‘ปราการ นกหงษ์’ เสือภูธร พลิกห้าง สู่ สนามเด็กเล่น

‘ปราการ นกหงษ์’ เสือภูธร พลิกห้าง สู่ สนามเด็กเล่น

ปราการ นกหงษ์ เจน 2แหลมทอง ผ่านวิกฤติต่อกรค้าปลีกข้ามชาติ เสือค้าปลีกภูธร เปลี่ยตลาดไอทีกำลังวาย ‘รีโพสิชั่นนิ่ง’ขายความความสนุกสู่ครอบครัว

สมรภูมิค้าปลีกภาคตะวันออก จัดได้ว่าเป็นเวทีโหดหินที่สุด แต่ธุรกิจค้าปลีกของครอบครัวแหลมทอง ก็รอดพ้นวิกฤติมาได้หลายระลอก ไม่ว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวหรือเผชิญปัญหาคู่แข่งค้าปลีกข้ามชาติ บิ๊กซี โลตัส ดาหน้ารุกตะวันออกหวังชิงเค้กกำลังซื้อ

“ทำห้างอยู่ดีๆ ก็มีคนเข้ามาแข่งตลาด เหมือนยูเอฟโอมาจากนอกโลก” เขาเล่าความรู้สึกแรกเมื่อต้องเผชิญกับยักษ์ค้าปลีกข้ามชาติ

ไม่นับบิ๊กเนมทุนไทยอย่างเซ็นทรัล เดอะมอลล์ ที่เข้ามาปักหมุดในชลบุรี พัทยา และระยอง โดยรวมมีห้างในพื้นที่เหล่านี้ ไม่ต่ำกว่า 30 แห่ง

ทว่า ปราการ นกหงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัทในเครือ LT Group ทายาท สมควร นกหงษ์ ผู้ปลุกปั้นห้างแห่งแรกในภาคตะวันออก ตกผลึกความคิดได้ว่า ห้ามใครไม่ให้มาแข่งในที่แห่งนี้ไม่ได้ สิ่งทำได้คือ “เตรียมตัวเอง” ให้แข็งแกร่งพร้อมสู้ศึกทุกรูปแบบ 

“จริงๆ ผมไม่ชอบการแข่งขัน แต่เราไปจุดธูปบอกเขาไม่ให้มาเปิดไม่ได้ ดังนั้นต้องคิดไว้เลย ถ้าเขามาเปิดจะมีรูปแบบไหนทำให้อยู่รอด”

พอตั้งสติได้เขาก็ลุยพาค้าปลีกภูธร ยึดหัวหาด ตั้งการ์ดชน จนอยู่รอดแบบมีพื้นที่ยืนของตัวเองมาได้ในทุกวัฎจักรการเปลี่ยนแปลง 

“ค้าปลีกมันไม่ได้ตาย แต่มีรูปแบบและวัฎจักร (Cycle) ที่ต้องพัฒนารูปแบบมากขึ้น เมื่อวิธีการซื้อคนเปลี่ยนก็ต้องเปลี่ยนตาม”

โดยหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 แหลมทองปรับตัวจากโมเดลธุรกิจที่ต้องบริหารจัดการซื้อสินค้าแบบซื้อมาขายเอง ที่เขาบอกว่า ทั้งเหนื่อยและกำไรน้อย ปรับเปลี่ยนเป็น “ผู้ให้เช่าพื้นที่ค้าขาย” หรือ ดีเวลลอปเปอร์ ที่กำไรมากกว่า โดยใช้ทำเลทองพื้นที่ห้างฯเดิมเป็นแม่เหล็ก

นั่นกลายเป็นสิ่งที่ทำให้เขาค้นพบทางสว่าง ในการ “พัฒนาศูนย์การค้าบนทำเลทองน่าเดิน”

“หาช่องว่าง ขายความต่าง เจาะตลาดนิชมาร์เก็ต เข้าหาคนเฉพาะกลุ่ม”

โดยโจทย์ธุรกิจมาลงตัวเส้นเดียวกับโจทย์ชีวิต ผู้ที้ได้ชื่อว่าเป็นแฟมิลี่แมนตัวยงอย่างปราการ ตำแหน่งคุณพ่อลูกสอง เกิดประทับใจ สนามเด็กเล่น (Playground) ในร่มขนาดเล็กประมาณ 1,000 ตรม.ในกรุงเทพฯ ดึงดูดให้เขาใช้บริการทั้งปีไม่ต่ำกว่า20 ครั้ง จนต้องสมัครเป็นสมาชิก เพื่อหาที่พาลูกออกไปเสริมพัฒนาการนอกบ้านในวันเสาร์-อาทิตย์ 


กลวิธีหัวอกคนเป็นพ่อผู้ที่ต้องต่อสู้ดึงความสนใจลูกออกจากไอแพด ไม่ปล่อยให้ลูกขลุกในบ้านเพื่อสัมผัสหน้าจอทั้งวัน

“ยุคนี้เป็นยุคที่พ่อแม่ต่อสู้กับไอแพด พาลูกไปเที่ยวในที่ที่มีพัฒนาการ พ่อเห็นลูกวิ่งเล่นอย่างมีความสุขเป็นกิจกรรมร่วมกันในครอบครัวก็มีความสุข” 

