Solo Traveller ปฏิวัติ “ท่องเที่ยว” ยุคโซเชียล
คนรักอิสระ อยากเป็น“ซัมบอดี้”สื่อโซเชียลมีเดียเปลี่ยนโลกเสริมให้ เทรนด์‘เที่ยวคนเดียว’ เติบโตขึ้น ได้เวลาธุรกิจท่องเที่ยวปรับตัวรับมือ
“พฤติกรรมการท่องเที่ยวคนเดียว กระทบตลาดท่องเที่ยวรูปแบบเดิม ท้าทายการท่องเที่ยวในวันนี้อย่างมาก”
คำยืนยันของ “วรพันธุ์ คล้ามไพบูลย์” สถาปนิกและนักสร้างสรรค์บูทีคโฮเต็ลขนาดเล็ก สะท้อนการเติบโตของเทรนด์เที่ยวคนเดียว (Solo Traveller) ที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง
เขาบอกว่า เทรนด์การเที่ยวลำพัง เติบโตมาคู่กับสายการบินต้นทุนต่ำ (Low cost Airline) ที่ทำให้คนไม่ต้องเตรียมแผนในการเดินทางมากมายเหมือนแต่ก่อน
ขณะการมี “Online Travel Agency” ธุรกิจตัวแทนการเดินทาง ตัวกลางรับจองที่พักบนโลกออนไลน์ ก็ยิ่งทำให้คนเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น สามารถวางแผนท่องเที่ยวได้ด้วยตัวเองเพียงนิ้วคลิ๊ก !
“สมัยก่อนการจะไปเที่ยวแต่ละที เราอาจต้องพึ่งพา โลนลี แพลนเน็ต ไม่ก็ถามเพื่อนเอา แต่เดี๋ยวนี้แค่อ่านจากเว็บท่องเที่ยว อย่าง tripadvisor ก็สามารถเข้าถึงข้อมูล รวมถึงการรีวิวต่างๆ ได้หมดแล้ว” เขาบอกพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากพลังของสื่อออนไลน์ บวกอิทธิพลของโซเชียลมีเดีย อย่าง เฟซบุ๊ค อินสตาแกรม ก็ช่วยส่งเสริมความเป็น “ปัจเจก” ของคน
เขาว่า ยุคนี้ใครๆ ก็อยากเป็น “ซัมบอดี้” อยากมีตัวตนกันทั้งนั้น กระทั่งคนที่สมัยก่อนไม่เคยมีจุดเด่นอะไรเลย ก็รู้สึกว่าตัวเองเป็นซัมบอดี้ได้ในโลกโซเชียล การเติมเต็มการมีตัวตนนี้ ส่วนหนึ่งก็คือ การได้ไปเที่ยวในที่ที่คนอื่นไม่เคยไป เลยส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวคนเดียว และท่องเที่ยวกลุ่มเล็กเพิ่มมากขึ้นในยุคนี้
นักท่องเที่ยวลุยเดี่ยว มีไลฟ์สไตล์ ความต้องการ และพฤติกรรมการใช้เงิน ที่แตกต่างไปจากนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่น อย่างไม่ต้องการห้องพักที่หรูหราและใหญ่โต เพราะใช้เป็นแค่ที่นอน อยากจ่ายในงบประมาณที่จำกัด และอยากได้การบริการจากพนักงานที่ตอบคำถามได้ แต่ไม่ต้องมาเจ๊าะแจ๊ะวุ่นวายมากมาย
เพราะสิ่งที่พวกเขาแสนจะหวงแหนก็คือ “ความอิสระ”
นี่คือ ตัวอย่างความแตกต่าง ที่สะกิดเตือนให้ธุรกิจดั้งเดิม ต้องเร่งปรับตัว “รื้อแผนรบใหม่”
“สิ่งเหล่านี้กระทบธุรกิจท่องเที่ยวแบบเดิมแน่นอน ยิ่งพวกโรงแรมสแตนดาร์ดกลุ่มนี้จะยิ่งลำบาก เพราะเขาสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองลูกค้ากลุ่มเก่า และกฎหมายที่ออกมานานก็เป็นตัวทำให้โรงแรมอยู่ลำบากขึ้น เพราะเขาต้องลงทุนในส่วนที่นักท่องเที่ยววันนี้ไม่ใช้กัน อย่าง สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อย่างล็อบบี้ขนาดใหญ่ ตลอดจนการให้บริการที่ถูกสอนมาจากวิชาการโรงแรม ไม่ว่าจะการดูแลคน หรือการต้อนรับ ซึ่งไม่ใช่ว่าไม่ดีนะ เพียงแต่มันเหมาะกับลูกค้าแบบเก่ามากกว่า”
เขาย้ำว่า โรงแรมแบบเก่าต้องเร่งปรับตัว ถ้าอยากจะอยู่ให้รอด ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาว่า ลงทุนต่อห้องเยอะมาก แต่กลับได้รายได้เท่ากับโรงแรมใหม่ที่ลงทุนน้อยกว่าหลายเท่า!
