โลกเปลี่ยน SCB ต้องขยับ 'อาทิตย์ นันทวิทยา'

โลกเปลี่ยน SCB ต้องขยับ 'อาทิตย์ นันทวิทยา'

สิ่งแวดล้อมโลกเปลี่ยน สังคมดิจิทัลปรับวิถีผู้บริโภค ความเสี่ยงเหล่านี้กดดันอนาคต 'ธุรกิจแบงก์' อาทิตย์ นันทวิทยา เอ็มดีป้ายแดง SCB

'ไม่คิดจะกลับมาทำงานในเอสซีบี เพราะตั้งใจจะปลดเกษียณตัวเองจากการทำงานในอีก 5 ปีข้างหน้า'

'หนุ่ย-อาทิตย์ นันทวิทยา' กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB บอกกับ 'กรุงเทพ BizWeek' ก่อนเข้ารับตำแหน่งเอ็มดีป้ายแดงอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา 

'ชายวัย 49 ปี' เริ่มต้นชีวิตมนุษย์เงินเดือนแห่งแรก หลังจบปริญญาตรี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในธนาคารกสิกรไทย แต่นั่งทำงานได้เพียง 1 เดือน ก็ย้ายไปหาความรู้ต่อในบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี ขณะนั้นเอ็มเอฟซี ถือเป็นกองทุนแห่งแรกในเมืองไทย
ทำงานได้ 3 ปี เขาตัดสินใจยื่นใบลาออก เพื่อไปศึกษาต่อปริญญาโททางด้าน M.B.A. (Finance) สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนที่ Wharton School, University of Pennsylvania ประเทศสหรัฐอเมริกา

'อาทิตย์' กลับสู่วังวนนายแบงก์อีกครั้งในปี 2537 ด้วยการก้าวขาเข้ามาในธนาคารไทยพาณิชย์ ก่อนจะลาออกไปในปี 2541 เพื่อไปนั่งตำแหน่ง Hedge Fund Manager ในบริษัท Cargill Financial Service

ผ่านมาไม่นาน ย้ายไปร่วมงานกับ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด Managing Director และ Regional Head Capital Markets, South East Asia คือ ตำแหน่งสุดท้ายในแบงก์ต่างประเทศ

ก่อนจะกลับมานั่งประจำการณ์ในธนาคารไทยพาณิชย์อีกครั้งเมื่อปี 2551 ในตำแหน่งรองผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ควบคู่กับเก้าอี้รักษาการเป็นผู้บริหารสูงสุดของกลุ่ม GMTS

ผลงานโดดเด่น!! บวกกับความเชี่ยวชาญในวงการแบงก์กว่า 20 ปี สะท้อนผ่านความสำเร็จในการพลิกโฉม 'กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่' (โฮลเซลแบงก์กิ้ง) จนทำให้เอสซีบีกลายเป็นหนึ่งในผู้นำตลาด รวมถึงการสร้างการเติบโตในงานด้านวาณิชธนกิจและบริการทางการเงิน (Corporate Finance)
ส่งผลให้ชื่อ 'อาทิตย์' ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และรองประธานกรรมการบริหาร ในปี 2557 ล่าสุดบอร์ดมีมติตั้งแต่ให้ลูกหม้อ ดำรงตำแหน่ง 'กรรมการผู้จัดการใหญ่' มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา

'นายใหม่' เล่าว่า ก่อนตัดสินใจเข้ามาทำงานในองค์กรแห่งนี้ มีโอกาสเจอ 'ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย' ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ ท่านชักชวนให้กลับเข้ามาทำงานในเอสซีบีอีกครั้ง เพื่อร่วมกันผลักดันแบงก์ให้เดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคง

ด้วยความที่ทำงานด้านสายงานธุรกิจขนาดใหญ่ (โฮลเซลแบงก์กิ้ง) มาตลอด ท่านจึงเอ่ยถามว่า ความถนัดของเราจะช่วยปรับเปลี่ยนองค์กรแห่งนี้ได้อย่างไรบ้าง เมื่อลองกลับมานั่งทบทวน หลังเจรจากันมากกว่า 5 ครั้ง นาน 6 เดือน ทำให้พบว่า...

