ปั้น ‘เดอะ สตรีท’สู่แลนด์มาร์ครัชดา สานฝันเจ้าสัวน้อย

ปั้น ‘เดอะ สตรีท’สู่แลนด์มาร์ครัชดา สานฝันเจ้าสัวน้อย

โอกาสท้าทายของพงษ์ศักดิ์ นันตวรรกุล ถูกทาบทามจากกลุ่มทีซีซี กรุ๊ป เป็นแม่ทัพน้อยแจ้งเกิด'เดอะ สตรีท รัชดา' ค้าปลีกใต้เงาเจ้าสัวน้อย

ปรับเปลี่ยนฟีลการทำงานจาก “ค้าส่ง” มาสู่วงการ “ค้าปลีก” กับภารกิจใหม่และใหญ่ พร้อมรับคำบัญชาจาก “เจ้าสัวน้อย ปณต สิริวัฒนภักดี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ลูกชายคนเล็กเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการบริหารทีซีซี กรุ๊ป 

“โจทย์ที่ทางผู้บริหารให้มาคือต้องเปิดศูนย์นี้ให้ได้ พื้นที่เช่าต้องเต็มและดำเนินการให้ได้ ทุกอย่างมันจบแค่นี้”  พงษ์ศักดิ์ นันตวรรณกุล กรรมการผู้จัดการ เดอะ สตรีท รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์การค้าเดอะ สตรีท รัชดา เล่า

จากบริการธุรกิจศูนย์การค้ารูปแบบ “ค้าส่ง” อย่างแพลทินัม แฟชั่นมอลล์ ใจกลางประตูน้ำ มา 12 ปี หันมาทำ “ค้าปลีก” เหมือนหรือต่างกันอย่างไร 

เจ้าตัวร้องเสียงสูงว่า “ต่างกันเยอะ!” เริ่มตั้งแต่ ทำเลที่ตั้ง รูปแบบธุรกิจ เพราะเดอะ สตรีท รัชดาคือห้างค้าปลีกจริงๆ ขณะที่เดิมทำค้าส่ง และที่สำคัญคือ “กลุ่มเป้าหมาย” เมื่อลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการแบบเดิมคือซื้อสินค้าเพื่อไปขายต่ออีกทอด และซื้อคราวละมากๆ ความสวยตัวตึกอาคารไม่ได้เน้นมาก

กับการเปลี่ยนบรรยากาศมาจับห้างค้าปลีก เพราะผลงานเข้าตา เลยถูกทาบมานั่งเก้าอี้ “กรรมการผู้จัดการ” ปลุกปั้นศูนย์การค้า 

“มีคนมาชวน...ผมทำค้าส่ง ความถนัดและสไตล์ผมเป็นลูกทุ่ง ค้าปลีกต้องลูกกรุง ผมหาเงินจากพื้นที่เล็ก ไม่ถนัดร้านใหญ่ แต่เขาบอกไม่เป็นไร เมื่อให้โอกาสที่น่าทำได้ ที่ดินท่านประธาน (เจริญ ) เยอะแยะ มาพัฒนาที่ตรงนี้ให้มีมูลค่าดีกว่า”

ทว่า ดูเหมือนจะเป็นงานหินที่ไม่น้อย เพราะพงษ์ศักดิ์ เข้ามาบริหารงานท่ามกลางแรงกดดันรอบด้าน โดยเฉพาะการแข่งขันที่รุนแรง เพราะบนถนนรัชดาแห่งนี้ มีห้างค้าปลีกรวมทั้งสิ้น 5 โครงการ (ตั้งแต่ เซ็นทรัลพระราม 9, โรบินสัน, เทสโก้ โลตัส, เอสพลานาด, รวมเดอะ สตรีท รัชดา) 

หากผนวกกับสวนลุมไนท์ บาซาร์ ก็จะเป็น 6 แห่ง แถมยังต้องประมือกับภาวะเศรษฐกิจลุ่มๆดอนๆ เมื่อรับโจทย์มาทำศูนย์การค้าท่ามกลางปัจจัย “เสี่ยง” เลยระดมสมองกับทีมงานยกใหญ่ เริ่มตั้งแต่ทำอย่างไรจะให้ศูนย์การค้า และสิ่งอำนวยความสะดวก “แตกต่าง”จากคู่แข่ง

“เพราะเราเป็นศูนย์การค้าที่ 5 บนถนนแห่งนี้”  เขาย้ำ

ก่อนที่เขาและทีมงานจะตกผลึกคิดว่าสิ่งที่จะนำมาใช้เป็น “แม่เหล็ก” ดูดใจผู้บริโภค คือการเนรมิตรศูนย์การค้าให้เด่นด้วยการเป็น“ศูนย์อาหารที่ดีที่ สุด” ในย่านนี้ เป็นพื้นที่รับรองลูกค้าทุกกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง ทั้งมาทำการบ้าน ชอปปิง กินดื่ม เว้นแค่มานอน 

