“เอพี" ตั้งเป้าท็อปทรี ยุคอสังหาฯเปลี่ยนเกม
ประสบการณ์ 25 ปีในธุรกิจอสังหาฯของบมจ.เอพี (ไทยแลนด์) ผ่านมาแล้วหลายวิกฤติ ทั้งวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 และวิกฤติซัพไพรม์ปี 2551
แต่ปัจจุบันยังยืนหยัดในอันดับ “ท็อปไฟว์” ตลาดอสังหาฯไทย
ทว่า เป้าหมายที่ท้าทายต่อไปของบริษัทนี้ คือการไต่อันดับสู่การเป็นผู้ประกอบการอสังหาฯ “ท็อปทรี” ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายภายใต้ตลาดอสังหาฯ ที่กำลังเดินสู่ “จุดเปลี่ยน” ครั้งสำคัญที่ “อนุพงษ์ อัศวโภคิน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอพี ใช้คำว่า ไม่ใช่ยุคปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่เป็นยุคของการฟาดฟันระหว่าง “ปลาใหญ่กับปลาใหญ่” บนฐานทุน ความเชี่ยวชาญ และเทคโนโลยี ที่แทบไม่แตกต่างกัน
กลายเป็น “โจทย์ยาก” ให้อสังหาฯค่ายนี้ ต้องปรับโครงสร้างการบริหารงาน การพัฒนาสินค้า เพื่อสร้างประสิทธิภาพในการดำเนินงาน พร้อมไปกับตอบสนองความต้องการผู้บริโภค รับมือความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ
“ที่ผ่านมารายใหญ่สร้างการเติบโตจากการไล่ล่าเทคโอเวอร์ (ซื้อกิจการ) อสังหาฯรายเล็ก แต่ตอนนี้รายเล็กไม่เหลือให้รายใหญ่เข้าไปกินส่วนแบ่งตลาดแล้ว เป็นโจทย์ที่ยากมาก ที่ผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาต้องเตรียมรับมือ” อนุพงษ์ ย้ำ
ไม่เพียงการแข่งขันที่เปลี่ยนไป ทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ “เปลี่ยนเร็ว-คาดเดายาก” ยังกลายเป็นอีกแรงกระทบผู้ประกอบธุรกิจอสังหาฯ ทำให้ต้องปรับตัวหนักขึ้นไปอีกขั้น
"ที่ผ่านมาตลาดอสังหาฯส่วนใหญ่ที่เราเห็น เมื่อดีก็จะดีไปเลย เวลาที่ไม่ดีก็ไม่ดีหมด เป็นสิ่งที่เราคุ้นเคย แต่ตอนนี้ไม่ใช่ แต่จะเป็นแบบไม่ดีหมด และไม่แย่หมดเป็นภาวะที่แปลกมาก ตอนนี้สถาบันการเงินมีเงินมาก ล้นระบบ ดอกเบี้ยต่ำ แต่ก็ระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ”
เขายังเห็นว่า การแข่งขันในอนาคต เรียกได้ว่า “ห้ามกะพริบตา” หากเดินกลยุทธ์ผิด ต้องรีบปรับตัวให้เร็ว
สถานการณ์ที่เป็นอยู่ ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาฯอยู่ในตลาดได้ยากขึ้น ทำให้การพัฒนาโครงการจะต้องพิจารณาให้ละเอียดถึงประเภทสินค้า ระดับราคา ทำเลที่ตั้ง
“ทุกอย่างจะต้องสอดคล้องกัน หากพัฒนาสินค้าออกมาไม่สอดคล้อง กับ ทำเล ราคา ประเภทสินค้า จะขายไม่ได้เลย แม้ว่าตลาดจะเติบโตขนาดไหน"
อนุพงษ์ ยังบอกด้วยว่า จากสภาพตลาดที่เปลี่ยนแปลง ทำให้เอพีต้องปรับตัวครั้งสำคัญ เพื่อไต่อันดับตลาดอสังหาฯให้สูงขึ้น
“อนาคตหากไม่ใช่ 1 ใน 3 จะไม่มีที่อยู่ ในเชิงการตลาดผู้บริโภคจะจำได้แค่แบรนด์ 1 ใน 3 ที่เหลือมักจะลืม จำเป็นต้องก้าวไปจุดนั้น จากปัจจุบันเอพีอยู่ในอันดับ 4-5 ไล่มาตั้งแต่ พฤกษา แลนด์แอนด์เฮ้าส์ แสนสิริ ควอลิตี้เฮ้าส์ และเอพี”