'เราต่างมีมุมมองที่สอดคล้องกัน หากได้ทำงานร่วมกันคงมีเรื่องให้เรียนรู้อีกมาก ที่สำคัญการเข้ามาปรับโฉมแบงก์ ถือเป็นเรื่องท้าทายอย่างมากของชายชื่อ อาทิตย์' 

ช่วงเข้ามาทำงานแรกๆ ผมลงมือสร้างโปรดักที่เกี่ยวกับโฮลเซลแบงก์กิ้ง และปรับโมเดลธุรกิจใหม่ รวมถึงสร้างแผนกแคปปิตอล มาร์เก็ต แต่เรื่องที่ดำเนินการเป็นพิเศษ คงหนีไม่พ้น 'การปรับความคิด' (Mindset) ของเหล่าพนักงาน เพื่อให้เขาเหล่านั้น เปิดใจยอมรับ เปิดหูรับฟัง และรับรู้ถึงการปรับเปลี่ยนขององค์กร ในช่วงที่โลกเปลี่ยนแปลงไป

นายแบงก์ ยอมรับว่า การบริหารงานธุรกิจธนาคารในยุคสังคมดิจิทัล ถือว่า 'ยาก' และมีความเสี่ยงในการจัดการบริหารธุรกิจมากขึ้น แตกต่างจากเมื่อ 10 ปีก่อนอย่างสิ้นเชิง เมื่อก่อนเราจะพูดกันเพียงเรื่อง โกลบอลไลเซชั่น (globalization) แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว เพราะสิ่งแวดล้อมโลกได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว

หลังมีปัจจัยมากมายเข้ามากระทบรากฐานของสังคม และระบบเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยี กฎระเบียบ หรือแม้กระทั่งเรื่องที่คนทั่วโลกกำลังพูดถึงอย่างกรณีสหราชอาณาจักรถอนตัวจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) หรือ เบร็กซิท รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศจีน

สิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมือนเดิม ทำให้ธนาคารไทยพาณิชย์ จำเป็นต้องลุกขึ้นมาปรับเปลี่ยนตัวเองให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อก่อนนนายแบงก์จะรู้แค่เรื่องงานธนาคาร แต่เดี๋ยวนี้ไม่ได้แล้ว (ยิ้ม) นายแบงก์ต้องรู้เรื่องเทคโนโลยีด้วย เพราะเทคโนโลยีกำลังจะกลายเป็นส่วนสำคัญในการปรับเปลี่ยนองค์กรแบงก์ในปัจจุบันและอนาคต

เมื่อเป็นเช่นนั้น จากนี้ไป เอสซีบีต้องมีความกระฉับกระเฉงมากขึ้น พูดง่ายๆ ต้องสามารถเคลื่อนตัวได้ง่ายและรวดเร็ว ที่สำคัญต้องวางรากฐานของค่านิยมให้ถูกต้อง โดยเฉพาะเรื่องของการมี คุณธรรม มีน้ำใจ และมองผลประโยชน์ของสังคมร่วมไปกับการทำธุรกิจของธนาคาร รวมถึงการใส่ใจสังคม องค์กร และลูกค้า ซึ่งเป็นจุดเด่นที่เราแตกต่างจากแบงก์อื่น

ผมมีความเชื่อข้อหนึ่งว่า ค่านิยมขององค์กรเปรียบเหมือนกาวที่คอยเชื่อม และยึดให้องค์กรมีความลึก และมองทุกเรื่องเป็นภาพระยะยาว ไม่ใช่มองแต่ผลประโยชน์ระยะสั้น ในลักษณะสุขเอาเผากิน หรือตีหัวเข้าบ้านอย่างเดียว

การเป็นผู้ชนะในระยะสั้นในเชิงตัวเลข หรือผลกำไรเพียงอย่างเดียว ทำให้แบงก์หลายแห่งในโลกใบนี้ 'เจ๊ง' มานักต่อนักแล้ว และการทำงานเช่นนั้น ไม่ใช่เป้าหมายของเอสซีบี อย่าทำธุรกิจเพลินจนลืมใส่ใจสังคม.. เขายืนยัน

'องค์กรที่ทุกคนรักและชื่นชม คือ เป้าหมายสำคัญในการทำธุรกิจของเอสซีบี หากเราสามารถดำรงอยู่ได้ด้วยนโยบายนี้ ต่อให้สิ่งแวดล้อมโหดร้ายแค่ไหน องค์กรแห่งนี้จะยืนได้อย่างมั่นคง'