คุณพ่อฮิปเตอร์ผู้ไม่ชอบเดินห้างตามเทรนด์แฟชั่น เกิดแรงบันดาลใจจากเพลย์กราวด์ในกรุงเทพฯ มีพลังดึงดูด (Powerful) ให้เด็กและครอบครัวไปอยู่ในนั้นกว่าวันละ 1,000 คนในช่วงเสาร์และอาทิตย์

ประกอบกับ เห็นช่องว่างของศูนย์การค้าทั่วไปเต็มไปด้วยแฟชั่น ขาดพื้นที่สำหรับเด็ก อายุต่ำกว่า 15 ปี จึงตกผลึกเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ ค่อยๆรีโพสิชั่นนิ่งตึกคอมขายอุปกรณ์ไอทีเดิม เป็น“สนามเด็กเล่นในร่ม หรือ Indoor Playground" จากขายสินค้า ขายพื้นที่มาขายความสนุก ฮาเบอร์ แลนด์ (Harbor Land) คอนเซ็ปต์ The Family Paradise สวรรค์ของครอบครัว

“เวลาแต่งตัวไปห้างมีแต่แฟชั่น ถ้าคนไม่บริโภคแฟชั่นก็ไม่รู้จะไปไหน ผมจึงอยากหาห้างให้ลูกวิ่งเล่น ครอบครัวมีส่วนร่วม เราจึงคิดแก้โจทย์ห้างที่มีอยู่แล้ว เป็นอินดอร์เพลย์กราวด์ สร้างครอบครัวมีความสุข และสนุกในเพลย์กราวด์”

ปรับโฉมครั้งนี้ลงทุนไปทั้งสิ้น 2,750 ล้านบาท เริ่มลงทุนตั้งแต่ปี 2557 เป็นสนามเด็กเล่นสำหรับเด็กที่เขาเคลมว่าใหญ่ที่สุดในเอเชีย บนเนื้อที่ 11,100 ตรม. อุปกรณ์นำเข้าจากยุโรป ที่เขาต้องบินร่วมงานแฟร์เกี่ยวกับสินค้าและเจรจาหลายรอบ 

โดยฮาร์เบอร์ พัทยา เป็น “แฟล็กชิฟ” แรกที่จะเปิดตัวในเดือนเมษายนนี้ และจะขยายคอนเซ็ปต์เดียวกันในขนาดที่เล็กกว่าในตึกคอมอีก 3 แห่ง คือ ชลบุรี อุดรธานี และขอนแก่น 

โดยแฟล็กชิปสโตร์ ลงทุน 400 ล้านบาท มีพื้นที่สำหรับเด็กและครอบครัวถึง 50 % จากพื้นที่ 8 ชั้น โซนครอบครัวตั้งแต่ชั้น 5-8 สนามเด็กเล่นในร่มที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย 

ภายในประกอบด้วย 9 โซนหลัก อาทิ Harbor Land สนามเด็กเล่นในร่มที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย มีกิจกรรมไต่เชือกและโหนสลิง ,โซนเครื่องเล่นเด็กเล็ก,โซนสไลเดอร์ ,เครื่องเล่นสำหรับเด็กทั่วไป ,โซนบอล,สนามกีฬา,โซน Racing,Eye Play (Projector )Game ,Snow Land เมืองหิมะใหญ่ที่สุดในไทย ,สระว่ายน้ำสำหรับเด็กเล็ก ,Mario Land โซนตู้เกมส์ที่ใหญ่ที่สุดในพัทยา

และศูนย์การเรียนรู้ ประกอบด้วย สถาบันสอนทักษะต่างๆ และกวดวิชา โดยดึงพาร์ทเนอร์มาร่วมในพื้นที่ 5 ราย คือ The Rink ไอซ์สเก็ต ,Kidzoona & Molly Fantasy สวนสนุกเด็กเล็กส่งตรงจากประเทศญี่ปุ่น , Jump XL พื้นที่สำหรับกระโดดและ Deep Climbing Gym ปีนหน้าผา ที่เหลือตั้งแต่ชั้น 1-4 จึงคละไปด้วยไลฟ์สไตล์ ตั้งแต่ ศูนย์อาหาร อุปกรณ์ไอที และออฟฟิสให้เช่า  

การตั้งหลักพลิกธุรกิจใหม่ในครั้งนี้ไม่ใช่เพียงรีโพสิชั่นนิ่งคอนเซ็ปต์ แต่ยังต้องเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมาย จาก “ลูกค้าไอที” มาเป็น “กลุ่มครอบครัว” ที่เขาเชื่อว่า เป็นตลาดมีกำลังซื้อ พ่อแม่ทุกคนต่างให้ความสำคัญทุ่มเท เพื่ออนาคตของลูก สังเกตได้จาก อุปกรณ์ไอที หรือราคาน้ำมัน อย่างอื่นมีขึ้นๆ ลงๆ แต่หากเป็นอัตราค่าเล่าเรียนการศึกษาให้เด็ก หรือสิ่งต่าง ๆที่เกี่ยวกับเด็ก ไม่เคยลดราคา มีแต่ขึ้นราคาทุกปี สะท้อนให้เห็นว่าทุกครอบครัว 

