“สวนละไม” คัมภีร์ “ยั่งยืน” ในธุรกิจเกษตร

“สวนละไม” คัมภีร์ “ยั่งยืน” ในธุรกิจเกษตร

ทำเกษตรเพื่อการท่องเที่ยวคนต้องเที่ยวได้ทั้งปี ต้องซื่อสัตย์กับลูกค้า ขายของคุณภาพไม่เอารัดเอาเปรียบ และต้องไม่โตคนเดียว นี่คือโมเดลสวนละไม

หลังเปิดให้บริการเมื่อประมาณ 3 ปีก่อน ผู้คนหลายพันชีวิตเริ่มแห่แหนเข้ามาท่องเที่ยวที่ “สวนละไม” อาณาจักรผลไม้ ท่ามกลางขุนเขา ใน อ.วังจันทร์ จ.ระยอง จนบางช่วงมีลูกค้าสูงถึง 4,500 คน ต่อวัน ที่จอดรถซึ่งอยู่บนเนื้อที่กว่า 20 ไร่ เต็มขนัด รถติดยาวหลายกิโลเมตร!

นี่คือปรากฏการณ์สุดอัศจรรย์ของธุรกิจเกษตร จากไอเดีย “ไพโรจน์ ปิติพันธรัตน์” อดีตกำนันคนดัง ที่วันนี้ผันตัวเป็น กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้ง “สวนละไม” ผู้พลิกโฉมเรื่องเกษตรให้กลายเป็นธุรกิจสุดต่าง

“ทำเกษตรต้องอยู่ได้ และยั่งยืนด้วย”

ถ้อยคำสะท้อนความคิดของกำนันไพโรจน์ ในวันที่ต้องกลับมาดูสวนเกษตรของครอบครัว บนพื้นที่นับ 700 ไร่ และใช้ทำเกษตรมาตั้งแต่รุ่นพ่อ

ประสบการณ์ของที่นี่ ผ่านมาหมดแล้วตั้งแต่ ปลูกมันสำปะหลัง และอ้อย เพื่อป้อนโรงงานแป้งและน้ำตาล ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลกันนัก ทว่าพอโรงงานย้ายไป ก็ต้องหันมาปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมัน ให้กับโรงงานในพื้นที่อีกเช่นเดียวกัน เป็นอย่างนี้รอบแล้วรอบเล่า เรียกว่า ไม่มีโรงงาน กิจการก็ทรุด

จนวันหนึ่งเกิดความคิดว่า พื้นที่ซึ่งทั้งสวยและอากาศดีอย่างนี้ น่าจะทำอะไรได้มากกว่าผลิตวัตถุดิบป้อนโรงงาน เลยเป็นที่มาของการคิดทำแหล่งท่องเที่ยวแนวใหม่ เมื่อระยองมีจุดเด่นคือ ทะเล ภูเขา และผลไม้ ที่ใกล้ตัวพวกเขาสุดก็การทำสวนผลไม้เพื่อการท่องเที่ยวนี่แหล่ะ แต่ทุกอย่างไม่ได้เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน ทว่าต้องใช้เวลาวางแผนและเตรียมพร้อมนานถึง 15 ปี กับเงินลงทุนอีกกว่า 100 ล้านบาท!

จากสวนปาล์มและยางพารา วันนี้บนพื้นที่กว่า 500 ไร่ ของสวนละไม มีทั้งสวนทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง สละ ลำไย ชา ฯลฯ แม้แต่สตรอว์เบอร์รี ในหน้าหนาว ก็พร้อมอวดโฉมบนพื้นที่แห่งนี้ เรียกว่า แม้ไม่เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว หรือเกิดทำแล้วไม่ซัคเซส ก็ยังสามารถเก็บผลไม้ไปขายเพื่อเลี้ยงตัวเองต่อได้

หลายคนอาจรู้จักที่นี่ด้วยชื่อเสียงของ “บุฟเฟต์ผลไม้” โดยเฉพาะฤดูทุเรียน ที่เปิดให้บริการตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน–กลางเดือนสิงหาคม ทว่าสวนละไมไม่ได้มีแค่บุฟเฟต์ คนทำมีจุดยืนชัดเจนว่า จะทำแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวสามารถมาเที่ยวได้ทั้งปี ไม่ใช่แค่ฤดูผลไม้ 

“เราไม่อยากให้คนคิดว่าจะมากินบุฟเฟต์อย่างเดียว แห่กันมากินทุเรียน 3-4 เดือน แล้วก็หายไป แต่อยากให้ที่นี่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่คนสามารถเที่ยวได้ทั้งปี เปลี่ยนเป็นฤดูกาลไปเรื่อยๆ ตามสภาพอากาศ และชัยภูมิของเราที่ได้เตรียมการไว้หมดแล้ว” เขาบอก

เพราะการเดินเกมอย่างมีกลยุทธ์ พอหมดฤดูผลไม้ ในเดือน ตุลาคม-ธันวาคม ที่สวนละไมจะเปิดเป็นอุทยานดอกไม้เหมืองหนาว และสวนชา ที่มาไกลถึงดอยแม่สลอง พอปลายธันวาคม–กลางเดือนมีนาคม ยังมีแปลงสตรอว์เบอร์รีสวยๆ ไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยว สูตรสร้างความยั่งยืน ที่จะทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมเยือนสวนละไมได้ไม่ขาดสาย และไม่ต้องเงียบเหงา เหมือนหลายแหล่งท่องเที่ยวแฟชั่นในยุคนี้

จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มปริมาณขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนขยับเป็นเกือบหลักแสนคนต่อปี ขณะที่ปีนี้พวกเขาก็ตั้งเป้าว่า จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาสวนละไมสูงถึง 1.2 แสนคน ด้วยปริมาณลูกค้าที่มหาศาล และทุกคนก็เข้ามาพร้อมความหวังว่าอยาก “จัดหนัก” กับผลไม้รสเด็ดของที่นี่ แน่นอนว่าถ้าใช้แค่ผลไม้จากสวนละไมเพียงอย่างเดียว ก็คงเอานักท่องเที่ยวไม่อยู่ นั่นคือที่มาของการทำ “ซัพพลายเชนเกษตร” (Agricultural Supply Chain) ใช้พลังของเครือข่ายเกษตรกรในพื้นที่ ช่วยเติมเต็มจุดแกร่งให้พวกเขา

“เรามีจุดยืนว่า สวนละไมจะเป็นจุดกระจายรายได้ให้กับเกษตรกร โดยเราจะรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดระยอง ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรในกลุ่มอยู่ประมาณ 50-60 เจ้า และเพิ่มเข้ามาอยู่เรื่อยๆ”

เขาบอกโมเดลที่มีเป้าหมายคือ การเติบโตไปด้วยกันของสวนละไมและเกษตรกร โดยแนวคิดการรับซื้อผลผลิต คือ “ไม่ต่อราคา” รับซื้อในราคาที่เกษตรกรพอใจ เพียงแต่ขอให้ซื่อสัตย์ และมีของคุณภาพผ่านมาตรฐาน

“คุณจะขายเท่าไร ตั้งราคามา ผมไม่ต่อ แต่มีข้อแม้ว่า ทุกคนต้องยอมรับกติกาเดียวกัน เช่น ถ้าทุเรียนคุณอ่อน เราตีคืนหมด ถ้าไม่ดี เราหยุดค้าขายด้วย ไม่เอา เพราะถือว่า คุณไม่ซื่อสัตย์กับลูกค้า” พวกเขาบอกจุดยืน

นอกจากรับซื้อผลไม้ ที่นี่ยังเปิดพื้นที่ให้ผลิตภัณฑ์ชุมชน และสินค้าเอสเอ็มอีที่ไม่มีช่องทางจำหน่าย ได้มาวางขายบริการนักท่องเที่ยวด้วย มีการจ้างงานคนในพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันมีแรงงานอยู่กว่าร้อยคน หนึ่งในนั้นคือเด็กๆ ที่มาทำงานพิเศษหารายได้ระหว่างเรียน ขณะอนาคตก็ยังเตรียมทำเส้นทางเชื่อมต่อการท่องเที่ยว เช่น ดึงคนที่ทำโฮมสเตย์ ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยวในพื้นที่ใกล้เคียงกัน เพื่อส่งต่อนักท่องเที่ยวระหว่างกันอีกด้วย

ไม่ต้องทำคนเดียว โตคนเดียว แต่เติบโตไปด้วยกันทั้งชุมชน

ต้องทำงานกับเกษตรกรจำนวนมาก และต้องใช้เงินรับซื้อผลผลิตสูงถึง 11 ล้านบาทต่อฤดูกาล เอาแค่ทุเรียนเขาบอกว่า ต้องใช้เงินรับซื้อสูงถึงกว่า 1 ล้านบาทต่อวัน นั่นทำให้เรื่องเงินทุนหมุนเวียน ยังเป็นโจทย์ท้าทายของพวกเขา ถ้าเดินด้วยตัวเองลำบาก ก็ต้องอาศัยหน่วยงานสนับสนุน โดยปัจจุบันสวนละไม อยู่ในโครงการสินเชื่อ 1 ตำบล 1 SME เกษตร 72,000 ล้านบาท ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ช่วยค้ำประกันสินเชื่อให้ ต่อจิ๊กซอว์ความตั้งใจให้กลายเป็นภาพที่สมบูรณ์ได้

วันนี้สวนละไมเข้าสู่เจน 3 แล้ว หลังทายาททั้ง 3 สาว เริ่มเข้ามาช่วยสานต่อธุรกิจและเอาความคิดคนรุ่นใหม่มาร่วมขับเคลื่อนสวนละไมในวันนี้ ถามถึงใจคนรุ่นพ่อ เขาว่า ยังอยากเห็นการเติบโตในเชิงธุรกิจที่ไม่ต้องก้าวกระโดด แต่ขอให้โตไปอย่างมั่นคง และยั่งยืน

“เด็กรุ่นใหม่มักจะเล็งผลกำไรเป็นหลัก แต่ผมมองว่า ธุรกิจไม่จำเป็นต้องกำไรเยอะก็ได้ แต่ขอให้มีความยั่งยืน เป็นแบรนด์ที่ทุกคนยอมรับว่า มาที่นี่แล้วไม่ผิดหวัง อย่าไปฉวยโอกาส อย่าไปเอาเปรียบลูกค้า ผมหวังไว้แค่นั้น” เขาบอก

จากความหวังของคนรุ่นพ่อ ถูกส่งต่อสู่คนรุ่นลูก เพื่อให้ “สวนละไม” ยังคงเติบโตและยั่งยืน ให้สมกับอุดมการณ์ตั้งแต่วันเริ่มต้นของพวกเขา