หนึ่งในการปรับตัวที่พอมองเห็นกันแล้ว คือ การที่โรงแรมขนาดใหญ่แตกแบรนด์มาทำ “บูทีคโฮเต็ล” ของตัวเอง เพื่อสู้กับแบรนด์เล็ก แต่วรพันธุ์ กลับมองว่า อย่างไร “สปิริท” ในการทำก็ไม่เหมือนโปรดักส์ที่เจ้าของดูแลเอง เพราะจุดเด่นของบูทีค คือ “จิตวิญญาณความเป็นเจ้าของ” ที่สอดแทรกอยู่ในทุกอณูของผลิตภัณฑ์ ขณะที่โรงแรมใหญ่ แม้เทรนด์คนมาดีแค่ไหน แต่ก็เป็นแค่ลูกจ้าง คงสู้เจ้าของทำเองไม่ได้
“ตลาดจะแยกกันชัดเจน นักท่องเที่ยวที่ชอบประสบการณ์จริงๆ เขาก็จะไปบูทีคจริงๆ แต่สำหรับกลุ่มโรงแรมที่เขาจะได้ ก็คือนักท่องเที่ยวกลุ่มเดิมของเขา ที่ต้องการที่พักแนวใหม่ เพราะเบื่อโปรดักส์เดิมๆ ก็จะขยับมาพักบูทีคในแบรนด์ของเขา แต่อย่างไรด้วยสปิริทของแบรนด์ ก็ไม่มีวันไปแข่งขันหรือสู้กับบูทีคได้”
ระหว่างที่ธุรกิจโรงแรมมาตรฐานได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ ทว่ากระแสคนเที่ยวเดี่ยวกลับส่งอานิสงส์ให้ที่พักอีกแบบเติบโตเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น “โฮสเทล” ที่พักราคาประหยัดสำหรับนักเดินทางที่ชอบพบปะเพื่อนใหม่ มีลักษณะคล้ายหอพัก ที่พักประเภท “เกสต์เฮาส์” หรือจะ “Bed and Breakfast” ให้ที่พักกับอาหารเช้า ตลอดจนโรงแรมขนาดเล็ก “บูทีคโฮเต็ล” ที่ตอบสนองความเป็นส่วนตัวของคน ซึ่งได้รับความนิยมมากขึ้นจากขาเที่ยวแนวนี้
“นักท่องเที่ยวรุ่นเก่าอาจซื้อความสบาย ความหรูหรา แต่นักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ เขาซื้อประสบการณ์ เลยเป็นปัจจัยบวกที่ส่งเสริมให้การท่องเที่ยวตามต่างจังหวัด ได้สัมผัสวิถีชีวิตคนท้องถิ่น เป็นรูปแบบที่พักที่มีโอกาสเติบโตสูงมาก”
ขณะกลุ่มโฮมสเตย์ เขาบอกว่า ถ้ายังคงไม่พัฒนาและปรับตัวก็จะอยู่ลำบากขึ้น ตรงกันข้ามถ้าปรับก็จะพบโอกาสในตลาดใหม่นี้เช่นเดียวกัน
“บ้านเรามีโฮมสเตย์ที่ไม่พัฒนาอีกเยอะมาก แต่ถ้ายังทำแบบเดิมๆ เก็บค่าที่พักคืนละ 100-200 บาท ไม่ปรับตัวก็จะอยู่ลำบาก เพราะบูทีค โฮสเทล หรือ Bed and Breakfast เขาดึงดูดลูกค้ามาก อดีตโฮมสเตย์คนอยากไปเพราะอยากเรียนรู้ แต่ถามว่าเขาไปแล้วกลับมาใช้ซ้ำหรือเปล่า ฉะนั้นโฮมสเตย์ต้องปรับตัว โดยการเพิ่มความเก๋ไก๋เข้าไป แต่ต้องระวังไม่ให้เสียเอกลักษณ์ด้วย ซึ่งถ้าทำได้ก็จะเกิดโอกาสธุรกิจมหาศาล เพราะนี่เป็นสิ่งที่ชาวบ้านทำได้เอง ไม่ต้องพึ่งรัฐ”
ส่วนบูทีคโฮเต็ล เขาบอกว่า ต้องพยายาม “ลดต้นทุน” ในการทำลง โดยผู้ที่จะลงทุนรายใหม่ๆ อย่าไปยึดติดเรื่องทำเลมากเกินไป แต่ต้องเรียนรู้การลงทุนในทำเลที่รองลงมา เพื่อที่จะมีต้นทุนที่ต่ำลง อีกประเด็นสำคัญคือ ต้องสร้างจุดขายขึ้นมา โดยใช้ตัวช่วยที่เป็นทุนเดิมที่มีอยู่ อย่าง ชุมชน มาใช้เรียกแขก ดึงดูดลูกค้า เพื่อที่จะได้มาร์จิ้นที่สูงขึ้น