แบงก์จะเดินกลยุทธ์ ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างไร 'อาทิตย์' ตอบว่า อะไรที่แบงก์เคยทำแล้วดี ปีนี้จะทำต่อไป แต่เรื่องหนึ่งที่ต้องท่องให้ขึ้นใจ คือ ห้ามพาตัวเองไปอยู่ภายใต้แรงกดดันที่ผิด เพราะจะเป็นการขุดหลุมฝังตัวเอง

การทำให้องค์กรยอมรับความจริงว่า จุดนี้ไม่สามารถเดินต่อไปได้แล้ว และจงหันกลับมาสร้างรากฐานใหม่ เพื่อก้าวต่อไป ถือเป็นสิ่งที่ควรทำในเวลานี้..
วันนี้มีหลายจุดที่เอสซีบีสามารถเดินต่อไปได้ ขณะเดียวกันก็มีอีกหลายจุดที่ต้อง “ซ่อม สร้าง เปลี่ยน และพัฒนา” ต้นเหตุทั้งหมดมาจากการเข้ามาของเทคโนโลยี และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

แบงก์กำลังจะพัฒนาหรือปรับปรุงบริการใดเป็นพิเศษหรือไม่ หลังเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เขา สวนกลับว่า จริงๆ ไม่อยากพูดถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพราะเราให้บริการลูกค้าในหลากหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มเบบี้บูมเมอร์ (เกิดระหว่างปี 2489 – 2507) หรือกลุ่มวัยทำงาน เป็นต้น

แต่อาจเน้นหนักไปทางกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ มีการตอบสนองต่อเทคโนโลยีดีขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้นแบงก์คงต้องพัฒนาแพลตฟอร์มให้มีความหลากหลายมากขึ้น โดยเอาความพึงพอใจของลูกค้าเป็นตัวตั้ง

'อย่าทำธุรกิจด้วยสูตรสำเร็จตายตัว แต่ต้องผสมกลมกลืนกันไป โจทย์นี้ต่างหากที่แบงก์ต้องตีให้แตกและเร่งดำเนินการในวันที่โลกไม่เหมือนเดิม' 

๐ เกาะติด 'เบร็กซิท' 

'เอ็มดีป้ายแดง' วิเคราะห์ทิศทางเศรษฐกิจในปี 2559 ว่า ที่ผ่านมามีสัญญาณหลายอย่างบ่งบอกว่า แนวโน้มเศรษฐกิจเมืองไทยกำลังจะดีขึ้นเรื่อยๆ จนเข้าขั้นเป็น “บวก” สะท้อนผ่านการลงทุนของภาครัฐ ด้วยการผลักดันโครงการต่างๆ โดยเฉพาะงานที่เป็นฐานรากของประเทศ แม้ภาคประชาชนบางส่วนยังไม่กลับมาใช้เงินก็ตาม

แต่เรื่องที่น่าเป็นกังวลอย่างมากกับมาจากปัจจัยภายนอกล้วนๆ โดยเฉพาะเรื่อง 'เบร็กซิท' เพราะเพิ่งเข้าสู่ 'จุดเริ่มต้นของความวุ่นวายต่างๆ' นั่นหมายความว่า ฝุ่นตลบในวันนี้ทำให้ไม่สามารถคาดเดาได้ว่า 'จะเกิดโดมิโน่หรือเปล่า' หรือจะมีประเทศอื่นทำตามประเทศอังกฤษหรือไม่ หากมีคนเดินตามแนวทางนี้ แล้วพากันปิดประเทศ เศรษฐกิจทั่วโลกคงหดตัว ขอใช้เวลาพิจารณาผลกระทบอีก 1-2 สัปดาห์

'วันนี้ทั่วโลกมีความเสี่ยงเยอะมาก อยู่ตรงไหนของมุมโลกก็ได้ผลกระทบ' 

เมื่อถามว่า เบร็กซิท ส่งผลกระทบต่อตลาดเงินตลาดทุนเมืองไทยหรือไม่ เขา บอกว่า วันนี้ตลาดเงินตลาดทุน ถือเป็น “ตลาดเก็งกำไร” และเป็นตลาดที่เกี่ยวข้องกับการคาดการณ์ โดยไม่ต้องรอให้มีผลกระทบเกิดขึ้นจริงๆ ขอแค่มีข่าวก็เห็นผลทันที