เห็นอนาคตของลูกน้อยเป็นเรื่องสำคัญมาอันดับหนึ่ง

+++++++++++++++++++

ธุรกิจผ่านร้อน-ผ่านหนาว 

ย้อนกลับไปเหตุวิกฤติเศรษฐกิจ ปี2539-40 ปราการ นกหงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัทในเครือ LT Group บอกว่า ค้าปลีกระดับท้องถิ่นเช่นเขาถึงกับออกอาการมึนงง

“เราลงทุนเยอะ จัดโครงสร้างการเงินผิด ประมาทคู่แข่งจากนอกประเทศเกินไป”

วิกฤติครั้งนั้นร้ายแรงถึงขั้นต้องปิดห้างให้กลายเป็นตึกร้าง เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินจากวิกฤติและกำลังซื้อลดฮวบ รายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่ายจากวันละ 150 ล้านบาท เหลือ 20 ล้านบาท 

อาการเมาหมัดใช้เวลาตั้งหลักสักพักจนกระทั่ง “สมควร” พ่อผู้ปั้นห้างแห่งแรกของภาคตะวันออกมากับมือ ปลุกให้เขาลุกขึ้นไปเจรจากับแบงก์ขอแบงก์การันตีมูลค่า 30 ล้าน เพื่อให้ซัพพลายเออร์ยอมปล่อยสินค้ามาให้ขาย

“พ่อบอกว่าอย่าเครียดและจมกับปัญหา ถอยออกมามองจากภายนอก (Outside In) จะพบว่ายังมีโอกาสจากทำเลทอง ตึกและที่ดินที่เป็นของเรา” 

หลังเจรจาแบงก์ใบเบิกทางให้เขาหาวิธีเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจ ด้วยการแปลงไปทำซูเปอร์มาร์เก็ตย่อขนาด 4,500 ตรม. แบรนด์ “Save Land” ใน 4 สาขา ประจำอำเภอที่มีกำลังซื้อ ตั้งแต่ อ.แถลง จ.ระยอง ,อ.บ้านบึง และอ.พนัสนิคม จ. ชลบุรี และอ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา 

“แบงก์ไม่ต้องการให้เราขาดทุน ซัพพลายเออร์ก็ต้องการขายสินค้า เราจึงเข้าไปเจรจา” 3-4 ปีต่อมา จากนั้นก็ซื้อตึกคืนจากแบงก์พร้อมกับเจรจากู้เงินลงทุนสร้างตึกใหม่

++++++++++++++++++++++

 ตำนาน “แหลมทองการค้า”

“แหลมทองการค้า”รู้จักกันดีในนามค้าปลีกเบอร์ต้นที่ปักหมุดในภาคตะวันออก ภาคที่เป็นเหมือนหัวรถจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ เนื่องจากเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมมากมาย และท่าเรือ 2 แห่ง คือ ท่าเรือแหลมฉบัง และมาบตาพุด

ปัจจุบันห้างแหลมทองยังเป็นแลนด์ลอร์ดและนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ระดับห้างค้าปลีกภูธร เจ้าของห้างในฝั่งตะวันออกกว่า 7 แห่ง ข้ามปักธงในห้างค้าปลีกในเมืองสำคัญอย่างอุดรธานี และขอนแก่น ภายใต้แบรนด์ ตึกคอม ฮาร์เบอร์ และแหลมทอง บางแสน

โดยธุรกิจในเครือมี 5 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.ธุรกิจค้าปลีก 2.ธุรกิจที่พักอาศัยให้เช่าในลักษณะเซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ และโรงแรม มี 2 แห่งคือ บาโคนี่ คอร์ตยาร์ดฯ และบาโคนี่ ซีไซต์ ศรีราชา โฮเทล แอนด์ เซอร์วิสอพาร์ทเมนท์ เพื่อรองรับชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาทำงานในพื้นที่ และคนไทยที่มีกำลังซื้อระดับบน  3.ออฟฟิศ-สำนักงานให้เช่า 2 แห่งคือ ฮาร์เบอร์ ออฟฟิศ แหลมฉบัง และออฟฟิศสแควร์ ตึกคอม ชลบุรี 4 ป้ายบิลบอร์ดให้เช่า ทั้งในภาคตะวันออกและอีสาน ที่มีประมาณ 400 ป้าย และกำลังจะเปลี่ยนรูปแบบเป็นจอ LED และ5 คือIndoor Playground (สวนสนุกในร่ม) ภายใต้ชื่อ Harbor Pattaya กลุ่มธุรกิจในเครือแหลมทองที่ว่ากันว่า มูลค่าไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท แบ่งเป็นโซนให้ลูกดูแล สำหรับปราการ เป็นพี่ชายคนโต ดูแลในจังหวัดชลบุรี ส่วน น้องสาวดูแลกิจการแหลมทองให้ระยอง น้องชายอีกคนดูแลเซอร์วิส อพาร์ทเมนท์