“ประเด็นไม่ใช่เราขายห้องได้แพงแค่ไหน แต่อยู่ที่ทำมาร์จิ้นได้กี่เปอร์เซ็นต์ นี่ต่างหาก คีย์ซัคเซส”
ขณะที่โฮสเทล ซึ่งกำลังสดใสสุดๆ ซึ่งเขาคาดว่าขยายตัวปีละไม่ต่ำกว่า 30-40% เพราะโฮสเทลโดยรวมลงทุนน้อยกว่าบูทีค และมีลักษณะเป็นกิจกรรมที่คนหนุ่มสาวมาเจอกัน ดังนั้นจึงเป็นธุรกิจที่ตรงใจผู้ประกอบการรุ่นใหม่เอามากๆ
“เหมือนยุคหนึ่งที่วัยรุ่นฮิตเปิดร้านกาแฟ ร้านอาหารเก๋ๆ วันนี้คนกลุ่มนี้หันมาเปิดโฮสเทล ซึ่งโฮสเทลเป็นกระแสแน่นอน แต่ยั่งยืนได้เพราะมีดีมานด์อยู่ แต่อยากฝากว่า ส่วนใหญ่ตกแต่งสถานที่แพงเกินไป และเก็บค่าห้องถูกเกินไป เพราะติดภาพลักษณ์ว่า โฮสเทลต้องเก๋ ต้องคูล ต้องมีดีไซน์ กลายเป็นว่าลงทุนแพงขึ้น แต่ขายได้เท่าเดิม กระทบกับความอยู่รอดของธุรกิจ”
ขณะที่การจับตลาดของกลุ่มโฮสเทล เขาแนะว่า ไม่ได้มีแค่แบ็คแพ็คเกอร์ หรือกลุ่มเที่ยวคนเดียวเท่านั้น แต่อยากให้มองไปที่กลุ่มนักท่องเที่ยวสูงวัย และกลุ่มครอบครัวด้วย เพราะขาเที่ยวกลุ่มนี้มีเงินเยอะ และไปเที่ยวไหนทีก็จะอยู่นานเพราะเคลื่อนที่ช้า แต่ในตลาดยังไม่มีใครทำโปรดักส์มาจับคนกลุ่มนี้ รวมถึงโฮสเทลสำหรับชาวเอเชีย โดยเฉพาะตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) อย่าง ไทย กัมพูชา ลาว เมียนมา ฯลฯ มองว่า ถ้าจับกลุ่มนี้ได้จะมีโอกาสเยอะมาก เพราะโฮสเทลเกิดจากวัฒนธรรมฝรั่ง การดีไซน์ที่ผ่านมาก็เน้นตอบสนองฝรั่งเป็นหลัก แต่กลุ่มเอเชียก็มีความต้องการเช่นกัน ฉะนั้นไม่ควรเมินเฉยกับตลาดกลุ่มนี้
ฟากผู้วิจัยธุรกิจโฮสเทล วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ให้กลยุทธ์เด็ดพิชิตตลาดโฮสเทลสั้นๆ ว่าให้ใช้หลัก “5 เข้า” คือ
เข้าใจ ความต้องการของลูกค้า
เข้าทาง โดยดึงจุดเด่นของสถานที่มาเป็นจุดขาย
เข้าพัก โฮสเทลที่ใช่
เข้าถึง ช่องทางเข้าถึงกลุ่มลูกค้า และ
เข้าหา ลูกค้าเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดี
นอกจากโฮสเทล ยังมีที่พักอีกแบบที่โดนใจคนชอบเที่ยวเดี่ยวสุดๆ และดูจะมาแรงมากเสียด้วยในตอนนี้ “พลกฤษณ์ ถมยา” นักเดินทางที่ชื่นชอบการขับร้องเพลงไปพร้อมกับการท่องเที่ยว เจ้าของแฟนเพจ Artthomya เฉลยกับเราว่า มันคือ “airbnb” เว็บไซต์ที่เปิดให้ใครก็ได้มาลงโฆษณาห้องของตัวเองที่ว่างอยู่ให้กับนักเดินทางทั่วโลกได้เข้าพัก
“airbnb เหมาะสำหรับคนที่อยากไปอยู่บ้านคนท้องถิ่นที่แบ่งห้องให้อยู่ เพราะว่าเจ้าของบ้านจะบอกได้เลยว่า มาที่นี่จะไปเที่ยวตรงไหน กินอะไร พักกับคุณย่าคุณยาย ในบ้านเก่าๆ เขาก็จะเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนนั้น แทนที่จะไปเป็นแค่นักท่องเที่ยวเท่านั้น ซึ่งนอกจากโรงแรมจะได้รับผลกระทบแล้ว โฮสเทลเองก็เหงื่อตกเช่นกัน พูดเลยว่า เทรนด์นี้มาแรงสุดๆ” เขาบอกสัญญาณที่สะท้อนสินค้าและบริการใหม่ๆ รับตลาด Solo