“ให้กลับไปนอนที่บ้าน” พูดจบก็หัวเราะ

ย่านรัชดา ห้วยขวาง ดินแดง ตลอดรัศมี 5 กิโลเมตร “พงษ์ศักดิ์” บอกว่า กลุ่มเป้าหมายล้วนมีคาแร็กเตอร์ที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพราะย่านนี้มีที่อยู่อาศัย คอนโดนิเนียมมากมาย 

คนวัยทำงาน เพราะที่นี่ย่านเป็นใจกลางธุรกิจแห่งใหม่ (New CBD) เต็มไปด้วยอาคารสำนักงานมากมาย โรงแรมก็มาก จึงคลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยว ที่สำคัญย่านนี้เป็น “Night life” ผู้คนใช้ชีวิตย่ำราตรีจำนวนไม่น้อย เลยต้องให้บริการพื้นที่ร้านค้าปลีก ในส่วนของร้านอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ร้านจำหน่ายเครื่องสำอาง“เปิด 24 ชั่วโมง” 

เว้นร้านกาแฟดัง ที่ทางร้านยังไม่มีคอนเซ็ปต์ให้บริการดังกล่าว

“เราวางโพสิชั่นนิ่งให้เป็นศูนย์การค้าที่มีร้านอาหารที่ดีสุด ขายอาหารยังไงคนก็เข้ามา ขายอาหารเที่ยง อาหารเย็นมีคนมากิน เสาร์-อาทิตย์ มากินข้าว เราก็ถามลูกค้าว่าทำไมเลือกมานี่ เขาบอกไม่แออัด จอดรถง่าย ข้างหน้า ข้างๆ เขามากินข้าว ไม่อยากมาเดินห้างที่แออัด"

การพยายามดึงคนเข้ามาใช้บริการในศูนย์ฯ ยังกลายมาเป็นการรังสรรค์พื้นที่ลานหน้าห้างฯ ซึ่งเขาบอกว่า “ใหญ่สุดเป็นอันดับ2” เพื่อจัดอีเวนท์ทั้งมหกรรมมวยไทย และในอนาคตจะ “ร่วมมือ” กับธุรกิจในเครือมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องดื่มทั้ง ไทยเบฟ, โออิชิ, เอส, ฮันเดรด พลัส เป็นต้น มาจัดกิจกรรมต่างๆที่ลานดังกล่าว 

ประเดิมเทศกาลสงกรานต์นี้ ด้วยการผนึก“ช้าง” จัด “ช้าง สงกรานต์โมเมนต์”

“การซีนเนอร์ยีธุรกิจในเครือ คือใช้พื้นที่ให้ประโยชน์ที่คุยและทำอยู่คือเรื่องอีเวนท์ให้เอามาลงที่นี่ เพราะธุรกิจเครื่องดื่มในเครือจัดกิจกรรมเยอะ”

ทว่า ที่ต้องจับตาคือการ“ซีนเนอร์ยี” กับ“ห้างไฮเปอร์มาร์เก็ต” อย่าง“บิ๊กซี” และอาคารสำนักงาน“ไซเบอร์เวิลด์”

“ที่จะร่วมมือทำได้เยอะ..แต่ต้องรอนิด คือบิ๊กซี เพราะบิ๊กซีติดเรา” ก่อนที่จะรู้ว่าท่านประธานเจริญจะประมูลซื้อบิ๊กซีในไทยจากกลุ่มคาสิโน ฝรั่งเศส (อดีตผู้ถือหุ้นใหญ่บิ๊กซี) ก็มีความพยายามจะผนึกกับบิ๊กซีให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็น “คอมเพล็กซ์” 

โดยเดอะ สตรีท รัชดา เป็นพลาซ่า มีศูนย์อาหารครบเครื่อง มีร้านเปิด 24 ชั่วโมง ส่วนบิ๊กซีมีทั้งโฮมโปร เอสบีเฟอร์นิเจอร์ มาเติมเต็ม! โดยสินค้าที่นำมาลงทั้ง 2 ศูนย์จะต้องต่างกัน

ส่วนไซเบอร์เวิลด์ อาคารสำนักงานที่มีถูกเช่าพื้นที่ไปกว่า 70% มีพนักงานบนอาคารร่วม 6,000 คน พงษ์ศักดิ์ก็ได้รับมอบหมายให้พลิกโฉมพื้นที่บางส่วนของอาคารสำนักงานให้เป็น“จุดหมายปลายทาง” ของธุรกิจต่อธุรกิจ (B2B) เป็น“ค้าส่งที่ยังไม่มีในเมืองไทย” ตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายไปอีกแบบ

เป็นการนำความเชี่ยวชาญที่มีแต่เดิมมาโชว์ฝีไม้ลายมือในบ้านหลังใหม่ เพื่อให้คอมเพล็กซ์แห่งนี้สมบูรณ์แบบ เขาบอกและย้ำว่า..

