คลังจ่อเพิ่ม ‘เบี้ยยังชีพ’ คนจนสูงวัย

คลังจ่อเพิ่ม ‘เบี้ยยังชีพ’ คนจนสูงวัย

“อภิศักดิ์” เปิดแนวคิดเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ “คนจน” มีรายได้ต่ำกว่า 1 แสนบาทต่อปี หลังพบราว 80% ไม่ได้เป็นคนจนจริง

ไทยเป็นอีกประเทศหนึ่งที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ทำให้รัฐบาลตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว ได้เตรียมออกมาตรการหลายๆ มาตรการเพื่อดูแลผู้สูงอายุ จะเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ รวมถึงแนวคิดเรื่องการเพิ่มเบี้ยยังชีพให้กับคนชราที่เป็นคนจนจริงๆ

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าการเปิดลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ระหว่างวันที่ 15 ก.ค. - 15 ส.ค. 2559 อยากเชิญชวนให้ผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพคนชรา และมีรายได้เกินปีละ 1 แสนบาท มาลงทะเบียน เนื่องจากกระทรวงการคลังจะนำข้อมูลจากลงทะเบียนมาพิจารณาเพื่อเพิ่มเบี้ยยังชีพ การลงทะเบียนนี้จะทำให้ทราบว่า คนชราที่รับเบี้ยยังชีพปีละกว่า 7 ล้านคน เป็นผู้ที่มีรายได้น้อยจำนวนเท่าไหร่

“รัฐบาลมีแผนที่จะเชื่อมการจ่ายเบี้ยยังชีพคนชรากับระบบอีเพย์เมนท์ เพื่อจ่ายเงินตรงให้ผู้สูงอายุ ขณะนี้ได้จ่ายผ่านไปยังองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น” นายอภิศักดิ์ กล่าว

อย่างไรก็ดี ขณะนี้พบว่า คนชราบางคนรับเงินแล้วไม่ได้นำไปใช้จ่ายแต่นำไปบริจาค เพื่อไม่ให้เสียสิทธิ บางครั้งเกิดปัญหาการสวมสิทธิ ดังนั้นเมื่อมีคนชราบางส่วนสละสิทธิ์ รัฐสามารถจะนำเงินดังกล่าวไปเพิ่มให้คนชราที่มีรายได้น้อย เพื่อเงินเพียงพอกับการดำรงชีพ เพราะมองว่าเงินที่ได้ 600 บาทน้อยเกินไป ส่วนจะเพิ่มให้มากน้อยแค่ไหน คงต้องรอดูผลจากการลงทะเบียน และดูว่าจะมีการสละสิทธิ์เท่าไหร่

ชงครม.เดือนหน้าแพ็คเกจช่วยผู้สูงวัย

นายอภิศักดิ์ กล่าวว่าช่วงเดือนส.ค.นี้ กระทรวงการคลังจะเสนอมาตรการ เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในมาตรการมีทั้งให้บริษัทเอกชนนำค่าใช้จ่ายในการจ้างผู้สูงอายุทำงานลดหย่อนภาษี 2 เท่า การนำบ้านมาเป็นหลักทรัพย์กู้เงินเพื่อใช้ยามชรา (Reverse Mortgage) รวมทั้งโครงการจัดทำบ้านประชารัฐสำหรับคนสูงอายุ นอกจากนี้ จะมีกองทุนบำนาญแห่งชาติ (กบช.) แปลงจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นภาคบังคับด้วย

“กบช. เป็นส่วนหนึ่งทำให้พนักงานเอกชนมีเงินเลี้ยงชีพยามเกษียณ เหมือนข้าราชการ หากมีการมองว่า ขณะนี้เศรษฐกิจยังไม่เอื้อกับการทำ กบช. ดังนั้นระยะเริ่มต้นอาจจะผ่อนปรนช่วงเวลาให้บริษัทเอกชนปรับตัว เพราะบริษัทเอกชน หรือนายจ้างต้องสมทบเงินจำนวนหนึ่งในลักษณะเดียวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” นายอภิศักดิ์ กล่าว

พบผู้สูงวัย 80% ไม่ได้จนจริง

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ปี 2557 ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปมี 8 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุที่มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพ คือ ผู้ที่ไม่ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7.1 ล้านคน จากจำนวนผู้สูงอายุดังกล่าวมีกลุ่มผู้สูงอายุที่จนจริงๆ เพียง 20% ที่เหลือ 80% ไม่ใช่คนจน

ทั้งนี้ ในแต่ละปีรัฐบาลได้จ่ายเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุปีละกว่า 6.3 หมื่นล้านบาท ดังนั้นหากจ่ายเบี้ยยังชีพให้คนชราโดยตรงทำให้ประหยัดงบประมาณลง สามารถนำงบประมาณที่ประหยัดได้ไปเพิ่มให้กับคนชราที่ยากจนจริงๆได้

ก่อนหน้านี้กระทรวงการคลัง เคยมีแนวคิดจะไม่จ่ายเบี้ยคนชราให้กับคนที่มีรายได้เกินว่า 1 แสนบาทต่อปี แต่ได้รับการต่อต้าน จึงต้องนำแนวทางการลงทะเบียน และการจ่ายตรงมาใช้แทน

ปี59จ่ายรัฐช่วยคนชรากว่า3แสนล้าน

สำหรับปีงบประมาณ 2559 รัฐมีรายจ่ายเพื่อการชราภาพ รวม 3.08 แสนล้านบาท มาจากเบี้ยยังชีพคนชรา กว่า 6.3 หมื่นล้านบาท เงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม 2.3 หมื่นล้านบาท เงินบำนาญข้าราชการ 1.75 แสนล้านบาท เงินที่รัฐจ่ายสมทบในกองทุนกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) อีก 4.6 หมื่นล้านบาท เงินสมทบที่รัฐจ่ายให้กับกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) อีก 600-700 ล้านบาท

ทั้งนี้ คาดว่า อีก 10 ปีข้างหน้า รายจ่ายเกี่ยวกับการชราภาพเพิ่มขึ้น 7.5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากขณะนี้เท่าตัว เนื่องจากไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ ทำให้กระทรวงการคลัง ต้องเสนอมาตรการดูแลสังคมผู้สูงอายุ เพื่อลดงบประมาณลง

สำหรับการลงทะเบียนรัฐสวัสดิการผ่าน 3 แบงก์รัฐ ประกอบด้วยธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ณ วันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันแรกที่รัฐเปิดให้คนจนลงทะเบียน พบว่า มียอดการลงทะเบียน 87,294 ราย เป็นการลงทะเบียนผ่านธนาคารกรุงไทย 27,137 ราย ธนาคารออมสิน 40,657 ราย และธ.ก.ส. 19,500 ราย