ด้าน “ผศ.ดร.พัลลภา ปีติสันต์” อาจารย์นักการตลาด แห่งวิทยาลัยการจัดการมหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) เล่าว่า เทรนด์ท่องเที่ยวคนเดียวมีแนวโน้มเติบโตขึ้นทั่วโลก โดยเสน่ห์ของการท่องเที่ยวรูปแบบนี้คือ เป็นอิสระ และยืดหยุ่น สามารถปรับให้เหมาะกับความชอบของแต่ละคนได้ และไม่ได้เกิดกับเด็กรุ่นใหม่เท่านั้น
ทว่าวันนี้ “คนรุ่นเก๋า”หลายคนก็ลุกมาเที่ยวคนเดียวกันแล้ว ที่สำคัญไม่ได้เที่ยวแบบประหยัด แต่เที่ยวแบบมีกำลังซื้อด้วย
“ตลาดนี้น่าสนใจมาก เพราะมีกำลังซื้อ และการเติบโตมี ที่สำคัญการตัดสินใจต่างๆ ง่ายด้วยเพราะเขามาคนเดียว บางคนเที่ยวคนเดียว แต่เลือกพักโรงแรม 5 ดาว เลือกที่พักดีๆ อย่าง เคยเจอฝรั่งที่ข้าวสาร เขาพักโรงแรม 5 ดาว แต่ขอหนึ่งคืนมาพักโฮสเทลเพราะอยากลองใช้ชีวิตดูว่าเป็นอย่างไร” เธอบอก
ภาพสะท้อนที่ยืนยันว่า ชาว Solo ก็อยู่แบบ Hi-So ได้
แม้มีคนเที่ยวแบบไฮโซ แต่หลายเสียงก็บอกเราว่า นักท่องเที่ยวคนเดียวใช้จ่าย “ประหยัด” และ “จำกัด” และยากมากที่จะดึงเงินออกจากกระเป๋าคนเหล่านี้ ดูอย่างผลการศึกษาของทีมผู้วิจัยธุรกิจโฮสเทล CMMU ที่บอกว่า ลูกค้าแบ็คแพ็คเกอร์ชาวยุโรป เลือกโฮสเทลโดยดูที่ “ราคา” มาเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ บรรยากาศ และทำเล โดยราคาห้องพักที่รับได้คือ 600-1,000 บาท แต่พอจะจ่ายจริงก็ให้ได้แค่ 300-400 บาท เท่านั้น
ส่วนขาเที่ยวฝั่งเอเชีย ให้น้ำหนักกับ “ทำเล” มาเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ ราคา และความคุ้มค่า โดยราคาที่รับได้และจ่ายจริงอยู่ที่ 600-1,000 มีกำลังซื้อมากกว่ายุโรป
แต่อาจารย์พัลลภา ย้ำว่า คนกลุ่มนี้ยอมจ่ายเพิ่มได้ถ้ารู้สึกถึงความ “คุ้มค่า”
“คนกลุ่มนี้อยากจ่ายน้อย ถามว่าเขามีเงินจ่ายไหม “มี” แต่จ่ายน้อยก่อนดีกว่า ดูคุ้มค่ากว่า ฉะนั้นถ้าเรารู้ว่า อะไรที่เขาต้องการ อย่างพักโฮสเทล เขาอาจอยากได้แค่แชมพู หรือผ้าเช็ดตัวเพิ่ม ซึ่งเราจะลงทุนเพิ่มสักเท่าไรเชียว แต่สามารถชาร์ตค่าบริการเขาได้เพิ่มขึ้น แบบนี้ดีกว่าไหม ทั้งหมดอยู่ที่การคิดให้เขารู้สึกคุ้มค่า แต่ถ้าไม่มีอะไรมากกว่า เขาก็ไม่ยอมจ่าย ฉะนั้นอะไรคือ ‘จุดขาย’ ของคุณล่ะ” เธอตั้งคำถาม
สำหรับธุรกิจสินค้าหรือบริการที่จะมารองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ อาจารย์พัลลภา บอกว่า ให้ดูสิ่งที่นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ต้องการและคอนเซิร์น เช่น ทำเล ความปลอดภัย การให้บริการที่ประทับใจ แล้วมาพัฒนาสินค้าหรือบริการเพื่อไปตอบสนอง ซึ่งสิ่งที่จะได้กลับมาไม่เพียงการดึงเม็ดเงินในครั้งแรก หากทว่ายังมีโอกาสที่เขาจะกลับมาใช้ซ้ำอีกด้วย
