องการใช้เหล็กที่เพิ่มขึ้นอย่างไร เรากำลังจะนำเข้าเครื่องผลิตท่อ ซึ่งจะทำให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 7-6 หมื่นตันต่อปี จากปัจจุบันที่เดินเครื่องอยู่เพียง 2 แสนตันต่อปี คิดเป็น 20% ของกำลังการผลิตทั้งหมด
ปี 2559 เราจะกลับมาจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นตามนโยบาย 50% อีกครั้ง หลังไม่ได้จ่ายมานาน 2 ปี ที่สำคัญเรายังมี 'สตอรี่ใหม่' ออกมาเซอร์ไพรส์ผู้ถือหุ้นอย่างต่อเนื่อง กลับมาคราวนี้ใหญ่กว่าเดิม (แอบเล่านอกรอบ)
'แม้รัฐจะมีความสเถียรภาพมากขึ้น แต่โปรดอย่าวางใจ อะไรๆ มักไม่แน่นอน'