ฉะนั้นคงไม่สามารถวัดความผันผวนวันต่อวันได้ มันสั้นเกินไป เพราะจะทำให้การตัดสินใจลงทุน หรือการลงทุนขนาดใหญ่ของนักธุรกิจชะลอตัวไปหมด ดังนั้นต้องมองเรื่องนี้ยาวๆว่า จะมีข่าวร้ายอะไรเกิดขึ้นอีกหรือไม่

'เรื่องนี้จะทำให้ตลาดเงินตลาดทุนเกิดความผันผวน สิ่งที่จะไม่คาดเดา คือ จะออกหัวหรือก้อย แต่จะต้องเตรียมตัวรับมือในกรณีที่เกิดเรื่องแย่ เพราะเรื่องนี้กระทบธุรกิจแบงก์แน่นอน หากรุนแรงมากอาจต้องลดดอกเบี้ย แม้จะเหลือช่องว่างเพียงน้อยนิด แต่ต้องยอมรับว่า การลดดอกเบี้ยไม่ได้ช่วยอะไร' 

เบร็กซิทกระทบต่อตลาดส่งออกของไทยหรือไม่? นายแบงก์ มองว่า ในระยะสั้นคงไม่กระทบ เพราะกว่าอังกฤษจะออกจากอียูต้องใช้เวลาอีกนาน แต่อาจกระทบในแง่ของค่าบาทหากแข็งค่า เว้นเสียแต่ว่า การค้าหดตัวอย่างรุนแรง ก็อาจมีผลทางอ้อม แต่คงน้อย จริงๆการส่งออกของไทยไม่ได้เป็นพระเอกอยู่แล้ว

'อาทิตย์' บอกว่า สิ่งที่หลายคนพูดกันในเวลานี้ คือ โลกใบนี้ไม่มีพื้นที่ไหนเป็นตัว 'ผลักดันการเติบโต' (Growth Driver) ยักษ์ใหญ่อย่างจีนก็ปิดปรับปรุงประเทศ ตอนนี้แต่ละประเทศต่างหาทางพึ่งตัวเอง

ส่วนใหญ่เน้นการลงทุนในประเทศ หรือสร้างดีมานด์ในประเทศเป็นหลัก เช่น ดึงเงินนักท่องเที่ยว หรือก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้เป็นเซ็นเตอร์ของการลงทุน เพื่อดึงดูดเงินลงทุนใหม่ๆเข้าประเทศ

'พี่ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา ภาวะเศรษฐกิจคงดีขึ้น แต่ไม่ได้ดีจนมีหวังว่าจะฟื้นตัวอย่างชัดเจน มันยังไม่ถึงจุดนั้น ยิ่งมีเรื่องเบร็กซิท เฟดอาจชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยออกไปก่อน ที่สำคัญต้องจับตาการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ'

บทสนทนาดำเนินไปได้ไม่นาน 'นายแบงก์คนใหม่' จำต้องหยุดการแสดงวิสัยทัศน์เพียงเท่านี้ เพื่อขอตัวไปพบลูกค้าคนสำคัญ ด้วยการทิ้งท้ายว่า ภาวะเศรษฐกิจเมืองไทยอ่อนตัวมาหลายปี ทำให้ลูกค้ากลุ่มเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบ เมื่อเป็นเช่นนั้นแบงก์เอสซีบี ขอดูแลลูกค้าทุกกลุ่มเท่าเทียมกัน
ในเมื่อวันนี้ไม่มีปัจจัยอะไรมาสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจแบงก์ เราในฐานะแบงก์อันดับต้นๆของเมืองไทย คงทำได้เพียงเติบโตตามอุตสาหกรรม หวังจะขยายตัวมากกว่านี้คงไม่ได้ อย่าเร่งเครื่องเดี๋ยวเจ็บตัว บางครั้งการเติบโตในอดีต ก็ไม่ได้บ่งบอกอนาคต (ยิ้ม)

'จับผมไปขังแล้วปล่อยตัวออกมาตอนสิ้นปี ผลประกอบการแบงก์ก็เติบโตเท่าเดิม ตราบใดที่ไม่มีเรื่องใหม่มาสนับสนุนธุรกิจแบงก์'

* ติดตามอ่านกรุงเทพธุรกิจ Bizweek ได้ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ซึ่งเปลี่ยนจากฉบับวันจันทร์ มาเจอกันในทุกวันอาทิตย์ โดยยังคงความเข้มข้นของเนื้อหาข่าว เศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน พร้อมเสิร์ฟถึงมือผู้อ่านทุกท่าน!!