“ห้องดีเป็นส่วนหนึ่ง ห้องดีใครก็ทำได้ แค่มีเงินก็ทำได้แล้ว แต่ ‘การบริการ" หรือ "เซอร์วิส มายด์" จะสร้างความประทับใจ หรือประสบการณ์ที่ดีคุณต้องสร้างเอง”
นักท่องเที่ยวลุยเดี่ยว จะอ่านรีวิว และจองที่พักกับตัวแทนท่องเที่ยวออนไลน์ อาจารย์พัลลภา บอกว่า รีวิวในเว็บไซต์ท่องเที่ยวที่น่าเชื่อถือ มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของนักท่องเที่ยวลุยเดี่ยวมากๆ เพราะเขาจะมองว่านักท่องเที่ยวที่มาเขียนรีวิวจะไม่หลอกกัน ไม่เหมือนรีวิวจากผู้ประกอบการเอง ขณะที่ปัจจุบันก็มีระบบการให้คะแนน ทั้งกับผู้ประกอบการและผู้รีวิว เลยยิ่งเพิ่มความน่าเชื่อถือได้มากขึ้นด้วย ทว่าเหล่านี้ก็ท้าทายของธุรกิจบริการด้านการท่องเที่ยวมากขึ้นเช่นกัน เพราะถ้าทำไม่ดี คะแนนตก ก็จะส่งผลกับการตัดสินใจเข้าพักของนักท่องเที่ยวในอนาคต
“อิทธิพลสื่อพวกนี้มีผลกับเขาค่อนข้างมาก เพราะคนเชื่อโซเชียลมาก แม้ไม่รู้ว่าเป็นใคร เดี๋ยวนี้เราอาจไปใช้บริการบล็อกเกอร์ โดยจ้างบล็อกเกอร์มาเขียนรีวิวให้ ซึ่งก็เป็นช่องทางหนึ่ง แต่เราก็ต้องดีจริงด้วยนะ เพราะถ้าไม่ดี เวลานักท่องเที่ยวไปใช้บริการ แล้วไม่เป็นแบบที่เขียนในรีวิว เขาก็จะไปแค่ครั้งเดียว และไม่กลับไปอีก” เธอบอกความท้าทาย
คนเที่ยวฉายเดี่ยว อ่านรีวิว หาข้อมูลเอง ไม่พึ่งบริษัททัวร์ แล้วธุรกิจและบริการท่องเที่ยวรูปแบบเดิมจะหาโอกาสจากนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้อย่างไรได้ อาจารย์พัลลภา บอกว่า ให้ลองทำทริปท่องเที่ยวที่แปลกๆ ใหม่ๆ ประเภทนักท่องเที่ยวไม่สามารถไปเองได้ หรือไปได้ก็ลำบาก อย่างนั้นเขาก็พร้อมยอมจ่ายเพื่อซื้อทัวร์ รวมถึงการเสนอบริการที่ย่อยลงมา เช่น ให้บริการไกด์ท้องถิ่น เหล่านี้คือโอกาสที่ธุรกิจทัวร์ต้องมองหา เพราะจะขายแบบเดิมๆ ไม่ได้อีกแล้ว
เทรนด์การท่องเที่ยวคนเดียว เติบโตขึ้นทั่วโลก และหลายประเทศก็เริ่มให้ความสนใจกับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ โดยเฉพาะในตลาดท่องเที่ยวเดิม ที่กลายเป็นเมืองช้ำไปแล้วในวันนี้
“เมื่อก่อนประเทศเกิดใหม่จะมีแต่นักท่องเที่ยวไฮโซอยากไป ทุกอย่างจะแพงหมด แต่พอมีคนไปเยอะขึ้น ต้นทุนก็จะถูกลง และจะเจอนักท่องเทียวที่กระเป๋าแฟ่บมากขึ้นเรื่อยๆ พรีเมี่ยมมาแล้ว คนมีตังค์น้อยก็ไปได้เช่นกัน อย่าง บาหลี ตอนนี้รัฐบาลเขาเองก็กำลังให้ความสนใจกับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้”
ทำไมรัฐบาลบาหลีถึงหันมาสนใจกลุ่มแบ็คแพ็คเกอร์ กลุ่มเที่ยวเดี่ยว เที่ยวกลุ่มเล็ก ที่กระเป๋าแฟ่บกว่าลูกค้าไฮเอ็นด์ เหตุผลไม่ได้มาจากแค่ว่านี่เป็นตลาดใหม่ หรือโอกาสทำเงินใหม่ๆ เข้าประเทศ ทว่าสิ่งสำคัญกว่านั้นคือ “อิทธิพล” ของคนกลุ่มนี้ ที่สร้างกระแสบอกต่อได้รุนแรงกว่านักท่องเที่ยวกลุ่มเดิมนัก
“นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เวลาเขาพักโฮสเทลเดียวกัน เขาจะคุยกัน อย่างจะไปเที่ยวไหน หรือที่นั่นเป็นแบบไหน เขาจะแชร์ประสบการณ์กัน ฉะนั้นถ้าเกิดข่าวร้ายอะไรขึ้นมา มันจะไปเร็วมาก เร็วกว่านักท่องเที่ยวไฮเอ็นด์ด้วยซ้ำ เพราะพวกนั้นเขาไปแบบสวยๆ ไม่เจออะไร ถึงเจอก็จะไม่บอกใคร แต่กลับกลุ่มนี้ไม่ใช่ รัฐบาลบาหลีเลยให้ความสำคัญมาก”
ที่มาของการปรับระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวลุยเดี่ยว อย่าง ระบบรักษาความปลอดภัย เพิ่มบริการรถเมล์ และปรับระบบการจราจรใหม่ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้โดยเฉพาะ สะท้อนความ สำคัญที่ทั้งรัฐบาลและผู้ประกอบการต่างมีต่อตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้
นักท่องเที่ยวลุยเดี่ยว ยังเป็นทั้งความท้าทายและโอกาสของผู้เล่นในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ถ้าไม่ปรับตัวเพื่อฉวยโอกาส ก็เตรียมเสียพื้นที่ให้กับคู่แข่งในสนามนี้ได้
................................................
ไลฟ์สไตล์ขาเที่ยว-ลุยเดี่ยว
“สาธิตา โสรัสสะ” บล็อกเกอร์นักเดินทางผู้หลงใหลการเที่ยวคนเดียว เจ้าของแฟนเพจ Travelista ที่มีสมาชิกกว่า 3 หมื่นคน เธอเป็นหนึ่งในสมาชิก Media & Blogger Club การรวมตัวของผู้ชื่นชอบเดินทางลำพังแบบ Solo และการท่องเที่ยวแบบอิสระ FIT (Foreign Individual Tourism) ที่สามารถออกแบบการเดินทางได้ด้วยตัวเอง
เธอให้เหตุผลที่เลือกเที่ยวคนเดียวว่า เพราะสะดวกในทุกด้าน ไม่ต้องถูกกฎเกณฑ์ของทัวร์มาบีบบังคับ และวันนี้การเดินทางคนเดียวของผู้หญิงก็มีความปลอดภัยมากขึ้น
“ชอบเดินทางคนเดียว แต่เราจะไปได้เพื่อนใหม่ในประเทศต่างๆ เช่น ปีที่แล้วไปอิตาลี และฟิลิปปินส์ ก็ไปเจอนักท่องเที่ยวแบบ Solo ร่วมแจมกัน สนุกผจญภัยมาก ในกลุ่ม Media & Blogger club เราก็ชอบเดินทางท่องเที่ยว ลำพัง เพื่อพบประสบการณ์แปลกใหม่ ไปหาเพื่อนเอาข้างหน้า คอนเซ็ปท์ คือ ลุยเดี่ยวเที่ยวทั่วโลก อย่างตัวเองก็ไปเที่ยวมาแล้วกว่า 50 ประเทศ ครบทุกจังหวัดในไทย และครบทุกประเทศอาเซียน” เธอบอก
ถามถึงการใช้เงินเที่ยวคนเดียว เธอบอกว่า พยายามเป็นนักท่องเที่ยวแบบประหยัด โดยแผนตอนนี้คือ “ใช้หมื่นเดียวเที่ยวอาเซียน” คือ แต่ละประเทศพยายามให้ไม่เกินงบหมื่นบาท โดยจองตั๋วเครื่องบินโลว์คอสท์ไว้ล่วงหน้านานๆ เพื่อให้ได้ราคาถูก และหาห้องพักราคาถูกจากอโกด้า เป็นต้น
“การเลือกที่พักจะไม่ได้เน้นราคา แต่เน้นคุณภาพและบริการที่ประทับใจนักท่องเที่ยว เช่น บูทีคโฮเต็ลเล็กๆ แต่เอาใจใส่ลูกค้า เช้าๆ เจ้าของจะถีบจักรยานไปซื้อปาท่องโก๋ ข้าวต้มมัดมาเสิร์ฟลูกค้า เป็นต้น หรือบางแห่งทำอาหารใส่ในใบตอง มีกิมมิกเก๋ๆ กุ๊กกิ๊กน่ารักๆ และรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมด้วย แบบนี้จะชอบมาก”