จากเป้าหมายที่ว่านี้ ทำให้เอพีต้องทำการบ้านหนัก ใครซื้อที่ดินพลาด ใครวางกลยุทธ์ผิด จะเหนื่อยมาก พอผิดไปแต่ละครั้งจะกลับยากมาก ตอนนี้ไม่มีตลาดเซกเมนต์ไหนที่บอกว่าเป็นเจ้าตลาดคนเดียวแล้ว ทุกคนพยายามข้ามไปในตลาดอื่นๆ เพราะต้องกระจายสินค้า กระจุกสินค้าประเภทใดประเภทหนึ่งไม่ได้ ต้องพยายามทะลวงเข้าไปในตลาดของคนอื่นหลายบริษัทปรับกลยุทธ์ สร้างหน่วยงานไปในตลาดที่ตัวเองไม่แข็งแรง เพราะทุกคนรู้ว่าจะโตจากตลาดเดิมไม่ใช่ง่ายๆ “อนุพงษ์” เผย
ขณะที่กลยุทธ์ไปถึงเป้าหมายที่ว่าได้จะต้องสร้างความแตกต่าง ในเชิงการออกแบบพื้นที่ใช้สอยให้เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคมากที่สุด ต้องศึกษาจากพฤติกรรมที่อยู่อาศัย แล้วแปลงการออกแบบพื้นที่ใช้สอยทุกตารางเมตรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
นอกจากนี้ ยังถือโอกาสครบรอบ25ปี ปรับโครงสร้างการบริหาร ด้วยการแยกประเภทธุรกิจอสังหาฯ เป็น “หน่วยธุรกิจ” หรือ บิซิเนส ยูนิต ประกอบด้วย บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ คอนโดมิเนียม เพื่อลดขั้นตอนการสั่งการ เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการมากขึ้น
นอกจากนี้ยังรวมทีมบริหารหลังการขาย ได้แก่ คอลเซ็นเตอร์ ฝ่ายบริหารจัดการอาคารและหมู่บ้าน และทีมซ่อมบำรุง ให้อยู่ในฝ่ายเดียวกัน เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยอย่างทันท่วงที
“บุคลากรที่มีคุณภาพเท่านั้น จึงจะเป็นพลังผลักดันสำคัญทำให้เกิดการพัฒนาขององค์กร รวมถึงผลิตภัณฑ์อสังหาริมทรัพย์และบริการที่มีคุณภาพ ตั้งแต่การดีไซน์ที่โดดเด่น ด้วยพื้นที่ใช้สอยที่สะดวกสบาย ทำเลที่ตั้งที่ดีเยี่ยม รวมไปถึงคุณภาพในการก่อสร้าง การบำรุงรักษา บริการหลังการขาย และบริการขายและให้เช่า ทั้งนี้เพื่อให้เจ้าของบ้านภายใต้แบรนด์เอพี ได้ใช้ชีวิตที่ดีที่สุดและเติมเต็มความสุขในแบบที่ปรารถนา” อนุพงษ์ กล่าว
สำหรับแผนการดำเนินงานในปีนี้ เอพีตั้งเป้าเปิด 20 โครงการ มูลค่ารวม 32,535 ล้านบาท แบ่งเป็น บ้านเดี่ยว 8 โครงการ มูลค่า 8,370 ล้านบาท โครงการทาวน์เฮาส์ 7 โครงการ มูลค่า 6,105 ล้านบาท และ โครงการคอนโดมิเนียม 5 โครงการ มูลค่า 18,060 ล้านบาท ตั้งเป้ามีรายได้ 23,700 ล้านบาท แบ่งเป็น แนวราบ 13,800 ล้านบาท และ คอนโดมิเนียม 9,900 ล้านบาท ส่วนเป้ารายได้บริษัทร่วมทุนจำนวน 3,000 ล้านบาท
ส่วนเป้าหมายยอดขาย 31,000 ล้านบาท แบ่งเป็น แนวราบ 14,500 ล้านบาท และ คอนโดมิเนียม 16,500 ล้านบาท โดยยอดขาย ณ วันที่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมาบริษัทมียอดขายรวม 10,400 ล้านบาท แบ่งเป็นแนวราบ 5,700 ล้านบาท และแนวสูง 4,700 ล้านบาท