“อยู่ระหว่างทำแผน และคุยกับบิ๊กซี ว่าจะร่วมมือกันอย่างไร ถ้าทำได้เราจะกลายเป็นคอมเพล็กซ์ที่ใหญ่สุดบนถนนรัชดา”

ผ่านไปร่วม 1 ไตรมาส ตอบโจทย์เจ้าสัวน้อย “ปณต” ได้แค่ไหน พงษ์ศักดิ์บอกว่า ห้างเปิดบริการตามเป้าแล้ว ร้านค้าเช่า 90%ไม่ผิดแผน เหลือเพียงลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่เข้ามาใช้บริการเท่านั้น ที่อยู่ระดับ 5,000 คนต่อวัน(เมื่อจัดอีเวนท์) นี่ยังกลายเป็นความท้าทายสุดในฐานะนักบริหารด้วย 

“ต้องหากลุ่มเป้าหมายที่ใช่มาเดินให้ได้ ซึ่งยากสุด ที่สำคัญต้องมาซ้ำ”

ถามถึงเสียงตอบกลับโดยรวม เขายอมรับว่า การเปิดห้างใหม่ใช้เวลาปีถึงสองปีว่าจะประเมินผลลัพธ์ได้

“ถ้าห้างไหนมีทีมงานมืออาชีพ ทุนเยอะหน่อยก็ตูมตาม แต่ตอนนี้ลองไปดูหลายห้างเงียบหมด”

พงษ์ศักดิ์ ยังเห็นว่ากุญแจสำคัญในการบริหารห้างค้าปลีก คือ ทำเลที่ตั้ง สินค้า และการบริหารพื้นที่ ร้านค้าเช่าให้เต็ม ดึงดูดให้ผู้บริโภคอยากเข้ามาเดิน

“ไม่เต็มเหนื่อย! บางคนอาจทิ้งเวลาไว้ 2-3 ปี แล้วค่อยว่ากัน นั่นสำหรับคนที่สายป่านยาว เราไม่ยาว ก็ต้องปั่นอีเวนท์ ถ้าจุดนี้ไม่ใช่ๆ ก็ต้องปรับ” 

สำหรับทำเลทองซีบีดีใหม่แห่งนี้ หากทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จ 

เขาบอกว่า..คงไม่ต้องไปปั้นที่อื่นแล้ว!

-----------------------------

ปีแห่งการอยู่รอด "ธุรกิจค้าปลีก"

ภาพรวมธุรกิจค้าปลีกในปี 2559 พงษ์ศักดิ์ นันตวรรณกุล กรรมการผู้จัดการ เดอะ สตรีท รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด มองว่า “เหนื่อยอยู่” ผู้ประกอบการทุกรายต้องพยายาม“เอาตัวรอด” ให้ได้ก่อน โปรโมชั่นลด แลก แจก แถม จึงกลายเป็นกลยุทธ์และเครื่องมือการตลาดที่นำมาดึงลูกค้าไว้ไม่ให้หนี หรือสวิทช์แบรนด์

นอกจากนี้ แนวโน้มค้าปลีก 3 ปีข้างหน้า คาดว่าจะคึกคักขึ้น เพราะพื้นที่ค้าปลีกใหม่ๆจะเพิ่มขึ้นอีกมาก ทั้งบลูพอร์ท หัวหิน แบงค็อกมอลล์ ของกลุ่มเดอะมอลล์, เทอร์มินอล 21 นครราชสีมา ของแลนด์แอนด์เฮ้าส์, ค้าปลีกของกลุ่มสิงห์ เอสเตท, ไอคอนสยาม ของซี.พี.และสยามพิวรรธน์ เป็นต้น

ทว่า ที่ต้องจับตาคือ เวลานั้นเศรษฐกิจไทย-โลกจะฟื้นหรือไม่ นักท่องเที่ยวกลับมาหรือไม่ เพราะจำนวนพื้นที่ค้าปลีกมหาศาล จะหวังพึ่งแค่กำลังซื้อคนไทยในประเทศ ย่อมไม่พอ!

“ปีนี้เป็นปีแห่งการเอาตัวรอด และค้าปลีกยังไม่แข่งขันสูงนัก แต่อีก 3-5 ปีข้างหน้า จะแข่งขันรุนแรงมาก และการทำห้างค้าปลีกวันนี้ต้องครบครัน ห้างเล็กๆเหนื่อย 

ดังนั้น "ไม่ครบ อย่าทำ”