“ณิชชญาณ์ โตสงวน” บล็อกเกอร์เจ้าของแฟนเพจและช่องยูทูป The Wanderer (TheWandererAsia) ผู้รักการท่องเที่ยวแนวธรรมชาติและวิถีชีวิต บอกว่า ชอบเที่ยวคนเดียว ไปในที่ที่ไม่มีคนรู้จัก และเราก็ไม่รู้จักใคร แล้วไปหาเพื่อนใหม่เอาที่นั่น
“ปกติเป็นคนขี้รำคาญ และขี้เกียจรอ ยิ่งไปกับเพื่อนกลุ่มใหญ่ คนนี้ชอบแบบนั้น คนนั้นชอบแบบนี้ มันดูเรื่องเยอะไปหมด แต่การไปเที่ยวคนเดียวมันมีความสุข เราจะแวะที่ไหน จะทำอะไรก็ได้ ไม่ต้องไปตามเขา”
ณิชชญาณ์ เริ่มเที่ยวคนเดียวเมื่อประมาณ 4-5 ปีก่อน ในตอนที่ไปเรียนและใช้ชีวิตอยู่อเมริกาเพียงลำพัง แม้ตอนที่กลับมาแล้วเวลาทำงานแล้วสมองตันคิดงานไม่ออก เธอก็มักเลือกออกเดินทางไปหาแรงบันดาลใจ พอถามถึงสไตล์การท่องเที่ยวเธอบอกว่า ชอบเที่ยวแบบไปใช้ชีวิต ประเภทไปอยู่นานๆ อย่างไปเกาหลี ก็ใช้ชีวิตอยู่กับเพื่อนเป็นเดือนๆ แต่ปัจจุบันอาจเที่ยวนานได้น้อยลงเพราะต้องดูแลแม่ด้วย แต่เธอก็ยังวางแผนเที่ยวทุกปี โดยไปต่างประเทศอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ส่วนในประเทศแล้วแต่โอกาสอำนวย เพราะเธอบอกว่า เป็นคนเที่ยวแบบไม่มีแผน
สำหรับการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว แล้วแต่เป้าหมายว่าจะไปไหนและไปนานแค่ไหน แต่ส่วนใหญ่จะวางไว้ไม่เยอะมาก อย่างไปเกาหลี ก็ตั้งงบไว้ที่ 3 หมื่นบาท รวมค่าตั๋ว ที่เหลือก็ใช้พักกับเพื่อน แล้วช่วยจ่ายค่าน้ำค่าไฟเอา เงินหมดก็กลับ หรืออย่างตอนไปอเมริกา ถ้าเงินหมดก็ทำงานหาเงิน แล้วใช้ชีวิตต่อ แม้เที่ยวคนเดียวแต่ถ้าต้องเลือกที่พักเองเธอก็ยอมจ่ายแพง เพื่อที่พักที่สะอาด ปลอดภัย และไร้จิ้งจก ศัตรูตัวฉกาจของเธอ
“ไม่เคยแบ่งเงินเพื่อการท่องเที่ยวเลย แต่เป็นคนไม่มีหนี้ ฉะนั้นเดือนไหนเงินเหลือเยอะก็แบ่งมาเที่ยว มองว่าการท่องเที่ยวมันเป็นประสบการณ์ ได้ไปชาร์ตแบต หรือบางทีก็แค่อยากปลีกวิเวกจากคนเยอะๆ ไปในที่ที่ไม่มีคนรู้จักบ้าง”
“สุรีพร แซ่ว่อง” Fusion Foods and Travel Blogger บล็อกเกอร์ไทยเพียง 1 เดียวได้รับเลือกสัมภาษณ์ทูตสหรัฐ เจ้าของแฟนเพจ Lovelytrip เธอเป็นอีกหนึ่งคนที่ชอบเที่ยว และเที่ยวชนิด “นับครั้งไม่ได้” โดยออกเดินทางเดือนละ 3-4 ทริป ทั้งไปเที่ยวเองและแบบมีคนชวนเที่ยว
เธอบอกว่า ชอบเที่ยวที่ปลอดภัย ส่วนการเลือกสถานที่เที่ยว แม้บางทีจะเคยไปมาแล้วแต่ก็ชอบที่จะกลับไปซ้ำ เธอว่าจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของสถานที่นั้นๆ ในวันแรกที่ไปเยือนและในวันนี้ที่ไปซ้ำ
“ไปมาครบ 77 จังหวัดแล้ว แต่ไม่ได้ลงลึกมาก สมัยก่อนไปทำข่าว และเที่ยวด้วย แต่รอบหลังนี้ไปเที่ยวซ้ำรอยเดิม เพื่อจะไปเห็นความเปลี่ยนแปลง ส่วนการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว ถ้าไปต่างประเทศก็สูงหน่อย แต่ในประเทศแค่หลักพันก็เที่ยวได้ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยชอปปิงเท่าไร ที่จะเสียเงินมากๆ ก็คือ รองเท้า เพราะเป็นคนที่เดินเยอะมาก ครั้งละ 10-20 กิโล เลยยอมที่จะจ่ายแพง เพื่อซื้อรองเท้าดีๆ ใส่เที่ยว”
ก่อนไปเที่ยวเธอบอกว่า จะเริ่มจากหาข้อมูล ส่วนหนึ่งค้นอินเตอร์เน็ต อีกส่วนก็ใช้ข้อมูลจากหนังสือ เพื่อเติมเต็มความพร้อมก่อนออกเที่ยว
“ชาธร โชคภัทระ” บล็อกเกอร์หนุ่มอารมณ์ดีที่ทำงานในวงการท่องเที่ยวมากว่า 15 ปี เจ้าของเว็บไซต์ท่องเที่ยวภาพสวยระดับมืออาชีพ www.gotravelphoto.com มีผู้ติดตามกว่า 1 หมื่นคน เขาไปท่องเที่ยวทุกเดือนเดือนละหลายครั้ง ทั้งในและต่างประเทศ ทั้งเลือกเที่ยวคนเดียว และแบ็คแพ็คไปกับเพื่อนๆ โดยจะออกแบบเส้นทางท่องเที่ยวเอง เขาบอกว่า การวางแผนเที่ยวเองสามารถประหยัดเงินลงได้มาก และประหยัดกว่าซื้อทัวร์กว่า 30-40%
ชาธรชอบการท่องเที่ยวแบบผจญภัย และไปฝังตัวอยู่ในพื้นที่นั้นๆ เป็นเวลานานๆ อย่าง เคยไปอยู่เกาะลิบง 7 วัน ไปใช้ชีวิตอยู่กับชาวบ้าน ไปเชียงคาน 20 วัน เพื่อสัมผัสวิถีชีวิตริมโขงที่แท้จริง และเรียนรู้วิถีชีวิตคนเชียงคานขนานแท้ ไปเกาหลี 20 วัน ไปอินเดีย 15 วัน ไปยุโรป 1 เดือน ฯลฯ ตั๋วอย่างการท่องเที่ยวแบบ “ฝังตัว” ที่เขาพูดถึง
สำหรับค่าใช้จ่ายต่อทริปการเที่ยว เขาบอกว่า ถูกสุดก็หลักพัน ประเภทเที่ยวในประเทศ ส่วนแพงสุดก็หลักแสนบาท อย่างตอนไปยุโรป 1 เดือน ก็ใช้ไปที่ 1.5 แสนบาท เที่ยวจัดเต็มครบทั้ง 4 ประเทศ
“ค่าใช้จ่ายสำหรับท่องเที่ยวจะไม่แพงมาก อาศัยมีเพื่อนเยอะ บางทีก็ไปนอนบ้านเพื่อนบ้าง ให้เพื่อนขับรถนำเที่ยวบ้าง ไม่ก็นอนที่นอนถูกๆ ห้องน้ำรวม ซื้อมาม่ามาต้มกิน เสียเงินกับเรื่องกินน้อยมาก แต่ด้วยความที่ชอบถ่ายรูป ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่เลยจะหมดไปกับค่าเดินทางเสียมากกว่า”
เป็นคนเที่ยวคุ้ม และประหยัด แต่ที่จะทำให้เขาหมดตัวเอาได้มาก ก็คือ “กล้องถ่ายรูป” ของคู่กายเมื่อออกเดินทาง เขาบอกว่า เฉพาะค่าอุปกรณ์ในการถ่ายรูปก็ไม่ต่ำกว่า 6 แสนบาท เข้าไปแล้ว ส่วนสินค้าอย่างอื่นก็แล้วแต่ทริป เช่น อากาศหนาวมาก ก็ต้องเตรียมซื้อเสื้อกันหนาวที่พิเศษหน่อย ราคาที่ตัวละประมาณ 8 พันบาท แปรผันไปตามความต้องการในแต่ละทริป
“ยุคนี้คนเที่ยวคนเดียวเยอะขึ้น คนที่มีสตางค์ก็มีนะ แต่เขาก็ฉลาดเที่ยวฉลาดเลือกมากขึ้น บางทีเสื้อกันหนาวก็อาจไม่ต้องเป็นแบรนด์ตัวละหลายหมื่น แต่ใช้แบรนด์ไทยนี่แหล่ะ ประสิทธิภาพอาจน้อยกว่า หรือบางทีก็ไม่ซื้อเลย จัดกระเป๋าแค่หลวมๆ แล้วไปซื้อเอาดาบหน้า ใช้เสร็จก็ไม่เอากลับทิ้งไว้ที่โน่นเลย ผมก็เคยไปเลือกซื้อของที่ฝรั่งทิ้งไว้เลย”
ตัวอย่างไลฟ์สไตล์ขาเที่ยวลุยเดี่ยว ผู้เปลี่ยนโลกการท่องเที่ยวในวันนี้